3 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Soul: ดนตรีแจ๊ส กับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 1920
เมื่อเศรษฐกิจรุ่งเรือง ผู้คนก็มักจะมีเวลามากพอที่จะมาเสพความสุนทรีย์ในศิลปะและดนตรี ดนตรีแจ๊สจึงได้ถือกำเนิดมาในช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ รุ่งเรืองถึงขีดสุด
หากพูดถึงดนตรีแจ๊ส หลายคนคงนึกถึงเสียงดนตรีที่มีอิสระในการบรรเลง มีการ Improvisation (หรืออาจจะแปลแบบไทยๆ ว่า การด้นสด) อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นดนตรีที่เสมือนถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ที่เป็นแบบเฉพาะตัวของผู้เล่นออกมา การบรรเลงเพลงแจ๊สจึงไม่ค่อยมีรูปแบบที่ตายตัวนัก
1
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะเล่าช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในทศวรรษ 1920 ผ่านหนังแอนิเมชั่นเรื่อง Soul ที่ถ่ายทอดมุมมองต่อการมีชีวิตโดยใช้ดนตรีแจ๊สเป็นธีมหลักของเรื่องที่ร้อยเรียงเนื้อหาในแต่ละประเด็นตลอดทั้งเรื่องเข้าด้วยกัน
โจ การ์ดเนอร์ – เป็นครูผู้ควบคุมวงดนตรีประจำโรงเรียนมัธยม ผู้คลั่งไคล้ในการเล่นเพลงแจ๊ส และเขาก็เก่งซะด้วย เขาฝันถึงการได้เล่นเปียโนแบบมืออาชีพและเฝ้ารอเวลาที่เขาจะได้แจ้งเกิดเสียที
โดโรเธีย วิลเลียมส์ – เป็นตำนานวงการแจ๊สที่โด่งดังระดับโลก ผู้สร้างตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองท่ามกลางคนดังทั้งหลาย ด้วยความมั่นใจ แข็งแกร่งและความสง่างาม เธอมีพรสวรรค์อย่างแท้จริงในการเล่นแซ็กโซโฟน
📌 ทศวรรษ 1920…ยุคแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
คนในยุคนี้คงต้องประหลาดใจหากรู้ว่าในช่วงทศวรรษ 1920 เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตถึง 42% ดัชนีดาวโจนส์พุ่งสูงกว่า 500% การเป็นผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสหรัฐฯ ได้ทำให้สหรัฐฯ ได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก และเป็นผู้ผลิตสินค้าออกมาเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าทั้งโลก
เนื่องจากยุโรปส่วนมากเสียหายจากสงครามโลก การก่อสร้างอะไรใหม่ๆ ก็เลยเกิดขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาก็ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตอย่างมาก
ในยุคนั้นเริ่มมีการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass production) ที่ได้กระจายสินค้าใหม่ๆ ไปสู่ทุกครัวเรือน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น และตู้เย็น ก็กลายเป็นสิ่งที่มีทุกบ้าน ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มมีวิทยุเพื่อรับฟังข่าวสาร เพลง และรายงานสภาพอากาศ
1
ดัชนี Dow Jones 1920s
อุตสาหกรรมการบินได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1925 ในระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นมีจำนวนผู้คนที่เดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มขึ้นจาก 6,000 คน เป็น 173,000 คน
อุตสาหกรรมรถยนต์ก็ขยายตัวได้ดีมาก ทั้งนี้คงต้องขอบคุณ คุณ Henry Ford ที่คิดค้นระบบสายพานการผลิตขึ้นมา ทำให้รถยนต์ Ford Model T ราคาเพียง 260 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ปลายทศวรรษนั้นมีรถยนต์จดทะเบียนถึง 26 ล้านคัน
ทุกๆ ความรุ่งเรืองที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้ยุคนั้นถูกขนานนามว่าเป็น “Roaring Twenties” หรือ ทศวรรษ 20 ที่สนุกสุดเหวี่ยง
1
เครดิตภาพ : The Balance
📌 กำเนิดยุคแห่งดนตรีแจ๊ส
ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความสุขที่ล่องลอยไปทั่วทุกหนทุกแห่งในเมือง ประกอบกับการที่คนอายุน้อยๆ ในขณะนั้นก็สามารถมีรถเป็นของตัวเองได้ พวกเขาก็นิยมขับรถไปยังที่ต่างๆ โดยที่มักจะนิยมไปกันมากที่สุด คือ ไปเต้น ไปฟังดนตรี แล้วสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำแห่งยุคนั้นอย่างวิทยุ ก็เป็นที่นิยมอีก จึงเป็นช่องทางให้ดนตรีแจ๊สถือกำเนิดขึ้นมาและแพร่หลายได้อย่างรวดเร็ว
ดนตรีแจ๊สกำเนิดขึ้นมาจากคนแอฟริกันอเมริกัน และกลายมาเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในกลุ่มชนชั้นกลางผิวขาวชาวอเมริกัน ดนตรีแจ๊สจึงเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยเชื่อมวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันอเมริกันให้เข้ากับสังคมคนผิวขาวได้ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่เราจะเห็นว่าในหนังก็เลือกให้ตัวละครที่มีลักษณะของคนแอฟริกันอเมริกัน เป็นตัวหลักในการเล่นดนตรีแจ๊ส
1
ในอดีต หากเราต้องการไปฟังเพลงแจ๊สก็คงจะต้องไปที่คลับ หรือสถานที่จัดการแสดงดนตรีแจ๊ส แต่หลังจากมีวิทยุ และเทคโนโลยีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียง ทำให้นักดนตรีก็สามารถบันทึกท่วงทำนองการเล่นดนตรีแจ๊สของเขาลงในแผ่นเสียงได้ ผู้คนที่หลงใหลในเสียงเพลงแจ๊ส จึงไม่จำเป็นต้องออกไปฟังเพลงที่คลับอีกต่อไป แต่สามารถฟังได้จากวิทยุ หรือแม้กระทั่งซื้อแผ่นบันทึกเสียงเพลงที่เขาชื่นชอบไว้ฟังที่บ้านอีกด้วย วิทยุจึงเป็นตัวช่วยให้วัฒนธรรมและรสนิยมของคนในแต่ละภูมิภาคมีความใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้น
นอกจากวิทยุแล้ว การเกิดขึ้นของภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ก่อเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้วัฒนธรรมแจ๊สแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเพลงแจ๊ส และสไตล์การเต้นแบบแจ๊ส จึงได้รับความนิยมไปทั่วสหรัฐฯ ตลอดทศวรรษนั้น จึงเป็นยุคที่ศิลปะวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกันเจริญรุ่งเรือง หรือที่เรียกว่า The Harlem Renaissance โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่าน Harlem ของนครนิวยอร์ก ซึ่งในเรื่อง Soul ก็ได้ใช้นครนิวยอร์กเป็นฉากหลังตลอดทั้งเรื่องเช่นกัน
เครดิตภาพ : Pixar
📌 การถือกำเนิดของผู้หญิงสมัยใหม่ในยุคแจ๊ส
ยุคนั้นเป็นเหมือนยุคแห่งเสรีภาพและโอกาสโดยแท้จริง ทั้งนี้อาจ เนื่องมาจากผู้ชายเสียชีวิตไปมากในสงคราม จึงเป็นเสมือนประตูสู่โอกาสให้ผู้หญิง ผู้หญิงสมัยนั้นเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น มีกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคทางเพศมากยิ่งขึ้น และมีสิทธิเลือกตั้งได้แล้ว
ทั้งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เพลงแจ๊ส และเสรีภาพของผู้หญิงยุคใหม่ จึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นแฟชั่นการแต่งตัวในยุคนั้นที่เรียกว่า Flapper เป็นลักษณะของการตัดผมบ็อบสั้น ใส่กระโปรงสั้น ซึ่งฉีกกฎผู้หญิงตามค่านิยมสมัยก่อน มีนักร้องและนักดนตรีผู้หญิงมากมายที่ได้รับความนิยม ตัวอย่างเช่น นักร้องชาวแอฟริกันอเมริกันที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในยุคนั้น คือ คุณ Bessie Smith และนักเปียโนชื่อดังอย่างคุณ Lil Hardin Armstrong
1
Flapper เครดิตภาพ : History
ไม่ใช่แค่ในวงการดนตรีเท่านั้น แต่ผู้หญิงนับล้านคนได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งพนักงานธุรการ ไปจนถึงระดับหัวหน้างาน และมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การบริโภคที่กำลังเติบโตเฟื่องฟู นอกจากนี้ จากการที่อุปกรณ์คุมกำเนิดเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงเริ่มมีสิทธิที่จะวางแผนจำนวนการมีบุตร และมีสิทธิที่จะวางแผนการดำเนินชีวิตของตนเองได้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เองได้กลายมาเป็นรากฐานการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน
Soul จึงเป็นหนังที่พูดถึงความหมายของการใช้ชีวิตผ่านท่วงทำนองเพลงแจ๊ส และเชิดชูวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกัน ได้อย่างน่าสนใจ หนังพยายามชี้ให้เราเห็นว่าการที่คนในปัจจุบันยึดติดกับการตามหาแพชชั่นของตนเอง ตามหาเป้าหมายชีวิตและความสำเร็จในแบบที่คนส่วนใหญ่ในสังคมตีกรอบไว้ ทำให้เราอาจหลงลืม หรือละเลยความงดงามระหว่างทางที่ได้ใช้ชีวิตก็เป็นได้
2
บางครั้ง การที่เราปล่อยให้ตัวเองมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ติดกับดักกรอบความสำเร็จที่สังคมกำหนดไว้ ก็อาจทำให้เราค้นพบความสามารถ หรือความสนใจใหม่ๆ ของตนเองได้ เหมือนเช่นดนตรีแจ๊ส ที่ท่วงทำนองอันไพเราะนั้นก็ไม่ได้มาจากกฎเกณฑ์การเล่นที่ตายตัว แต่มาจากการปล่อยให้โน้ตดนตรีนั้นไหลไปตามห้วงอารมณ์ของผู้บรรเลง ก็กลายมาเป็นท่วงทำนองอันไพเราะที่สร้างความสุนทรีย์แก่คนทั้งโลกได้ และยังกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของสหรัฐฯ ตราบจนถึงปัจจุบัน
1
#Soul #SoulPixar #Jazz
#Bnomics #Economic_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา