Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
10 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
The Classic (2003) : สงครามเวียดนาม กับปาฏิหาริย์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก
ในช่วงทศวรรษ 1960 เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเผชิญกับการเติบโตที่ซบเซา ทั้งการส่งออกชะลอตัวลง และการนำเข้าที่มากขึ้นอันเป็นผลมาจากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ การเกิดขึ้นของสงครามเวียดนามได้ส่งผลเป็นอย่างมากต่อนโยบายการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ
ไม่เพียงแต่เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านทหารแก่ประเทศแถบเอเชียตะวันออก แต่ยังเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและขยายการค้าอีกด้วย หลังจากนั้นสภาพเศรษฐกิจในแถบเอเชียตะวันออกจึงเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ก่อนหน้านี้มีแต่ความซบเซา โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่มีโอกาสหลุดขึ้นมาจากวัฏจักรความยากจนไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างน่าทึ่งได้ในครึ่งหลังของทศวรรษนั้น
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะเล่าเรื่องปาฏิหาริย์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกที่เกิดขึ้นจากสงครามเวียดนาม โดยเฉพาะกรณีของเกาหลีใต้ ผ่านหนังคลาสสิกที่เคยทำให้หลายคนต้องเสียน้ำตาเรื่อง The Classic
📌 แรกเริ่มของสงครามเวียดนาม กับความช่วยเหลือ(หรือแทรกแซง) จากสหรัฐฯ
สงครามเวียดนาม เป็นสงครามที่กินเวลากว่า 11 ปี นับตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการเริ่มรบกันในปี 1965 จนกระทั่งรัฐบาลเวียดนามใต้ล่มสลาย เวียดนามเหนือและใต้จึงได้กลับมารวมประเทศกันในปี 1975
สงครามที่กินระยะเวลายาวนานนี้ จึงมีผลมหาศาลต่อเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย เนื่องจากว่าเอเชียตะวันออกเป็นภูมิภาคเป้าหมายที่สำคัญของสหรัฐฯ ในการเข้าไปช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางการทหารจากโดยมูลค่าของความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นจาก 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระหว่างปี 1958 - 1965 เป็น 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี 1966 - 1973
เครดิตภาพ : AP Photo
ในส่วนของความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯ ระหว่างปี 1966 - 1973 รวมมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกว่า 86% ของงบช่วยเหลือนั้นถูกนำไปลงที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯ นั้นได้ช่วยลดงบประมาณทางการป้องกันประเทศให้แก่ประเทศแถบเอเชียตะวันออก ช่วยให้สถานะทางการเงินของประเทศดีขึ้น และยังช่วยให้ประเทศเหล่านั้นมีงบประมาณสำหรับใช้พัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย
📌 สงครามเวียดนาม กับการส่งออกของเอเชียที่เฟื่องฟู
การเกิดขึ้นของสงครามเวียดนาม ได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการส่งออกของเอเชียในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1960 ซึ่งผลกระทบนี้ไม่ได้มาจากการจัดซื้อที่เกี่ยวข้องกับเวียดนามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดจากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้น
จากข้อมูลพบว่า การส่งออกของประเทศในทวีปเอเชีย เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากปี 1965 จาก 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1964 เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1966 และกลายเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1972 ถ้ามองในแง่ของการเติบโตของการส่งออก จากที่ในช่วงปี 1959 - 1964 การส่งออกเติบโต โดยเฉลี่ยต่อปีเพียง 4% เท่านั้น แต่หลังจากปี 1965 - 1972 ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยเฉลี่ยปีละ 11.7% และเมื่อพิจารณาไปที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ พบว่าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากที่เคยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่าเพียง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1964 เพิ่มขึ้นเป็น 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1970 เลยทีเดียว ในช่วงเวลานั้นสหรัฐฯ จึงถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญเป็นอย่างมากของเอเชีย
เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเริ่มฟื้นตัวจากเงินดอลลาร์ที่ไหลเข้ามาในระหว่างสงครามเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาหลีใต้ ไทย และสิงคโปร์ ที่ได้ประโยชน์อย่างมากจากการจัดซื้อที่เกี่ยวข้องกับเวียดนาม จึงทำให้มีการเติบโตสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในขณะที่ประเทศทางแถบเอเชียใต้อย่าง อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ไม่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสงครามเวียดนามนัก จึงอาจพูดได้ว่า สงครามเวียดนามในครั้งนั้นดูเหมือนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจเลยทีเดียว
1
อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย
📌 บทบาทของเกาหลีใต้ในสงครามเวียดนาม...ความสัมพันธ์แบบ Give and take
ในระหว่างที่เกิดสงครามเวียดนาม โครงการความช่วยเหลือโลกเสรี (Free World Assistance Program) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “More Flags” ซึ่งเป็นแคมเปญที่ริเริ่มโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 1964 โดยมุ่งหวังที่จะรวบรวมกองกำลังทหารราวๆ 70,000 - 80,000 นาย เพื่อสร้างกองกำลังความช่วยเหลือทางการทหารโลกเสรี (Free World Military Assistance Force : FWMAF) ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะจำกัดอำนาจของจีนและป้องกันเวียดนามใต้ รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่สหรัฐฯ ก็จะตอบแทนประเทศที่ให้ความร่วมมือด้วยการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร
จากปี 1964 มีประเทศกว่า 39 ประเทศเข้าร่วมโครงการนี้โดยให้ความช่วยเหลือผ่านทางการจัดหาสินค้าและส่งกำลังทหารเข้าไป ซึ่งเกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งกองกำลังทหารไปทั้งสิ้นกว่า 310,000 นาย ก่อนที่จะถอนกำลังออกจากเวียดนามในปี 1973 ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่น นอกจากสหรัฐฯ ส่งกองกำลังทหารแบบไม่ใช่กองกำลังต่อสู้เป็นหลัก มีเพียงเกาหลีใต้เท่านั้นที่ส่งกองกำลังต่อสู้เป็นหลัก
1
จำนวนทหารของแต่ละประเทศที่ถูกส่งไปเวียดนาม
การเข้าร่วมสงครามเวียดนามของเกาหลีใต้ มีผลอย่างมากต่อนโยบายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ต่อสหรัฐฯ ที่แนบแน่นมากยิ่งขึ้นหลังจากเกาหลีใต้ส่งกองกำลังต่อสู้ไปที่เวียดนาม และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการประชุมในระดับสูงระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เกือบทุกปี
1
การไปเยือนสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีปาร์ค จุง ฮี ในปี 1965 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ และเป็นโอกาสให้เสียงของเกาหลีใต้ได้มีเสียงที่ดังขึ้นในการเจรจาต่างๆ ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ จึงกลายเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน มากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีอำนาจอยู่ฝ่ายเดียว
1
อาจกล่าวได้ว่าสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและความช่วยเหลือทางเทคนิคต่างๆ ตลอดจนมีบทบาทโดยตรงและมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในเวลานั้นเกาหลีใต้ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการจัดซื้อที่เกี่ยวข้องกับเวียดนาม หลายๆ บริษัทประสบความสำเร็จจากการขยายอุตสาหกรรมใหม่ๆ
1
ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นมาจนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ หรือที่เรารู้จักกันในนามว่า แชโบล (Chaebol) อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ก็ยังมุ่งเน้นช่วยเหลือให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มากกว่าที่จะได้รับประโยชน์ชั่วคราวจากการจัดซื้อที่เกี่ยวข้องกับเวียดนามเท่านั้น
อ่านบทความเพิ่มเติม 'การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้...ปาฏิหาริย์แห่งลุ่มแม่น้ำฮัน'
blockdit.com
[Bnomics] การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้...ปาฏิหาริย์แห่งลุ่มแม่น้ำฮัน
การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้...ปาฏิหาริย์แห่งลุ่มแม่น้ำฮัน
จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ จึงช่วยส่งให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เข้าสู่ยุคที่มีการเติบโตสูง ที่ทั้งการส่งออกก็เติบโตสูงและอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการส่งออกก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
สงครามเวียดนามจึงเป็นเหมือนเหตุการณ์สำคัญที่หยิบยื่นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งสำหรับเกาหลีใต้ที่จะเติบโตได้อย่างน่าทึ่งเช่นนี้ เรียกได้ว่าจากการตัดสินใจส่งทหารไปเข้าร่วมในสงครามเวียดนาม ทำให้เกาหลีใต้ได้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการส่งออก จนกลายมาเป็นทางเดินไปสู่ความเติบโตของเกาหลีใต้แบบที่แทบไม่สามารถพบเห็นได้จากประเทศไหนในโลก
3
เครดิตภาพ : AP Photo
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าเบื้องหลังทางเดินที่สวยงามเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็แลกมาด้วยความสูญเสียจากการเข้าร่วมในสงครามเวียดนามเช่นกัน ทหารเหล่านั้นต้องไปเข่นฆ่าชาวเวียดนาม ทหารหลายนายเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ ได้รับผลกระทบทางจิตใจหลังจากกลับมาเกาหลีใต้ ซึ่งตัวละคร จุนฮา (รับบทโดย โจซึงอู) ก็เป็นตัวแทนของผู้ได้รับความสูญเสียจากสงครามครั้งนั้นและแบกรับมันไว้ตลอดชีวิต
ดังนั้นเมื่อพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ คนเหล่านี้ก็ควรถูกจดจำในฐานะส่วนหนึ่งของผู้ที่ทำให้เกาหลีใต้เป็นเกาหลีใต้แบบทุกวันนี้เช่นกัน
2
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
https://instruct.uwo.ca/economics/317b-570/keunhoparkclaytonhiroko.pdf
Togo, Ken, Vietnam War and East Asian Economic Growth (December 30, 2015). Available at SSRN:
https://ssrn.com/abstract=2728762
or
http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.2728762
https://www.usatoday.com/story/news/world/2016/12/06/ken-burns-vietnam-war-pbs-documentary/94749520/
ซีรีส์เกาหลี
เศรษฐกิจ
เกาหลี
30 บันทึก
12
11
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economic Edutainment
30
12
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย