5 พ.ย. 2021 เวลา 14:25 • ปรัชญา
"ไม่พรากออกจากกาม ไม่สามารถตรัสรู้ธรรมได้"
" ... พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านอุปมาไว้ว่า
เปรียบเหมือนไม้แช่อยู่ในน้ำ
จะสามารถสีไฟให้ติดได้มั้ย
สมัยโบราณเขาใช้การสีกัน
จนเกิดประกายไฟได้
ไม้ที่ชุ่มแช่อยู่ในน้ำ จะสีไฟให้ติดได้ไหม ?
ทำไปตลอดชาติมันก็ไม่ติด
เพราะมันชุ่มด้วยน้ำนั่นเอง
1
แล้วถ้าเรายกไม้ที่แช่อยู่ในแม่น้ำ
เอามาพักอยู่ข้างนอก
แต่น้ำมันยังชุ่มไปด้วยน้ำอยู่
ยังเปียกชื้นอยู่ จะสีไฟติดไหม ก็ไม่ติดอยู่ดี
ต้องรอตากแดดจนกว่าไม้จะแห้ง มันถึงจะสีไฟติด
ฉันใด จิตที่ยังชุ่มด้วยกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
อารมณ์ของโลก
ไม่สามารถที่จะตรัสรู้ธรรมได้เลย
ไม่สามารถเข้าถึงธรรมที่พ้นโลกได้เลย
เปรียบเหมือนคนที่ชุ่มอยู่กับโลกภายนอก
ชุ่มอยู่ด้วยกิเลส
ไม่สามารถที่จะตรัสรู้ธรรมได้เลย
1
...
แล้วการเอาไม้ออกมาพักข้างนอก แต่มันยังชุ่มอยู่
ก็เหมือนนักบวชใหม่ ๆ
คือพรากออกจากเรื่องทางโลก เรื่องกามคุณอารมณ์
แต่ว่าจิตยังเคล้าอยู่ จิตยังหมกมุ่นอยู่
บวชใหม่ ๆ เราจะรู้เลยว่า
จิตมันหิวกระหายมาก จะดิ้น
เหมือนปลาที่เขาจับออกมาจากน้ำ
ด้วยความคุ้นเคย มันอยู่ในน้ำ
มันก็พยายามดิ้น ตะเกียกตะกาย เพื่อลงน้ำนั่นเอง
1
จิตที่ห่างออกจากกามคุณใหม่ ๆ
มันจะดิ้นมากเลย
มันจะคิดถึงเรื่องกามวิตก
เรื่องอารมณ์ทางโลกต่าง ๆ
ถ้าเราไม่มีสติกำลังพอ
ไม่เห็นโทษภัยพอ
ยอมใจ ยอมแพ้ มันก็จะไหลไปเหมือนเดิม
เหมือนปลาที่ตกลงไปในน้ำ
เพราะฉะนั้น แม้กระทั่งไม้ที่เอามาวางข้างนอกแล้ว
มันยังชุ่มน้ำอยู่
ก็ยังไม่สามารถตรัสรู้ธรรมได้
ต้องฝึกปฏิบัติ
จนกว่าจิตมันจะพรากออกจากกามคุณอารมณ์
ที่เรียกว่า สงัดจากกามและอกุศลธรรมนั่นเอง
จิตมีความสงบระงับ
เข้าถึงความสุขอันเกิดจากความวิเวิกได้
จึงจะสามารถเดินปัญญาญาน
แล้วตรัสรู้ธรรมได้นั่นเอง
นั่นคือวิถีที่จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารทั้งปวง
เพราะฉะนั้นเราก็ใช้ช่วงเก็บตัวปฏิบัติ
พรากกายออกจากเรื่องทางโลก
เรื่องกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
แล้วก็ให้เวลากับตัวเองในการฝึกปฏิบัติ
เพื่อให้จิตเราสงัดจากกามคุณอารมณ์
จากเรื่องราวทางโลก
ช่วงที่เราฝึกปฏิบัติใหม่ ๆ
เราจะพบว่าอารมณ์เก่า ๆ
จะพุ่งพล่านขึ้นมามาก
เพราะว่าเมื่อเราฝึก ๆ ไป
มันจะค่อย ๆ เกิดกระบวนการชำระล้างออกมา
สิ่งที่คั่งค้างอยู่ภายในจิตในใจ
เริ่มจากอารมณ์หยาบ ๆ ก่อน
จะค่อย ๆ ถูกชำระออกมา
เปรียบเหมือนเรามีบ้านอยู่
แล้วเราไม่เคยทำความสะอาด
ฝุ่น หยากไย่เต็มเลย
อยู่ ๆ เราไปปัดกวาดเช็ดถู
ฝุ่นมันก็ต้องฟุ้งออกมาเป็นธรรมดา
จิตใจเราก็เช่นกัน
ในแต่ละวันที่เรารับเรื่องราวทางโลก
รับอารมณ์ต่าง ๆ
การที่เราสัมผัสโลก
อาหารรสอร่อย รูป รส กลิ่น เสียง
การดูหนัง ฟังเพลงต่าง ๆ
ความรู้สึกที่สัมผัส
มันแวบเดียว แล้วก็จบ
แต่มันไม่ได้จบแค่ตรงนั้นหรอก
มันจะเกิดความพอใจ เกิดความติดใจ
ฝังเข้าไปในใจของเรา
ไปปนเปื้อน ไปฝังลึกภายในใจของเรา
หรือว่าเราเจอเรื่องราวที่สะเทือนใจ ไม่พอใจ
ความรู้สึกนั้นมันเกิดขึ้นแล้วมันหายไป
แต่ว่าจะเกิดสิ่งที่ฝังเข้าไปในใจ
เป็นอนุสัยของเรา
ถ้านานมาก ๆ นับภพนับชาติ
มันก็จะเป็นอาสวะที่หมักดองอยู่ข้างในนั่นเอง
เปรียบเหมือนผ้าขาว
ที่ตกลงไปในบ่อน้ำคลำที่สกปรก
ถูกสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ มาก
การที่จะมาซักฟอกให้ขาวรอบ
เหนื่อยกันทีเดียว ไม่ใช่ง่ายเลยทีเดียว
เพราะฉะนั้น การฝึกปฏิบัติในวิถีของพระพุทธศาสนา
จึงมีการฝึกฝนโดยลำดับนั่นเอง
เริ่มจากสำรวมในศีล สำรวมอินทรีย์
ตัดเรื่องทางโลกออกไป
สำรวมตนอยู่ภายใน
แล้วก็ระวังรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
อารมณ์ที่เป็นน่าใคร่น่าปรารถนา
ที่มันทำให้ดึงดูดใจเรา
ให้ไหลไปกับเรื่องของโลกนั่นเอง
ตั้งสติไว้ภายใน
เป็นผู้มีความสำรวมอินทรีย์
เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
การบริโภคก็มีผลต่อการปฏิบัติมากทีเดียว
ชีวิตคฤหัสถ์ฆราวาสก็ทานตามใจปาก
ทานมาก สังเกตมันจะง่วง มึน ซึม
แต่ถ้าเราทานน้อย พอประมาณ
ที่เรียกว่ารู้ประมาณในการบริโภค
ก็คือทานเพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป
กายเบา ใจก็เบา
จะเกื้อต่อการบำเพ็ญสมณธรรมนั่นเอง
เพราะฉะนั้นช่วงเข้ากรรมฐาน
เรารักษาศีล ๘ ทานไม่เกินเที่ยง
แล้วเราก็งดเสีย ล้างปาก
ปล่อยให้มีช่วงเวลาที่ท้องว่างบ้าง
ใหม่ ๆ มันก็หิว 2 3 วัน แรก
แต่พอร่างกายเราปรับตัวได้ มันอยู่ได้
แล้วเราจะพบว่า ช่วงที่ว่างจากอาหาร
กายเบา จิตจะเบา
แล้วจิตจะประณีตได้มาก
เวลาภาวนา สังเกต
ภาวนาช่วงท้องว่าง จะภาวนาได้ดีมากเลย
ยิ่งช่วงที่เรางดอาหารแล้ว ท้องว่างแล้ว
ช่วงเย็น กายเบาภาวนาดี
แม้กระทั่งหลับไปก็ภาวนาดี
ตื่นมาเช้ามืด กายมันว่างจากอาหารนาน ๆ
ยิ่งภาวนาดีเลย
ใจจะนิ่งสงบ เข้าถึงสภาวะที่ลึกซึ้งได้ง่าย
เพราะฉะนั้น การรู้ประมาณในการบริโภค
ก็เป็นตัวช่วยชั้นดีเช่นกัน
แล้วก็ทำให้เราไม่เสียเวลาไปกับเรื่องอาหาร
มากเกินไป
การประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่
ช่วงเวลาที่เราเก็บตัวปฏิบัติ
แทนที่เราจะหมดเวลาไปกับกิจการงานทางโลก
เราก็ให้เวลากับการปฏิบัติธรรมนั่นเอง
เรียกว่า การเดินจงกลม นั่งสมาธิ ตลอดวัน
ให้หมดเวลาไปกับการปฏิบัติ
ซึ่งใหม่ ๆ คฤหัสถ์ฆราวาส
ก็อาจจะทำต่อเนื่องทั้งวันไม่ได้
เราก็เปลี่ยนอิริยาบถได้
นั่งมันเมื่อย เราก็ยืน
ยืนมันเมื่อย เราก็เดิน
เดินมันเมื่อย เราก็ไปเดินเล่นบ้าง
สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติบ้าง
นั่งเล่น นั่งบนเก้าอี้บ้าง
ก็กาย อิริยาบถเราก็ปรับให้สบาย
เราเพียรด้วยใจ เจริญสติต่อเนื่องตลอดวัน
ตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งหลับไป
หลับก็หลับไปกับความรู้สึกตัว
ตื่นขึ้นมาก็ทำความรู้สึกตัวขึ้นมา
ที่เรียกว่าประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่
วิธีการมันก็จะมีการขัดเกลาโดยลำดับลำดา
เมื่อเราเป็นผู้มีความสำรวมในศีล
เป็นผู้สำรวมอินทรีย์
เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
เป็นผู้ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่
ก็เป็นผู้ที่มีสติ สัมปชัญญะ
เจริญสติปัฏฐานอยู่เนือง ๆ
ยิ่งถ้าเราสามารถเสพที่อันสงบสงัดได้ยิ่งดี
สำหรับบรรพชิตก็จะได้อีกข้อ
ก็คือการเสพเสนาสนะอันสงบสงัด
กายวิเวก
พอกายวิเวก จิตก็วิเวกได้ง่าย
เมื่อจิตวิเวก ก็สามารถเข้าถึงอุปธิวิเวก
คือสงัดจากกิเลสได้นั่นเอง
การปฏิบัติมันถึงเป็นลำดับลำดาอย่างนี้
การปฏิบัติมันถึงตั้งหลักตั้งราได้
ฝึกจนพัฒนาสติเป็นลำดับลำดาได้นั่นเอง
แต่เป็นธรรมดา
คฤหัสถ์ฆราวาสก็เอาตามสมควร
เพราะแต่ละคนก็มีองค์ประกอบ
มีความพร้อมไม่เท่ากัน
ก็ค่อย ๆ เพียรฝึกปฏิบัติ
ก็ให้รู้ว่าช่วงของการปฏิบัติช่วงแรก
ก็จะเป็นการขัดชำระอารมณ์ต่าง ๆ ที่คั่งค้าง
บางทีก็จะเกิดความฟุ้งขึ้นมา
บางทีมันก็ฝันสะเปะสะปะ
บางทีก็เกิดการสบัดร้อนสบัดเย็น
เกิดการปรับธาตุปรับขันธ์ต่าง ๆ
บางทีก็หาวฟอด ๆ ๆ ๆ บางทีก็ง่วง สัปหงก
ตอนไม่ปฏิบัติก็ไม่ง่วง พอปฏิบัติปั๊บ ง่วงเลย
ช่วงแรกเป็นช่วงของการปรับสมดุลปรับขันธ์
แล้วก็เป็นช่วงของการขับสิ่งที่คั่งค้างต่าง ๆ
ร่างกายเรายังต้องชำระล้างกันทุกวันเลยใช่ไหม
วันนึงก็อาบน้ำเช้า อาบน้ำค่ำ
ถ้าเราไม่อาบน้ำ เป็นไงร่างกาย
จิตใจเราล่ะ ชำระกันบ้างหรือเปล่า
ในแต่ละวันที่มีสิ่งที่เข้าไปคั่งค้างอยู่ข้างใน
การปฏิบัติธรรมนี่แหละ
จะเป็นการชำระล้างสิ่งที่คั่งค้างต่าง ๆ
จนสามารถคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ ฝึกหัดปฏิบัติไป ... "​
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา