Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรมชาติ ธรรมดา
•
ติดตาม
9 พ.ย. 2021 เวลา 00:47 • ปรัชญา
จิตว่างเพราะวางกาย
จิตที่ไม่ยึดถือในตัวตน ของตน นี้คือ ‘จิตว่าง’ แต่จะทำอย่างไรให้จิตนี้เลิกยึดเลิกถือได้ เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต่างพิจารณา
เคยมีคำพูดว่า “ความโง่ อะไรจะโง่ยิ่งกว่าจิตไม่มี”
หากทำให้โง่ ก็โง่จนตั้งกัปตั้งกัลป์ เกิด อยู่ ตายด้วยความโง่ โง่ตลอดไปถ้าจะให้โง่ แต่ถ้าจะให้ฉลาด ก็ฉลาดที่สุดด้วยจิตนี้ ฉะนั้นจงใช้ความพยายาม
ความฉลาดนั้นพาให้เราพ้นทุกข์ ไม่ว่าทางโลกทางธรรมก็ผ่านพ้นไปได้ ไม่จนตรอก
ดังนั้นจงผลิตความฉลาดให้มากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉลาดกับสิ่งที่เราแบกมาทั้งชีวิตอย่าง ‘ขันธ์ 5’
เรารู้ไหมว่ามันเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ที่ไหน มีดี มีชั่ว มีความสกปรกโสมมหรือมีความสะอาดสะอ้านที่ตรงไหน
มีสาระสำคัญและไม่เป็นสาระสำคัญอยู่ที่ตรงไหน
มีอนิจจังหรือนิจจัง ทุกขังหรือสุขัง อนัตตาหรืออัตตาอยู่ที่ตรงไหนบ้าง
ควรค้นให้เห็นเหตุผล เพราะมีอยู่กับตัวด้วยกันทุกคน
ในธาตุขันธ์ จงใช้สติปัญญาขุดค้นลงไป จะรู้ว่าทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “รูปัง อนัตตา” รูปไม่ใช่ตัวตน “รูปัง อนิจจัง” รูปไม่เที่ยง
อนิจจังมันเตือนเราอยู่ตลอดเวลา เตือนว่าอย่าประมาท อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หลวงตามหาบัวเคยบอกกับลูกศิษย์ลูกหาไว้ “อย่าไปถือไฟรู้ไหม อนัตตามันเป็นไฟ ถือแล้วร้อน ปล่อยซิ ถือไว้ทำไม”
...เข้าสู่การพิจารณาทางกายเพื่อให้เกิดจิตว่าง
รูปัง หรือ รูป ให้แยกออกไป รูปมันมีกี่อาการ อาการอะไรบ้าง ดูทั้งข้างนอกข้างใน ดูให้เห็นตลอดทั่วถึง
พิจารณาอย่างนี้เรียกว่า ‘มูลกรรมฐาน’ คือพิจารณาความไม่งามของสังขาร
ประกอบไปด้วย 5 ส่วน คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรือพูดภาษาเข้าใจง่ายคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ในทั้งหมดนี้ ส่วนที่สำคัญจริงๆคือ ตโจ หรือ หนังที่ห่อหุ้มร่างกายอยู่
ที่พระพุทธเจ้าให้พิจารณาจบที่หนังเป็นส่วนสุดท้าย เพราะนี่คือตัวสำคัญมากของสัตว์โลก
เพราะมีหนังห่อหุ้มร่างกายไว้จึงได้ดูงดงาม
หากให้ลองถลกหนังออก กายนี้จะยังดูได้อยู่ไหม...
เป็นสัตว์ก็ดูไม่ได้ เป็นคนก็ดูไม่ได้ เป็นหญิงชายก็ดูไม่ได้ทั้งนั้น
ให้มาพิจารณาตรงนี้ คลี่คลายออกดูทั้งข้างนอกข้างในของหนังว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ดูอย่างนี้คือกรรมฐาน
ดูทั้งข้างล่างข้างบน คนทั้งคนถลกหนังออกให้หมด ทั้งเราทั้งเขาดูได้ไหม อยู่กันได้ไหม
ดูเข้าไปถึงเนื้อ เอ็น กระดูก เข้าไปดูข้างใน นี่เรียกว่า ‘เที่ยวกรรมฐาน’
เที่ยวอย่างนี้คือให้ดูข้างบนข้างล่าง ให้เพลินอยู่กับความจริง แล้วอุปาทานที่เรากอดรัดเอาไว้นั้น จะค่อย ๆ คลายออกเรื่อย ๆ
พอความรู้ความเข้าใจซึมซาบเข้าไปถึงไหน ความผ่อนคลายของใจก็เบาลง ๆ
ความสำคัญตัวตนเป็นเครื่องทำให้หนักอยู่ภายในใจเรา พอมีความเข้าใจในส่วนนี้จึงปล่อยวางลงได้ตามลำดับ เกิดความเบาขึ้นในใจ
นี่เป็นประโยชน์ในการพิจารณากรรมฐาน
ไม่ว่าเป็นชิ้นเป็นอันใด กำหนดให้เปื่อยพังไปเรื่อย ๆ มันเปื่อย ๆ อยู่ตลอดเวลา จนอยู่ไม่ได้
อะไรที่จะเกิดความขยะแขยงซึ่งมีอยู่ในร่างกายก็จะปรากฏขึ้นมา ซึ่งแต่ก่อนก็ไม่ขยะแขยง
ทำให้เกิดให้มีด้วยสติปัญญาของเรา พิจารณาให้เห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้
เรากำหนดให้เปื่อยลงโดยลำดับ ๆ ก็ได้ จะกำหนดแยกออก เฉือนออกเป็นกอง ๆ กองเนื้อกองหนัง
อะไร ๆ เอาออกไป เหลือแต่กระดูกก็ได้
กระดูกก็มีชิ้นใหญ่ชิ้นเล็ก มันติดต่อกับที่ตรงไหน กำหนดออกไป ดึงออกไปกอง เสร็จแล้วเอาไฟเผาเข้าไป ได้กี่ครั้งกี่หนไม่ต้องไปนับ ทำจนชำนาญเป็นของสำคัญ ชำนาญจนกระทั่งเราปล่อยวางได้
กำหนดต่อไป ทลายลงไปจนแหลกเหลวไปหมด กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ
เป็นสุญญากาศ ว่างเปล่า
เมื่อเราพิจารณาอย่างเห็นชัดเข้าจริงจะเกิดความขยะแขยง เกิดความสลดสังเวชขึ้น แต่ใจเรานั้นกลับจะรู้สึกเบา
เพราะความหนักจากการไปยึดไปถือไว้ ได้ถูกถอนออกมาแล้ว จิตก็เบาก็โล่ง
จิตปรากฏเหมือนกับอากาศ อะไร ๆ ก็เป็นอากาศธาตุไปหมด จิตว่างไปหมด
ความจิตเบาเป็นอย่างนี้ เกิดได้จากสติปัญญา
เมื่อกำหนดเข้าไปนาน ๆ จะมีความชำนาญละเอียดยิ่งไปกว่านี้
แม้ที่สุดร่างกายที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อนี้มันก็หายไปหมด จากภาพทางรูป กลายเป็นอากาศธาตุ ว่างไปหมด
มองต้นไม้ก็เป็นราง ๆ เหมือนกับเงา ๆ ดูภูเขาทั้งลูกก็เหมือนกับเงา ไม่ได้เป็นภูเขาจริงจังเหมือนแต่ก่อน
เพราะจิตมันแทงทะลุไปหมด
'จิตว่าง' ว่างเพราะวางกายด้วย ว่างเพราะจิตทะลุร่างกายทั้งหมดด้วย
ทีนี้ เวทนา มันก็เพียงยิบยับ ๆ นิด ๆ ในร่างกาย มันก็ของว่างอีกเหมือนกัน เวทนาเกิดขึ้นก็รู้ว่าเกิด แต่ก่อนที่มันเคยเป็นตัวเป็นตนตอนนี้ก็ไม่มี
สัญญา สังขาร ก็เป็นเงา ๆ เมื่อปัญญามันครอบเข้าไป อะไร ๆ ก็กลายเป็นเงา ๆ ไปทั้งนั้น
จากนั้นก็ทะลุถึงจิต มันเป็นก้อนอีก คือเป็นก้อน ‘อวิชชา’ ก้อนสมมุติ ก้อนภพ ก้อนชาติ ให้เราเอาปัญญาครอบลงไปที่นั่น คำว่า เงา ๆ หมดไป ก้อนสมมุติทั้งก้อนก็หมดภายในจิต ไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ อันเป็นความรู้บริสุทธิ์
สิ่งที่เป็นราง ๆ เงา ๆ ที่ว่านี้คือกิเลส ซึ่งต้องถูกชำระออกให้หมดด้วยปัญญา
ไม่มีอะไรปิดบังจิตที่บริสุทธิ์นี้ได้เลย
1
นั่นคือที่สุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งภพแห่งชาติ ที่สุดแห่งวัฏจักรทั้งหลาย ก็สิ้นสุดลงที่จุดนี้…
(คัดย่อข้อมูลจากหนังสือธรรมชุดเตรียมพร้อม)
ให้ลองปฏิบัติตามอุบายพิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้ แล้วจะเห็นตามความเป็นจริงถึงความไม่ใช่ตัวตน ความไม่เที่ยง จนเกิดสภาพจิตว่างขึ้นมาได้ ละวางความเป็นตัวตนได้
1
ถือเป็นวิธีที่โดยส่วนตัวทำแล้วเห็นผล แม้เกิดความสังเวชใจในช่วงแรก แต่สุดท้ายแล้วจิตจะเบา ถึงแม้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานนัก แต่หากฝึกฝนต่อไป ปัญญาเราจะพิจารณาได้ละเอียด แยบคายยิ่งขึ้น จนสามารถเจริญปัญญาให้หลุดพ้นได้อย่างแท้จริง
ธรรมะ
พระธรรมคำสอน
พัฒนาตัวเอง
3 บันทึก
10
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เรื่องราวของจิตที่ควรรู้
3
10
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย