12 พ.ย. 2021 เวลา 08:55 • ปรัชญา
“สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานชิมลอง”
"อาวุโส! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกาม
สงัดแล้วจากอกุศลธรรมเข้าถึง ปฐมฌาน
อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่
อาวุโส! สันทิฏฐิกนิพพาน อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้
ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล เมื่อกล่าว โดยปริยาย."
(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า คำว่า "สันทิฏฐิกนิพพาน" ในที่นี่ ต้องหมายถึงความสุขอันเป็นผลจากปฐมฌานที่บุคคลนั้นรู้สึกเสวยอยู่ นั่นเอง, เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ความสุขอันเกิดจากเนกขัมมะ โดยเฉพาะคือฌานทุกระดับ มีชื่อเรียกว่านิพพานได้, ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงอนุปาทิเสสนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น. จะยุติเป็นอย่างไร ขอให้นักศึกษาพิจารณาดูเอาเองเถิด. )
[เสียงจากคลิป]
" ... ข้อความนี้ใน( ) เขียนต่อโดนท่านพุทธทาสนะที่ท่านได้ยินเมื่อสักครู่
สันทิฏฐิกนิพพาน เมื่อกี้พระอานนท์พูดถึง
ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป สงัดแล้วจากกาม
สงัดแล้วจากธรรมอันเป็นอกุศล
เข้าถึงปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข
อันเกิดจากวิเวก
แสดงว่าในฌานทุกฌานไม่มีกาม ไม่มีตัณหา
ใจจึงเข้าสู่ความเป็นปกติที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “นิพพาน”
ในพระสูตรจะบอกไว้เลยว่า หรือในอริยสัจจ์ ทุกข์ สมุทัย
สมุทัยคือตัณหา ถ้าขณะใดก็ตามที่จิตไม่มีตัณหาเข้าไปปน
ความบีบคั้นบีบร้อนที่ไม่มีในจิต
ขณะนั้นจะเกิดเป็นความสงบเย็น
ถึงแม้จะชั่วคราวก็ตาม
ตรงนี้พระอานนท์จึงนำมาเล่า
แล้วนำมาบอกกับภิกษุที่ปฏิบัติว่า...
พระผู้มีพระภาคฯ พูดถึงปฐมฌานขึ้นไปว่า
เป็นนิพพานชั่วคราว
ดังนั้นใครที่ปฏิบัติแล้วรู้สึกว่า
เวลาเรานั่งสมาธิมันก็เหมือนกับการกดข่ม
ผมว่าท่านเปลี่ยนมุมมองใหม่ดีกว่า
เป็นมุมมองตามพระศาสดา
ขณะที่ท่านเริ่มเข้าสมาธิได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป
ความสงบพอสมควร
ไม่มีตัณหา ไม่มีกามเข้าไปปน
ท่านจะนั่งแล้วสังเกตเห็นเลยว่า ไม่มีความบีบคั้น
แต่ถ้าท่านยังบีบคั้นอยู่ท่านยังไม่เข้าถึงปฐมฌาน
ยังรู้สึกเบื่อ ยังรู้สึกติดขัดกับเวลา...
1
"โอ้ย! นี่มันกี่โมงแล้ววะ นี่มันกี่นาทีกันแล้ว
อีกตั้งกี่นาที ..."
พวกนี้ยัง ยังไม่สงัดจากกาม
ยังไม่สงัดจากธรรมอันเป็นอกุศล ยังมีอกุศลปนอยู่
1
แต่เมื่อไหร่มันเจอสมดุลแล้วมันปล่อยพรึบ
แล้วค่อยๆ นั่งแล้วตัวเริ่มเบา
เข้าไปดำริตริตรึกอยู่กับลมหายใจโดยส่วนเดียว
แล้วก็เริ่มเบา รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย
ขณะนั้นค่อยๆ เดินเข้าสู่ปฐมฌาน
ตอนนั้นไม่มีกามและก็ไม่มีตัณหา
ความสุขสงบจะเกิดขึ้น
1
เราควรจะสังเกตตรงนี้มากกว่าว่า
โอ! สุขในฌานทั้งหลายเนี่ย มันไม่มีตัณหาบีบคั้น
มันเป็นความสุขสงบ
ซึ่งปราศจากตัณหาที่เป็นเครื่องบีบ
นี่แหล่ะคือสาระสำคัญ
เวลามอง มองในมุมที่ถูกต้อง นะ
อย่างไปมองในเรื่องกดข่ม
แต่มองว่า ลักษณะอย่างนี้ความโปร่งเบา โปร่งเบา
อย่างนี้นะ ที่ไม่มีตัณหาเข้าประกอบ
1
จากนั้นในฌานตั้งแต่ 2, 3, 4 และอีกอย่างนึงที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ก็คือ
ถ้าใครอ่านใน... การละอาสวะนานาแบบ
จะมีความสุข...อ๋อไม่ใช่แล้ว
“สุขที่ควรกลัว” และ “สุขที่ไม่ควรกลัว”
“สุขที่ควรกลัว” พระพุทธเจ้าตรัสว่า... “กามสุข”
เราไปซื้อข้าวซื้อของ ซื้อกระเป๋า ซื้อรองเท้า
บอกว่าอันนี้มีความสุข...
อันนั้นเนี่ย “สุขที่ควรกลัว” สุขพวกนี้เป็นสุขที่วูบวาบ
แล้วก็เป็นของปรุงแต่งขึ้นมาแบบหยาบๆ
จากความไม่รู้ แล้วก็นำมาซึ่งทุกข์ในอนาคต
แต่ “สุขที่ไม่ควรกลัว” ท่านบอกว่าคือ
สุขจากฌานทั้งหลาย สุขในฌานคือสุขที่ไม่ควรกลัว
หลายคนที่บอกว่า
"อุ้ย! ระวังติดสมถะนะ... "
ทำไมถึงต้องให้นั่งสมาธิ?
ทำไมถึงเข้าฌานแล้วมันจะดีรู้มั้ย?
เพราะจิตถึงเปลี่ยนทางจากอกุศลมาอยู่กับกุศล
พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนี่เหมือนลิง
ถ้าจะให้ลิงปล่อยกิ่งไม้กิ่งนึง
ลิงจะต้องมีกิ่งไม้กิ่งใหม่เพื่อที่จะจับ
ลิงจะไม่ยอมปล่อยกิ่งไม้กิ่งเดิม
ถ้าไม่มีกิ่งไม้กิ่งใหม่ให้จับ
1
ดังนั้นจะให้ลิงปล่อยอกุศล ต้องเอากุศลมาล่อ
จิตเป็นธรรมชาติที่ไม่ได้มีตัวตน
มาจากการฝึกแล้วก็ให้เค้าเข้าไปสัมผัส
เมื่อจิตเข้ามาสัมผัสกับความสงบ
เหมือนที่ผมยกตัวอย่างว่าเด็กขี่จักรยานแล้วเข้ามาอยู่ในบ้าน
แรกๆ อยู่ไม่ไหว ไม่ชอบ แต่อยู่ไป อยู่ไป มันชัก
"เอ้อ! สบายดี"
อยู่ไป อยู่ไป มันเริมชิน อยู่ไป อยู่ไป มันเริมเคยคุ้น
ทีนี้ก็สบายเลย
"เอ๊ะ! มีความสุขกว่าออกไปขี่จักรยานทั้งร้อนทั้งเหนื่อย
แต่อยู่อย่างนี้ โอ้! สุขสงบจริงๆ"
เราพูดถึงจิตนะ ไม่ได้พูดถึงการทำงานนะ
ถ้าการทำงาน...หาว่ามานั่งสมาธิแล้วขี้เกียจ...ไม่ใช่
จิตต่างหากล่ะที่สนใจความสงบ
หลังจากนั้น จิตที่เข้าสัมผัสกับความสงบ
จะมีพลังในการทำงานแบบไม่มีประมาณ
เพราะไม่มีแรงเสียดทาน
ทุกวันนี้เราทำงานได้นิดๆ หน่อยๆ เหนื่อยจะตายแล้ว
เพราะมันเสียดทานอยู่ข้างใน
ทำไอ้นั่น เดี๋ยวก็โมโห คนนั้น
เดี๋ยวก็โมโหคนนี้ หงุดหงิดคนโน้น
แรงเสียดทานมันเยอะเหมือนกับ
เหมือนกับอะไรอ่ะ...ถูไปบนกระดาษทรายอ่ะ
มันฝืดไปหมดนะ กระดาษทราย...ถูไปถูไป โอ้โหมันฝืด
แต่พอเปลี่ยนกระดาษทรายเป็นน้ำมันเครื่องลื่นๆ บนกระจกเนี้ยะ
ปรู๊ดดดดไปได้ไม่มีประมาณ แรงเสียดทานมันลดลง
เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดสภาพอย่างนี้เนี่ย
การทำงานก็จะดีขึ้น
จิตก็ได้สัมผัสความสงบเย็นมากขึ้น
เหมือนเด็กเข้ามาสัมผัสความเย็นสบายในบ้านมากขึ้น
สุขที่ไม่ควรกลัว สุขในสมาธิ
ทำให้มากแล้วเดี๋ยวจิตจะเปลี่ยนทาง ... "
.
คอร์ส “มัคคานุคาเข้มระดับ 2” เรื่อง พังประตูคุก
ตอนที่ 4 “สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานชิมลอง”
บรรยายโดย อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
ระหว่างวันที่ 25 – 29 มิถุนายน 2556
ณ สวนธรรมศรีปทุม
อ้างอิง :
“นิโรธ 5 ระดับ”
นิโรธ 5 (ความดับกิเลส, ภาวะไร้กิเลสและไม่มีทุกข์เกิดขึ้น — extinction; cessation of defilements)
1. วิกขัมภนนิโรธ (ดับด้วยข่มไว้ คือ การดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น — extinction by suppression)
2. ตทังคนิโรธ (ดับด้วยองค์นั้นๆ คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้ที่กำหนดแยกนามรูปออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ — extinction by substitution of opposites)
3. สมุจเฉทนิโรธ (ดับด้วยตัดขาด คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาด ด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อสมุจเฉทนิโรธ — extinction by cutting off or destruction)
4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ (ดับด้วยสงบระงับ คือ อาศัยโลกุตตรมรรคดับกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้นชื่อ ปฏิปัสสัทธินิโรธ — extinction by tranquillization)
5. นิสสรณนิโรธ (ดับด้วยสลัดออกได้ หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสดับแล้วนั้นยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อนิสสรณนิโรธ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน — extinction by escape; extinction by getting freed)
ปหาน 5 (การละกิเลส — abandonment),
วิมุตติ 5 (ความหลุดพ้น — deliverance),
วิเวก 5 (ความสงัด, ความปลีกออก — seclusion),
วิราคะ 5 (ความคลายกำหนัด, ความสำรอกออกได้ — detachment; dispassionateness),
โวสสัคคะ 5 (ความสละ, ความปล่อย — relinquishing) ก็อย่างเดียวกันนี้ทั้งหมด
.
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา