13 พ.ย. 2021 เวลา 02:09 • สุขภาพ
เล่นเอาขนลุก!!! เชื่อไหมว่า เจ้านี่น่ะอาศัยอยู่ตรงขนตาของเรา!!!
ช่างน่าเกรงขามแท้!!!
เมื่อสองสามวันก่อน ผมได้มีโอกาสฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับสุขภาพจากพิธีกรชายชื่อดังท่านหนึ่งโดยบังเอิญ สิ่งที่เขานำมาแชร์ทางโทรทัศน์ในวันนั้นก็คือภาพดวงตาที่แดงก่ำของตัวเอง กับ ‘ไรขนตา’ สิ่งมีชีวิตท่าทางน่ากลัวปนขนลุกที่อาศัยอยู่ตรงขนตา!!! ซึ่งเจ้าตัวนี้แหละครับ ตัวการที่ทำให้ดวงตาของเขาอักเสบอย่างรุนแรงในครั้งนี้!!!
ดูเสร็จ ผมนี่คันตาขึ้นมากระทันหันกันเลยทีเดียว บรื้อ!!!
ไรขนตา คือ อะไร?
ไรขนตา (Eyelash Mites) คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำพวกปรสิต ซึ่งมีอยู่ประมาณ 65 สายพันธุ์ แต่มีเพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้นที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับร่างกายของมนุษย์ นั่นก็คือ Demodex folliculorum และ Demodex brevis
ตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร ส่วนตัวเมียก็จะมีขนาดที่เล็กกว่านิดหน่อย โดยสายพันธุ์ brevis จะมีขนาดที่เล็กกว่าสายพันธ์ folliculorum
พวกมันมีลักษณะร่างกายกึ่งโปร่งใส ลำตัวยาว ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือส่วนบนที่มีขาสั้นๆ 8 ขา และส่วนท้องหรือลำตัวที่ยาวคล้ายหาง
ไรขนตานั้นอาศัยอยู่ตามปุ่มรากขนตา ปุ่มรากผม และต่อมไขมันโคนขนตา พวกมันสามารถเคลื่อนไหวได้ 8-16 เซ็นติเมตรต่อชั่วโมง จะขยับตัวในที่มืด ถ้าเจอแสงก็จะมุดลึกลงไปในรูขนทันที
ว่ากันว่าในขนแต่ละเส้นอาจมีตัวไรขนตาได้ถึง 25 ตัวเลยทีเดียว!!! ขนลุกสิครับจะรออะไรล่ะ!!!
บริเวณเปลือกตาของเรานั้นมีทั้งขนตา และต่อมน้ำมันที่สร้างน้ำมันตรงแกนขนตา ไรขนตาที่อยู่ตรงโคนขนตาจะกินเซลล์ขน ส่วนตัวที่อยู่ตรงต่อมน้ำมันก็จะกินน้ำมันเป็นอาหาร
วงจรชีวิตของไรขนตานั้นค่อนข้างที่จะสั้น กล่าวคือมีระยะเวลาแค่ไม่ถึงหนึ่งเดือนด้วยซ้ำ เริ่มต้นจากตัวผู้ผสมพันธ์ุกับตัวเมีย แล้วออกไข่ในรัง (รูขุมขน) จากนั้นราว 3-4 วันก็ฟักออกมาเป็นตัว ประมาณ 7 วันต่อมาก็จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ทันที และเมื่อตายก็จะใช้รูขุมขนอีกนั่นแหละ ที่เป็นหลุมฝังศพต่อไป
มนุษย์ผู้ใหญ่ร้อยละ 95-98 มีไรขนตาอยู่บนร่างกาย ส่วนเด็กนั้นจะไม่ค่อยพบ เนื่องจากมีน้ำมันที่ขับออกตามรูขุมขนน้อยกว่า โดยไรขนตานั้นสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสบริเวณ ขน ผม ของกันและกันได้ด้วย ดังนั้นต้องระวังกันหน่อยนะครับ
อาการที่พบบ่อยเมื่อโดนไรขนตาโจมตี คือ
1. คันรอบบริเวณโคนขนตา หรือเปลือกตา
2. มีขุย หรือสะเก็ดหลุดจากบริเวณเปลือกตา และเกิดการอักเสบ
3. ขนตาหลุดร่วงง่ายผิดปกติ
4. ดวงตาเริ่มมีสีแดงก่ำ หรือรู้สึกแสบร้อนภายในดวงตา
5. มองเห็นไม่ค่อยชัด บางคนตาพร่ามัวจากการอักเสบของผิวกระจกตา
ชี้ชัด ใครบ้างที่มีโอกาสติดเชื้อจาก ไรขนตา
1. คนที่ระดับภูมิต้านทานต่ำลงอย่างผิดปกติ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดนั่นก็คือ เพราะความเครียด
2. คนที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวอาทิ โรคเบาหวาน
3. คนที่ผิวมัน ซึ่งมักจะสร้างน้ำมันเยอะ
4. วัยรุ่น หรือคนที่มีปัญหาสิว
5. ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ชายที่อายุ 70-80 ปี เนื่องจากต่อมน้ำมันจะสร้างน้ำมันมากขึ้น
สามารถเลี่ยงการติดเชื้อจากไรขนตาได้ง่ายๆ แค่ทำสิ่งเหล่านี้
1. รักษาสุขภาพอนามัยของใบหน้า และดวงตาให้สะอาดอยู่เสมอ อาทิ ก่อนใช้มือสัมผัสดวงตา ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง เป็นต้น
2. ล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง ถูรอบดวงตาเบาๆ ด้วยน้ำเปล่า หรือสบู่เด็ก จากนั้นใช้ผ้าสะอาดเช็ดขนตา และรอบดวงตา เพื่อขจัดเศษฝุ่น และความมันส่วนเกิน
3. อาบน้ำ-สระผมให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังออกกำลังกาย
4. หากเป็นสิวอักเสบที่หน้า คอ และหน้าอก ควรมุ่งเน้นไปที่การรักษาตรงจุดนี้ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน
5. งดใช้หวี และเครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจเกิดการติดเชื้อข้ามสู่กันได้ หากมีอาการตาอักเสบ และรักษาหายดีแล้ว แนะนำว่าควรเปลี่ยนของใช้ส่วนตัวที่กล่าวมาข้างต้นใหม่ทั้งหมด
6. โลชั่นหรือครีมทากันแดดที่ใช้บริเวณใบหน้า และลำคอควรเป็นแบบปราศจากน้ำมัน เพื่อป้องกันการเลี้ยงเชื้อ
7. ซักปลอกหมอน และเครื่องนอนต่างๆ ให้บ่อยครั้งขึ้น อาจเป็น 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง และหากเก่าแล้วควรรื้อทิ้ง
กล่าวโดยสรุป ที่จริงแล้วเราทุกคนนั้นล้วนแต่มีไรขนตา ปกติแล้วมันจะไม่สร้างปัญหาให้กับเรามากมายอะไร พูดง่ายๆ ก็คือไม่ได้ทำให้เกิดโรคโดยตรง เมื่อเราอาบน้ำ หรือสระผม ไรขนตาบางส่วนจะร่วงหล่นโดยอัตโนมัติ และตายภายใน 2-3 ชั่วโมง ยกเว้นตัวที่เกาะที่ผ้าขนหนูหรือเข้าไปอยู่ในครีมที่เป็นน้ำมัน ก็จะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นอีกหน่อยเท่านั้นเอง
เราไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าไรขนตา เพราะไม่มีทางที่พวกมันจะตายและหมดไปจากตัวเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับเราแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ข้อดีที่เห็นได้ชัดของตัวไรขนก็คือการกินเซลล์ผิวที่ตายแล้วของเรา และควบคุมน้ำมันส่วนเกินตามรูขุมขนของเรา เพียงแต่เราต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง ไม่จำเป็นต้องกังวลหรือตื่นตูมกับการมีอยู่ของพวกมันจนเกินไป ในความเห็นของจักษุแพทย์ และแพทย์ผิวหนัง เชื่อว่า ในภาวะปกติไรขนตาไม่ได้สร้างปัญหาที่น่ากลัวอะไร การรักษาจึงไม่ใช่การฆ่าไรขนตาแต่เป็นการรักษาอาการอักเสบ รักษาความสะอาดให้ไรขนตาไม่มีจำนวนที่มากเกินไปก็น่าจะเพียงพอ
ทั้งนี้ยืนยันว่าบทความของผมไม่ใช่คำตอบ หรือบทสรุปที่ดีที่สุด ทุกท่านควรใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการรับข้อมูลด้วยนะครับ
ขอบคุณทุกการตอบรับ ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม ไลค์ คอมเมนท์ หรือว่าแชร์ ทุกกำลังใจสำคัญสำหรับผมเสมอ
ติดตามอ่านบทความได้ที่
ขอบคุณทุกคนครับ
แล้วพบกันใหม่ในโพสต์หน้า
สวัสดีครับ
ขอบคุณเจ้าของรูปภาพทุกท่าน
ขอบคุณข้อมูลจาก
ผศ.พญ.จันทนา สกุลแรมรุ่ง
จักษุแพทย์ประจำคลินิกโรคตา
โรงพยาบาล พญาไท 3
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก
และ sanook.com
มา ณ ที่นี้ด้วยครับ
โฆษณา