“ว่าด้วยเรื่องของธาตุ”
ข้อสังเกต : บุรุษแปลว่าคนเรา ไม่ใช่แค่ผู้ชาย
บุรุษ คือคนเรานี้ ประกอบด้วยธาตุ 6 อย่าง
คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญานธาตุ
ภาวะอันใดเป็นความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่
ความบังเกิดขึ้นมา ความปรากฏออก
แห่งธาตุทั้ง 6 อย่างเหล่านั้น
คือ ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์
ความตั้งอยู่แห่งธรรมชาติ
เป็นเครื่องเสียบแทงทั้งหลาย
เป็นความปรากฏออกแห่งชราและมรณะ
ส่วนภาวะอันใดเป็นความดับไม่เหลือ
ความเข้าไปสงบรำงับ ความถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้
แห่งธาตุทั้ง 6 อย่างเหล่านั้น
คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ความเข้าไปสงบรำงับแห่งธรรมชาติ
เป็นเครื่องเสียบแทงทั้งหลาย
ความถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชราและมรณะ
...
เพราะอาศัยธาตุตั้ง 6 อย่างเหล่านี้
ย่อมมีการหยั่งลงสู่ครรภ์
เมื่อการหยั่งลงสู่ครรภ์มีอยู่ นามรูปย่อมมี
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะย่อมมี
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะย่อมมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาย่อมมี
สำหรับบุคคลผู้มีความรู้สึกต่อเวทนาอยู่
ท่านจึงบัญญัติให้รู้ว่า ทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ๆ
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ๆ
ข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ๆ
...
ธาตุ 3 อย่าง
นัยยะที่ 1
1) กามะธาตุ เป็นที่ตั้งแห่งกาม เป็นไปเพื่อกามทั้งหลาย
2) รูปะธาตุ เป็นที่ตั้งแห่งรูป เป็นไปเพื่อรูปธรรมทั้งหลาย
3) อะรูปะธาตุ เป็นที่ตั้งแห่งอรูป เป็นไปเพื่ออรูปธรรมทั้งหลาย
นัยยะที่ 2
1) รูปะธาตุ เป็นที่ตั้งแห่งรูป เป็นไปเพื่อรูปธรรมทั้งหลาย
2) อะรูปะธาตุ เป็นที่ตั้งแห่งอรูป เป็นไปเพื่ออรูปธรรมทั้งหลาย
3) นิโรธะธาตุ เป็นที่ดับแห่งรูปธาตุ และอรูปธาตุทั้งหลาย
เป็นไปเพื่อนิพพาน
นัยยะที่ 3
1) เนกขัมมธาตุ อันเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามธาตุนั้น
2) อรูปธาตุ อันเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งรูปธาตุนั้น
3) นิโรธธาตุ อันเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งสังขารธาตุ
อันเกิดแล้ว ปรุงแต่งแล้ว อาศัยกันเกิดขึ้นแล้วใดๆ ก็ตามนั้น
...
สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด
ผู้เข้าไปถือเอาซึ่งรูปธาตุด้วย
ผู้เข้าไปตั้งอยู่ในอรูปธาตุด้วย
ล้วนแต่เป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึงอยู่ซึ่ง นิโรธธาตุ
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มาสู่ภพใหม่อีก
ส่วนสัตว์ทั้งหลายเหล่าใด
รอบรู้แล้วซึ่งรูปธาตุทั้งหลาย
ไม่ติดอยู่แล้วในอรูปธาตุทั้งหลาย
ย่อมหลุดพ้นไปในนิโรธธาตุ นั่นเทียว
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่าผู้ละซึ่งมัจจุ
...
นรชนถอนแล้วซึ่งจิต จากสังขารธาตุทั้งปวง
ย่อมน้อมนำจิต เข้าไปในอมตธาตุ
นั่นแหละคือธรรมชาติอันรำงับ
นั่นแหละคือธรรมชาติอันประณีต
ได้แก่สิ่งเหล่านี้
คือ ความสงบรำงับแห่งสังขารทั้งปวง
คือ ความสลัดคืน ซึ่งอุปธิทั้งปวง
คือ ความสิ้นไปแห่งตัณหา
คือ ความจางไป หมดสิ้น
คือ ความดับไม่เหลือ
คือ ความดับเย็นสนิท
.
อ้างอิง :
ปรมัตถสภาวธัมมปาฐะ