15 พ.ย. 2021 เวลา 08:11 • ปรัชญา
"สภาวะที่บริสุทธิ์ ไม่มีคำบรรยาย"
" ...​ เวลาดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาน
บางครั้งก็จะเด่นในเรื่องของ ‘อนิจจสัจจะ’
ก็คือ เรื่องของความไม่เที่ยง นั่นเอง
สภาวะที่มันรู้ชัดในเรื่องของความไม่เที่ยง
ของสภาวธรรมต่าง ๆ
ในบางครั้งก็จะเด่นในเรื่องของ ‘ทุกขสัจจะ’
คือ สภาวะที่มันทนอยู่ไม่ได้
เกิดแล้วมันก็ต้องเสื่อมไป
เกิดแล้วมันก็ต้องเสื่อมไปนั่นเอง
ในบางครั้งก็จะเด่นในเรื่องของ ‘อนัตตาสัจจะ’
คือ ความไม่มีตัวตนนั่นเอง
โดยเฉพาะเข้าสู่วิปัสสนาที่มีความละเอียด
บางครั้งมันไม่ได้เด่นในเรื่องของการเกิดดับ
แต่มันชัดในเรื่องของความไม่มีตัวตน
ก็คืออนัตตา ความไม่มีตัวตน นั่นเอง
นั่นคือสภาวะของวิปัสสนา
ให้สังเกตเวลาเราเข้าถึงวิปัสสนา
บางครั้งมันก็เด่นในเรื่องของ ‘อนิจจะ’ ความไม่เที่ยง
บางครั้งก็เด่นรู้ชัดในเรื่องของ ‘ทุกขสัจจะ’
ความที่มันต้องสลายตัวไป
บางครั้งมันก็รู้ชัดในด้านของ ‘อนัตตา’
ความไม่มีตัวตน นั่นเอง
แต่บางครั้งมันจะเข้าสู่การเห็นการจางคลาย
มันคือการคลายออก หลุดออก
พ้นออกจากสิ่งต่าง ๆ
บางครั้งเข้าถึง ‘นิโรธ’ คือความดับ
กิเลส ตัณหา อุปาทาน มันดับ
ราคะ โทสะ โมหะ มันดับ
มันไม่เหลือเครื่องเศร้าหมองเลย
มันมีแต่สภาวะแค่รู้ สักแต่ว่ารู้นั่นเอง
บางครั้งก็เห็นการสลัดคืน
คืนสู่ความเป็นกลางของธรรมชาตินั่นเอง
กระบวนการจางคลายก็ดี
นิโรธก็ดี
ปฏินิสสัคคะ คือความสลัดคืนก็ดี
อันนี้เข้าสู่กระบวนการของ ‘วิมุตติ’
คือ การหลุดพ้นที่ถูกต้อง นั่นเอง
เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติ
จนเราสามารถเข้าสู่ระดับวิปัสสนาญาน
ให้สังเกตสภาวธรรม
บางครั้งก็ ทุกขสัจจะ
บางครั้งเรื่องของความไม่เที่ยง
บางครั้งเรื่องของความเป็นทุกข์
บางครั้งก็เป็นอนัตตา
หรือบางครั้งมันรู้ได้ทั้งไตรลักษณ์เลย
ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา
สภาวะแต่ละครั้งมันไม่เหมือนกัน
ให้สังเกตสภาวะ
แต่บางครั้งมันก้าวข้าม มันไปถึงการจางคลาย
ก็รู้ว่าการจางคลายนั้นเป็นอย่างไร
"การจางคลาย" ที่แหละ
คือกระบวนการที่พ้นออกไปจากวังวนของวัฏสงสารได้
นิโรธ ความดับ
กิเลสมันไม่เหลือในสภาวะนั้นนั่นเอง
ราคะ โทสะ โมหะ มันไม่มี
มันเหลือแต่ "สติที่เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์"
คือรู้ที่บริสุทธิ์ ที่มันไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งใด
หรือสภาวะการสลัดคืนสู่เนื้อ
ของความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
ก็จะรับรู้เนื้อของธรรมชาติที่บริสุทธิ์ได้
ซึ่งเนื้อธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้ ‘เป็นปัจจัตตัง’
คือรู้ได้ด้วยตน รู้แจ้งได้เฉพาะตนนั่นเอง
ถึงเราถ่ายทอดออกมา
มันก็จะกลายเป็นสมมติหมดแล้ว
ซึ่งผลจากการที่เราถ่ายทอดออกมาว่า
มันเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ปุ๊บ
คนฟังเนี่ย จะเกิดการหลงยึดติดง่าย
ไปตีว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้
จริง ๆ มันไม่มีอะไร
เพราะฉะนั้น ในสภาวะที่บริสุทธิ์เนี่ย
ท่านจะไม่บรรยายออกมาว่ามันคืออะไร
เราไปดูในพระไตรปิฏกจะไม่มีเลย
จะมีแค่รู้ว่า ก็ราคะ โทสะ โมหะดับ
แต่ไม่บรรยายเนื้อสภาวะของความบริสุทธิ์เลย
เพราะว่าถ้าบรรยายออกมา
มันจะเป็นสมมติหมด
แล้วมันจะเป็นกับดักให้คนหลงได้ง่ายมาก
"อ๋ออ มันต้องมีความสว่างใช่ไหม"
จิตมันปรุงได้
ในวัฏฏะเนี่ย มันจะปรุงเป็นอะไรก็ได้
"อ้อ มันต้องว่างมากใช่ไหม ?
มันต้องบริสุทธิ์มากใช่ไหม ?
มันต้องมีสภาวะอย่างนั้นใช่ไหม อย่างนี้ใช่ไหม" ปุ๊บ
กับดักปรุงทันที จิตปรุงแต่งได้ทันที
ในวัฏสงสารมันปรุงได้สารพัด
เพราะฉะนั้น สภาวะที่หลุดพ้นท่านจะไม่บรรยายไว้
ผู้ที่เดินตามมรรควิธีที่ถูกต้อง
ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญานได้
เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์
เห็นความเป็นอนัตตา
จนเกิดการจางคลาย
เกิดความดับ เกิดการสลัดคืน
เข้าถึงเนื้อสภาวธรรมที่บริสุทธิ์
จะเกิดปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตนนั่นเอง ...​"
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา