16 พ.ย. 2021 เวลา 00:13 • หนังสือ
=========================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันอังคาร
=========================
🤫• อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น
✍🏻• ยาซุดะ ทาดาชิ เขียน
🔖• บทที่ 1 “คุยเล่นแบบคนชั้นแนวหน้า” - ตอนที่ 1
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
=====================
นำเสนอตัวเอง
ให้คู่สนทนารู้สึก
“ชื่นชอบ” และ
“ไว้วางใจ” ในตัวเรา
อีกฝ่ายจะตัดสินตัวตนของเรา
ตั้งแต่นาทีแรกที่เริ่มสนทนา
=====================
คนทั่วไปจะเริ่มประเมินคนที่เข้ามาคุยด้วยว่า “เก่ง” “ไม่เก่ง” “ไว้ใจได้” “ไว้ใจไม่ได้” “ชอบ” “ไม่ชอบ” ตั้งแต่นาทีแรกและใช้เวลาสูงสุดไม่เกิน 4 นาที
นั่นหมายความว่า ถ้าเราสามารถทำให้อีกฝ่ายประทับใจตั้งแต่นาทีแรก ๆ ที่เจอกัน ความสัมพันธ์หลังจากนั้นระหว่างเรากับเขาจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
=========================
สร้างความเป็นกันเองด้วยการ
เล่าเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยของตัวเอง
=========================
ในช่วงต้นของการสนทนาเราไม่ควรเล่าเรื่องของตัวเองอย่างเดียว หากทำเช่นนั้นจะส่งผลให้คู่สนทนาคิดว่า “เราเป็นคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง”
ในทางกลับกัน เราต้องเสนอตัวเองอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้คนตรงหน้าพอจะรู้ว่า “เราเป็นใครและกำลังคิดอะไรอยู่” เพื่อเปิดใจให้ฝ่ายตรงข้ามพูดคุยกับเราได้อย่างสบายใจมากขึ้น
หลักพื้นฐานคือ “ไม่โอ้อวดตัวเอง” และ “เล่าเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยของตัวเอง” แต่ต้องระวังที่จะไม่เล่าเรื่องผิดพลาดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า “เราเป็นคนไม่เอาไหน” เป็นอันขาด รวมไปถึงการไม่เล่าประสบการณ์หรือเรื่องส่วนตัวที่อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกรังเกียจเราด้วย ตัวอย่างเช่น
• “เมื่อวานดื่มหนักไปหน่อย วันนี้ยังเมาค้างอยู่เลย” (หัวเราะ)
• “ผมมาสายประจำ ทางบริษัทเลยตำหนิ” (หัวเราะ)
• “เหนื่อยกับการดูแลพ่อแม่เหลือเกิน . . .”
แต่เราควรสร้างความเป็นกันเองแบบพอเหมาะด้วยการบอกเล่าว่าเราเคยผ่านประสบการณ์แบบไหนมาบ้างและกำลังคิดอะไรอยู่ ต่อไปนี้คือตัวอย่างการนำเสนอที่ดีจากหนังสือค่ะ
 
• “เมื่อไม่นานมานี้ ผมเคยดื่มหนักไปหน่อย เลยโดยภรรยาดุเอาครับ” (หัวเราะ)
• “สมัยเป็นนักเรียนผมผอมเพรียวเพราะอยู่ชมรมฟุตบอล แต่ตอนนี้อ้วนขึ้นอย่างที่เห็นนี่แหละครับ” (หัวเราะ)
• “ผมเป็นคนจังหวัด___รู้ไหมผมเคยเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเดียวกับดาราสาวที่ชื่อว่า___ด้วยนะครับ”
การเลือกบทสนทนาคุยเล่นได้ดี จะทำให้บรรยากาศผ่อนคลายและน่าพูดคุยกันต่อได้
หากเรารู้สึกว่าคู่สนทนาที่อยู่ตรงหน้ามีอาการเกร็งและไม่มั่นใจ เราสามารถช่วยเขาด้วยการชวนให้สนใจภาพลักษณ์และวิธีคิดของตัวเขาเอง โดยการบอกข้อมูลที่เหนือความคาดหมายหรือสร้างความรู้สึกขัดแย้ง เช่น
• “ท่าทางคุณดูเป็นคนสบาย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเมื่อได้คุยด้วยคุณเป็นคนจริงจังนะเนี่ย
• “รูปร่างผอมแต่กลับกินเก่ง”
• “ท่าทางดูจริงจังแต่มีอารมณ์ขัน”
การทำเช่นนี้จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรามีเสน่ห์น่าพูดคุยด้วยแบบไม่รู้ตัว
ข้อควรระวัง ข้อมูลที่ขัดแย้งกันบางเรื่องก็ไม่ควรนำมาพูด เช่น “ท่าทางดูเป็นคนจริงจัง แต่ความจริงแล้วเป็นคนทำอะไรแบบขอไปที” เป็นต้น
====================
การนำเสนอตัวเองใน 1 นาที
====================
ฝึกพูดสรุปแบบสั้น ๆ ภายในเวลา 30 วินาทีไม่เกิน 1 นาที โดยมีจุดประสงค์ให้อีกฝ่ายรู้จักตัวเราและคลายความระแวง
ดังนั้น เราจึงควรเล่าเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป และเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูดด้วย
==============
หลักสำคัญ
ของคนชั้นแนวหน้า
[ 1/38 ]

==============
ฝึกนำเสนอตัวเองเพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบของคู่สนทนาได้ง่าย
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
สิ่งที่ อิคิ ∙ 生き ได้เรียนรู้จากบทนี้คือ การเป็นที่จะเป็นคนมีเสน่ห์ได้ เราต้องให้ความสำคัญกับคนตรงหน้าอย่างแท้จริง
ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด ควรใคร่ครวญอย่างรอบคอบในเวลาอันรวดเร็ว นี่แหละคือความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้คนตรงหน้ารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับเรา ไม่ว่าจะเป็นการ . . .
1. แนะนำตัวเองในเวลาที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้การสนทนามีแต่เรื่องของเราอย่างเดียว
2. ชวนผู้อื่นพูดคุยเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกดี อย่างจริงใจ การพูดเรื่องข้อมูลที่ขัดแย้งตามที่ผู้เขียนได้แนะนำไว้ อิคิ ∙ 生き คิดว่ามันเป็นความสร้างสรรค์ล้วน ๆ เลยนะคะ ว่าเราจะจับคู่สิ่งใด เพื่อเป็นส่วนผสมที่สร้างผลลัพธ์ที่ดีในใจคู่สนทนา เราจะพูดอย่างไร เพื่อเปิดโอกาสให้คู่สนทนาของเราได้เล่าเรื่องดี ๆ ของตัวเองอย่างภูมิใจ
เมื่อเขียนถึงตรงนี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き คิดถึงคำสอนของพระอาจารย์รูปหนึ่งค่ะ อิคิ ∙ 生き จำไม่ได้ว่าตัวเองไปอ่านหรือไปฟังมาจากที่ไหน แต่จำได้ว่าเหมือนมีคนเคยถามพระอาจารย์รูปนั้นว่า . . .
ศีลข้อ 2 คือเราต้องไม่พูดโป้ปด พูดแต่ความจริง แต่ศาสนาก็สอนให้เราต้องไม่ทำร้ายใครด้วยวาจา แต่ถ้าสิ่งที่จะพูดมันเป็นเรื่องไม่ดีของอีกคน พูดไปแล้วก็เหมือนไปต่อว่าไปตำหนิเขา หรือ ทำให้เขารู้สึกไม่ดี ถ้าเป็นแบบนี้ในฐานะพุทธศาสนิกชน เราควรต้องทำอย่างไร
คำตอบของพระจารย์รูปนั้นก็คือ เราต้องพูดความจริงอย่างสร้างสรรค์​
อิคิ ∙ 生き คิดว่าจริงอย่างที่สุดค่ะ ความจริงเหมือนกัน คนพูดสื่อสารต่างกัน มีเจตนาในการสื่อสารต่างกัน ก็สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่น บางคนพูดเพื่อตำหนิ บางคนพูดด้วยเจตนารมณ์ที่ดี สารตั้งต้นในใจเหล่านี้มันจะปนไปกับคำพูดที่เราสื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้นะคะ
สำหรับ อิคิ ∙ 生き หลายครั้งหลายคราวที่ต้องให้คำแนะนำการทำงานของทีมงาน แน่นอนค่ะเราต้องบอกสิ่งที่เขาทำได้ไม่ดี หรือความจริงบางอย่างที่น่าปวดใจ แต่ อิคิ ∙ 生き จะตั้งจิตก่อนสื่อสารเสมอว่า สิ่งที่เราพูดไป เราพูดเพื่อให้เขานำสารที่เราสื่อไปปรับปรุงพัฒนาตัวเอง พูดด้วยความเมตตา ไม่ใช่คำต่อว่า
เชื่อไหมคะ การทำเช่นนี้ ทำให้ อิคิ ∙ 生き พูดกับทีมงานได้ทุกเรื่อง แม้ความจริงนั้นจะน่าปวดใจเพียงไร ถ้าใจเขาไม่บอดเขาจะรับรู้ในความหวังดีของเราได้ค่ะ
อิคิ ∙ 生き มีปณิธานอยู่หนึ่งข้อค่ะ นั่นคือ สิ่งที่ออกจากปากเรา จะต้องเป็นสิ่งที่ไม่ทำร้ายใคร นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พูดความจริงนะคะ แต่เราจะพูดแง่มุมไหน ที่ไม่ทำร้ายขยี้หัวใจผู้รับสาร
เมื่อ อิคิ ∙ 生き มีปณิธานข้อนี้ในชีวิต อิคิ ∙ 生き รู้สึกว่า อิคิ ∙ 生き สื่อสารหลาย ๆ เรื่องที่เมื่อก่อนไม่กล้า หรือ ไม่มั่นใจที่จะพูดได้ดีขึ้นค่ะ แต่ต้องเป็นช่วงเวลาที่เรามีสตินะคะ ทุกวันนี้สติไม่ทันวาจาเป็นส่วนใหญ่ค่ะ 😆 ก็คิดว่าคงต้องฝึกกันอีกต่อไป ฝึกกันทั้งชีวิต
แต่อย่างไรก็ตาม อิคิ ∙ 生き ก็อยากชวนเพื่อน ๆ ลองตั้งเป้าหมายในการสำรวมวาจากันดูนะคะ แล้วเพื่อน ๆ จะพบว่า แม้จะเริ่มต้นที่วาจา แต่สิ่งนั้นจะเปิดโอกาสให้เราได้สำรวมใจไปด้วย อิคิ ∙ 生き อยากให้เพื่อน ๆ ได้ลองดูกับตัวเองค่ะ
มีอีกเรื่องที่ อิคิ ∙ 生き อยากเขียนค่ะ เมื่ออ่านบทนี้แล้ว อิคิ ∙ 生き ก็ได้คำตอบให้กับตัวเองว่า ทำไมผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านที่ อิคิ ∙ 生き มีโอกาสได้พูดคุยแล้วรู้สึกสบายใจ รู้สึกดีที่ได้พูดคุยท่านจัง รู้สึกท่านเป็นคนน่ารัก ใจดี พูดคุยสนุก และที่สำคัญเราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ต่อหน้าท่าน
นั่นเป็นเพราะนอกจากผู้ใหญ่ท่านนั้นจะจับความรู้สึกเกร็งของเราได้แล้ว ท่านยังรู้ด้วยว่าจะทำอย่างไรให้เรารู้สึกผ่อนคลายในการพูดคุย อิคิ ∙ 生き มักรู้สึกดีเสมอที่ได้คุยกับผู้ใหญ่เหล่านั้น ๆ จนทำให้ อิคิ ∙ 生き รู้สึกว่าเมื่อเราโตขึ้นกว่านี้ เราอยากเป็นผู้ใหญ่แบบนั้นจัง ผู้ใหญ่ที่ทำให้เด็ก ๆ มีความสุขที่จะคุยด้วย แค่คิดก็มีความสุขแล้วค่ะ
ก่อนจากกันไป อิคิ ∙ 生き ขอฝากบทความ
===============
5 คำถามก่อนสื่อสาร
===============
ที่ อิคิ ∙ 生き ได้สรุปจากธรรมเทศนา “สัมมาสื่อสาร” โดยพระอาจารย์ชยสาโร [ https://youtu.be/8NGllJt-Tc4 ]
สิ่งนี้เป็นแนวทางเรื่องการสื่อสารในปัจจุบันของ อิคิ ∙ 生き ค่ะ เผื่อเพื่อน ๆ ท่านไหนสนใจสามารถอ่านได้ที่ [ https://www.facebook.com/iki.alive/posts/460434298051495 ] นะคะ
ที่สำคัญบทความนี้เป็นบทความแรกของเพจ อิคิ ∙ 生き ด้วยค่ะ

สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อนนะคะ แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปของ อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น ในสัปดาห์หน้านะคะ สำหรับวันนี้สวัสดีเช้าวันอังคารค่ะ 🙏🏻😊
#สัปดาห์ละบทสองบท #อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา