Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต
•
ติดตาม
17 พ.ย. 2021 เวลา 11:45 • หนังสือ
======================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันพุธ
======================
💶• MON€Y LECTURE
✍🏻• ลงทุนศาสตร์ เขียน
🔖• บทที่ 2 สมการที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง [ 1/3 ] || สมการเปลี่ยนชีวิต รายได้ ค่าใช้จ่ายจำเป็น เงินออม
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ MON€Y LECTURE ]
===================
สมการเปลี่ยนชีวิต
---
รายได้ =
ค่าใช้จ่ายจำเป็น +
เงินออม เงินลงทุน +
ค่าใช้จ่ายตามต้องการ
===================
เมื่อมีรายได้เข้ามา เราควรใช้จ่ายตามลำดับดังต่อไปนี้
① ค่าใช้จ่ายจำเป็น
② เงินออม เงินลงทุน
③ ค่าใช้จ่ายตามต้องการ
สมการนี้จะถูกใช้ตลอดเส้นทางของการวางแผนบริหารการเงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
คนเราวางแผนการเงินเพื่อจะได้รู้ว่า . . . เราจะใช้เงินได้เท่าไหร่และต้องเก็บเท่าไหร่จึงจะพอ
หลักการสำคัญคือ ได้เงินมาตัดเงินออม เงินลงทุนก่อน แล้วค่อยนำไปใช้จ่ายตามใจชอบนะคะ
[ MON€Y LECTURE ]
=====
รายได้
=====
รายได้ หมายถึง ผลประโยชน์ที่ตีค่าออกมาเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจได้ก่อนจะวางแผนการเงิน เราต้องแจกแจงรายได้ของตัวเองให้ได้เสียก่อน ว่าเรามีรายได้ประเภทไหนบ้าง เช่น
• รายได้ต่อเดือน เช่น เงินเดือน
• รายได้ต่อปี เช่น โบนัสประจำปี
• รายได้ที่ได้เป็นครั้งคราว เช่น งานนอกเวลา
รายได้ที่นำมาบันทึกควรเป็นรายได้ที่แน่นอนในระดับนึง หรือถ้าเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนอาจเขียนให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด แต่ถ้าเป็นรายได้ที่คาดการณ์ยากก็ให้ใส่ตัวเลขน้อย ๆ ไปก่อน หากตัวเลขที่ประมาณการไว้ผิดพลาดก็ให้ปรับแผนใหม่ หรือ กำหนดเวลาช่วงเวลาปรับตัวเลขให้สมจริง เช่น ทุก 3 เดือน
[ MON€Y LECTURE ]
============
ค่าใช้จ่ายจำเป็น
============
ค่าใช้จ่ายจำเป็น หมายถึง ค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เราต้องจ่าย หรือ ค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Expense) คือ ค่าใช้จ่ายจำเป็นขั้นต่ำที่เราจะต้องใช้จ่ายในแต่ละเดือน
แน่นอนคำว่าความจำเป็นของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน เราควรหาให้ได้ว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นของเรามีมูลค่าเท่าไหร่และประกอบด้วยอะไรบ้าง หนังสือยกตัวอย่างดังนี้ค่ะ
• ค่าอินเทอร์เน็ตในโทรศัพท์มือถือสำหรับบางคนถือเป็นเรื่องจำเป็นมาก ในขณะที่บางคนกลับไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย
• ค่าอาหารแบบจำเป็นสำหรับคนแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน เช่นบางคนทำงานในย่านธุรกิจ ค่าอาหารต่อวันของเขาคือ 150 บาท ในขณะที่อีกคนทำงานชานเมืองมีภาระค่าอาหารแค่เพียง 80 บาทต่อวันเท่านั้นค่ะ
ตัวอย่างรายจ่ายจำเป็น เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเลี้ยงดู ค่าประกันสังคม ฯลฯ
ผู้เขียนแนะนำให้เราลองจินตนาการว่าหากตกงานกะทันหัน เรายังต้องใช้เงินไปกับอะไรบ้างและรายการเหล่านั้นคือค่าใช้จ่ายจำเป็นค่ะ [ อิคิ ∙ 生き : ตอนเราไม่มีรายได้ สิ่งไหนที่ไม่จำเป็นเราก็คงพยายามไม่ใช้ใช่ไหมคะ ]
[ อิคิ ∙ 生き ]
ค่าใช้จ่ายจำเป็นคือ ค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เราต้องใช้จ่ายทุกเดือน หากไม่จ่ายอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของเรา รวมไปถึงผู้ที่อยู่ในอุปการะของเราด้วยค่ะ ในกรณีนี้จะหมายรวมไปถึง ค่าผ่อนสินเชื่อต่าง ๆ เช่น บ้าน รถ ด้วยนะคะ
[ MON€Y LECTURE ]
หากค่าใช้จ่ายจำเป็นมีมากกว่ารายได้ เราควรต้องกลับไปตั้งคำถามว่า ค่าใช้จ่ายที่เขียนเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นจริงหรือไม่ ปรับลดส่วนไหนได้อีกหรือเปล่า หากลดได้ต้องพยายามลด แต่ถ้าลดไม่ได้ เราต้องกลับไปแก้ปัญหาใหม่ด้วยการหารายได้เพิ่ม
หลักการสำคัญคือ เราต้องทำให้เรามีเงินเหลือ หรือ มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้นะคะ
[ MON€Y LECTURE ]
======
เงินออม
======
เงินออม หมายถึง เงินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องเงินต้นเป็นหลัก โดยเงินส่วนนี้เราจะเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือจำเป็น เงินออมควรมีขอบเขตจำกัด ไม่น้อยไปหรือไม่มากไป
เพราะถ้าน้อยไป เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตฉุกเฉินก็จะมีไม่พอใช้ แต่ถ้ามากเกินไปเงินจะจม แทนที่จะนำเงินส่วนเกินจากเงินสำรองฉุกเฉินไปลงทุนให้ได้ดอกผลเพิ่มเติม
เราทุกคนควรมีเงินออมประมาณ 6 - 12 เท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็น เพราะหากมีวิกฤตกะทันหัน เช่น ตกงาน โรคระบาด ปิดเมือง ด้วยเงินสำรองที่มีจะทำให้เรามีชีวิตต่อไปได้อีก 6 - 12 เดือน
[ อิคิ ∙ 生き ]
สำหรับ อิคิ ∙ 生き การมีเงินสำรอง จะทำให้เรายังรักษาคุณภาพชีวิตได้ในช่วงที่เรากำลังหางานใหม่ หรือ รอให้วิกฤตในชีวิตทุเลาเบาบางลงค่ะ
ที่สำคัญการมีเงินสำรองยังทำให้เราประคองสติได้ ไม่หุนหันพลันแล่น มีความสงบทางใจ และทำให้เรามีทางเลือกด้วยนะคะ เช่น เรายังมีเวลาที่จะเลือกทำงานที่เราอยากทำจริง ๆ ได้ เพราะเรายังมีเงินเลี้ยงดูตัวเองระหว่างนี้ แต่ถ้าไม่มีเงินสำรองได้งานไหนก็ต้องทำไปก่อนเพื่อให้มีเงินกลับมาเร็วที่สุด
[ MON€Y LECTURE ]
ส่วนการที่เราจะสำรองเงินไว้เท่าไหร่ระหว่าง 6 - 12 เดือน เราสามารถพิจารณาจากความมั่นคงของหน้าที่การงานได้ค่ะ ถ้าอาชีพที่มีความมั่นคงสูง เช่น รับราชการ ตำแหน่งงานที่มีสัญญาจ้างระยะยาว เราอาจสะสมไว้ซัก 6 เดือน แต่ถ้าอาชีพที่ไม่ค่อยมั่นคง รายได้ไม่แน่นอน เช่น อาชีพอิสระ หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก เราอาจต้องสะสมมากถึง 12 เดือนหรือสูงกว่านั้น
[ อิคิ ∙ 生き ]
นอกจากการใช้เกณฑ์ 6-12 เดือนแล้ว บางท่านอาจพิจารณาสะสมตามภาระที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น ถ้าเราเป็นลูกคนเดียว คุณแม่มีโรคประจำตัว และไม่สามารถทำประกันได้แล้ว เราอาจต้องพิจารณาเงินสักก้อนที่จะทำให้เราอุ่นใจ เผื่อวันใดที่คุณแม่เกิดต้องเข้าโรงพยาบาลกระทันหัน เงินก้อนนี้จะสามารถดูแลคุณแม่ได้ แม้ว่ามูลค่าจะมากกว่า 12 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนของเราก็ตาม
[ MON€Y LECTURE ]
แต่เราก็ไม่ควรเก็บเงินออมน้อยกว่า 6 เท่าของค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่ควรมีมากเกินไป เพราะเราควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ในอนาคตเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่งงาน เกษียณอายุ เป็นต้น
จากสมการที่ได้กล่าวไว้
===================
รายได้ =
ค่าใช้จ่ายจำเป็น +
เงินออม เงินลงทุน +
ค่าใช้จ่ายตามต้องการ
===================
เราควรไล่เรียงความสำคัญจาก ค่าใช้จ่ายจำเป็น เงินออม เงินลงทุน และ ค่าใช้จ่ายตามต้องการ กล่าวคือ เราต้องมีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายจำเป็นก่อน ต่อมาในช่วงแรกที่ยังมีเงินออมไม่ถึงเป้าหมาย เราต้องนำรายได้หักค่าใช้จ่ายมาใส่ไว้ในกระปุกเงินออม จนเมื่อเงินออมถึงระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้ว เราถึงจะเปลี่ยนไปเป็นเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายตามต้องการ ในลำดับต่อไป
เงินออมจึงเป็นการเก็บเงินเพียงครั้งเดียวช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว เมื่อเงินออมถึงเป้าแล้วก็ไม่ต้องออมสะสมเรื่อย ๆ ยกเว้นว่าเป้าหมายการออมของเราจะต่างไปจากเดิม
[ อิคิ ∙ 生き ]
เราควรมีการทบทวนค่าใช้จ่ายจำเป็นของเราเป็นระยะค่ะ อิคิ ∙ 生き คิดว่าอย่างน้อย ควรต้องทำปีละ 1 ครั้งนะคะ เพื่อที่จะได้พิจารณาว่าเงินสำรองฉุกเฉินของเรายังสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ เช่น เราอาจมีภาระมากขึ้น ก่อนหน้านั้นเรายังไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก แต่ตอนนี้การมีครอบครัวทำให้ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะต้องเพิ่มมูลค่าเงินสำรองฉุกเฉินให้เหมาะสมค่ะ
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
ในหนังสือ “อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป” ที่ อิคิ ∙ 生き สรุปให้ทุกท่านได้อ่านทุกวันพฤหัสบดี ได้กล่าวถึงคำว่า “Minimum Life Cost” ไว้ด้วยนะคะ ซึ่งคำ ๆ นี้หมายถึง เงินที่น้อยที่สุดในการใช้ชีวิต เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น
คุณซะซะกิ (ผู้เขียน) กล่าวว่า การทำความเข้าใจกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น อิคิ ∙ 生き แนะนำว่าเมื่อเพื่อน ๆ อ่านสรุปหนังสือวันนี้จบ อิคิ ∙ 生き ขอเชิญชวนให้ทุกท่านลองจดบันทึกรายการค่าใช้จ่ายจำเป็นของตัวเองดูนะคะ การทำเช่นนี้อย่างน้อย ๆ จะทำให้เราพอจะทราบมูลค่าเงินสำรองฉุกเฉินที่เราควรต้องค่ะ หรือเพื่อน ๆ จะมองว่าเป็นการบ้านที่ อิคิ ∙ 生き มีให้กับทุกท่านระหว่างรอแบบฝึกหัดท้ายบทของผู้เขียนไปก่อนก็ได้นะคะ
แล้วสัปดาห์หน้าเรามาพบกับตัวแปรที่เหลือในสมการกันนะคะ นั่นก็คือ เงินลงทุน และ ค่าใช้จ่ายตามต้องการ
สำหรับวัน อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่กับ Money Lecture ในวันพุธหน้านะคะ สวัสดีค่ะ 🙏🏻😊
#สัปดาห์ละบทสองบท #moneylecture
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สัปดาห์ละ. . .บท 2 บท
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย