16 พ.ย. 2021 เวลา 13:19 • ประวัติศาสตร์
ที่มาของ “พระกษิติครรภ์มหาโพธิสัตว์เจ้า”
กษิติ แปลว่าแผ่นดิน ครรภ์ แปลว่าที่เก็บรักษา พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ จึงมีความหมาย พระโพธิสัตว์ผู้ประทับอยู่ใต้พื้นดิน แต่ดั้งเดิมพระกษิติครรภ์ก็ทรงอาภรณ์เป็นอย่างมหาบุรุษ คือวรกายประดับด้วยเครื่องประดับอลังการต่างๆ อุปมาท่านอลังการด้วยบารมีทุกประการ และเป็นธรรมราชกุมาร คือบุตรของธรรมราชา จึงแต่งกายอย่างวิจิตรอลังการ
ในพระสูตรกล่าวว่า ทุกเช้าพระกษิติครรภ์จะเข้าสมาธิต่างๆ จำนวนเท่ากับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา เพื่อพิจารณาสอดส่องหมู่สัตว์ทั้งหลายที่ควรได้รับการโปรด ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่ยิ่งด้วยมหากรุณา ในระหว่างพุทธสมัยหนึ่งไปถึงอีกพุทธสมัยหนึ่ง เป็นสมัยที่ไม่มีสมัยของพระศากยมุนีพุทธเจ้าไปจนถึงสมัยของพระเมตไตรยพุทธเจ้านี้ด้วย ท่านก็ฉุดช่วยสัตว์ทั้งหกภูมิอยู่ไม่ได้หยุดพักเลยมีคำกล่าวว่าท่านมีความอดทนถือขันติมากดั่งพื้นปฐพี มีความสงบระงับและลุ่มลึกดั่งคลังลึกลับ เหตุนี้จึงได้นามว่า “กษิติครรภ์”
ตามบันทึกของจีนชื่อไป่จ้างเย่หลินชิงกุยเจิ้งอี้จี้ ฉบับที่สาม กล่าวว่าเจ้าชายแห่งประเทศเกาหลี พระนามว่าเฉียว-จีเว๋ ในตระกูลจินได้เสด็จมาศึกษาต่อที่เมืองถัง และเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนามาก จึงทรงกลับไปผนวกที่ประเทศเกาหลี ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๒๔ พรรษา
คือปีรัชสมัยย่งเว่ยที่สี่ ตรงกับพุทธศักราชที่ ๑๑๙๖ แล้วได้จาริกข้ามทะเลมาถึงมลฑลเจียงหนาน ที่ภูเขาจิ่วหัว หรือภูเขาเก้ายอด อำเภอชิงหยาง เมืองฉือโจว ประเทศจีน คือมณฑลอานฮุยในปัจจุบัน พร้อมกับสุนัขสีขาวตัวหนึ่ง ชื่อ ซ่านทิง ได้นั่งบำเพ็ญธรรมอยู่บนเขาแห่งนี้
รวมเจ็ดสิบห้าปี
ท่านได้นั่งสมาธิจนดับขันธ์ ในคืนวันที่ ๓๐ เดือน ๗ ตามจันทรคติจีน นับรวมพระสิริมายุได้ ๙๙ พรรษา ตรงกับปีรัชสมัย ไคยหยวน ที่สิบหก ซึ่งตรงกับพุทธศักราชที่ ๑๒๗๑ หลังจากที่ท่านดับขันธ์แล้ว บริเวณสถานที่ฝังสรีระของท่านได้มีเปลวเพลิงพวยพุ่งขึ้นมาจากพื้นดิน ผ่านไป ๓ ปี จึงได้เปิดโกฏิบรรจุสรีระออก ได้พบว่าร่างกายไม่เน่าเปื่อยเหมือนยังมีชีวิต จึงเชื่อกันว่า เป็นพระกษิติครรภ์นิรมานกายมาโปรดสัตว์โลก
ระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ยังมีคหบดีหนึ่งชื่อ หมิ่งกง เป็นอุบาสกผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านถวายภัตตาหารแด่ภิกษุ คารวะ 100 รูปทุกครั้ง คหบดีผู้นั้น ปวารณาจะถวายที่ดินแก่หมู่สงฆ์ตามต้องการ จึงได้ขอถวายที่ดินให้ประธานสงฆ์ คือพระกษิติครรภ์ ประธานสงฆ์กล่าวว่าต้องการพื้นดินเท่าจีวรผืนเดียว แต่พอขึงจีวรออก กลับปกคลุมไปทั่วภูเขาทั้งเก้ายอด บุตรของคหบดีเลื่อมใสมากจึงขอออกบวช มีธรรมฉายาว่า ภิกษุเต้าหมิง ต่อมา คหบดี ก็ได้หลีกเร้นตนเองออกจากสังคม และคารวะบุตรของตัวเองเป็นอาจารย์ จวบจนบัดนี้ ที่ข้างปฏิมากร ของพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์จะมีภิกษุเต้าหมิงอยู่ด้านซ้าย และมีคหบดีหมิ่นกงอยู่ด้านขวา เป็นอัครสาวก
ด้วยเหตุผลนี้ สาธุชนจึงมีความศรัทธาว่า พระภิกษุอดีตเจ้าชายแห่งประเทศเกาหลีองค์นั้น คือพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ที่นิรมานกายมาโปรดสัตว์เป็นเหตุให้ในปัจจุบัน สร้างรูปเคารพ และภาพวาดพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์เป็นพระภิกษุมหายานในอรรถกถากล่าวว่าเหตุที่พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ได้ปรากฏกายเป็นภิกษุนั้นเพราะในอนาคตกาลเมื่อโลกถึงแก่ความเสื่อมทุกประการพุทธศาสนาจะสิ้นไปจากโลกพระกษิติครรภ์ก็จะปรากฏกายของภิกษุ เพื่อให้สัตว์โลกได้เห็นพระสงฆ์และได้ฟังธรรม
หนึ่งในพระสูตรของพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน คือกษิติครรภ์โพธิสัตว์มูลปณิธานสูตร มีสองเล่ม รวมสิบสามตอน แปลจากภาษาสันสกฤตสู่ภาษาจีน โดยพระศึกษานันทะในสมัยราชวงศ์ถัง ของประเทศจีน พระศึกษานันทะนี้ เป็นชาวเมืองโขตาน หรือเตอรกีสถานในปัจจุบัน ผลงานแปลพระสูตรที่สำคัญของท่านมีมากมาย สำหรับกษิติครรภ์โพธิสัตว์มูลปณิธานสูตร หรือ พระสูตรที่ว่าด้วยปณิธานความตั้งใจ เมื่อครั้งอดีตของพระกษิติครรภ์นี้ ถือเป็นคัมภีร์สำคัญเล่มหนึ่งของนิกายมหายาน
พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ เป็นที่เคารพนับถือของสาธุชนมากเนื่องจากท่านมีปณิธานที่ยิ่งใหญ่ว่า “หากในนรกยังไม่ว่างจากสัตว์ที่ต้องรับทุกข์ทรมาน เราก็จะไม่ขอสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ” เหตุนี้ สาธุชนจึง ถวายพระนามว่ามหาปณิธานโพธิสัตว์ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้กี่พระองค์ นับได้มากกว่าเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา ก็จะมาตรัสสรรเสริญพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ถึงความเมตตากรุณา ปณิธาน ความเพียร และความอดทนของพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ทุกพระองค์ เพราะเป็นเวลาแสนนาน ที่พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ได้ตั้งปณิธานจะโปรดสัตว์ในนรกภูมิให้หมดสิ้น
แต่มาถึงบัดนี้ เมืองนรกกลับมีแต่เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นทุกวัน เป็นเพราะสัตว์โลกสร้างกรรมชั่วมากขึ้น เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ขึ้นสวรรค์ หรือไปเกิดเป็นมนุษย์อีก มีจำนวนน้อยมาก แต่ผู้ที่ไปเกิดเป็น สัตว์นรก เปรต เดรัจฉาน มีเป็นจำนวนมากกว่า ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ปณิธานอันยิ่งใหญ่นี้ ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ที่มา พระกษิติครรภ์มูลปณิธานสูตร
ภาพ ลินธนา ล. / Aputi.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา