17 พ.ย. 2021 เวลา 12:08 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ข้อคิดจากหนัง Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings (2021) “การรู้จักตนเองตามความจริง”
การรู้จักตนเอง คือ การต้อนรับทุกความจริงของตนเองตามความจริง
Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings (2021)
เล่าเรื่องราวของชอว์น (ชื่อจริงคือ ชาง-ชี)
ไอ้หนุ่มผู้หลีกหนีอดีตอันมืดดำของครอบครัวตัวเอง
โดยเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างธรรมดา
อำพรางทั้งชื่อจริง
และเก็บงำความสามารถที่แท้จริง
(อารมณ์แบบอยู่ไปวัน ๆ)
แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับถูกตามล่า
จากคนที่พ่อของเขาส่งมา
ทำให้เขาไม่มีทางเลือก
จึงจำใจต้องหวนคืนสู่บ้านเกิดที่จากมา
“เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงที่มิอาจหลบหนี”
สำหรับผมแล้วนี่คือหนังกังฟูสไตล์มาร์เวลเลยครับ ฮ่าาา
จุดที่ผมประทับใจไม่ใช่ฉากแอคชั่นครับ
แต่เป็นเรื่องราวของครอบครัว ความสูญเสีย
การไม่ยอมรับความจริง และการปฏิเสธตนเอง
(พอรวมกันแล้วจึงนำไปสู่การไม่รู้จักตนเอง/การไม่ยอมรับตนเอง)
ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวละครหลักของเรื่อง
ทั้งรุ่นพ่อและรุ่นลูกเลย
โดยประเด็นนี้ไม่ว่าจะเกิดในโลกภาพยนตร์
หรือในโลกแห่งความจริง
ก็ล้วนส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่ไม่ค่อยลงตัว
และเกิดเป็นปัญหาการปรับตัวตามมาครับ
“การรู้จักตนเอง”
เป็นปรากฏการณ์ที่ชวนให้เรา
ได้รู้จักและต้อนรับตัวเองในทุกแง่มุม
เพื่อให้เราได้เข้าใจตัวเองตามความจริง
และนำความเข้าใจนี้มาพัฒนาตนเองให้งอกงามต่อไป
(ความจริงในชีวิตของเรานั้น
จึงมีทั้งในส่วนที่เราอยากเห็นและไม่อยากเห็น)
-ไม่ว่าเราจะคิดหรือเชื่ออะไร
-ไม่ว่าเรารู้สึกอย่างไร
-ไม่ว่าเราต้องการสิ่งไหน
-ไม่ว่าเราจะเคยมีหรือเคยเป็นอะไรมา
-ไม่ว่าเราจะมีประวัติชีวิตและความเป็นมาแบบไหน
“ทั้งหมดนี้ คือ การรู้จักกับทุกความจริงในชีวิตของตนเอง”
แต่ด้วยการไม่อยากรับรู้ความจริง
มันจึงทำให้มนุษย์เลือกที่จะเก็บซ่อน
“ความจริงที่ไม่อยากรับรู้เอาไว้ภายในใจ”
คล้ายกับว่า
มนุษย์นั้นกลัวเจ็บ
และกลัวความไม่สบายใจ
“ที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการรับรู้ความจริงเหล่านั้น”
แล้วเมื่อใดก็ตามที่เราเสพติดการหนีความจริงเช่นนี้
มันจะทำให้เราเผลอ...
-เลือกจำตัวเองในแบบที่ชอบ
-สร้างภาพลักษณ์อันสมบูรณ์ให้ตนเอง
“เป็นเหมือนมนุษย์ในอุดมคติซึ่งไร้ที่ติ”
แล้วเมื่อเราเลือกเฉพาะฉากชีวิตที่เราพอใจ
หรือเมื่อเราเลือกเอาแต่เสี้ยวส่วนชีวิตที่เราต้องการ
นี่จึงเท่ากับว่า
เราต้องเก็บซ่อนหรือต้องทิ้งส่วนอื่น ๆ เอาไว้
ณ พื้นที่หนึ่งอันมืดมิดในจิตใจ
(ที่ ๆ เราคิดว่าจะไม่มีแสงสว่างใดส่องถึง
ที่ ๆ เราจะไม่เผลอไปนึกถึงมัน)
ปัญหาชีวิตจึงเกิดขึ้นทันที
เนื่องจากกระบวนการเก็บซ่อนความจริงในใจเหล่านี้
กลับเป็นการทำร้ายตนเองทางอ้อม
คล้ายกับเวลาที่ร่างกายของเราเกิดบาดเจ็บ/เกิดโรค
เราย่อมต้องบอกความจริงกับหมอไปว่าเจ็บป่วยอะไร
เพื่อจะได้หาทางรักษาเยียวยาต่อไป
(การเก็บซ่อนอาการ/การโกหกหมอ จึงเป็นการซ้ำเติมตัวเอง)
กระบวนการในจิตใจก็เช่นเดียวกัน
หากเราเริ่มโกหกตัวเอง หรือ
หากเราปิดบังความจริงเกี่ยวกับตนเองไว้
ย่อมเป็นการสะสมความทุกข์ไว้ในจิตใจ
และปิดกั้นโอกาสในการเยียวยาความทุกข์เหล่านั้น
รวมทั้งยังเป็นการปิดกั้นศักยภาพที่แท้ของตนเองเอาไว้ด้วย
ดังนั้น
เมื่อมนุษย์เรา
ไม่ได้ดำรงอยู่บนโลกใบนี้โดยใช้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง
“แต่เราใช้ทั้งตัวและหัวใจ”
ซึ่งเป็นการใช้ทุกส่วนของชีวิต
ใช้ร่างกายทั้งหมดและใช้หัวใจทั้งหมด
เช่น
-จุดอ่อน/จุดแข็ง
-รอยยิ้ม/หยาดน้ำตา
-ความแข็งแรง/ความเปราะบาง
-ความรอบรู้/ความไม่รู้
-ความสำเร็จ/ความล้มเหลว
-ความสุข/ความทุกข์
-ความเบิกบานใจ/ความเจ็บปวด
-เรื่องราวที่อยากจำ/เรื่องราวที่อยากลืม
ฯลฯ
การทำความรู้จักชีวิตในทุกเสี้ยวส่วน
รวมทั้งการต้อนรับทุกความจริงที่เกี่ยวกับตนเอง
ย่อมทำให้เรามีโอกาสใช้ชีวิตอย่างเต็มที่และเปิดกว้าง
“ถึงจะดีบ้างร้ายบ้าง ถึงจะสุขบ้างทุกข์บ้าง”
แต่ทุกอย่างมันก็คือส่วนหนึ่งของเรา
แล้วทุกส่วนที่มีอยู่ในชีวิตของเรานั้นล้วนมีคุณค่า
เนื่องจากมันเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ทุกชิ้น
ที่ประกอบเป็นตัวเราขึ้นมา
“เมื่อเราต้อนรับทุกความจริงของตนเองตามความจริง”
เราย่อมสามารถดูแล เยียวยา ชื่นชม ขอบคุณ
และพัฒนาตัวเองในทุก ๆ ด้าน
โดยไม่ต้องพยายามหลบหนี
หรือแสร้งเป็นในสิ่งที่ตนเองมิได้เป็น ^^
โฆษณา