18 พ.ย. 2021 เวลา 00:43 • ไลฟ์สไตล์
ขุนเขาแห่งสัจธรรม ตอนที่ 1 สู่จุดเริ่มต้น
หากวันหนึ่งภูเขาสูงที่เต็มไปด้วยป่าไม้ เหลือแต่เขาหัวโล้น
จะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง?
คำถามนี้คงหาคำตอบได้ไม่ยาก ...
เพราะผลกระทบที่จะเกิดจากการหายไปของป่าไม้นั้นมัน "รุนแรง" เหลือเกิน
แต่การรักษามันไว้ให้คงอยู่ เพื่อให้ทุกสรรพสิ่งได้ใช้ประโยชน์ "ร่วมกัน"
...มันยากเสียยิ่งกว่า...
ช่วงเดือนมกราคม 2564
ผมได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 2 ครั้ง
ซึ่ง ตั้งแต่เดินทางมาเยี่ยมญาติที่เชียงใหม่ จนได้ย้ายมาอยู่นี่
ในระยะเวลาหลาย 10 ปี
ผมไม่เคยเดินทางมาถึงอำเภอแห่งนี้เลย
แต่ก็เคยทราบมาก่อนว่า ที่นี่มีความลำบาก และทุรกันดารเพียงใด
จากภาพข่าว สื่อต่างๆ และข้อมูลจากการทำงาน
ผมมองเห็นภาพความลำบากในการเดินทางช่วงหน้าฝน
ถนนที่เต็มไปด้วยโคลน เลน และภาพความแร้นแค้น
ที่หลายคนในฐานะคนเมืองรู้สึกเวทนา
...และนั่นคือภาพที่ติดตาผม ก่อนที่จะได้เดินทางมาที่นี่...
ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นวันที่ 11 มกราคม 2564
หลังดรามาคลิปวันเด็กของแม่ค้าออนไลน์ท่านหนึ่งไม่กี่วัน
ผมเดินทางจากที่ทำงาน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ ตีห้าครึ่ง
มาแวะพักที่ปั๊มน้ำมัน ปตท.ฮอด ซึ่งเป็นปั๊มสุดท้ายของถนนเส้นทาง ฮอด - แม่สะเรียง ก่อนที่ต้องเดินทางยาวๆ ถึงจะไปพบอีกปั๊มหนึ่งตรงสุดถนน
คือที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เราพักซื้อของ เข้าห้องน้ำ เตรียมพร้อมที่จะเดินทาง
เป็นระยะเวลาอีกกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อเข้าสู่อำเภออมก๋อยต่อไป
ช่วงต้นเดือน มกราคม อาการค่อนข้างเย็น โดยเฉพาะแถบ อำเภอจอมทอง และอำเภอฮอด ซึ่งยังมีธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และอยู่ใกล้ดอยอินทนนท์
ตามข้อมูลที่ผมได้หามาก่อนจะเข้าพื้นที่
กว่า 90% ของอมก๋อยเป็นพื้นที่ป่าสงวน
และประชากรส่วนมากเป็นชาวไทยภูเขา เผ่ากะเหรี่ยงโป
และมีชาวม้งจำนวนหนึ่ง
อีกความเชื่อฝังหัวที่ผมเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้คือ
ชาวกะเหรี่ยงจะมีพิธีผูกชะตากับป่า ไม่รู้ว่าเรียกถูกไหมนะ
คือ เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ จะนำสายสะดือของเด็กทารกคนนั้นไปฝังไว้ที่ต้นไม้
เมื่อเด็กโตมา จะได้รักษาต้นไม้ที่เป็นต้นไม้ประจำตัว ต่อไป ประมาณนี้
มันก็เลยมีภาพจำในหัวว่า พื้นที่บริเวณที่มีชุมชนกะเหรี่ยงอยู่
ป่าจะต้องสมบูรณ์แน่ๆ
ผมและทีมงานเดินทางมาถึงตัวอำเภอในเวลาประมาณ 10 โมงเช้า
พร้อมกับภาพที่ไม่ค่อยคุ้นตาสำหรับตนเอง
คือชาวบ้านสวมชุดกะเหรี่ยง เดินจับจ่ายใช้สอย และทำกิจธุระ ในบริเวณตัวอำเภอ
ซึ่งมันตรงกันข้ามกับภาพจำที่เข้าใจมาตลอดว่าที่นี่มันลำบากแร้นแค้นยังไง
โดยในบริเวณตัวอำเภอประกอบด้วยที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น
ร้านขายเสื้อผ้า ร้านอาหารตามสั่ง ร้านกาแฟ โรงเรียน ร้านขายวัสดุก่อสร้าง ตลาดสด
และ กศน.อำเภออมก๋อย ซึ่งเป็นที่หมายแรก
ที่เราจะเข้ามาเริ่มปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นี้
สภาพตัวอำเภอโดยทั่วไป
ไม่ต่างอะไรกับอำเภอชนบทอื่นๆ แต่ถ้าพูดกันตามตรงในฐานะผู้ที่เติบโตมาจากชนบทภาคกลาง
และผู้ที่เคยเดินทาง ไปทำงานในชุมชน ชนบทอื่นๆมาบ้าง ต้องบอกเลยว่า ตัวอำเภออมก๋อยนี้ มีความเจริญในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่า เจริญกว่าบางอำเภอแถวๆ ภาคกลางเลยก็ว่าได้
ผมและทีมงาน เดินทางเข้าพบกับ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภออมก๋อย
ที่มาต้อนรับพวกเรา พร้อมคณะครูจาก ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา
แม่ฟ้าหลวง 3 โรงเรียน ที่พวกเราจะต้องทำงานร่วมกันในอนาคตอันใกล้
เมื่อแนะนำตัวต่อกันเรียบร้อย จึงได้พูดคุยถึงภารกิจ
ที่พวกเราจะเข้ามาทำงานร่วมกับโรงเรียน
ซึ่งทีมงานของพวกผมที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้น
เป็นหนึ่งในทีมงาน "ทหารพันธุ์ดี" ของกองทัพภาคที่ 3
ที่จะเข้ามาดำเนินงานสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน
ในพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้หลายปี
และในหลายๆ โรงเรียนทั่วประเทศ
โดยกองทัพบก ใช้ชื่อโครงการนี้ว่า "โครงการทหารพันธุ์ดี ชุมชนเบิกบาน
อาหารปลอดภัย" คือเป็นการนำเอาทหารที่มีความสามารถด้านการเกษตร
และผ่านการอบรมจากโครงการทหารพันธุ์ดี ไปช่วยเหลือในการทำเกษตร
ให้กับโรงเรียนเป้าหมาย และขยายผลไปสู่ในชุมชนโดยรอบ ซึ่งนอกจากพวกเราแล้ว ยังมีทหารพันธุ์ดีทีมอื่นๆ กระจายตัวไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทย
ถ่ายภาพร่วมกับเหล่าแม่พิมพ์ผู้เสียสละ
เมื่อเราพูดคุยเรื่องานกันเสร็จเรียบร้อย ระหว่างรอเวลาเดินทางต่อ
พวกผม และครูก็ได้พูดคุยกันถึงประเด็นดรามาในสังคมก่อนหน้านี้
ซึ่งครูแต่ละคนก็พูดกันในทำนองติดตลก แต่เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน
แต่ในใจความที่ครูแต่ละท่านพยายามสื่อเหมือนกันคือ..."มันไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้น"...
....โปรดติดตามตอนต่อไปครับ...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา