18 พ.ย. 2021 เวลา 14:08 • ไลฟ์สไตล์
ขุนเขาแห่งสัจธรรม ตอนที่ 2 สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น
ด้วยความที่พื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานต้นสังกัดผม
ไม่ได้รับผิดชอบพื้นที่อำเภออมก๋อยตั้งแต่แรก
การเดินทางมาในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการมาเริ่มนับหนึ่งใหม่
เพราะเราไม่มีเครือข่ายมวลชน หรือเครือข่ายส่วนราชการที่นี่เลย
อีกทั้งเป็นการเข้าพื้นที่ครั้งแรก
เรามีเพียงแผนที่ทางทหารเวอร์ชั่นเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อน
กับแผนที่ดาวเทียมที่พอหามาได้
นอกจากนั้นเราไม่รู้อะไรเลย
จึงต้องให้คณะครูวางแผนการเดินทางให้
โดยที่หมายแรกครูให้เราเดินทางไปยัง บ้านยองแหละ ตำบลอมก๋อย
เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ใกล้ที่สุด ระยะทางแค่ 21 กิโลเมตร
ผมรีบเปิดแผนที่ประกอบคำอธิบายเส้นทางที่ครูบอก
จึงพบได้ว่ามันสามารถเข้าไปได้ถึง 3 เส้นทาง
แต่ครูบอกว่าทางหนึ่งชันมาก รถบรรทุก 6 ล้อเล็ก ที่เรานำมาขึ้นไม่ได้
อีกทางหนึ่งต้องอ้อมไกล ส่วนเส้นทางที่ครูเลือกให้
ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการเดินทาง
ซึ่งครูจากยองแหละจะนำทางเราโดยขอติดรถกลับไปยังโรงเรียนด้วย
จากนั้นครูทั้งหมดจึงแยกย้ายกันกลับ
ส่วนครูจากบ้านยองแหละได้นัดให้เราไปรับที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง
ที่ตั้งอยู่ข้างถนนเส้นที่เราจะใช้เดินทางต่อไป
หลังจากคณะครูได้แยกย้ายกันแล้ว
หัวหน้าของพวกเราจึงได้เรียกพวกเรามาบรี๊ฟงาน
โดยได้กำชับว่าเราจะไม่รบกวนอะไรครูเลย นอกจากที่นอนกับห้องน้ำ
ฉะนั้น จึงให้ไปซื้ออาหาร น้ำ เตรียมขึ้นรถไปให้พอ
เพราะเราตระหนักได้ว่า การเดินทางเข้าออกพื้นที่นั้นลำบากมาก
เราไม่อยากไปเพิ่มภาระให้กับครู
ออกเดินทาง
เมื่อคนพร้อม รถพร้อม
พวกเราจึงออกเดินทางจากตัวอำเภออมก๋อย
ไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวอำเภอ
โดยไปแวะรับคุณครูของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง
บ้านยองแหละ หรือ เรียกย่อๆ ว่า ศศช.บ้านยองแหละ
ในที่นี้ขอแทนที่ว่าโรงเรียน เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ
คุณครูของโรงเรียนบ้านยองแหละ เป็นครูผู้หญิงทั้งสองท่าน
หนึ่งท่านเป็นคนในพื้นที่อำเภออมก๋อย ส่วนอีกท่านเป็นครูสาว
มาจากจังหวัดเชียงราย ที่เป็นชาวไทยภูเขาเหมือนกัน
รถค่อยๆ เคลื่อนที่บนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กออกจากตัวอำเภอ
และเมื่อพ้นย่านชุมชนออกไป ถนนและสภาพแวดล้อม
ก็เริ่มเปลี่ยนไปตามเส้นทาง จากถนนคอนกรีต เป็นถนนลูกรัง
และเข้าสู่ถนนดิน หรือภาษาทหารเราเรียกว่า “เส้นทางตามภูมิประเทศ”
เมื่อเราเริ่มเข้าสู่เขตผืนป่า
เราเดินทางไต่ภูเขา เนินแล้ว เนินเล่า
บนเส้นทางตามภูมิประเทศ ที่ถูกใช้เป็นถนนเส้นหลักของหลายๆ หมู่บ้าน
ในตำบลอมก๋อย ที่ตั้งอยู่ใจกลางป่าอนุรักษ์ ซึ่งด้วยความที่เป็นถนนดิน
บางช่วงมันก็ดี บางช่วงก็ยุบ เนื่องจากเป็นทางไหลของน้ำ
ที่ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ทำให้ตลอดเวลาที่เราอยู่บนเส้นทางนี้
ไม่ต่างอะไรกับลิงค่าง เพราะถูกเหวี่ยงไป เหวี่ยงมา โยนไป โยนมา
ตามผิวถนนสูงๆ ต่ำๆ ต่างต้องห้อยโหนโครงเหล็กหลังคาของรถบรรทุก เพื่อไม่ให้พวกเรา 7 คน ไปกองรวมกันกับสัมภาระในกระบะบรรทุกเสียก่อน
สภาพของเส้นทางดินจากตัวอำเภอ ไปยัง บ้านยองแหละ
ภาพถ่ายระหว่างเดินทางหนึ่งเดียวที่ถ่ายได้ หลังจากนั้นมือไม่พอถ่าย
ตลอดเส้นทางตามภูมิประเทศ
ที่เราใช้เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านยองแหละนั้น ลำบาก และอันตราย
สำหรับผู้ขับรถไม่เก่ง แต่ที่มันเหนือกว่าความลำบาก และความอันตราย
คือ ความสวยงามของธรรมชาติที่เกิดจากธรรมชาติจริงๆ
ไม่ใช่เกิดจากการจัดวางของมนุษย์
เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพเก็บไว้
เพราะพวกเราต่างต้องใช้ทั้งสองมือ
เพื่อรักษาสภาพความสมบูรณ์ของตัวเองเอาไว้ก่อน
เราใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมง ในการเดินทางจากตัวอำเภอ
มาถึงโรงเรียนบ้านยองแหละ เนื่องจากต้องแวะยืดแข้งขา
และปล่อยของเหลวกันตลอดระยะทาง
ส่วนครูผู้หญิงทั้งสองท่านที่นั่งในเก๋ง
คงจะรู้สึกรำคาญพวกเราหลังรถอย่างมาก
เพราะต่างโวยวายกับสภาพถนนมาตลอดเส้นทาง
ป้ายของโรงเรียน พร้อมด้วยเสาสัญญาณ Wifi และจานดาวเทียม
เรียนที่นี่ฟรี Wifi
ระยะทาง 21 กิโลเมตร ที่เหมือนไม่ใช่ 21 กิโลเมตร
กว่าที่เราจะถึงจุดหมาย หลายคนต่างได้แผลกันเล็กน้อยๆ
จากการโดนสัมภาระไหลมากระแทก หรือหัวโขกรถ แล้วแต่กรณี
แต่เราต่างโล่งใจ ที่จะได้มีเวลายืดเส้นยืดสายกันพักใหญ่ๆ
ก่อนที่จะเดินทางต่อ
เมื่อเท้าแตะพื้น สายตาผมดันเหลือบไปสบกับสายตาน้อยๆ 2 คู่
ที่กำลังแอบดูพวกเรามาจากหลังอาคารเรียน
ผมไม่รอช้ารีบเดินเข้าไปหา
“สวัสดีค่า” ผมกล่าวทักทายสาวน้อยทั้ง 2 ที่แอบอยู่หลังอาคารเรียน
“สวัสดีข่ะ” สาวน้อยทั้งสองกล่าวตอบผมในสำเนียงของเธอ
พร้อมยกมือไหว้สวัสดีด้วยท่าทางเขินๆ
“มาทำอะไรกันตรงนี้ ไม่ไปโรงเรียนเหรอ” ผมถามไป
โดยที่ลืมนึกคิดไปว่าตอนนี้ตัวเองก็อยู่ในโรงเรียน
พลันสายตาก็เหลือไปเห็นสิ่งของที่อยู่ในมือของเด็กคนหนึ่ง
ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ผมกำลังถืออยู่
ใช่แล้ว! นั่นคือ สมาร์ทโฟน
“มีโทรศัพท์ใช้ด้วยเหรอ?” ผมถามออกไปด้วยความตกใจ
“ค่ะ” น้องมองหน้ากันและตอบกลับมาแบบงงๆ
คงจะคิดอยู่ในใจว่า มันแปลกตรงไหน
“แล้วเอาไว้ทำอะไรกัน เล่น facebook tiktok เหรอ”
น้องไม่ตอบแต่หัวเราะพร้อมบิดตัวไปมาแบบเขินๆ
ผมจึงหยิบลูกอมที่ซื้อมาจากเซเว่นที่อำเภอยื่นให้ทั้งถุง เพราะเคยมีประสบการณ์ในการออกค่ายอาสาที่โรงเรียนชาวไทยภูเขามาก่อน จึงรู้ว่าต้องเจอเด็กแน่ๆ
“พี่ให้ เอาไปแบ่งกันนะ” น้องยกมือไหว้ขอบคุณ พร้อมหยิบถุงลูกอมจากผมไป
ภาพจากวิดีโอ : สองสาว Smart Phone มาแอบเล่นเน็ตที่โรงเรียน
เมื่อผมเดินออกมาจากหลังอาคารเรียนจึงได้รู้ว่า
น้องๆ มาใช้สัญญาณ Wifi ของทางโรงเรียน
จากเสารับสัญญาณอินเตอร์เน็ตของ TOT
ในโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ที่ตั้งอยู่ตรงทางเข้า
ซึ่งตอนเข้ามาผมมองไม่เห็น
ทันทีทันใด ผมจึงเปิด Wifi ในมือถือผมทันที
ปรากฏว่า สัญญาณมาเต็ม แต่...
เล่นไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้รหัสจากคุณครู
ผมจึงเดินไปรวมตัวกับทีมงานที่เริ่มทำงานกันไปแล้ว
จดเข้าไป หลายหัว ดีกว่าหัวเดียวครับผม
จุดประสงค์หลักของการเดินทางมาทำงานในครั้งนี้ของพวกเรา
นอกจากจะมาสำรวจพื้นที่ปฏิบัติงานแล้ว
เรายังต้องสำรวจความต้องการของทางโรงเรียนด้วย
ว่าโรงเรียนมีปัญหาอะไร และมีความต้องการอะไรบ้าง
ที่จะสามารถตอบสนองงานโครงการได้
เพื่อที่เราจะกลับไปเสนอเรื่องของบประมาณกับกองทัพบกต่อไป
ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็มีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน
ปัญหาส่วนใหญ่ของโรงเรียนบ้านยองแหละ
คือความเสื่อมโทรมของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นถังพักน้ำ โรงอาหาร โรงเรือนปลูกผัก
แผงโซล่าเซลล์ รวมถึงรั้วของโรงเรียนที่ถูกหมูของชาวบ้านพัง
เพื่อเข้ามาขโมยกินผักที่เด็กนักเรียนปลูก
ซึ่งที่ทราบจากคณะครูมา
งบประมาณที่ลงมาในส่วนของโรงเรียนในสังกัด กศน. นั้น
ไม่ค่อยเพียงพอ โรงเรียน ศศช. จึงสามารถอยู่ได้ด้วยกลุ่มภาคีเครือข่าย
ของประชาชนจิตอาสา ที่ร่วมกันเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงโรงเรียนเป็นประจำ
เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมูเลยที่เดียว เพราะชาวบ้านเลี้ยงปล่อย รั้วก็เลยพังทั้งแถบ
ในส่วนของไฟฟ้า
โรงเรียนบ้านยองแหละ ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์
ซึ่งใช้งานได้เฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้น
เนื่องจากแบตเตอร์รี่เสื่อมสภาพไปหลายเดือนแล้ว
ส่วนใหญ่ปัญหาเหล่านี้เกิดเหมือนกันแทบทุกที่
จากการไม่ดูแลสอดส่องของผู้ที่ได้รับผิดชอบ
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีรถกระบะโฟร์วีล ขับเข้ามาในโรงเรียน
พร้อมกับนักเรียนหญิงที่นั่งรออยู่ในห้องเรียน
รีบวิ่งออกไปช่วยกันขนของลงจากรถ
เมื่อผมเดินเข้าไปดู จึงพบว่าเป็นวัตถุดิบทำอาหาร
ที่ทางโรงเรียนได้สั่งซื้อมาใช้ประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน
โดยจะสั่งซื้อเดือนละ 1 ครั้ง ค่าขนส่งเที่ยวละ 3,000 บาท
ซึ่งนักเรียนมีค่าอาหารเฉลี่ย 25 ต่อหัว
ผมจึงได้ถามครูไปว่ามีวิธีการเก็บของสดอย่างไร ในเมื่อไม่มีไฟฟ้า
ไม่มีตู้เย็น จึงได้รู้ว่าใช้วิธีแช่ในถังน้ำแข็ง เพราะอากาศที่นี่เย็นตลอด
จึงไม่น่าเป็นห่วง และได้รู้อีกว่าบางครั้งวัตถุดิบที่สั่งขึ้นมาก็ไม่เพียงพอ
จึงต้องขอจากผู้ปกครองนักเรียนบ้าง เช่น ข้าวสาร ซึ่งเป็นข้าวดอย
น้องนักเรียนที่มาช่วยงานโรงเรียนในวันหยุด
....โปรดติดตามตอนต่อไปครับ....

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา