18 พ.ย. 2021 เวลา 19:34 • สุขภาพ
ซาร์สหรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe acute respiratory syndrome/SARS) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่พบระบาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2545 ถึงกรกฏาคม พ.ศ.2546 พบมีผู้ป่วย ทั้งสิ้น 8,098 ราย จาก 26 ประเทศ ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิต 774 ราย ส่วนใหญ่พบระบาดในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน  แคนาดา  เวียดนาม  และสิงคโปร์
โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย และมักมีความรุนแรงในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
สาเหตุ ซาร์ส
เกิดจากเชื้อไวรัสตัวใหม่ซึ่งอยู่ในตระกูลไวรัสโคโรนา (coronaviruses) ไวรัสชนิดนี้มีอยู่หลากสายพันธุ์สายพันธุ์ ที่เคยพบในคนนั้นเป็นต้นเหตุของการเกิดไข้หวัด  ที่ไม่รุนแรง ส่วนสายพันธุ์ที่เคยพบในสัตว์ (สุนัข แมว หมู หนู นก) นั้นอาจทำให้เกิดความผิดปกติ ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ตับ ลำไส้ของสัตว์ เหล่านี้
ส่วนเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้เป็นเชื้อที่กลายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เชื่อว่าแพร่มาจากสัตว์ป่าบางชนิด (ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชนิดใด) นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื้อเชื้อนี้ว่าไวรัสดคโรนาสัมพันธ์กับซาร์ส (SARS-associated corona-virus/SARS-CoV) เรียกสั้น ๆ ว่า ไวรัสซาร์ส เชื้อชนิดนี้พบก่อโรคครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน แล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก
การแพร่เชื้อ จากลักษณะการติดต่อของโรคที่พบ  แพร่กระจายเฉพาะหมู่คนที่อยู่ที่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เช่น แพทย์ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย ญาติมิตรที่อยู่ในบ้าน หรือห้องเดียวกันกับผู้ป่วย ผู้ที่อยู่ด้วยกันในห้องแคบ (เช่น ลิฟต์) เป็นต้น ทำให้สันนิษฐานว่า เชื้อไวรัสซาร์สแพร่กระจายทางละอองเสมหะขนาดใหญ่ (droplet trans-mission) แบบเดียวกับไข้หวัด  กล่าวคือ โดยการไอ จามรดใส่กันตรง ๆ ภายในระยะไม่เกิน 3 ฟุต (ประมาณ 1 เมตร) และโดยการสัมผัสมือหรือสิ่งปนเปื้อนละอองเสมหะของผู้ป่วย เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น (เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่บน สิ่งปนเปื้อนได้นานถึง 3 ชั่วโมง) แล้วเผลอนำนิ้วมือที่เปื้อนละอองเสมหะนั้นเช็ดตา เช็ดจมูก เชื้อโรคก็จะผ่านทางเยื่อเมือกเข้าไปในทางเดินหายใจ
ส่วนการแพร่เชื้อทางอากาศ (airborne transmission) และทางอาหารและน้ำดื่มนั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่ก็ยังไม่สามารถตัดออกไปได้
ระยะแพร่เชื้อ ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นตั้งแต่เริ่มมีอาการเป็นไข้วันแรก และในวันที่ 4 หลัง เป็นไข้จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น ส่วนระยะก่อน และหลังมีอาการนานกี่วันที่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ยังไม่ทราบแน่ชัด เพื่อความปลอดภัย แนะนำว่าผู้ที่หายจากอาการเจ็บป่วยควรแยกตัวนานอีก 10 วัน
อาการ ซาร์ส
แรกเริ่มจะมีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวมาก เบื่ออาหาร คล้ายไข้หวัดใหญ่  บางรายอาจมีอาการท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอหรือเจ็บหน้าอกร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเป็นหวัด (เช่น จาม มีน้ำมูก) 2-7 วันหลังมีไข้ ผู้ป่วยจะมีอาการไอแห้ง ๆ ในราย ที่เป็นรุนแรงถึงขั้นเป็นปอดอักเสบก็จะมีอาการเหนื่อยง่ายหายใจหอบ  หายใจลำบากตามมา อาการรุนแรงมักเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 ของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ปอดอักเสบจะค่อย ๆ หายไปเองอย่างช้า ๆ และมักจะหายในสัปดาห์ที่ 3 ของโรค
การรักษา ซาร์ส
ถ้าพบผู้ป่วยมีไข้และมีประวัติว่าก่อนหน้านี้ภายใน 10 วันเดินทางกลับจากพื้นที่ทีมีการระบาดของโรคนี้ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยเป็นโรคนี้ ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจหาร่องรอยของไวรัสซาร์สในเลือด น้ำลายหรือเสมหะด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น reverse transcriptase  polymerase chain reaction (RT-PCR) ELISA การแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยง (cell culture) microneutralization test เป็นต้น
การรักษา  ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโดยจำเพาะ เพียงให้การรักษาตามอาการ  ถ้ามีอาการหายใจลำบากก็ใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะพ้นขีดอันตราย
ในประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ได้มีการทดลองให้ยาต้านไวรัส (เช่น interferon, ribovirin, oseltamivir, lopinavir/ritonavir)  ร่วมกับยาสตีรอยด์ และบางรายให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมอาการปอดอักเสบ  วิธีการเหล่านี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิผลของการรักษา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา