20 พ.ย. 2021 เวลา 05:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ
S2 EP3. Stock Selection การเลือกหุ้น
ในบทความที่แล้ว เราได้พูดถึง เรื่องการคัดกรองหุ้น โดยใช้วิธีการทางเทคนิคคอลเข้ามาช่วย ทำให้สามารถ คัดกรองหุ้นที่มีหลายร้อยตัวในตลาด ให้เหลือเพียงไม่กี่ตัว เอาเฉพาะตัวที่มีลักษณะ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของขาขึ้น หรือ หุ้นต้นเทรน เท่านั้น โดยเราจะเก็บหุ้นเหล่านี้ เอาไว้ใน Watch list ของเรา
ขั้นตอนต่อไปที่จะอธิบาย ในบทความตอนนี้คือ การเลือกหุ้น (Stock Selection) โดยเราจะเลือกจาก watch list ว่ามีหุ้นตัวไหนบ้าง ที่เราจะสามารถลงทุนได้จริงๆ ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญที่สุด โดยผมจะใช้การวิเคราะห์ทางพื้นฐาน ผ่าน คำถามจำนวน 4 ข้อในการพิจารณา ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ดังต่อไปนี้
Step 2. Stock Selection
คำถามที่ 1. Catalyst : บริษัทมีประเด็นสำคัญอะไร ที่จะช่วยผลักดันให้อนาคตของบริษัท ดีกว่า ปัจจุบัน ?
ขั้นแรก เราศึกษา ไปทีละบริษัทใน watch list นี้ ดูว่า มีบริษัทไหนบ้าง ที่มีประเด็นสำคัญ กำลังจะทำให้ บริษัทนั้นๆ ดีขึ้น ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ประเด็นเหล่านี้ ควรจะสามารถทำให้ยอดขาย และ กำไร ของบริษัท เติบโตได้ อย่างมั่นคงต่อเนื่อง ไปในอนาคตอย่างน้อย 2 ถึง 3 ปี
โดยประเด็น catalyst ต่างๆ สามารถเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีกลยุทธ์ใหม่, ขยายฐานลูกค้าใหม่, มีสินค้าบริการใหม่, พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป, สภาพการแข่งขันที่ไม่เหมือนเดิม หรือ กฏเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีผลดีต่อบริษัท เป็นต้น
เราทำการวิเคราะห์ หาดูว่า ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ หรือไม่ และ ประเมิน ความเป็นไปได้ ประเมินผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นต่อบริษัทว่า จะมากหรือน้อยแค่ไหน
หากเราหาไม่เจอประเด็น catalyst ในบริษัทนั้นๆ ผมจะหยุดไม่ทำวิเคราะห์เจาะลึกต่อให้เสียเวลา ส่วนบริษัทไหน ดูแล้ว มีประเด็นที่น่าสนใจพอ จะถือว่าผ่านเข้ารอบต่อไป ผมจะนำบริษัทเหล่านี้ เข้าไปอยู่ใน Priority list เพื่อที่จะเอาไปวิเคราะห์ต่อ ในรายละเอียด ผ่านคำถามที่ 2-4 ต่อไป
คำถามที่ 2 Strength: บริษัทที่เราสนใจ มีความได้เปรียบในการแข่งขันหรือไม่ ?
ผมคิดว่า คำถามนี้สำคัญที่สุด หุ้นที่เราลงทุนทุกตัว เราควรจะตอบได้ว่า อะไรคือความได้เปรียบในการแข่งขัน ของบริษัทนั้นๆ บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน จะมีโอกาสเป็นผู้ชนะในระยะยาว ซึ่งในการลงทุน นั้น บริษัทเหล่านี้ จะทำให้เราสามารถคาดการณ์ การเติบโต ในอนาคต ได้อย่างแม่นยำ และ สบายใจมากกว่า
ในการดูเรื่อง competitive advantage ของบริษัทนั้น ก่อนอื่น ผมคิดว่าเราจะต้องทำความเข้าใจเรื่อง การแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นๆ ว่าเค้าแข่งขันกันอย่างไร อะไรเป็น “ปัจจัยชี้ขาด” ที่จะทำให้ผู้เล่นรายใดรายหนึ่ง กลายเป็นผู้ชนะ และ บริษัททำอะไรในการ เสริมสร้างความแข็งแกร่งในปัจจัยนั้นๆ จนเหนือกว่าคู่แข่ง
 
ยกตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรม สื่อบันเทิง แข่งขันกันที่ “การดึงดูดความสนใจของคนดู” ใครมีคนเข้ามาดูมาก ก็จะได้เปรียบ ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้คนเข้ามาเสพสื่อนั้นๆได้ต่อเนื่อง และ content ในสื่อนั้นๆ จึงมีความสำคัญ
หรือ อุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้บริโภคมักเลือกซื้อจากความคุ้นชิน และ กระแสที่กำลังได้รับความนิยม บริษัทแข่งกัน เพื่อที่จะ “เป็นตัวเลือกแรกในใจของผู้บริโภค” ดังนั้น การสร้าง Brand awareness และ การออกสินค้า ที่ตอบสนองตลาด ได้อย่างรวดเร็ว จึงมีความสำคัญ เป็นต้น
ในการวิเคราะห์ เราต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งเสมอ เราต้องรู้ว่าคู่แข่งมีใครบ้าง กำลังทำอะไรอยู่ size ขนาดไหน แล้วบริษัทที่เราสนใจนั้น สามารถสร้างเสริม “ปัจจัยชี้ขาดในการแข่งขัน” ได้ดีกว่าคู่แข่ง หรือไม่ ? และ หากบริษัท ทำได้ดี เราก็จะเห็นได้จาก การที่ market share ของบริษัทมีขนาดใหญ่ที่สุด หรือ มีการเพิ่มขึ้นของ market share ที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง จนชนะคู่แข่ง อื่นๆ
1
หากบริษัทไหนเราดูแล้ว ไม่ได้มี competitive advantage เหนือกว่าคู่แข่งที่ชัดเจน ผมมักจะตัดทิ้ง ไม่เอา ไปวิเคาะห์ในขั้นตอนต่อไป เพราะผมคิดว่า บริษัทเหล่านี้ เราไม่สามารถเอาไปคาดการณ์อนาคต อะไรให้แม่นยำ ได้เลย จะมีโอกาสที่ทำให้เราคาดการณ์ผิดพลาด ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยง ในการลงทุน
เมื่อเราดูแล้ว ว่าบริษัทไหน มีความสามารถได้เปรียบในการแข่งขัน น่าจะเป็นผู้ชนะได้ เราจะนำบริษัทเหล่านั้น ไปวิเคราะห์ต่อ ในคำถามที่ 3 และ 4 ควบคู่กัน ต่อไป
คำถามที่ 3 Growth Drivers: บริษัทจะสามารถเติบโตได้อย่างไร มากขึ้นขนาดไหน และ การเติบโตนั้นจะกินระยะเวลาได้นานเท่าไหร่ ?
ราคาหุ้นจะสามารถขึ้นได้อย่างมั่นคง จำเป็นที่จะต้องมีการเติบโตของกิจการ มาเป็นตัวผลักดัน ยิ่งบริษัทสามารถ เติบโตได้ แบบ year over year ได้ ในทุกๆไตรมาสแล้ว โอกาสที่หุ้นจะวิ่งเป็นขาขึ้นก็ยิ่งสูง ในการวิเคราะห์การเติบโต ผมคิดว่าเราควรจะดูประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
  • บริษัทจะเติบโตได้อย่างไร อะไรคือ growth driver ของบริษัท? เราดูว่าบริษัทนั้นกำลังทำอะไรอยู่ มีแผนการสร้างการเติบโตอย่างไร ไปสู่กลุ่มลูกค้าไหน บริษัทใช้จุดแข็งของตัวเองต่อยอดให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เพื่อทำการวิเคราะห์ว่า สิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่นั้น มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
  • บริษัทจะเติบโตได้มากขึ้นขนาดไหน? ทำการประเมิน ขนาดของตลาดนั้นๆ ว่า มีขนาดเท่าใด บริษัทน่าจะ ส่วนแบ่งการตลาด มากน้อยแค่ไหน และ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับฐานรายได้ในปัจจุบัน นั้นเป็นอย่างไร จะช่วยให้เรามองภาพ potential upside ของบริษัทนั้นๆ ว่าในอนาคต บริษัทน่าจะไปได้ ขนาดไหน หากทำได้สำเร็จ
  • ระยะเวลาที่จะเติบโตนั้นนานแค่ไหน? Growth driver ที่ว่านั้น น่าจะผลักดันยอดขาย ให้ เติบโตได้ นานแค่ไหน ตามขนาดของตลาดที่เราได้ประเมินไว้ ตรงนี้จะเป็นตัวกำหนด time frame ในการที่เราลงทุน ในหุ้นตัวนั้นๆ ได้ ซี่งในการลงทุน เราควรเลือกถือในช่วงเวลาที่บริษัทเติบโตเท่านั้น เราไม่มีความจำเป็นอะไร ที่จะต้องไปถือในช่วงเวลาที่บริษัทไม่เติบโต
1
การประเมินศักยภาพในการเจริญเติบโตนั้น ถ้าจะให้ดี ผมจะชอบในบริษัทที่ทำในสิ่งที่บริษัท มีความได้เปรียบทางการแข่งขันอยู่แล้ว ต่อยอดจากสิ่งที่บริษัทมีข้อได้เปรียบ โดยที่ยอดขาย (ในอนาคต) ควรจะเติบโตได้เกิน 10%-15% ต่อปีขึ้นไป เป็นการเติบโตที่มีคุณภาพจากขนาดของธุรกิจที่ขยายตัวขึ้น และควรจะดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นเวลา อย่างน้อยซัก 2-3 ปี ซึ่งมากพอที่ตลาดจะรับรู้ พัฒนาการดีๆ ที่เกิดขึ้นต่อตัวบริษัทนั้นๆ
คำถามที่ 4 Valuation: ในอนาคต 2-3 ปี บริษัทนี้น่าจะมีมูลค่า market capitalization ที่เหมาะสม เป็นเท่าไหร่ ?
ในการลงทุน ต่อให้เราลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพดี มีการเติบโตสูง แต่หากว่า เราจ่ายมันไปในราคาที่แพงเกินควร เราก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีก็ได้ ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องประเมินมูลค่าของมันออกมาให้ได้เสมอ
สิ่งที่เราควร มองหาคือ บริษัทที่มีมูลค่าในปัจจุบัน “ต่ำกว่า” ศักยภาพของบริษัทนั้นในอนาคต การลงทุน เป็นเรื่องของ การมองไป ในอนาคตเสมอ เราต้องประเมินให้ได้ว่า อนาคตบริษัทน่าจะเป็นอย่างไร จะมีมูลค่าเท่าไหร่ หากราคาปัจจุบันของบริษัทนั้น ต่ำกว่า สิ่งที่น่าจะเป็นในอนาคตมากๆ โอกาสที่เราจะลงทุนไปแล้ว ได้ผลตอบแทนที่ดี ก็จะมีมาก
กว่าจะมาถึงขั้นตอนนี้ เราก็ได้ทำการศึกษาบริษัทในแง่มุมต่างๆ จากแหล่งข้อมูลมากมายแล้ว ในขั้นตอนนี้ เราจะนำสิ่งที่เราศึกษาทั้งหมด มาทำการประมาณการ ไปในอนาคต ประเมินไปว่า บริษัทจะมี
  • 1.
    ยอดขาย
  • 2.
    ต้นทุน
  • 3.
    ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
  • 4.
    ต้นทุนการเงิน ภาษี
  • 5.
    กำไรสุทธิ
ในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า น่าจะประมาณเท่าไหร่ (ผมคิดว่าการมองไปไกลกว่านั้น ให้แม่นยำ ค่อนข้างจะยาก) แล้วทำลงไปใน excel ของเราให้เรียบร้อย พร้อมจดสมมติฐานของเรา ว่าทำไมเราถึง ใส่ตัวเลขประมาณการต่างๆ เหล่านี้ลงไป
 
ส่วนการประเมินมูลค่า วิธีการที่ดีที่สุด คือ วิธีการที่คนในตลาดนิยมใช้กันมากที่สุด เช่น การใช้ P/E ratio ซึ่ง อาจจะดูจากค่าเฉลี่ยในอดีต หรือ เปรียบเทียบจาก บริษัทต่างๆใน อุตสาหกรรมเดียวกัน ปรับปรุงตัวเลขให้เหมาะสมกับ ความสามารถในการแข่งขัน การเติบโต รวมไปถึง ความสามารถในการเล่า story ของบริษัทนั้นๆ (Note. ข้อควรระวัง P/E ratio เองอาจจะไม่ได้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการประเมินมูลค่าของหุ้นบางประเภท)
โดยเราเอากำไร (ในอนาคต ปีที่สาม) เข้าไปคูณกับ P/E ratio เพื่อประเมินหามูลค่า market cap ในอนาคต ซึ่งมูลค่าที่ได้นี้ ถ้าจะให้ดี ผมคิดว่าควรจะมากกว่ามูลค่า market cap ณ ปัจจุบัน ประมาณ 2 เท่า หากคุณต้องการ ผลตอบแทนทบต้น ร้อยละ 25 ต่อปี ไปอีกใน 3 ปีข้างหน้า
การทำการประเมินมูลค่า ในอนาคตแบบนี้ ผมคิดว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องทำด้วยมือของตัวเอง เพราะ
1. อนาคต เปลี่ยนแปลงได้เสมอ หากมีปัจจัยอะไรเปลี่ยนแปลง มากระทบ เราสามารถ update สมมติฐาน ทำการประเมินมูลค่าใหม่ของเราได้เอง และ สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจได้ทันท่วงที
2. ความผันผวนของตลาดหุ้น อาจจะทำให้เรา โลภหรือกลัว จนเกินไป การประเมินมูลค่าจะช่วยให้ เรามีตัวยึด เป็นหลักที่มั่นคง ในการตัดสินใจ หากเราไม่ทำการประเมินมูลค่าด้วยตัวเอง เราไม่เข้าใจมูลค่าที่แท้จริง ของบริษัท และจิตใจเราจะอ่อนไหวไปกับการขึ้นลงของราคาได้มาก
บริษัทที่ผ่านการประเมินจากเกณฑ์ ทางพื้นฐานของกิจการ ข้างต้นนี้ทั้ง 4 คำถาม ได้ ถือว่าเป็นบริษัทที่เรา สามารถทำการลงทุนได้ เพราะมีทั้งความแข็งแกร่ง มีศักยภาพในการเติบโต และอยู่ในช่วงที่ราคาที่ไม่แพงเกินไป ในด้าน กราฟราคาหุ้นเองก็ เพิ่งเริ่มทำจุดเริ่มต้นเทรน เท่านั้น เรียกได้ว่า เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทั้งกลุ่มนักลงทุนพื้นฐาน และ กลุ่มนักลงทุนทางเทคนิคอล เริ่มกำลังทะยอยเข้ามาให้ความสนใจ ผมคิดว่า ช่วงแบบนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ความยาก ของมันคือ ในช่วงเวลาแบบนี้ โดยปกติ มักจะเกิดขึ้นในเวลาที่ ตลาดคนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ให้ความสนใจในหุ้นตัวนั้นๆ หรือ ตลาดมองด้วยความวิตกกังวลบางอย่างอยู่
หากเราไม่ได้ไป วิเคราะห์เจาะลึกในรายละเอียด เราก็จะไม่รู้ เราจะไม่เห็นความจริง เราก็จะถูกความเชื่อของกลุ่มมาครอบงำ เราจะเชื่อเหมือนที่ตลาดเชื่อ โดยที่ไม่ทันได้คิดวิเคราะห์ ซึ่งในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่ตลาดคิดก็ได้ ดังนั้นเราจะต้องก้าวผ่าน จุดนี้ให้ได้ ยอมลงแรงเข้ามาดู ในรายละเอียดหน่อย เราอาจจะเจอกับโอกาสอันงามก็ได้
ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่เราเลือกหุ้นที่จะลงทุนได้แล้ว เราต้องตัดสินใจว่า เราจะให้น้ำหนักลงเงินไปกับหุ้นตัวนั้นๆ เท่าไหร่ดี เป็นกี่ % ของพอร์ตการลงทุนของเรา เพื่อให้พอร์ตการลงทุนมีผลตอบแทนที่ดี และ ไม่เสี่ยงจนเกินไป ซึ่งผมจะเอามาพูดคุยกันใน step ต่อไป คือการ Allocation ขอบคุณที่ติดตามกันนะครับ
ขอบคุณครับ
Alpha Investing
20 November 2021

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา