21 ม.ค. 2022 เวลา 10:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Margin of Safety ในการลงทุน
ในการบริหารพอร์ตการลงทุน นอกจากเรื่องที่เราจะต้องหาหุ้น หาการลงทุนที่ดี มาทำให้พอร์ตเติบโตแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ เราต้องระมัดระวัง ไม่ให้มีการตัดสินใจ “ที่ผิดพลาด” เพราะจะเป็นตัวฉุดรั้ง พอร์ตของเราไม่ให้ไปไหน นอกจากขนาดพอร์ตที่จะลดลงแล้ว เรายังจะเสีย “เวลา” ที่เป็นทรัพยากร อันมีค่า ที่ผ่านไปแล้ว หากลับมาใหม่ ไม่ได้ด้วย
วิธีการหนึ่ง ที่นักลงทุนแนวพื้นฐาน ใช้กัน เพื่อที่จะ "จัดการความเสี่ยง" ลดโอกาสการลงทุนที่ผิดพลาด คือ การซื้อหุ้นในราคาที่มี margin of safety หรือ ซื้อในราคาที่มีค่าเผื่อความปลอดภัย โดยเราจะซื้อหุ้น ในราคาที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ (intrinsic value) เสมอ ยิ่งมูลค่าต่ำกว่า มูลค่าที่แท้จริงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมี margin of safety มากเท่านั้น
สำหรับตัวผมเอง สมมติว่า หากผมคาดหวังผลตอบแทนทบต้นที่ 25% เป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น เมื่อคำนวน intrinsic value ของบริษัทในอีก 3 ปีในอนาคต แล้วได้ราคาหุ้นที่ 100 บาท ราคาหุ้นที่แพงที่สุดที่ผมจะยอมจ่าย ณ ตอนนี้คือ 50 บาท ซึ่งจะเป็นราคาที่ทำให้ผมได้ผลตอบแทนที่คาดหวัง 25% ต่อปี หากอะไรๆ เป็นไปตามคาด ในอีก 3 ปีข้างหน้า (หรือ บางคนอาจจะซื้อ ในราคาที่ต่ำกว่านี้ หากต้องการ มี margin of safety ที่มากขึ้น)
อย่างไรก็ตาม ชีวิตจริง มันไม่ได้เรียบง่ายแบบนั้น ต่อให้เราทำการประเมินมูลค่า อย่างละเอียดทุกครั้ง ก่อนที่เราจะลงทุน วิธีการ valuation ต่างๆ ที่จะเอามาหามูลค่าที่แท้จริง ก็มีจุดอ่อนที่สำคัญ บางประการ เหมือนกัน เช่น
1. จาก ตัวเราเอง ที่เป็นคนกรอกตัวเลข กรอกสมมติฐาน ต่างๆ นานา ว่าบริษัทน่าจะเป็น อย่างโน้น อย่างนี้ ในอนาคต ซึ่งปกติแล้ว คนเรา ย่อมมี อคติ (bias) ทั้งจากประสบการณ์ในอดีต หรือ จากความคาดหวังในอนาคต หรือ จากสภาวะแวดล้อมรอบๆตัวเรา รวมไปถึง ความเข้าใจในตัวของบริษัท ความเข้าใจต่อสภาวะการแข่งขัน ในอุตสาหกรรม ที่อาจจะมีอยู่อย่างจำกัด โดย สิ่งที่จะทำให้เราเสี่ยง และจะก่อความเสียหายมากที่สุด คือ การที่เราคาดหวังอะไร ดีเกิน “ความเป็นจริง” หรือ เรามั่นใจอะไรเกินไป
2. จากความไม่แน่นอนในอนาคต ยิ่งเราคาดการณ์อะไรไปไกลๆ ในอนาคตมากๆ ความชัดเจนมันจะยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ยังไม่ได้เป็นผู้ชนะ และ อยู่ในอุตสาหกรรมมีคู่แข่งรายใหม่ๆ หรือ มีสินค้าบริการอะไรใหม่ๆ ออกมาทดแทนของปัจจุบัน อย่างต่อเนื่อง
หากเราทำการประเมินมูลค่าบริษัทเหล่านี้ และ ต้องอาศัยเวลาอีกหลายๆ ปีไปในอนาคต เพื่อที่จะบ่งบอกว่า บริษัทนั้นๆ น่าสนใจในการลงทุน ผมคิดว่าเราควร จะต้องเผื่อ เอาไว้ด้วย ว่า ตัวเลข มูลค่ากิจการที่เราคำนวณออกมาได้นั้น มันอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่เรา หวัง เสมอไป
ทีนี้ แล้วเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ? ผมคิดว่า การหาค่าเผื่อความปลอดภัย (margin of safety) ทางพื้นฐานนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างยิ่ง แต่ ทำแค่นี้ อาจจะยังไม่พอ
ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนเอาไว้ในบทความ เรื่อง ภาวะกระทิงเกิดขึ้นได้อย่างไร ? (https://www.blockdit.com/posts/5f2564906631710ca712b322) ว่าตลาดหุ้น ประกอบไปด้วยผู้คน มากมาย หลากหลายทางความคิด ซึ่งมีแนวความคิด ที่จะทำให้เขาเหล่านั้น ตัดสินใจ ซื้อหรือขายหุ้น หลักๆ อยู่ 3 แนวคิด ด้วยกัน คือ
1. แนวคิดทางพื้นฐาน (fundamental)
2. แนวคิดทางเทคนิค (Technical)
3. แนวคิดตามมวลชน คนส่วนใหญ่ (Mass- Story driven)
โดยคนในตลาดทุกคนไม่จำเป็นต้องมีแนวความคิดเหมือนกันเราเสมอไป และในหลายๆ ครั้ง "ตลาด" อาจจะมองตรงข้ามกับแนวคิดของเราอย่างร้ายกาจ หรือ มองไปในทางเดียวกับแนวคิดเราอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งเราควรจะต้องอาศัยประโยชน์จากสิ่งนี้
ผมเชื่อว่า ราคาของหุ้นที่มี margin of safety เป็นระดับราคาที่มีความปลอดภัยในการลงทุนจริงๆ นอกจากต้องดูเรื่อง พื้นฐาน แล้ว เราควรจะต้องดูว่า “ตลาด” มองอย่างไรด้วย มีการรับรู้กันไปเยอะแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าหาก ตลาดรับรู้ไปเยอะแล้ว ใส่ความคาดหวังไปเยอะๆแล้ว ราคานั้นๆ มันจะมี margin of safety ที่ปลอดภัยจริงๆ ได้อย่างไร
สิ่งที่พอจะบอกเราได้คร่าวๆ ว่าตลาดนั้น มองอย่างไร คือการวิเคราะห์ กราฟทางเทคนิค ซึ่งจะทำให้เราพอรู้ได้ว่า ช่วงนี้ราคาหุ้นอยู่ใน phases ไหน เครื่องมือทางเทคนิค มีให้เลือกใช้ได้หลากหลาย ซึ่งเครื่องมือที่ผมขอยกเป็นตัวอย่างในบทความนี้ เป็นวิธีที่ใช้ดูกราฟง่ายๆ ระดับพื้นฐาน โดยใช้ EMA (time frame day) สองเส้น (*1) (เส้นสั้น ที่ 50 วัน เส้นยาวที่ 200 วัน ซึ่งตัวเลขนี้สามารถปรับให้เหมาะสม กับหุ้นแต่ละตัวได้) โดยวิธีการนี้ จะแบ่ง phases ของหุ้นเป็น 6 ช่วงเวลา ดังต่อไปนี้
1. ช่วง Recovery phase กำลังเริ่มลุ้นว่าจะ ฟื้นตัว (EMA50 < Price < EMA200)
2. ช่วง Accumulation phase สะสมกำลังเพื่อเปลี่ยนเป็นขาขึ้น (EMA50 < EMA200 < Price)
3. ช่วง bullish phase ขาขึ้น upward trend มีช่วง ต้น กลาง หรือ ปลาย (EMA200 < EMA50 < Price)
4. ช่วง warning phase เริ่มเสียทรง (EMA200 < Price < EMA50)
5. ช่วง distribution phase สะสมกำลังเพื่อเปลี่ยนเป็นขาลง (Price < EMA200 < EMA50)
6. ช่วง bearish phase ขาลง downward trend มีช่วง ต้น กลาง หรือ ปลาย (Price < EMA50 < EMA200)
หากเราทำการคำนวณ valuation หา margin of safety ทางพื้นฐานมาแล้ว พบว่า ราคานี้น่าซื้อ แต่กราฟหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น (ช่วงที่ 3) ซึ่งราคามันขึ้นไปเยอะมาก หลายๆ เท่า จากจุดที่เป็นจุดเริ่มต้นของกราฟขาขึ้น และ ผ่านจุดนั้นไปเป็นระยะเวลาที่นานหลายๆ เดือนแล้ว ผมจะสงสัยตัวเองก่อนเสมอ ว่าราคานี้น่าซื้อจริงๆหรือ? ในการหา valuation ของเรา มีจุดอ่อนอะไรหรือไม่ ?
เพราะกราฟลักษณะนี้ แสดงว่า คนอื่นๆ ในตลาด เค้าเล่นกันมานานแล้ว มีคนเห็นมาก่อนหน้าเรา มากมาย มันจะเป็นช่วงที่ คนในตลาดกำลังพูดถึงกันเยอะๆ เป็น กระแส เป็น trend เป็นธีม ที่เรา "ต้องมี" การที่เพิ่งจะเข้ามา ซื้อในช่วงนี้ ผมคิดว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ตลาดมักจะรับรู้ไปเยอะแล้ว จริงอยู่ ราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปได้อีกมาก เพราะเป็นช่วงที่ยังมีโมเมนตั้ม มันเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับคนที่มีหุ้นอยู่แล้ว และ ถือต่อไปมากกว่า
แต่ถ้าถามว่า มันเป็นช่วงที่มี margin of safety เป็นช่วงที่มีความปลอดภัยในการลงทุนใหม่หรือไม่ ผมคิดว่า “ไม่” และ ผมมักจะยอมปล่อย หุ้นเหล่านี้ไป คิดว่า เราเจอของ "ดี" ในยามที่ "สาย" เกินไปแล้ว
หรือ หากเรา เจอหุ้นตัวนั้นๆ เมื่ออยู่ในกราฟช่วงขาลง (ช่วงที่ 4-6) ซึ่งมันไม่ได้มีเหตุผลอะไรเลย ที่เราจะต้องไปรีบร้อน ซื้อหุ้นที่เป็นช่วงขาลงนั้น มันเป็นช่วงที่ตลาดกำลังวิตก กำลังกลัว อะไรบางอย่าง หรือ กำลังพยายามขายทิ้งหนีอะไรซักอย่าง ผมคิดว่ามันมีแนวโน้มสูงมาก ที่เราจะมีโอกาสได้ margin of safety ที่ดีกว่าเดิม หากเรารอไปก่อน อีกซักระยะ ช่วงนี้ เป็นช่วงที่เราควรจะเตรียมตัว ศึกษาพื้นฐานของบริษัทนั้นๆ ให้พร้อมก่อน สำหรับโอกาสในอนาคต
ช่วงจังหวะราคาที่ผมคิดว่า “น่าจะลดความเสี่ยง ต่อการผิดพลาด” ในการลงทุนมากที่สุดคือ คือ ราคาที่มี margin of safety ทางพื้นฐาน และ อยู่ในช่วงที่ตลาดไม่ได้สนใจมาก หรือ เป็นช่วงที่ ตลาดยังสงสัย ยังไม่แน่ใจ ในบางประเด็นว่า จะดีจริงๆ และ กราฟราคาแสดงให้เห็นว่า กำลังเริ่มจะยืนได้ (กราฟช่วงที่ 2-3 ตอนต้น) ซึ่งจะเป็นช่วงนี้เท่านั้น
ช่วงเวลา การลงทุนที่ดีจริง เราควรจะต้องมองมันให้ออก ตั้งแต่ช่วงนี้ เราควรเป็นคนกลุ่มต้นๆ ที่มองออก ในช่วงที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ หรือ กำลังเข้าใจอะไรผิดพลาดไป และหากพื้นฐานกิจการดีขึ้นจริง เติบโตได้ยาวนานต่อเนื่องจริง ราคาที่ซื้อในช่วงนี้ น่าจะมี margin of safety ลดความเสี่ยง ต่อการ ผิดพลาดในการลงทุน ได้ดีทีเดียว
หากเราไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดในการลงทุนบ่อยๆ เราควรจะรอ ให้ถือช่วงเวลา “ทอง” ตรงนี้ให้ได้ มันเป็นเวลาที่ใช่ ทั้งทางพื้นฐาน และ ทางเทคนิค อย่าเพิ่งหลงระเริงไปกับกระแสคนหมู่มากที่พาเราไป เราอาจจะพลาดบางตัวไป ไม่เป็นไร เพราะ โอกาสจะมีมาใหม่เสมอ พระอาทิตย์มีขึ้นทุกๆ วัน
เรา รอ เราเตรียมตัวให้พร้อม ศึกษากิจการให้เข้าใจไว้ก่อน และ เมื่อจังหวะเวลาได้ เวลา “ทอง” ของเรามาถึง เราจะได้คว้าโอกาสนั้นๆ ได้ทัน ในระดับความเสี่ยง ที่ไม่ได้มากมายอะไรนักครับ
ขอบคุณครับ
Alpha Investing
21 Jan 2022
Ref. *1. The TRENDadvisor guide to breakthrough profits : a proven system for building wealth in the stock market / Chuck Dukas with T. Parker Gallagher

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา