16 ก.ค. 2022 เวลา 14:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ
S2 EP4. Stock allocation การจัดสัดส่วนการลงทุน
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า เราควรจะลงทุนในหุ้น เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ของสินทรัพย์ทั้งหมดของเราดี ผมคิดว่า ประเด็นนี้ มันขึ้นอยู่กับ แต่ละตัวบุคคล หลักส่วนตัวที่ผมใช้คือ ผมจะดูว่า ในแต่ละช่วงเวลาอายุของเรา เรามีเป้าหมายการลงทุน เพื่ออะไร และ ในช่วงนั้นๆ เรามีความสามารถ ในการรับ ความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
เราควรจะมีการกำหนด maximum limit ว่าเราจะลงทุนในพอร์ตหุ้น ไม่เกินสัดส่วน นั้นๆ เพราะการลงทุนในหุ้นนั้น เรากำลังเล่นอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ผมคิดว่าเราควรจะมีการ กำหนด ตรงนี้ให้ชัดเจนก่อนตั้งแต่แรก ว่า เราสามารถเอาเงินไปเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ไม่เกินสัดส่วนเท่าไหร่
เช่น ในช่วงเริ่มต้น อายุยังไม่มาก เป้าหมายคืออิสรภาพทางการเงิน ต้องการที่จะเร่งสร้างพอร์ตที่ยังเล็กอยู่ ให้เติบโตขึ้น จนมีอิสรภาพทางการเงิน ยังมี cash flow จากงานประจำ ยังรับความเสี่ยงได้มาก ในช่วงนี้ ผมอาจจะตั้ง limit พอร์ตหุ้นไม่เกิน 80% ของสินทรัพย์ทั้งหมด (80% of total wealth) เป็นต้น
หรือ หากเป็นช่วงที่มีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ไม่มี cash flow มาจากงานประจำ เป้าหมายลงทุน เพื่อรักษาความมั่งคั่ง ไม่ต้องการเร่งสร้างพอร์ตเหมือนในอดีต ผมอาจจะ ลดสัดส่วนพอร์ตหุ้นไม่เกิน 60% และหันไปสร้างพอร์ตตราสารหนี้ เพื่อให้มีรายได้จากดอกเบี้ยที่แน่นอนให้ มากขึ้น เพื่อรักษาสถานะ ของการมีอิสรภาพทางการเงิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรากำหนด สัดส่วน maximum limit สำหรับการลงทุนในพอร์ตหุ้นแล้ว นี่คือสัดส่วนเงินลงทุนในพอร์ตหุ้นที่เราตั้งใจจะลงทุน ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่า เราจำเป็นที่จะต้อง ลงทุนให้เต็มที่ตาม limit ที่ตั้งเอาไว้ นั้นๆ ตลอดเวลา หากในช่วงเวลาไหน เราไม่พบ โอกาสการลงทุนดีๆ ไม่มีหุ้นที่ผ่านเกณฑ์มาตราฐาน ที่เราตั้งเอาเลย เราก็ไม่ควรจะมี position ใดๆ ในพอร์ตหุ้นเลย ถือเป็นเงินสดไปแบบนั้น ซึ่งยังจะเสี่ยงน้อยกว่า ที่เราจะเอาไปลงทุนในหุ้นที่ยังไม่ใช่
แต่เมื่อใดก็ตาม ที่เรา เจอโอกาสดี เราเจอ หุ้นที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ของเราเข้ามา เราควรจะที่ใช้โอกาสนั้นให้เต็มที่ มี position ในหุ้นที่เรามั่นใจจริงๆ เยอะๆ ผมเชื่อว่า พอร์ตการลงทุนของเรา ที่มีอยู่ไม่กี่ตัว แต่เป็นตัวที่เรา เลือกมาดี เราเข้าใจในธุรกิจเหล่านั้นจริงๆ น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า การที่เรากระจายการลงทุนไปในหุ้นหลายๆ ตัวที่เรา เข้าใจมันแบบ ผิวเผิน
อย่างไรก็ตาม การที่เรามั่นใจอะไรเกินไป มันเป็น bias แบบหนึ่งที่จะทำให้เรา ปิดหู ปิดตา มองข้ามความเสี่ยง ที่เราไม่อยากรับรู้ ออกไป มันจะทำให้เราฝันไป มากมาย ว่าเราจะรวยขนาดนั้น ขนาดนี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันหายนะ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความมั่นใจเกินไปนี้ ผมก็จะ limit ความเสี่ยงของ หุ้นแต่ละตัว เอาไว้ด้วย โดยการกำหนด maximum limit ว่าผมจะสามารถ ถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้ ไม่เกิน กี่ % ของ total wealth (สินทรัพย์ทั้งหมด) ของผม
โดย limit ที่ว่านี้ จะมากหรือน้อยนั้น จะขึ้นอยู่กับว่า หุ้นตัวนั้นๆ สามารถ ผ่านเกณฑ์ การคัดกรองอันเข้มข้น ของเราได้มากน้อยแค่ไหน โดยกำหนดหลักการดังต่อไปนี้
จากบทความในขั้นตอนที่ผ่านๆ มา เรากำหนด เกณฑ์ในการกรองหุ้น และ การเลือกหุ้น โดยมี criteria 4 ข้อ ของเราว่า
1.เราจะต้องซื้อในช่วงจุดเริ่มต้นของกราฟขาขึ้น (Technical: early uptrend)
2.เป็นหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขัน และ หรือ หุ้นที่เราเข้าใจและคาดการณ์ได้ (Strength)
3.เป็นหุ้นมีการเจริญเติบโต (Growth)
4. และอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม ให้เราทำกำไรได้ (Price)
โดยทั้ง 4 criteria นี้ผมจะกำหนดระดับ ความเข้มข้นเอาไว้ด้วย โดยแบ่งออกเป็น Great and Good
- Technical :
o Great : ราคาหุ้นนั้นเพิ่งอยู่ในจุดเริ่มต้นของเทรนขาขึ้น โดย ราคาจะต้องเพิ่งเริ่มขึ้นผ่านจุดเส้น ema 200 day (phase II accumulation) หรือ เป็นช่วงที่ ราคาเหนือเส้น ema50 ที่กำลังตัดขึ้น ema 200 day (phase III bullish ช่วงต้นๆ) ในช่วงไม่เกิน 8 สัปดาห์ เท่านั้น
o Good : ราคาผ่าน จุดที่ ema50 ตัดขึ้น ema 200 ไปแล้วราวๆ 8-12 สัปดาห์ แต่ไม่เกินกว่านั้น
o ไม่ผ่านเกณฑ์ : ราคาหุ้น ที่อยู่ใน phase อื่นๆ ที่ไม่ใช้ Great or Good ให้ หลีกเลี่ยง
- Strength
o Great : บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือกว่า คู่แข่งชัดเจน และ/หรือ มีความแน่นอนในการคาดการณ์กำไรในอนาคต ที่เราดูแล้วว่าค่อนข้างชัดเจน
o ไม่ผ่านเกณฑ์ : บริษัทที่ ไม่มีความได้เปรียบ / กำไรคาดการณ์ ลำบากไม่แน่นอน ให้หลีกเลี่ยง
- Growth
o Great : ในอนาคต บริษัทมี ปัจจัยเร่งที่จะทำให้ เติบโตทั้งยอดขาย และ กำไร ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เท่ากับ หรือ มากกว่า 3 ปี
o Good : ในอนาคต บริษัทมี ปัจจัยเร่ง ที่จะทำให้กำไร เติบโตได้ ชัดๆในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า แต่หลังจากนั้น ภาพไม่ชัดแล้ว
o ไม่ผ่านเกณฑ์ : บริษัทที่ไม่มีประเด็นอะไร ไม่มี ปัจจัยเร่ง catalyst ให้เติบโต
- Price
o Great : ที่ระดับราคานี้ น่าจะทำให้ได้ผลตอบแทน มากกว่า 25% ต่อปี ถ้าอนาคต การเติบโต เป็นไปตามที่คาดไว้
o Good : ที่ระดับราคานี้ น่าจะทำให้ได้ผลตอบแทน 15%-25% ต่อปี หาก อนาคตการเติบโต เป็นไปตามที่คาดเอาไว้
o ไม่ผ่านเกณฑ์ : อะไรที่มีผลตอบแทนต่อปี น้อยกว่า 15% ต่อปี
โดยขั้นตอนที่เราคัดเลือกหุ้นมานั้น เราจะเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นที่ผ่าน เกณฑ์ของเราได้ทุกข้อ (เป็น great / good) เท่านั้น
หากมีข้อใดข้อหนึ่ง เพียงข้อเดียว ไม่ผ่านเกณฑ์ เราจะตัดหุ้นตัวนั้นออกไปทันที ถึงแม้ว่า ข้ออื่นๆ จะผ่านเกณฑ์ ก็ตาม
โดยหุ้นที่ผ่าน เกณฑ์ เหล่านั้น ผมจะแบ่ง เป็น เกรด และ กำหนด Max limit ในการลงทุน ดังต่อไปนี้
หุ้น เกรด A : คือหุ้นที่ผ่าน เกณฑ์ทั้ง 4 ข้อเป็น Great ได้ทั้งหมด อันนี้ผมถือว่า เป็นหุ้นที่เรา “ตีแตก” ได้ ผมจะลงทุนในหุ้น เกรด A นี้ เต็มที่ไม่เกิน 25% ของ total wealth ทั้งหมด หุ้นเหล่านี้ นานๆ เราจะเจอซักทีนึง
และหากบริษัทนั้นๆ ผู้บริหาร เปิดตัว มางาน oppday ออกสื่อต่างๆ บ่อยๆ หรือ เป็นที่ชื่นชอบของ นักวิเคราะห์ หรือ มีโอกาสที่จะเล่นเป็น ธีม ให้ตลาด ชอบในสถานการณ์ในอนาคตได้ (มีปัจจัยเรื่อง Story ให้ Mass participant เข้ามาเสริมได้) ผมจะบวก Max limit ให้อีก 5% เป็นลงทุน ได้เต็มที่ ของหุ้นตัวนั้น ไม่เกิน 30% ของ total wealth
หุ้น เกรด B : คือหุ้นที่ผ่าน เกณฑ์ Strength แต่ เกณฑ์ที่เหลือ มีได้ Good ได้เต็มที่ 1 ข้อเท่านั้น โดยหุ้นในกลุ่มนี้ ผมจะกำหนด Max limit ให้ไม่เกิน 10% ของ total wealth และหากมีโอกาสจาก Story factor ด้วย ผมจะบวกให้ อีก 5% เป็น Max limit ไม่เกิน 15% ของ total wealth
หุ้น เกรด C : คือหุ้นที่ผ่าน เกณฑ์ Strength แต่ เกณฑ์ที่เหลือ มีได้ Good ได้เต็มที่ 2 ข้อเท่านั้น โดยหุ้นในกลุ่มนี้ ผมจะกำหนด Max limit ให้ไม่เกิน 5% ของ total wealth (ไม่มีบวก limit ให้สำหรับ เรื่อง story factor)
การแบ่งหุ้น เป็น เกรด ดังนี้ ทำให้เรา weight น้ำหนักการลงทุน ในหุ้นที่ตัวเรามองว่ามี โอกาส มี ศักยภาพมากๆ และ weight น้อยลงมา ในตัวที่ ยังไม่เห็นโอกาสที่ไม่ชัดเจนเท่า ความมั่นใจของเราจะไปอยู่ อยู่ในกลุ่มหุ้นเกรด A ซะเยอะหน่อย ส่วนหุ้นเกรด C นั้น ไม่หวังอะไรมาก มันอาจจะพลาดได้ง่ายกว่า
โดยทั่วไปแล้ว ผมจะใช้เวลาไปกับการ พยายามมองหา หุ้น เกรด A และ เกรด B ให้เข้าอยู่ในพอร์ต เป็นหลัก ถึงแม้ว่า นานๆ จะเจอทีก็ตาม (ถ้าเราเจอเป็น A กับ B เยอะๆ ให้เรากลับไปทบทวน สมมติฐานของเราอีกทีหนึ่งว่า มีอะไรที่ละเลยหรือไม่ ของดีมักจะหายาก ไม่ได้เจอได้ง่ายๆ) และ หากจะมี หุ้นเกรด C เข้ามาบ้าง ก็จะพยายาม ไม่ให้เกิน 4 ตัว ไม่งั้น มันจะมากเกินไป เราจะไม่มีเวลา มา focus ทำความเข้าใจธุรกิจ และ ติดตามความเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมมติตัวอย่างว่า หากเรามี limit การลงทุนในหุ้นที่ 80% ของ total wealth
กรณี 1 เจอโอกาสเยอะ : เราอาจจะมี หุ้นเกรด A ในพอร์ต 1 ตัว (30%) + หุ้นเกรด B ในพอร์ต 2 ตัว (15%+15%) + หุ้นเกรด C ในพอร์ต 4 ตัว (5% x 4) รวม 7 ตัว ได้ 80% เต็ม limit ของ total wealth
กรณี 2 หาโอกาสไม่ได้ : หากในบางช่วงเวลา ที่เราอาจจะหาโอกาสการลงทุนไม่ได้เลยจริงๆ เช่น เจอหุ้นแค่ 4 ตัว แต่วิเคราะห์แล้วเป็น หุ้นเกรด C ทั้งหมด แสดงว่าผมจะลงทุนได้เต็มที่แค่ 20% (5% x 4 = 20%) คือยังไม่ครบ 80% ของ limit ที่เราตั้งเอาไว้ ผมก็จะไม่ดื้อดึง ไป weight ให้ได้ตัวละ 20% x 4 =80% ไปแบบนั้น เด็ดขาด ผมก็จะยึดตามหลัก ว่า ลงได้แค่ limit 5% x 4 = 20% และ เก็บที่ เงินสด ที่เหลือ 60% เอาไว้รอ เพื่อหาโอกาส ซื้อหุ้นเกรด A หรือ B ในอนาคต
และถ้าผมยังไม่เจอหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ซักที ผมก็เก็บเงินเอาไว้แบบนั้นแหละ เพราะผมกลัวว่า หุ้นเกรด C มันจะมีโอกาสพลาดได้ง่ายกว่า หากไปเสี่ยง ลงทุนไปสัดส่วนเยอะๆ มันจะได้ไม่คุ้มเสีย
นี่เป็นวิธีการหนึ่ง ที่ผมใช้ในการ จัดการพอร์ต ที่มีการ focus พอสมควร ไม่ให้หุ้นที่มี มากมายจนเกินไป จะได้มีเวลาทำความเข้าใจและติดตามได้อย่างทั่วถึง เราจะลงทุนต่อเมื่อ เราเข้าใจและเห็นในโอกาสในการลงทุนนั้นๆ จริงๆ เท่านั้น โดยมีการจัด weight สัดส่วน จะมากหรือน้อย ให้เป็นไปตาม โอกาสและความเสี่ยงที่เรามีต่อหุ้นตัวนั้นๆ ผลตอบแทนการลงทุน จะขึ้นอยู่ว่าเราจะสามารถมองโอกาสได้ถูกต้องแม่นยำขนาดไหน
ทำการบริหารความเสี่ยง โดยการตั้ง limit ไม่ให้ลงทุนหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากจนเกินไป โดยตั้ง limit ตามสภาพการณ์ของ หุ้นแต่ละเกรด และ จะไม่บังคับตัวเองว่า ต้องลงทุนเต็มที่ ตลอดเวลา หากเราไม่เจอ โอกาสอะไรดีๆจริงๆ ไม่เจอหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ได้ ผมคิดว่า เราไม่จำเป็นเลย ที่จะเอาเงินของเราไปเสี่ยง
[โดย limit นี้จะใช้เฉพาะเวลาเจอหุ้นลงทุนใหม่เท่านั้น เช่น เมื่อเวลาผ่านไป หากหุ้นที่ลงทุนเอาไว้แล้วนั้น เกิดราคาขึ้นไปมาก มีสัดส่วนมากเกินไปจาก limit ที่ตั้งเอาไว้ ผมก็จะปล่อยให้มันเกินไปแบบนั้นเรื่อยๆ แต่หากในอนาคต เจอหุ้นตัวใหม่ขึ้นมา ก็จะซื้อหุ้นตัวใหม่ๆ นั้น ไม่ให้เกิน สัดส่วน max limit ตามเกรด ของมัน]
สุดท้ายนี้ อย่างที่ว่า เรื่องจัดพอร์ต การลงทุน มันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล วิธีการนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่ ใช้ใน investment approach นี้ ฝากเอาไว้ เผื่อเป็น ไอเดีย เอาไปประยุกต์ใช้ใน การจัด portfolio ของท่าน นะครับ หวังว่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ครั้งหน้าเราจะมาคุยกันใน step ต่อไป คือการ monitor พอร์ตการลงทุน ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา