20 พ.ย. 2021 เวลา 14:02 • ปรัชญา
"วิมุตติญานทัศนะ ... สังขตธรรม VS อสังขตธรรม "
"​ ... รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน
ที่รวมแล้วเรียกว่า "รูป-นาม"
ก็เป็นเรื่องของธาตุขันธ์ที่ประกอบกันขึ้นมา
เป็นสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ขึ้นมานั่นเอง
เมื่อใดที่เราฝึกอบรมสติปัฏฐาน 4
จนจิตตั้งมั่น จิตก็จะไม่เกิดการส่งออก
เมื่อจิตไม่เกิดการส่งออก
ก็คือเกิดจิตตั้งมั่น ก็คือ 'จิตผู้รู้'
เกิดการตื่นรู้ขึ้นมา
นั่นก็คือ วิญญานขันธ์ นั่นเอง
เวลาเราอยู่ในสมาธิ
เราก็จะรู้สึกได้ว่าจิตนิ่งสงบ นิ่งอยู่ รู้อยู่
แต่เมื่อใดก็ตามที่สามารถ
ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญานได้
แม้กระทั่งจิตผู้รู้นี้ ก็ถูกเปลื้องออกไป หลุดออกไป
กลายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้
เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง
ก็จะเกิดญานในการเห็น
การแตกดับของวิญญานขันธ์ได้
ที่เรียกว่า "เกิดญานเห็นจิต" นั่นเอง
นั่นคือสภาวะของวิปัสสนาญานเป็นต้นไป
ภาษาพระท่านเรียกว่า "ญานทัศนะ"
การรู้เห็นตามความเป็นจริง
เมื่ออบรมญานได้แก่กล้า
ก็จะสามารถหลุดจากการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง
คืนสู่ความเป็นกลางของธรรมชาติ
ภาษาพระท่านเรียกว่า "วิมุตติญานทัศนะ"
การรู้เห็นที่หมดจด
การรู้เห็นที่หมดจดตรงนี้
จะต่างจากวิญญานขันธ์ที่เป็นผู้รู้
วิญญานขันธ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมารู้ แล้วก็ดับ
เกิดขึ้นมารู้ แล้วก็ดับ ๆ
เป็นกลไลของธรรมชาติในภาคของสังขตธรรม
แต่วิมุตติญานทัศนะ
เป็นญานรู้ที่เป็นเรื่องของธาตุบริสุทธิ์
เป็นโลกุตตระนั่นเอง
จะไม่มีการยึดติด
ไม่มีการเกิดการดับ
เป็นสภาวะเช่นนั้นเอง
เป็นเรื่องของธาตุบริสุทธิ์นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงภาวะรู้
ก็แยกได้ว่ามีทั้งระดับที่เป็นโลกิยธรรม
และระดับที่เป็นโลกุตตรธรรม
ภาวะรู้ ภาษาพระเรียกว่า "จิต" นั่นเอง
จิต แปลว่า สภาพรู้
คำว่า "จิต" ที่แปลว่า สภาพรู้
ในพระไตรปิฏกก็พบ 2 นัยยะ
นัยยะหนึ่ง ใช้ในความหมายที่เป็นสังขตธรรม
การเกิด-ดับ
แต่อีกนัยยะหนึ่ง กลับพบเป็นความหมาย
ในระดับโลกุตตรธรรม พ้นจากการเกิดดับไปแล้ว
อย่างครั้งหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า
จิตก็ดี ใจก็ดี มโนก็ดี วิญญานก็ดี
เกิดดับทีละดวง เป็นสันตติ สืบต่อกันไป
เหมือนลิงเกาะต้นไม้
เกาะไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
ภาวะนี้เป็นภาวะของอะไร ?
สังขตธรรม วิญญานขันธ์
...
แต่อีกพระสูตรหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า
จิตของเราถึงแล้วซึ่งวิสังขาร
ที่สภาพอะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้อีก
อันนี้เป็นภาวะของอะไร ?
โลกุตตระ สุญญตา เป็นวิสังขารแล้ว
พ้นไปจากการเกิดดับ
พ้นไปจากการปรุงแต่งแล้ว
จิตของเราถึงแล้วซึ่งวิสังขาร
เนื้อธรรมที่บริสุทธิ์เป็นวิสังขาร
ปราศจากรูป นาม ขันธ์ 5 เลย
เพราะฉะนั้น จิต ในความหมายนี้
เป็นเรื่องของรู้ที่บริสุทธิ์
เป็นเรื่องของโลกุตตระแล้วนะ
เป็นเรื่องของอมตธาตุไปแล้ว
...
อีกพระสูตรหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า
จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ คือกาม
หลุดพ้นแล้วจากอาสวะ คือภพ
หลุดพ้นแล้วจากอาสวะ คืออวิชชา
อันนี้เป็นภาวะของอะไร ?
โลกุตตระอีกแล้ว เป็นวิสังขารธรรม
...
2
เพราะฉะนั้น คำว่า "จิต" เป็นสมมติภาษา
ให้พิจารณาเนื้อธรรมว่า
เป็นเนื้อธรรมที่อยู่ในฟากของสังขตธรรม
หรือในฟากของอสังขตธรรม นั่นเอง
ธรรมชาติมีอยู่ 2 ฝั่ง 2 ประเภท
ก็คือ สังขตธรรม
ธรรมชาติที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา
ธรรมชาติที่เป็นสังขตธรรม
ก็มีคุณลักษณะเฉพาะอยู่
ก็คือ มีการเกิดปรากฏ มีการเสื่อมปรากฏ
เมื่อตั้งอยู่ ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างอื่น
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
นี่คือคุณลักษณะของสังขตธรรมทั้งหลายทั้งปวง
ทุกสิ่งที่อยู่ในวัฏสงสาร เป็นสังขตธรรมทั้งหมด
รวมแล้วก็คือรูป นาม ขันธ์ 5 นั่นเอง
ที่ปรุงแต่งมาเป็นกาย เป็นใจ
เป็นสรรพสิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างก็เช่นกัน
เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา
แต่มีธรรมชาติอีกประเภทหนึ่ง
ที่เรียกว่า "อสังขตธรรม"
หรือ "อมตธาตุ" นั่นเอง
ปราศจากการปรุงแต่ง
อสังขตธรรมก็จะมีคุณลักษณะเฉพาะ
ก็คือ ไม่มีการเกิดปรากฏ ไม่มีการเสื่อมปรากฏ
เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างอื่น
คงสภาวะเช่นนั้น
นั่นคือภาวะของความเป็นกลางของธรรมชาติ
ที่เป็นส่วนที่พ้นออกไปจาก
การหมุนวนในวัฏสงสารนั่นเอง
ที่พุทธศาสนาเราเรียกว่า "นิพพาน"
เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึง "จิต"
พูดถึงวิญญานขันธ์ วิญญานธาตุ
ที่แปลว่า สภาพรู้
ต้องแยกว่าเป็นนัยยะของอะไร
ถ้าเราศึกษาในพระอภิธรรม
คำว่า จิต จะพูดถึงนัยยะ ฝั่งของสังขตธรรมเท่านั้นนะ
อภิธรรมจะพูดถึงจิต เจตสิก รูป และนิพพาน
จะแยกนิพพานออกมาให้ชัดเจน
แต่ถ้าในพระสูตร ก็เหมือนที่ยกพระสูตรขึ้นมา
นัยยะต่างกันนั่นเองนะ
เพราะฉะนั้น เวลาเราฟังธรรม
เราต้องดูบริบทด้วยว่า
เป็นนัยยะที่พูดถึงสภาวะของอะไรนั่นเอง
ทุกอย่างก็เป็นเรื่อง สมมติ ของภาษานั่นแหละ
แต่แก่นหรือความเป็นสภาวธรรม
เป็นสัจจะนั่นเองนะ ... "
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวพรต กิตฺติวโร
Photo by : Pexels

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา