22 พ.ย. 2021 เวลา 13:41 • หนังสือ
=======================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันจันทร์
=======================
🌅• รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง - Defining Moment
✍🏻• รวิศ หาญอุตสาหะ เขียน
🔖• Defining Moment ตอนที่ 2 - ไม่มีงานไหนไม่สำคัญ
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง ]
===============
ไม่มีงานไหนไม่สำคัญ
===============
สืบเนื่องจากลักษณะงานของคุณรวิศในปัจจุบัน ที่เป็นทั้งเจ้าของสินค้า [ ศรีจันทร์ ] เป็นทั้งนักแสดงในงานโฆษณาหลายชิ้น และ เป็นทั้งส่วนหนึ่งของกองถ่ายในเวลาที่ต้องถ่ายงานของลูกค้า Mission to the Moon
ทำให้คุณรวิศมีโอกาสได้ไปกองถ่ายโฆษณาหลายครั้งหลายคราว ซึ่งการถ่ายทำโฆษณาจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ดังนั้นทุกครั้งที่คุณรวิศมีโอกาสไปกองถ่ายก็รู้สึกทึ่งกับการทำงานร่วมกันของทีมงานที่สามารถประสานงานกันได้อย่างดีมาก
สำหรับคุณรวิศงานในกองถ่ายโฆษณา คือ ตัวอย่างที่ดีของงานหลาย ๆ ประเภทที่ต้องทำให้เสร็จภายในเวลาที่จำกัด อีกทั้งมีตัวแปรต่าง ๆ มากมายที่ต้องควบคุม
หากจะพูดให้เห็นภาพ งบประมาณในการถ่ายทำโฆษณาชิ้นหนึ่งอาจสูงถึงหลายล้านบาท และ มีคนจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่นักแสดง ผู้กำกับ เอเจนซี่ ลูกค้า ตากล้อง คนคุมไฟ เสื้อผ้า ช่างแต่งหน้า อาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ ซึ่งคนทั้งหมดนี้จะต้องร่วมกันทำงานให้เสร็จในภายในหนึ่งวัน
งานอื่น เช่นการทำสี ทำเสียง คอมพิวเตอร์กราฟิก แม้จะทำทีหลังได้ แต่ต้องการวัตถุดิบคือการถ่ายทำโฆษณาที่ดี เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพและสมบูรณ์แบบ ดังนั้นการถ่ายทำโฆษณาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากและอาจถึงขั้นสามารถตัดสินชี้เป็นชี้ตายได้เลยว่ายอดขายของสินค้านั้นจะเป็นเช่นไร
งานถ่ายทำโฆษณาแต่ละชิ้นก็มีความแตกต่างกัน งานโฆษณาบางงานหากถ่ายทำนอกสถานที่ก็จะยิ่งท้าทาย เพราะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ควบคุมไม่ได้มากมาย เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฝูงชน เสียงอันไม่พึงประสงค์ เป็นต้น
หลาย ๆ ครั้งทีมงานก็ต้องถ่ายทำหลายครั้งหลายครากว่าจะทำให้ได้ภาพที่ผู้กำกับพึงพอใจ แต่นี่คือเสน่ห์ของหนังโฆษณาที่เราอาจเห็นเพียงไม่กี่วินาที ซึ่งเบื้องหลังประกอบด้วยหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย
มันเป็นธรรมดาเวลาที่มีงานเจ๋ง ๆ ออกมา คนก็จะชื่นชมคนที่อยู่ฉากหน้า เช่น ผู้กำกับ นักแสดง โดยไม่ได้กล่าวถึงคนที่เหลือสักเทาไหร่ แต่จริง ๆ แล้วทุกหน้าที่นั้นสำคัญ และหากใครทำอะไรผิดพลาดไปอาจส่งผลต่อความสำเร็จของงานได้เลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนจัดไฟเตรียมตัวมาไม่ดี โฆษณาที่ตั้งใจอยากให้ซึ้งอาจออกมาเป็นโฆษณาราคาถูก ถ้าคนเตรียมอาหารไม่ดีทำให้นักแสดงท้องเสีย วันนั้นงานอาจไม่เสร็จ แม้กระทั่งถ้าหน่วยรักษาความปลอดภัยถ้าคุมสถานที่ไม่ดี แฟนคลับบุกเข้ามา ก็ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงานได้
งานส่วนใหญ่ที่ออกมาดีได้นั้น ก็เพราะทุกคนสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่
คุณรวิศนึกถึงปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในที่ทำงานคือ “งานเราทำไปก็ไม่เห็นสำคัญตรงไหน” หากท่านใดรู้สึกเช่นนี้ ก็อยากให้ลองคิดดูใหม่ว่าทุกงานที่ยังมีอยู่ในองค์นั้นสำคัญ เพราะถ้าไม่สำคัญมันคงไม่มีตำแหน่งนี้แล้ว เพียงแต่ว่าความสำคัญของงานอาจจะไม่ถูกทำให้ชัดเจนเท่านั้น
เวลาบริษัทมีผลงานที่ดี อาจมีเพียงคนไม่กี่คนที่ได้รับการชื่นชม แต่จริง ๆ แล้วไม่มีใครทำงานคนเดียวได้ งานที่ดีมักมีคนทำงานเบื้องหลังที่ดีประกอบด้วย
คำถามแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยลดปัญหาขาดกำลังใจว่างานเราไม่สำคัญ
องค์กรควรมีระบบในการบอกความสำคัญของงานแต่ละคน คุณรวิศคิดว่าถ้าทำ OKRs ดี ๆ จะช่วยเรื่องนี้ได้
[ อิคิ ∙ 生き เห็นด้วยกับคุณรวิศเรื่อง OKRs ค่ะ ถ้าองค์กรส่งเสริมให้ ทุกหน่วยงานในองค์กรมีการจัดทำ OKRs ของตนเอง สิ่งนี้จะทำให้คนทำงานรับรู้เหตุผลในการมีอยู่ของงานที่ทำได้ค่ะ เพราะ OKRs ต้องคิดวัตถุประสงค์ค่ะว่าเราจะทำอะไรเพื่ออะไรและวัดผลอย่างไร ]
การสื่อสารของหัวหน้าต่อความสำคัญของแต่ละบทบาทหน้าที่ของทีมสำคัญมาก
[ อิคิ ∙ 生き บอกได้เลยค่ะว่าในส่วนนี้ผู้นำสำคัญมาก ๆ ถ้าผู้นำเห็นความสำคัญของทุกบทบาท จะสื่อสารกับทีมงานว่าแต่ละคนมีความสำคัญอย่างไร อิคิ ∙ 生き บอกทีมงานเสมอว่าทุกคนสำคัญนะ แม้กระทั่งแม่บ้านเราก็ต้องให้เกียรติเค้า เค้าช่วยให้เรามีสถานที่ในการทำงานที่สะอาด
วันไหนที่ อิคิ ∙ 生き เข้าออฟฟิศแล้วรู้สึกว่าที่ทำงานสะอาดจัง ก็จะขอบคุณแม่บ้านเป็นพิเศษ ที่ดูแลออฟฟิศให้เป็นอย่างดี และ อิคิ ∙ 生き ก็สังเกตุได้ว่าวันนั้นแม่บ้านของ อิคิ ∙ 生き ก็จะอารมณ์ดีไปทั้งวันเลยค่ะ ]
ตั้งใจทำงานของเราให้ดีที่สุด เมื่อเราตั้งใจทำงานของเราเต็มที่ ไม่ช้าไม่นานจะต้องมีคนเห็นแน่นอน อาจไม่เร็วนักแต่คุณรวิศเชื่อว่ามีแน่นอน แต่ถ้าไม่มีจริง ๆ ก็ค่อยมาว่ากันใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม อย่าทำส่ง ๆ ทำมันออกมาให้ดีที่สุดเสมอ
[ อิคิ ∙ 生き บอกทีมงานอยู่เสมอว่างานไหนที่คิดจะลงมือทำแล้วจงทำมันให้ดีที่สุด เพราะทักษะที่คุณได้นั้นมันจะได้สู่ตัวคุณเอง เรียกว่าใครเอามีดมาขูดกระดูกเราก็ยังเอาทักษะของเราไปไม่ได้ มันไม่สำคัญเลยว่าใครจะมองเห็นหรือไม่ เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากความตั้งใจในการลงมือทำคือตัวเราเอง ถ้าที่นี่ไม่มีใครเห็น แต่อย่างน้อยทักษะที่เราได้ยังนำไปต่อยอดในที่อื่น ๆ ได้อีกมากมายค่ะ ]
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
อิคิ ∙ 生き ขออนุญาตเพิ่มข้อ ④ ต่อจากสามข้อข้างต้นของคุณรวิศนะคะ
มุมมองของเราที่มีต่องานที่เราทำนั้นสำคัญมากค่ะ เราบังคับให้ใครมาเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำไม่ได้ แต่เราสามารถบอกตัวเองให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำได้ค่ะ
เมื่ออ่านบทนี้ อิคิ ∙ 生き นึกธรรมะเทศนาเรื่อง “งานได้ผลคนเป็นสุข” ของพระอาจารย์ไพศาล วิศาโล ที่ได้บรรยาย ณ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัย มหิดล เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550
[ พระอาจารย์ไพศาล วิศาโล ]
บางช่วงบางตอนของธรรมเทศนานี้พระอาจารย์กล่าวว่า . . .
[ อิคิ ∙ 生き : แม้จะยาวซักหน่อยแต่ อิคิ ∙ 生き เชื่อว่าเป็นข้อคิดในการทำงานที่ดีมากค่ะ ]
“เมื่อมีความรักในงาน เราจึงมีความสุขที่ได้ทำงาน ฉันทะจึงตรงข้ามกับตัณหา ทำงานด้วยตัณหาคือทำงานเพราะอยากได้เงินทอง หรือลาภยศสรรเสริญ
แต่ทำงานด้วยฉันทะคือทำงานเพราะรักงานนั้น เนื่องจากเห็นว่ามีคุณค่าจึงมีความสุขที่ได้ทำงานนั้น ถ้ามีฉันทะในงานใดก็จะขยันทำงานนั้น
ต่างจากตัณหาซึ่งทำให้ใฝ่เสพแต่ไม่ใฝ่ทำ ดังนั้นทำเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น จนกว่าจะได้ผลตอบแทนเป็นเงินหรือชื่อเสียงถึงจะมีความสุข การทำงานด้วยฉันทะกับการทำงานด้วยตัณหาจึงให้ผลที่แตกต่างกันมาก
แม้จะเป็นงานชนิดเดียวกัน แต่ทำงานด้วยท่าทีต่างกัน ก็ให้ผลต่างกัน อย่างคน 3 คน ก่ออิฐอยู่ใกล้ ๆ กัน คนหนึ่งทำด้วยความเฉื่อยชา เหมือนซังกะตาย อีกคนทำ ๆ หยุด ๆ ทำไปดูนาฬิกาไป ส่วนอีกคนทำด้วยความคล่องแคล่วกระตือรือร้น
ถามคนทั้งสามว่ากำลังทำอะไร คนที่ 1 ตอบด้วยอาการเหนื่อยหน่ายว่า “กำลังก่ออิฐ” คนที่ 2 ตอบชัดถ้อยชัดคำขึ้นหน่อยว่า “กำลังก่อกำแพง” ส่วนคนที่ 3 ตอบด้วยสีหน้าที่แช่มชื่นว่า “กำลังสร้างโบสถ์อยู่ครับ”
อะไรที่ทำให้คนทั้งสามมีอาการต่างกัน ทั้ง ๆ ที่ทำงานอย่างเดียวกัน คำตอบก็คือทั้งสามมองงานต่างกัน . . .
คนที่ 1 เห็นว่าตัวเองแค่ก่ออิฐเท่านั้น ไม่ได้เห็นคุณค่ามากไปกว่านั้น
คนที่ 2 เห็นไกลขึ้นอีกหน่อย คือเห็นว่าตัวเองกำลังก่อกำแพง
ส่วนคนที่ 3 เห็นไกลออกไปจนเห็นว่าตัวเองกำลังสร้างโบสถ์ พอเห็นอย่างนั้นก็เลยมีจิตใจแช่มชื่นกระตือรือร้นเพราะรู้ว่าตัวเองกำลังทำสิ่งดีมีประโยชน์ เป็นบุญกุศล จึงมีความสุขกับการทำงาน
จะเห็นได้ว่าแรงจูงใจของทั้ง 3 คนนั้นต่างกัน แรงจูงใจของคนที่ 1 และ 2 คงเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง ส่วนคนที่ 3 แรงจูงใจของเขามีเรื่องบุญกุศลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีความสุขที่ได้ทำ และรักที่จะทำงานนี้ แรงจูงใจอย่างนี้เรียกว่า ฉันทะ
งานอะไรก็ตามไม่ว่าจะเล็กน้อย อย่างคนทำสวน ถ้าทำด้วยฉันทะ เห็นคุณค่าของงาน ก็มีความสุขได้
เช่น เห็นว่างานตนมีส่วนช่วยให้คนในองค์กรมีความสุขหรือภูมิใจที่ตนได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ทำให้คนไทยมีพลานามัยที่สมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้วยังเผื่อแผ่ถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย
จะเป็นคนสวนหรือเป็นคนรถล้วนมีส่วนสร้างความสำเร็จอย่างนี้ขึ้นมาได้ ถ้ามองได้อย่างนี้ก็จะทำงานอย่างมีความสุข ไม่รู้สึกว่างานของตนต่ำต้อยไร้คุณค่า ไม่ได้มีความหมายแค่ดูแลต้นไม้ใบหญ้าหย่อมเล็ก ๆ เท่านั้น
ปัญหาคือว่าเราจะสามารถเห็นไกลอย่างนี้ได้หรือไม่ ถ้ามองเห็นได้ก็จะทำงานอย่างมีฉันทะ คือทำด้วยใจรักได้”
อิคิ ∙ 生き ชอบธรรมะเทศนาของพระจารย์ไพศาล บทนี้มาก เมื่ออ่านแล้วจึงอดไม่ได้ที่จะนำไปทำกิจกรรม BOOK CLUB กับทีมงานของ อิคิ ∙ 生き เมื่อเดือนเมษายน 2560 [ กิจกรรม BOOK CLUB คือกิจกรรมที่เราอ่านหนังสือด้วยกัน มีแบบฝึกหัดบางข้อให้คิดให้ตอบคำถามค่ะ ]
อิคิ ∙ 生きอยากให้คนที่ทำงานกับ อิคิ ∙ 生き ทุกคนเห็นคุณค่าและความหมายในงานที่ทำ และ กิจกรรม BOOK CLUB ที่ อิคิ ∙ 生き ทำกับทีมงานในครั้งนี้เป็นความทรงจำที่ดีสำหรับ อิคิ ∙ 生き ค่ะ อิคิ ∙ 生き ต้องการสื่อสารให้ทุกคนทราบว่า ทุกคนในทีมมีความหมายมาก ๆ ไม่ว่าทำหน้าที่ใดก็ตาม
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอฝากทุกท่านไว้ก่อนจากดังนี้ค่ะ
==========================
งานทุกงานมีความหมาย
หากใครไม่เห็นก็ไม่เป็นไร
ขอให้เราซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงาน
มองเห็นและให้คุณค่ากับส่ิงที่เราทำ
อิคิ ∙ 生き เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นพลังใจ
ให้กับทุกท่านทำสิ่งที่ทำอยู่ต่อไป
อย่างมีความสุขค่ะ
==========================
ในวันจันทร์หน้าเรามาพบกับ “รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง” กันนะคะ สุดท้ายนี้ อิคิ ∙ 生き ขอส่งทุกท่านเข้านอนด้วยคำว่าราตรีสวัสดิ์ค่ะ 🙏🏻😊
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ จนรอ อิคิ ∙ 生き สรุปเรื่องราวทีละบทของ “รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง” ไม่ไหวก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ https://www.facebook.com/KOOBBOOKS/
#สัปดาห์ละบทสองบท #รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา