Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
23 พ.ย. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หลังการประชุม COP26 หลายประเทศให้คำมั่นว่าจะลดการใช้ถ่านหิน
2
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้ข้อสรุปว่าจะเร่งรณรงค์การลดโลกร้อนและจะจัดตั้งเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม
หลังประชุม COP26 หลายประเทศให้คำมั่นว่าจะลดการใช้ถ่านหิน
นอกจากนี้ยังคงแผนเดิมที่วางไว้ในข้อตกลงปารีสที่พยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายได้ประเมินไว้ว่าหากเราไม่มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด โลกเราอาจจะร้อนขึ้นถึง 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างหนัก
เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม COP26 ได้ตกลงเป็นครั้งแรกที่จะลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุด และการประชุมยังคาดหวังว่าในปี 2565 แต่ละประเทศจะมีการวางแผนเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เข้มงวดขึ้น และมีการจัดหาเงินทุนที่เตรียมไว้ช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
แม้จะมีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น แต่ถ่านหินยังคงเป็นพลังงานเชื้อเพลิงหลักของโลก
การเผาไหม้ถ่านหินถือเป็นหนึ่งในต้นตอหลักของมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบันเราพึ่งพาถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเป็นจำนวนมากคิดเป็นประมาณ 40% ของจำนวนการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก การเผาไหม้ถ่านหินปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เป็นจำนวนมาก จีนและอินเดียใช้ถ่านหินเป็นจำนวนมากกว่า 64% ของโลก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 35% ทั่วโลก
จากข้อมูลของ Bloomberg เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราจะต้องลดการใช้ถ่านหินให้ได้สี่ในห้าส่วนภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งนั่นถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเราเห็นความต้องการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นมากในปีนี้ ปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีนได้ผลักดันให้มีการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
การปล่อย CO2 ตามประเภทของเชื้อเพลิง (หน่วย: กิกะตัน)
ปริมาณการใช้ถ่านหินในสหรัฐอเมริกา ลดลงมาประมาณ 50% นับตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน เป็นผลมาจากการที่บริษัทด้านพลังงานในสหรัฐฯ ส่วนมากเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติแทนที่จะใช้ถ่านหิน ในขณะที่ความต้องการในยุโรปก็ลดลงเช่นกันประมาณสองในสาม แต่น่าเสียดายที่จำนวนการใช้ถ่านหินกลับมีมากขึ้นในจีน มากจนกระทั่งทำให้จำนวนความต้องการถ่านหินโดยรวมทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
การเพิ่มขึ้นของภาคตะวันออกมีมากกว่าการลดลงในภาคตะวันตก
เพื่อบรรลุข้อตกลงปารีสในปี 2558 เกือบ 200 ประเทศได้ให้คำมั่นที่จะภาวะโลกร้อนไว้ที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 1.5 องศาเซลเซียส โดยกว่า 100 ประเทศให้คำมั่นว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าและลดมลพิษที่มาจากมีเทนลง 30% ภายในปี 2573
ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกคิดเป็นกว่า 28% ของการปล่อย CO2 ทั่วโลก มุ่งมั่นที่จะพัฒนากลยุทธ์ระดับชาติสำหรับการจัดการและลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้ได้ก่อนการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ ในครั้งถัดไปในปี 2565 นอกจากนั้นจีนก็ได้ตั้งเป้าที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2603 แต่จีนกลับไม่ได้ลงนามใน Global Methane Pledge เนื่องจากถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อมลพิษมากที่สุดรองจากจีน ได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ภายในปี 2593 แม้ว่าสหรัฐฯและจีนจะเป็นคู่แข่งกันในด้านการค้าและเทคโนโลยี แต่ทั้งคู่ต่างเห็นพ้องต้องกันในประเด็นเรื่องสภาพอากาศ พวกเขาตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือเพื่อลดมลพิษ เพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากจนเกินไป
ทั้งสองประเทศกำลังพยายามสนับสนุนการลดคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซมีเทนและต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า พวกเขายินดีจะทำงานร่วมกันกับประเทศอื่นๆ เพื่อส่งเสริมนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการลดโลกร้อน นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 2565 ทั้งสองจะจัดการประชุมเพื่อหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทนจากฟอสซิล ขยะ และภาคการเกษตรกรรม
Global Methane Pledge ได้รับการลงนามกว่า 100 ประเทศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยในปีที่แล้วประเทศไทยได้เผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ อีกทั้งเชียงใหม่ยังกลายเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ล่าสุดประเทศไทยก็ได้ประสบกับปัญหาอุทกภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน มากไปกว่านั้น จากการวิจัยพบว่ากรุงเทพมีความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้น้ำในปี 2593
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ เนื่องจากมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลัก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 60% ของแหล่งพลังงานทั้งหมด ส่วนแหล่งพลังงานอื่นๆ อย่างถ่านหินหรือลิกไนต์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งโรงไฟฟ้าถ่านหิน 27 แห่ง ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 35 ล้านตันต่อปี
ประเทศไทยไม่ได้ลงนามข้อตกลงใด ๆ ว่าจะลดการใช้ถ่านหิน ลดการปล่อยก๊าซมีเทน หรือแม้แต่ลดการใช้ยานพาหนะพลังงานสันดาปในการประชุม COP26 ถึงกระนั้น ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2608 – 2613 โดยเป็นหนึ่งใน 33 ประเทศ จากทั้งหมด 197 ประเทศสมาชิกที่มีแผนการแน่วแน่ที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
ประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศอื่นๆ ในเรื่องการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของนายกรัฐมนตรีภายในปี 2608 ถือว่าช้ากว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ถึง 15 ปีที่จะสามารถรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้ร้อนเกินที่ระดับ 1.5 องศาเซลเซียส
การประชุมในระยะเวลา 2 สัปดาห์ได้จบลงด้วยข้อตกลงที่สำคัญในบางหัวข้อ แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศบางคนยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลการประชุมที่ไม่ชัดเจนและยังไม่เพียงพอที่จะลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่แท้จริงของการประชุม COP26 ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะสามารถปฏิบัติตามที่พวกเขาได้ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือไม่
#COP26 #ถ่านหิน #ลดโลกร้อน #ภาวะโลกร้อน #climate_change
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน :
ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ศศิชา เป่าแตรสังข์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ :
จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
cop26
climatechange
โลกร้อน
บันทึก
6
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Global Economic Update
6
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย