16 พ.ย. 2021 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การที่รัฐบาลจีนเข้ามาคุมเข้ม ส่งผลลบต่อหลายอุตสาหกรรม
เป็นเวลาเกือบ 1 ปีที่รัฐบาลจีนได้ออกกฎระเบียบควบคุมบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี จนผู้ประกอบการและนักลงทุนหลายคนตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจีนจะหยุดคุมเข้มบริษัทเหล่านี้เสียที
1
ย้อนกลับไปในปีที่แล้วบริษัทแรกที่โดนมาตรการของรัฐบาลจีนนั้น คือ Ant Group และ Alibaba ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ Jack Ma และต่อมาได้ลามไปยังธุรกิจอื่นๆ รวมถึงบริษัทเกมอย่าง Tencent เนื่องจากรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ให้กับคนทุกชนชั้นภายใต้นโยบาย “ความมั่งคั่งร่วมกัน”
1
จากรายงานของ The Economist ชี้ให้เห็นว่าการที่รัฐบาลจีนออกกฎที่เข้มงวด ส่งผลให้มีแรงเทขายหุ้นในจีนจำนวนมากและทำให้มูลค่าของหุ้นจีนในตลาดลดไปมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ดัชนี Hang Seng Tech ซึ่งรวมบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่งในจีน ร่วงลงมาแล้วมากกว่า 23% นับตั้งแต่ต้นปี ส่วน Tencent ก็ลดลงมา 15.5% แล้วเช่นกันและนับเป็นหนึ่งในบริษัทที่ราคาหุ้นลดลงมากที่สุดในดัชนี Hang Seng ในขณะที่ Alibaba และ Baidu ลดลง 29.3% และ 35.4% ตามลำดับ
2
ดัชนี Hang Seng Tech
ราคาหุ้นของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ในจีนร่วงลงอย่างหนักนับตั้งแต่ต้นปี
บริษัทจีนต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่เข้มงวดขึ้นในหลายด้าน ประกอบไปด้วย กฎหมายด้านความปลอดภัยของข้อมูล การแข่งขันที่เท่าเทียม การศึกษาที่ต้องไม่เข้มงวดจนเกินไป และการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ได้มาตรฐาน กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเทคโนโลยีของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดังกล่าวเปรียบเสมือนแหล่งทำกำไรชั้นดีของนักลงทุน แต่หลังจากนี้ธุรกิจเหล่านี้อาจจะไม่สามารถทำกำไรได้มากดังเดิมอีกต่อไป
1
อย่างไรก็ดี แต่ละอุตสาหกรรมนั้นมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่แตกต่างกันออกไป อาทิ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการกวดวิชาออนไลน์นอกเวลา ได้ถูกปรับให้กลายเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไร ในขณะที่ธุรกิจเกมในจีนก็ได้ถูกสั่งให้เลิกคิดแต่การทำกำไร และให้มุ่งเน้นไปที่การหาวิธีลดการเสพติดการเล่นเกมของเยาวชนในประเทศแทน ส่วนธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารก็ถูกกดดันให้เพิ่มสวัสดิการพนักงาน โดยจะต้องให้ค่าจ้างที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ให้ประกันภัยสำหรับคนขับรถ และผ่อนปรนเวลาในการจัดส่งอาหารเพื่อให้คนขับไม่ต้องเร่งรีบจนเกิดอุบัติเหตุ
1
ด้วยข้อกฎหมายที่ออกมาอย่างรวดเร็วและมีความเข้มงวดมาก ธุรกิจต่างๆ ในจีน ตั้งแต่ด้านการเงิน และ E-Commerce ไปจนถึงธุรกิจเกมและอาหาร ต้องหันมาทบทวนและหา Business Model ใหม่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นนี้
ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ประมาณ 1 ใน 7 ของแรงงานในประเทศจีนกำลังว่างงาน เนื่องจากมาตรการควบคุมบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำให้ภาวะตลาดแรงงานในประเทศจีนตรึงเครียดมากขึ้น จากข้อมูลของรัฐบาลจีน อัตราการว่างงานที่สำรวจจากผู้ที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 24 ปี ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือมหาวิทยาลัย ออกมาอยู่ที่ 14.6% ในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งสูงกว่าช่วงต้นปีเกือบ 2% นอกจากนี้ ตามรายงานของ South China Morning Post จำนวนการประกาศรับสมัครพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่งผลให้โอกาสได้งานสำหรับผู้ที่เรียนจบใหม่ลดลงเกือบ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
ในปัจจุบัน มีคนที่ทำงานในภาคการศึกษาของจีนประมาณ 10 ล้านคน แต่หลังจากที่จีนพยายามควบคุมธุรกิจกวดวิชา แรงงานประมาณ 30% ในภาคส่วนนี้คาดว่าจะถูกบังคับให้ออกจากงาน โดยภายใต้นโยบายใหม่นี้ มีการห้ามให้มีการเรียนการสอนในช่วงวันหยุด ลดจำนวนการออกใบอนุญาตเปิดสถาบันกวดวิชา และห้ามไม่ให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเสนอขายหุ้นแก่สาธารณะ
1
อัตราการว่างงานที่สำรวจจากผู้ที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 24 ปี
การปราบปรามอุตสาหกรรมดิจิทัลของจีนส่งผลกระทบต่อบริษัท Tencent ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศ หลังจากข้อจำกัดชั่วโมงในการเล่นเกมออกมาโดยรัฐบาลจีน การเติบโตของรายได้บริษัทก็ชะลอลง ซึ่งรายได้ขยายตัวเพียง 13% จากปีที่แล้ว อยู่ที่ 22.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงที่ Tencent เข้าตลาดตลาดหุ้นในปี 2547 นอกจากนี้กำไรยังเพิ่มขึ้นเพียง 3% จากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Tencent พบว่ากฎหมายที่ออกมาจำกัดเวลาเล่นเกมของเยาวชนให้เหลือเพียง 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมเกม โดยผู้บริหารระดับสูงของ Tencent ระบุว่ามาตรฐานที่เข้มงวดนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรม ฉะนั้นจะต้องใช้เวลาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ซักระยะก่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในอนาคต และคาดว่าอนาคตผลกระทบจากกฎหมายใหม่นี้น่าจะค่อยๆ ลดลงไป
ยอดขาย Tencent เพิ่มขึ้น 13% YoY ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เสนอขายหุ้น IPO ในปี 2547
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ได้ออกมติครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้อำนาจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม และเป็นการปูทางสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดในสมัยที่ 3 โดยมติครั้งนี้เป็นมติครั้งที่ 3 ของ CCP ในรอบศตวรรษ หลังจากที่สองคนก่อนหน้านี้ที่ได้มติครั้งประวัติศาสตร์มีเพียง เหมา เจ๋อตง และ เติ้ง เสี่ยวผิง เท่านั้น ถ้ามองไปในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตได้อย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้นภายใต้ข้อบังคับอันใหม่จากรัฐบาลจีน
#รัฐบาลจีน #เศรษฐกิจจีน #สีจิ้นผิง #พรรคคอมมิวนิสต์จีน
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน :
ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ศศิชา เป่าแตรสังข์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ :
จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา