22 พ.ย. 2021 เวลา 17:06 • ความคิดเห็น
อะไรคือความฉลาด อะไรคือปัญญา มันต่างกันยั่งไง ความฉลาด กับ ปัญญา ?
คำถามนี้ถูกลบ
ขอยกตัวอย่างการใช้ #วาจา ของ คนโง่ คนฉลาด และ คนเจ้าปัญญา
สรุปตามความเข้าใจส่วนตัวนะคะ
ชาวลับแล - ไม่ยอมฟังคำใครผู้พูดปดแม้ด้วยไม่เจตนาร้าย ถ้าพบเจอก็ผลักไสขับไล่ผู้ปดคนนั้นพ้นจากชุมชน แบบชาวลับแลนับว่ามีความเห็นแบบทื่อๆ ยึดตามกฎของชุมชนอย่างเห็นแก่ตัวและเอาแต่พวกตัวเองรอดเพียงแง่เดียวโดยขาดเมตตาต่อผู้อื่น ซ้ำผลักภาระออกไปทำให้ผู้อื่นถูกทิ้งขว้างอย่างไม่รู้สึกผิดหรือโดยไม่เสียใจ พอใจแต่ในโลกของตนไม่พัฒนาอะไรอีก
พระเตมีย์ใบ้* - ปิดวาจา ไม่พูดเท็จและไม่พูดจริง เพื่อกันการทำผิดบาปลงโทษใครๆ แต่แล้วก็ยังถูกคนฉกฉวยใช้ประโยชน์ในทางร้ายจนได้ แค่ท่าทางของพระเตมีย์ใบ้ก็ถูกนำไปตีความ ใส่สีตีไข่ จนพระเตมีย์ใบ้เกือบถูกฆ่าจนได้ ฉลาดทำดีแต่เกือบเอาตัวไม่รอด
พระพุทธเจ้าทรงแสดงมรรคแปดเป็นทางสายกลางอันพึงนับเป็นทางรังสรรค์ประโยชน์ทุกฝ่ายโดยไม่ยอมเห็นแก่ตัวลำพัง ทั้งนี้โดยมีการคำนึงถึงคนอื่นด้วย อาทิเช่น มีสัมมาวาจา ได้แก่ ปิยวาจา เป็นต้น เป็นอันว่าใช้วาจาที่ตนเองยินดีและคนฟังก็ยินดีด้วย โดยเริ่มจากตนเองมีสัมมาทิฐิ สติรอบคอบ ไม่คิดพูดจาให้โทษร้ายส่งผลเสียแก่ตนและใครอื่นอีกด้วย คือไม่ใช่เอาตัวรอดดีลำพังแค่ตนเองแต่ช่วยโลกรอดด้วย
*"พระเตมีย์ใบ้" เป็นหนึ่งในทศชาติของพระโพธิสัตว์ มีเรื่องโดยย่อคือพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ โอรสของพระเจ้ากาสิกราช แห่งกรุงพาราณสี เมื่อพระชนมายุเพียง 1 เดือน ก็ทรงตระหนักว่าการเป็นกษัตริย์ต้องทำบาป ต้องสั่งลงโทษผู้อื่นที่ทำผิด จึงอธิษฐานทำตนเป็นใบ้ และง่อยเปลี้ยเสียขา พระบิดาจึงให้โหรหลวงทำนาย ได้ความว่า พระองค์เป็นกาลกิณีแก่ราชวงศ์ให้นำไปฝังทั้งเป็น แต่ก่อนที่พระองค์จะถูกฝังก็แสดงพระองค์ว่าไม่ได้เป็นคนพิการ ทรงเดินได้เป็นปกติ และยังยกรถด้วยพละกำลังอันเป็นพระบารมี และเล่าความจริงให้สารถีที่กำลังขุดหลุมเพื่อฝังพระองค์ฟัง ว่าพระองค์ไม่ต้องการเสวยราชสมบัติ จึงแกล้งทำเป็นคนพิการ ต่อจากนั้นได้เสด็จออกบวช ชาดกเรื่องนี้ เน้นให้เห็นการบำเพ็ญ "เนกขัมบารมี" คือละทิ้งราชสมบัติเป็นหลัก
สมเด็จพระสังฆราช ประทานหลักสัมมาวาจา เป็นพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา 2564 ตัดเน้นใจความมาว่า
"ขอพุทธบริษัทพึงหันมาพิจารณาทบทวนมรรควิธีประการสำคัญประการหนึ่งในองค์ ๘ นั้น ได้แก่ “สัมมาวาจา” ซึ่งหมายถึง
- การดำรงคำสัตย์
- กล่าวแต่คำประสานน้ำใจซึ่งกันและกัน
- มีวาจาไพเราะจับใจ และ
- กล่าวแต่สิ่งที่เปี่ยมด้วยสารัตถะ
หากจงช่วยกันใช้ฉันทวาจา ให้สมาชิกในสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงชุมชน และประเทศชาติ เต็มไปด้วยสารประโยชน์ในกาลทั้งปวง ชวนกันเจริญ เมตตาวจีกรรม ซึ่งจะชักพาให้ตนและสังคมส่วนรวมมีความวัฒนาสถาพร"
คติธรรมอาสาฬหบูชา สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2564
ภาพจาก FB:มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ
#วจีทุจริต
[พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2538]
วจีทุจริต ประพฤติชั่วด้วยวาจา, ประพฤติชั่วทางวาจา มี ๔ อย่างคือ ๑. มุสาวาท พูดเท็จ ๒. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด ๓. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ๔. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
- มุสาวาท พูดเท็จ, พูดโกหก, พูดไม่จริง (ข้อ ๔ ในกรรมกิเลส ๔, ข้อ ๗ ในมละ ๙, ข้อ ๔ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)
- ปิสุณาวาจา วาจาส่อเสียด, พูดส่อเสียด, พูดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน (ข้อ ๕ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)
- ผรุสวาจา วาจาหยาบ, คำพูดเผ็ดร้อน, คำหยาบคาย (ข้อ ๖ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)
- สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ, พูดเหลวไหล, พูดไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีเหตุผล ไร้สาระ ไม่ถูกกาลถูกเวลา (ข้อ ๗ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)
มุสาวาทวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องพูดปดเป็นต้น เป็นวรรคที่ ๑ แห่ง ปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ แห่งวินัยปิฎก *
ที่มา FB:วัดญาณเวศกวัน
โฆษณา