24 พ.ย. 2021 เวลา 13:34 • หนังสือ
======================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันพุธ
======================
💶• MON€Y LECTURE
✍🏻• ลงทุนศาสตร์ เขียน
🔖• บทที่ 2 สมการที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง [ 2/3 ] || สมการเปลี่ยนชีวิต เงินลงทุน และ ค่าใช้จ่ายตามต้องการ
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ อรัมภบทจาก อิคิ ∙ 生き ]
===================
สมการเปลี่ยนชีวิต
- - - - -
รายได้ =
ค่าใช้จ่ายจำเป็น +
เงินออม เงินลงทุน +
ค่าใช้จ่ายตามต้องการ
===================
ในตอนที่แล้ว อิคิ ∙ 生き ได้สรุป “รายได้” “ค่าใช้จ่ายจำเป็น” และ “เงินออม” ซึ่งเป็น 3 ใน 5 ตัวแปรของสมการข้างต้นให้กับทุกท่านแล้ว หากท่านใดที่ยังไม่ได้อ่าน อิคิ ∙ 生き แนะนำให้อ่านบทความตอนที่แล้วก่อนนะคะ
==================================
==================================
ส่วนวันนี้เราจะมารู้จักตัวแปรที่เหลือ นั่นก็คือ . . .
เงินลงทุน และ ค่าใช้จ่ายตามต้องการ เรามาเริ่มกันเลยค่ะ
[ MON€Y LECTURE ]
=======
เงินลงทุน
=======
เงินลงทุน คือ เงินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยเงินก้อนนี้อาจนำไปซื้อสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ กองทุนรวม
ที่สำคัญหากเงินนี้เป็นเงินลงทุน เราควรต้องได้ผลตอบแทนด้วยค่ะ ซึ่งสามารถมาได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น กำไรส่วนต่าง ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เป็นต้น
———
[ หมายเหตุ จาก อิคิ ∙ 生き ]
สินทรัพย์ลงทุน คือ ของหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เราเอาเงินไปลงทุนเพื่อคาดหวังผลตอบแทน
การคาดหวังผลตอบแทนไม่ได้หมายความว่าเราจะกำไรอย่างเดียวนะคะ สินทรัพย์ลงทุนมักมีความเสี่ยงที่ทำให้เงินลงทุนของเรามีมูลค่าน้อยลงหรืออาจขาดทุนได้ในบางช่วงเวลา
แต่ถ้าเรามีความรู้ เข้าใจในความเสี่ยง รู้จักวัฐจักรการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ การเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่ดีประกอบกับระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสม แม้ระหว่างทางเราอาจต้องเผชิญความผันผวน แต่ในระยะยาวเรามีโอกาสเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนของเราให้งอกเงยมากกว่าการนำเงินไปฝากไว้ในบัญชีธนาคารเฉย ๆ ได้ค่ะ
ดังนั้นในหนังสือจึงกล่าวไว้ว่า เวลาวางแผนการลงทุน เราต้องมีความรู้พื้นฐานประมาณหนึ่งก่อน
เงินลงทุนจะแตกต่างจากเงินออมนะคะ
เงินออมเราต้องการรักษามูลค่า เพื่อให้พร้อมที่เราจะหยิบใช้จ่ายเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่สูญเสียมูลค่า เช่น . . .
เรามักฝากเงินเพื่อใช้จ่ายสำรองฉุกเฉิน ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ดังนั้นเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องถอนใช้ เราก็สามารถถอนใช้ได้เลย โดยไม่ต้องกังวลว่า ตอนนี้เรากำไรหรือขาดทุนอยู่นะ หรือ เราซื้อพันธบัตรอายุ 3 ปีไว้ แต่ตอนนี้ผ่านไปแค่ 1 ปี แล้วเรามีเหตุให้ต้องใช้เงินจำนวนนี้ แต่กลับถอนไม่ได้เพราะต้องรอครบอายุ 3 ปีก่อน ถ้าเราเอาเงินสำรองฉุกเฉินไปซื้อพันธบัตรก็จะจบเห่ด้วยประการละฉะนี้ค่ะ
ดังนั้นเราจึงมักลงทุนเพื่อเป้าหมายที่มีระยะเวลาแน่นอน ไม่ใช่เป้าหมายที่เรามีโอกาสใช้จ่ายเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ใช่เงินที่จะต้องใช้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้
การมีระยะเวลาลงทุนที่เหมาะสม จะทำให้เราผ่านพ้นวัฐจักรการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์จนในสามารถสร้างผลตอบแทน [ ที่มากกว่าเงินฝาก ] ให้กับเราในระยะยาวได้ค่ะ
[ MON€Y LECTURE ]
================
ค่าใช้จ่ายตามต้องการ
================
ค่าใช้จ่ายตามต้องการ หมายถึง ค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ซึ่งจะใช้หรือไม่ก็ได้ แต่การใช้อย่างเหมาะสมอาจสร้างสุขให้เรา
ดังนั้นค่าใช้จ่ายนี้ควรใช้จ่ายหลังจากเราหักค่าใช้จ่ายจำเป็น เงินออม เงินลงทุน เรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายตามต้องการมีดังต่อไปนี้ค่ะ การท่องเที่ยว กินอาหารมื้อหรู ของฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายในการทำงานอดิเรก ฯลฯ หรือกล่าวอีกอย่างว่า ค่าใช้จ่ายตามต้องการก็คือ ค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เราสามารถตัดออกได้ในเวลาที่เราไม่มีงานทำ
ผู้เขียนกล่าวว่าเราไม่ควรใช้เงินที่เหลือทั้งหมดไปกับค่าใช้จ่ายตามต้องการ จริง ๆ แล้วเราควรใช้จ่ายตามความเหมาะสมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อของชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ว่าการซื้อในครั้งนั้นมันคุ้มค่าต่อความสุขและจะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตโดยภาพรวมลดลงเป็นอันขาด
———
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
อิคิ ∙ 生き ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้ค่ะ ตัวอย่างเช่น หลาย ๆ คนอาจคิดว่าการซื้อรถก็สร้างสุขได้นะ แต่ถ้าในแต่ละวันเราต้องอดมื้อกินมื้อ ประหยัดเพื่อจะได้มีเงินผ่อนรถ แบบนี้ อิคิ ∙ 生き ถือว่าการมีรถไม่ได้ทำให้ชีวิตเรามีความสุขในภาพรวมค่ะ ในทางกลับกันกลับลดคุณภาพชีวิตของเราด้วยซ้ำ
อิคิ ∙ 生き มักพูดกับทีมงานเสมอว่า คนเราไม่กินข้าวไม่ได้นะ ถ้าเอาเงินไปผ่อนบ้าน ผ่อนรถจนหมด แล้วถ้าเราหิว. . .เราจะกระเทาะปูนจากผนังบ้านมากินแทนข้าวไม่ได้นะ
จะมีหนี้ต้องกินอิ่ม นอนหลับให้ได้ก่อน ถ้ามีหนี้แล้วก็ยังต้องกินอิ่ม นอนหลับให้ได้อยู่เหมือนกัน การครอบครองสิ่งใดแล้วเรากินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ นั่นหมายความว่า เรายังไม่พร้อมที่จะครอบครองสิ่งเหล่านั้น
———
[ MON€Y LECTURE ]
เราไม่ควรใช้เงินที่เหลือไปกับค่าใช้จ่ายตามต้องการจนหมด เพราะถ้าเราใช้จนหมดเราจะไม่มีเงินเหลือสำหรับเป้าหมายของชีวิตในอนาคต เช่น เป้าหมายเกษียณอายุ
———
[ อิคิ ∙ 生き’s memo ]
ถ้าเราไม่เก็บเงินสำหรับเกษียณอายุ นี่กำลังหมายความว่าเราต้องทำงานจนวันตายนะคะ ซึ่งวันนึงเราต้องป่วย ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องแรงน้อย อย่าลืมหาเงินวันนี้ เพื่อเลี้ยงดูอนาคตของเราในวันข้างหน้าด้วยนะคะ
หากใครกำลังถือคติว่า “ชีวิตเป็นของเราใช้ซะ” อิคิ ∙ 生き อยากขอให้ลืมคำนี้ไปก่อน แล้วบอกตัวเองว่า “ชีวิตที่ดีในอนาคตขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายและเก็บออมอย่างมีแผนการของเราในวันนี้” แทนนะคะ
[ MON€Y LECTURE : กรณีศึกษา ]
================

ชีวิตนายปุณช่างวุ่นวาย
================
นายปุณ อาชีพ เภสัชกร
===========
รายได้ต่อเดือน
===========
เงินเดือน 35,000 บาท
+
ค่าใบประกอบวิชาชีพ 5,000 บาท
= 
รวม 40,000 บาท
==================
ค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือน
==================
ค่าอาหาร 7,500 บาท
+
ค่าเดินทาง 3,000 บาท
+
ค่าที่พักรวมน้ำไฟ 5,000 บาท
+
ค่าประกันสังคม 750 บาท
+ 
ค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1,250 บาท
+
ค่าประกันเฉลี่ย 2,500 บาท
= 
รวม 20,000 บาท
===============
เป้าหมายทางการเงิน
===============
① ไปเที่ยวต่างประเทศ 18,000 บาท ใน 1 ปีข้างหน้า
② ค่าโทรศัพท์ใหม่ 24,000 บาท ใน 2 ปีข้างหน้า
③ เงินดาว์นบ้าน 1 ล้านบาท ใน 10 ปีข้างหน้า
④ เงินค่าการศึกษาบุตร 1 ล้านบาท ใน 15 ปีข้างหน้า
⑤ เงินเกษียณ 17 ล้านบาท ใน 35 ปีข้างหน้า
———
จากข้อมูลข้างต้น นายปุณสามารถวางแผนการเงินได้ดังนี้
รายได้ 40,000 - ค่าใช้จ่ายจำเป็น 20,000 = เหลือเงินก่อนออมและลงทุน 20,000 บาทต่อเดือน
นายปุณต้องสะสมเงินให้ได้ 200,000 บาท เพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉินก่อน
เงิน 200,000 บาท คำนวณมาจาก . . .
รายจ่าย 20,000 บาทต่อเดือน x 10 เดือน
เงินจำนวนนี้จะทำให้แม้ไม่มีรายได้นายปุณจะมีเวลาตั้งหลักได้นานถึง 10 เดือนค่ะ
หลังจากนั้นจึงค่อยนำเงินที่เหลือมาวางแผนลงทุนต่อ โดยคำนวณจากเป้าหมายทางการเงินที่วางแผนไว้ดังต่อไปนี้ . . .
======
ระยะสั้น
======
① ไปเที่ยวต่างประเทศ 18,000 บาท ÷ 12 เดือน = 1,500 บาทต่อเดือน
② ค่าโทรศัพท์ใหม่ 24,000 บาท ÷ 24 เดือน = 1,000 บาทต่อเดือน
========
ระยะกลาง
========
③ เงินดาว์นบ้าน 1 ล้านบาท ÷ 120 เดือน = 5,000 บาทต่อเดือน
④ เงินค่าการศึกษาบุตร 1 ล้านบาท ÷ 180 เดือน = 2,500 บาทต่อเดือน
=======
ระยะยาว
=======
⑤ เงินเกษียณ 17 ล้านบาท ÷ 420 เดือน = 5,000 บาทต่อเดือน
=
รวมมูลค่าเป้าหมายทั้งหมด 15,000 บาทต่อเดือน
รายได้ 40,000 บาท
[ ลบด้วย ]
ค่าใช้จ่ายจำเป็น 20,000 บาท

[ ลบด้วย ]

เงินออม เงินลงทุน 15,000 บาท

ดังนั้นนายปุณจึงเหลือเงินสำหรับใช้จ่ายตามต้องการ 5,000 บาท
หากในแต่ละเดือนนายปุณใช้ไม่หมด ก็สามารถนำเงินที่เหลือไปสมทบเงินลงทุนเพิ่มเพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้น
[ อิคิ ∙ 生き’s Memo ]
อิคิ ∙ 生き ขออนุญาตขยายความการวางแผนของนายปุณข้างต้นสักนิดนึงนะคะ
สำหรับ อิคิ ∙ 生き เงินสำรองฉุกเฉินถือเป็นเป้าหมายทางการเงินภาคบังคับค่ะ ดังนั้นก่อนที่นายปุณจะเก็บเงินสำหรับเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อิคิ ∙ 生き ขอเสนอให้เขาใส่เงินสำรองฉุกเฉินเป็นเป้าหมายระยะเร่งด่วนไว้นำหน้าเป้าหมายทั้ง 3 ระยะค่ะ
ซึ่งจะเขียนออกมาได้เป็น
================
เป้าหมายระยะเร่งด่วน
================
เงินสำรองฉุกเฉิน 200,000 บาท ÷ 14 เดือน = 14,300 บาทต่อเดือน
หากในแต่ละเดือนนายปุณเหลือเงินจากค่าใช้จ่ายตามต้องการ ก็นำมาสมทบเป้าหมายนี้ได้และจะทำให้นายปุณบรรลุเป้าหมายเร็วกว่า 14 เดือนซึ่งจะทำให้เขาสามารถเริ่มเก็บเงินสำหรับเป้าหมายอื่น ๆ ได้เร็วขึ้นค่ะ
แต่ถ้านายปุณไม่เก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้ได้ก่อน วันใดต้องใช้เงินส่วนนี้ เขาก็จะต้องไปถอนเงินจากเป้าหมายอื่น ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาถอนออกมา ส่งผลให้เป้าหมายเหล่านั้นพังทลายลงและนายปุณก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ ดังนั้น เราทุกคนต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินก่อนที่จะสะสมเงินสำหรับเป้าหมายอื่น ๆ นะคะ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ค่ะ
คุณลงทุนศาสตร์ได้ทิ้งท้ายหัวข้อนี้ไว้ว่าแต่ถ้าใช้จ่ายไม่พอ นายปุณก็ต้องหาทางสร้างความมั่งคงเพิ่มขึ้น
ดังนั้นในสัปดาห์หน้าเราจะมาเรียนรู้เรื่องการสร้างความมั่งคั่งจากคุณลงทุนศาสตร์กันต่อนะคะ
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่กับ Money Lecture ในวันพุธหน้านะคะ สวัสดีค่ะ 🙏🏻😊
••••••••••••••••••••••••••••••••••
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจอยากรีบวางแผนการเงินของตนเอง จนอดใจรอ อิคิ ∙ 生き สรุปทีละบทไม่ไหว เพื่อน ๆ ก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ https://www.naiin.com/Product/Detail/509724?gclid=CjwKCAiAv_KMBhAzEiwAs-rX1HDPUGqFAoZi1Sf92jNRAxLAMPnoRJtKUXs1OYqAy_XoiliPqgau7xoCaCoQAvD_BwE
••••••••••••••••••••••••••••••••••
#สัปดาห์ละบทสองบท #moneylecture

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา