25 พ.ย. 2021 เวลา 12:40 • หนังสือ
==========================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันพฤหัสบดี
==========================
🕊• MAKOTO MARKETING
✍🏻• ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เขียน
🔖• 02 || เริ่มจากความเชื่อของตนเอง เป็นตัวของตัวเอง
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ MAKOTO MARKETING ]
=======================
02
เริ่มจากความเชื่อของตนเอง
เป็นตัวของตัวเอง
- - - - -
แบรนด์กระเป๋าร้อยปีที่
ไม่ทำการตลาด ไม่ขายออนไลน์
=======================
การได้เป็นปรึกษาโครงการพัฒนาผู้ประกอบการโครงการหนึ่ง ทำให้อาจารย์เกตุรู้จักพี่ดา พี่ดาเป็นเจ้าของโรงงานรับจ้างผลิตสบู่ให้กับแบรนด์อื่น ๆ มาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ตอนนี้เริ่มอยากจะมีแบรนด์ของตนเอง 

อาจารย์เกตุถามพี่ดาว่า “จุดแข็งของบริษัทพี่คืออะไรคะ ถนัดผลิตสบู่แบบไหน”
พี่ดาตอบว่า “พี่ทำได้ทุกแบบเลยค่ะ ขอให้สั่งมา พี่ทำได้หมด”
อาจารย์เกตุถามต่อว่า “พี่ดาอยากเห็นหรืออยากทำสบู่แบบไหนคะ” 

พี่ดานิ่งไป 5 วินาทีแล้ว ตอบว่า “พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะ
อาจารย์เกตุจึงฝากบทความหนึ่งให้พี่ดากลับไปอ่าน ก่อนที่จะพบกันในครั้งหน้า
[ MAKOTO MARKETING ]
=====================
Ichizawa Shinzaburo Hanpu
=====================
ร้าน ‘Ichizawa Shinzaburo Hanpu’ [ อิชิซาว่า ชินซะบุโร่ ฮันปุ ] เป็นร้านที่ผลิตกระเป๋าผ้าแคนวาส ซึ่งร้านถูกก่อตั้งเมื่อปี 1905 หากนับถึงปัจจุบันก็นับเป็นเวลาประมาณ 116 ปี
ร้านก่อกำเนิดจากการทำกระเป๋าใส่เครื่องมือที่ผลิตจากผ้าแคนวาส เหตุที่เลือกใช้ผ้าแคนวาสเพราะทนทานและราคาไม่แพง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 จึงหันมาผลิตเป้ทหารและกระเป๋าใส่ของต่าง ๆ ให้กองทัพ จนในปี 1960 คนญี่ปุ่นเริ่มเดินป่ากันมากขึ้น กระเป๋าของ Ichizawa Shinzaburo Hanpu ที่ถูกออกแบบอย่างเรียบง่ายและทนทาน จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น
ปัจจุบัน ชื่อของ Ichizawa Shinzaburo Hanpu มักปรากฏในหนังสือท่องเที่ยวเกียวโต และถูกกล่าวถึงในนิตยสารต่างประเทศ เช่น Monocle ของประเทศอังกฤษอีกด้วย
ทั้งที่กระเป๋าของทางร้านได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ Ichizawa Shinzaburo Hanpu ยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ขายกระเป๋าผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะ ทางร้านต้องการให้ . . . ลูกค้ามาเห็น มาสัมผัส มาลองถือ และค่อย ๆ เลือกกระเป๋าของพวกเขา
กระเป๋าแต่ละใบถูกเย็บขึ้นอย่างประณีต ด้วยหัวใจที่ปรารถนาให้ลูกค้าได้ใช้กระเป๋าใบนี้ไปนาน ๆ เหตุผลที่ทางร้านออกแบบอย่างเรียบง่ายก็เพราะอยากให้ลูกค้าใช้กระเป๋าได้นาน ๆ 20 - 40 ปี โดยไม่เบื่อ จนเป็นกระเป๋าที่สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างไม่ล้าสมัย
[ อิคิ ∙ 生き : อ่านถึงตรงนี้แล้วคิดถึง อัลบั้มตกแต่งภาพของ อิคิ ∙ 生き ภายใต้แบรน์ D.I.Y. by Keng เลยค่ะ ทีมงานพวกเราตั้งใจใส่หัวใจในการผลิตสินค้า เพื่อให้ลูกค้าส่งความรู้สึกดี ๆ ผ่านการ์ดทำมือไปให้คนที่รัก ซึ่งการ์ดเหล่านี้จะเป็นตัวแทนทรงจำดี ๆ ของผู้ให้และผู้รับไปอีกนานแสนนาน ]
Ichizawa Shinzaburo Hanpu ใส่ใจในการผลิตกระเป๋าอย่างมาก ไล่ตั้งแต่การเลือกเส้นด้ายที่สีไม่ซีด การทอผ้าก็จะกะความหนาให้พอดี การเย็บกระเป๋าช่างจะเก็บรายละเอียดเป็นอย่างดี เพื่อให้กระเป๋าทนทาน
สินค้าของ Ichizawa Shinzaburo Hanpu ไม่มีคำว่าล้าสมัย เพราะช่างแต่ละคนจะเย็บกระเป๋าในแบบที่ตนเองอยากเห็น ปกติทางร้านจะไม่มีแบบการผลิตตายตัวให้ช่าง เพื่อช่างจะได้รู้สึกสนุกและสามารถออกแบบได้อย่างเต็มที่
ทางร้านไม่มีการเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ตามฤดูกาล เพราะไม่อยากดื้อดึงผลักดันยอดขายให้สูงขึ้น และไม่อยากกดดันช่างให้ต้องรีบเย็บกระเป๋าจนไม่มีเวลาใส่ใจในรายละเอียด
ทุกวันทางร้านจะให้ช่างผลัดกันมานั่งประจำที่ร้าน เพื่อเย็บกระเป๋าไปสังเกตลูกค้าไป จะได้เข้าใจลูกค้าดีขึ้น
[ อิคิ ∙ 生き : แบรน์ D.I.Y. by Keng ก็เช่นกันนะคะ แม้จะจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้า แต่ อิคิ ∙ 生き มีนโยบายให้ฝ่ายออกแบบและฝ่ายการตลาดไปตรวจสอบสินค้าด้วยตนเองที่หน้างานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ไปพบปะลูกค้าบ้าง ไปดูว่าสินค้าตัวไหนขายดี ตัวไหนนิ่ง ๆ นี่คือการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขด้วยตัวผู้ปฏิบัติงานเองค่ะ หลาย ๆ ครั้ง อิคิ ∙ 生き จะได้ข้อเสนอจากทีมงานว่า “ลูกค้าชอบมาถามถึงการ์ดสำหรับเทศกาล นั้นเทศกาลนี้ ควรผลิตกันไหมคะ” ]
นอกจากการผลิตแล้ว ทางร้านยังมีบริการซ่อมกระเป๋าเพื่อยืดอายุการใช้งานอีกด้วย หากลูกค้าใช้กระเป๋าไป 10-20 ปีแล้ว กระเป๋าขาด ช่างก็จะเลาะกระเป๋าให้เป็นส่วน ๆ และเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่เสียหายจริง ๆ เท่านั้น เพื่อจะได้รักษากลิ่นอายของกระเป๋าที่ผ่านการใช้ชีวิตร่วมกับลูกค้ามาไว้เช่นเดิม
[ อิคิ ∙ 生き : เจ๋งอ่ะ กระเป๋า = ส่วนหนึ่งของชีวิต 😊 ]
ก่อนช่างจะลงมือซ่อมกระเป๋า พวกเขาจะแอบดูชื่อ-ที่อยู่ลูกค้าเพื่อจินตนาการว่าลูกค้าคนนั้นเป็นคนอย่างไร ไลฟ์สไตล์เป็นเช่นไร และ ก็ซึมซับความภูมิใจที่กระเป๋าร้านของตนได้เป็นกระเป๋าใบโปรดของลูกค้า และอยู่กับลูกค้ามาเป็นสิบ ๆ ปี
การซ่อมกระเป๋านอกจากจะทำให้ช่างรู้สึกสนุกที่ได้ชุบชีวิตกระเป๋าขึ้นมาใหม่แล้ว ลูกค้าเองก็ตื่นเต้นที่เห็นว่ากระเป๋าใบโปรดได้ถูกซ่อมแซมอย่างปราณีตเรียบร้อยเช่นกัน ภาพลูกค้ากับช่าง ยืนคุยกันในร้าน จึงเป็นภาพปกติที่แสนอบอุ่นซึ่งเกิดขึ้นในร้านกระเป๋าเล็ก ๆ แห่งนี้ [ อิคิ ∙ 生き : 😊 ]
[ อิคิ ∙ 生き : ตัว อิคิ ∙ 生き เองก็เช่นกันค่ะ ก่อนที่ อิคิ ∙ 生き จะเอามือจรด keyboard เวลาวางแผนการเงินให้กับลูกค้า อิคิ ∙ 生き ก็จะหลับตา พยายามซึมซับความเป็นลูกค้าให้มาอยู่ในตัว อิคิ ∙ 生き ให้ได้มากที่สุดค่ะ อิคิ ∙ 生き พยายามรับรู้และทำความเข้าใจให้ถึงจิตวิญญาณของลูกค้าว่าเรื่องไหนในชีวิตที่ลูกค้าให้ความสำคัญ
แม้จะเป็นแผนชีวิตเหมือนกัน แต่ลำดับความสำคัญของลูกค้าก็แตกต่างกันไปค่ะ บางคนเป็นห่วงพี่น้อง บางคนลูกคือชีวิต พ่อแม่คือลมหายใจ การที่ อิคิ ∙ 生き ซึมซับสิ่งเหล่านี้จะทำให้ อิคิ ∙ 生き ทำแผนการเงินที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าท่านนั้นออกมาได้จริง ๆ
งานนี้เป็นงานที่ทำให้ อิคิ ∙ 生き รู้สึกภูมิใจมาก ๆ เหมือนช่างทำกระเป๋าของ Ichizawa Shinzaburo Hanpu เลยค่ะ อย่างเช้านี้ อิคิ ∙ 生き ตื่นมาพร้อมกับข้อความของลูกค้าที่ส่งมารับอรุณว่า “อั๊ยยะ เก็บไปล้านกว่าบาทตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย” เหตุที่ลูกค้าส่งข้อความมาให้ อิคิ ∙ 生き เพราะลูกค้าได้เข้าไปดูเงินในบัญชีลงทุนของตัวเองค่ะ อิคิ ∙ 生き อ่านแล้วก็ได้แต่รู้สึกดีใจไปกับลูกค้าค่ะ เมื่อลูกค้าภูมิใจ อิคิ ∙ 生き ก็ภูมิใจไปด้วยเลย 😊 ]
กระเป๋าแบรนด์ Ichizawa Shinzaburo Hanpu ค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทางร้านก็ไม่ยอมขยายสาขา ไม่มีแฟรนไชส์เพราะพวกเขาอยากเห็นหน้าลูกค้า อยากพูดคุยและรับฟังความเห็นจากลูกค้าโดยตรง และอยากดูแลลูกค้าไปนาน . . . นาน . . .
“เราตั้งใจจะเป็นแบรนตด์ที่ล้าหลังที่สุด” - คุณอิซิซาว่า ชินซะบุโร่ กล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียที่ฟังดูภูมิใจทีเดียว
[ อิคิ ∙ 生き : ส่วน อิคิ ∙ 生き นั้นก็ตั้งจะที่จะเป็นเพื่อนคู่คิด เดินเคียงข้างไปกับลูกค้าจนกว่าเขาเหล่านั้นจะถึงจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกันค่ะ 😊 ]
[ MAKOTO MARKETING ]
===============
แลกเปลี่ยนความเห็น
===============
ในการพบกันครั้งต่อไป
อาจารย์เกตุถามพี่ดาว่า “พี่ดาคิดว่า กระเป๋าแบรนด์นี้ทำอะไรที่ร้านกระเป๋าอื่นเขาไม่ทำกันบ้างคะ”
พี่ดา “ทั้งที่ลูกค้าสนใจเยอะ แต่เขาไม่ขายออนไลน์ ไม่ขยายสาขา ไม่มีการออกสินค้าตามฤดูกาล ไม่มีรูปแบบให้ช่างผลิต ใช้ด้ายที่สีทน ชุบชีวิตกระเป๋าด้วยการซ่อม”
อาจารย์เกตุถาม “พี่ดาว่าเขาทำแบบนี้ไปทำไมคะ”
พี่ดา “เขาไม่ยึดติดกับการเวลา ทำให้กระเป๋ามีเอกลักษณ์ ใช้ได้นาน ค่อย ๆ ผลิต ลูกค้าก็ค่อย ๆ ใช้อย่างทะนุถนอม”
อาจารย์เกตุ “ถ้าอย่างนี้ เขาก็ขายกระเป๋าได้น้อยกว่าเจ้าอื่นสิคะ ทำไมเขาทำแบบนี้เอ่ย”
พี่ดา “แต่ใครรัก ก็รักเขาเลยนะคะอาจารย์ พี่ฟังแล้วยังอยากได้เลย”
ในบทที่แล้ว ธุรกิจที่ดีต้องเริ่มจากการแก้ปัญหา แต่สำหรับบทนี้ Ichizawa Shinzaburo Hanpu ช่วยเหลือคนที่ไม่ต้องการซื้อกระเป๋าแฟชั่น แต่ต้องการกระเป๋าที่ใช้ง่าย ทน อยู่ได้นาน โดยสิ่งที่ทำให้กระเป๋าแบรนด์นี้มีเสน่ห์ คือ ความเชื่อและความมุ่งนั่นที่จะทำกระเป๋าให้คงทน ไม่ล้าสมัย
คำถามคือ เรามีความเชื่ออะไร เราฝันอยากเห็นแบรนด์ของเราช่วยลูกค้าอย่างไร ในทางกลับกัน เราหงุดหงิดเวลาเห็นแบรนด์อื่นในวงการทำอะไร และเราต้องการจะเปลี่ยนอะไร มีสิ่งใดไหม ที่เรารู้สึกว่า ‘ไม่ควรทำแบบนี้’
ความเชื่อ หรือ Brand Belief คือ Why เหตุผลที่แบรน์ท่านควรมีอยู่ คืออะไร
อะไรคือความเชื่อของเรา??
[ MAKOTO MARKETING ]
========
แบบฝึกหัด
========
“อะไรคือความเชื่อในการทำสบู่ของพี่ดา”
พี่ดาตอบมา 3 ประโยคด้วยกัน
ท่านคิดว่า ข้อใดต่อไปนี้ น่าจะเรียบว่า ความเชื่อ
A
พี่จะทำสบู่ก้อนเล็ก ๆ ที่ผสมสมุนไพรไทย เช่น อัญชัน พริก ตั้งชื่อเก๋ ๆ อย่าง Spicy Tom Yum น่าจะเป็นของฝากที่ดีเลย
B
พี่อยากเห็นแบรนด์ไทยไปไกลระดับโลกบ้าง ของบ้านเราคุณภาพดี เรามีวัฒนธรรมที่ดี แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเลย
C
พี่จะไปซื้อวัตถุดิบพวกผักออร์แกนิกจากชาวบ้าน อยากสนับสนุนพวกเขา ให้เราอยู่ได้
[ MAKOTO MARKETING ]
====
เฉลย
====
ข้อ B เป็น WHY ของพี่ดาค่ะ สบู่แบรนด์นี้ ต้องการชูความเป็นไทย ไปสู่ระดับโลก
ข้อ A เป็น WHAT หรือสิ่งที่พี่ดาจะทำ เป็นสินค้า
ข้อ C เป็น HOW กระบวนการ หรือ วิธีที่จะทำ หลังจากรู้ WHY แล้ว
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
สำหรับ อิคิ ∙ 生き ก่อนจะทำอะไร การวาดภาพผลลัพธ์เป็นสิ่งที่สำคัญค่ะ เราควรถามตัวเองว่า เราทำสิ่งนี้เพื่อหวังให้เกิดผลใด ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของการวางแผนการเงิน จริง ๆ ก็มีผลลัพธ์ให้เราหวังได้มากมายนะคะ เช่น . . .
• หวังที่จะได้ดูแลเงินจำนวนมาก ๆ ของลูกค้า หรือ อันนี้เราจะได้คอมมิสชั่นมาก ยิ่งถ้าชวนลูกค้าปรับเปลี่ยนกองทุนบ่อย ๆ รายได้ก็ยิ่งดีค่ะ
• หรือจะหวังว่าการให้บริการของเราจะยกระดับชีวิตของลูกค้าให้ดีขึ้น ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่สถานะไหนของชีวิต
ส่วนตัว อิคิ ∙ 生き นั้นนอกจากจะหวังให้ลูกค้าได้ยกระดับชีวิตแล้ว ยังอยากให้ลูกค้ามีความหวังเมื่อได้มาเจอกับ อิคิ ∙ 生きด้วยค่ะ
อิคิ ∙ 生き จะไม่ดับฝันลูกค้าด้วยคำพูดของเราเด็ดขาด ไม่ว่าเมื่อคำนวณตัวเลขออกมาแล้วในวันนี้จะห่างไกลจากเป้าหมายแค่ไหนก็ตาม เพราะ อิคิ ∙ 生き คิดว่าชีวิตมนุษย์นั้นยังอีกยาวไกลค่ะ สถานการณ์ในวันนี้ ไม่สามารถตัดสินชี้เป็นชี้ตายกับเป้าหมายอันห่างไกลในอนาคตได้ ดังนั้นไม่ว่าวันนี้จะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีคำว่าหมดหวังค่ะ หากเจ้าของแผนมีความมุมานะและตั้งใจ
ดังนั้น อิคิ ∙ 生き จึงมีความเชื่อว่า งานของ อิคิ ∙ 生き จะยกระดับชีวิตผู้คนค่ะ เมื่อคน ๆ นึงยกระดับชีวิตตนเองได้ ก็จะยกระดับชีวิตคนรอบข้างได้โดยปริยาย จากนั้นก็จะยกระดับสังคม และยกระดับประเทศในท้ายที่สุด จุดเริ่มต้นแค่เราทำหน้าที่ของเราให้ดี โดยไม่คำนึงว่าคน ๆ นั้นจะมีเงินเท่าไหร่ แค่เขามีความตั้งใจ เราและเขาเดินร่วมทางกันแล้วชีวิตเขาดีขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้นทั้งเราและเขาก็เสียเวลาเปล่าค่ะ
ก่อนจากกันวันนี้ อิคิ ∙ 生き อยากฝาก เพื่อน ๆ อาจลองนั่งหลับตาลงแล้วพูดคุยกับตัวเองดูนะคะ ว่าเรามีความเชื่อว่าอยากให้เกิดสิ่งใดขึ้นจากสิ่งที่เราลงมือลงแรงทำ

สำหรับค่ำคืนนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่กับ Makoto Marketing ในวันพฤหัสบดีหน้านะคะ สวัสดีค่ะ 🙏🏻😊
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านในสนใจเรื่องราวจาก Makoto Marketing จนอดใจรอให้ อิคิ ∙ 生き สรุปทีละสัปดาห์ไม่ไหวก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ 
https://www.readthecloud.store/product/makoto-marketing/
#สัปดาห์ละบทสองบท #makotomarketing

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา