25 พ.ย. 2021 เวลา 08:57 • ธุรกิจ
5 มุมมอง กรณีควบรวมค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ TRUE & DTAC
1
หลังจากเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การศึกษาหาความเป็นไปได้ในการควบรวมบริษัทเข้ากับผู้ให้บริการโครงข่ายสัญญาณมือถือขนาดใหญ่อีกเจ้าอย่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของความพยายามดังกล่าว ว่ากำลังเป็นการผูกขาดตลาดและขัดต่อข้อกฎหมายใดหรือไม่
ความพยายามดังกล่าวสอดคล้องกับข่าวลือที่แพร่สะพัดในวงการนักลงทุนมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง และทำให้ราคาหุ้นของบริษัททรูฯ จากราคาเปิดที่ 4.16 บาท เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุ่งสู่ราคาเปิดที่ 4.74 บาท ในวันที่ 23 พฤศจิกายน และ 38 บาทสู่ 45 บาทในช่วงเวลาเดียวกันในส่วนของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สฯ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการรอต้อนรับราคาใหม่ในหมู่นักลงทุนเก็งกำไรหลังการควบรวมกิจการสำเร็จ
ตลอดหลายวันที่ผ่านมา ภายหลังปรากฏหนังสือแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งในฝั่งผู้บริโภค ผู้ให้บริการเครือข่าย ไปจนถึงนักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นต่อข้อกังวลดังกล่าว ท่ามกลางข้อสรุปที่ยังไม่ชัดเจนในทางกฎหมายว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีความชอบธรรมที่จะทำได้มากน้อยเพียงใด
  • อำนาจต่อรองของผู้ใช้บริการถูกลดทอน
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ให้ความเห็นเผยแพร่ลงบนหน้าเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า การควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC จะยิ่งบีบให้ผู้บริโภครายย่อยขาดทางเลือกในการใช้บริการ และเป็นการลดอำนาจการต่อรองของผู้บริโภคอย่างรุนแรง
สิ่งที่นฤมลกล่าวเน้นย้ำคือ การขาดอิสระในการเลือกใช้บริการของผู้บริโภค เนื่องจากโครงข่ายสัญญาณมือถือในตลาดปัจจุบันมีน้อยรายอยู่แล้ว หากเกิดการควบรวมจะยิ่งบีบให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพียง ‘ซ้ายกับขวา’ ที่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคมากนัก แต่จะเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ให้บริการโครงข่ายเสียมากกว่า โดยเฉพาะในแง่ของการลดต้นทุนการให้บริการ และยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้ฝั่งผู้ให้บริการโครงข่ายมีมากกว่าผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาทบทวนการควบรวมกิจการดังกล่าว นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณาว่า การควบรวมครั้งนี้อาจเป็นการผิดพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 51 ที่มีใจความสำคัญว่า การควบรวมธุรกิจที่อาจจะลดการแข่งขันในตลาด อาจจะทำให้เกิดการผูกขาด หรือทำให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก่อนดำเนินการควบรวมธุรกิจ
1
  • ห่วงค่าบริการมือถือพุ่ง ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล
มิใช่เพียงแค่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้นที่ออกมาให้ความคิดเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยในกรณีดังกล่าว แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคเองก็ได้ออกมาให้ความคิดเห็นในทำนองเดียวกันเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ผ่านทาง Facebook Live
การแถลงข่าวด่วนดังกล่าวของสภาองค์กรของผู้บริโภค แสดงจุดยืนชัดเจนถึงการ ‘ไม่เห็นด้วย’ ในการควบรวมกิจการ เนื่องจากไม่เพียงแต่จะเป็นการลดทางเลือกของผู้บริโภคแล้ว หากในอนาคตผู้ให้บริการโครงข่ายมีการเพิ่มราคาค่าบริการหรือมีการให้บริการที่ไม่ดี ก็จะยิ่งส่งผลกระทบโดยตรงแก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งยืนยันสิทธิของผู้บริโภคว่าจะต้องมีอิสระในการเลือกผู้ให้บริการ ดังนั้นผู้ให้บริการจะต้องมีความหลากหลายในตลาดมากกว่านี้
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอขึ้นมา ก็คือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากยังคงถูกมิจฉาชีพหลอกลวงด้วยสาเหตุจากข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หากเกิดการควบรวมธุรกิจยักษ์ใหญ่ดังกล่าวอาจทำให้มีการนำข้อมูลส่วนบุคลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมไปถึงปัญหาด้านอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
เสียงสะท้อนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคจึงต้องการที่จะส่งสัญญาณไปถึง กสทช. ว่าควรจะกำกับดูแลให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น มากกว่าการกำกับดูแลให้มีการแข่งขันในตลาดน้อยลง จนอาจจะส่งผลกระทบถึงผู้บริโภคเป็นจำนวนมากจากกรณีการควบรวมกิจการครั้งนี้
1
  • อยู่ในขั้นตอนการศึกษา กสทช. พร้อมปรับปรุงประกาศ
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบุถึงกรณีการควบรวมกิจการที่กำลังเป็นที่ถกเถียงว่า เป็นการเจรจาระหว่างทรูคอร์ปและดีแทค (บริษัทแม่) ไม่ใช่ทรูมูฟเอชและดีแทคไตรเน็ต (บริษัทลูก) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม จึงต้องพิจารณาว่า บริษัทแม่จะรวมกิจการอะไรบ้าง
ในส่วนกิจการโทรคมนาคมนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. อย่างแน่นอน แต่หากมีบริษัทลูกที่ประกอบกิจการอื่นและอยู่ในกรอบการเจรจารวมกิจการในครั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงกฎหมายแข่งขันทางการค้าประกอบด้วย
ทั้งนี้ กสทช. ได้มีประกาศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประกาศมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศแข่งขัน) ที่มีใจความสำคัญในว่า “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยเข้าซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ของผู้ให้บริการรายอื่น เพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจไม่ว่าโดยทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน เป็นพฤติกรรมต้องห้าม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. เท่านั้น”
อีกประกาศหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกรณีการควบรวมกิจการครั้งนี้ คือ ประกาศ มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศรวมธุรกิจ) ที่มีใจความสำคัญว่า “หากการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ”
2
ดังนั้น ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการ ทาง กสทช. ย่อมมีเวลาในการปรับปรุงประกาศให้ชัดเจนและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะต่อไป
  • ดัชนีการแข่งขันกระจุกตัว ฉุดโทรคมนาคมไทยถอยหลัง
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการตอบโจทย์ ช่อง Thai PBS วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ในกรณีการควบรวมกิจการของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้วยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ โดยยกการคำนวณ Herfindhal-Hirschman Index หรือ HHI ที่ใช้วัดการกระจุกตัวของตลาดขึ้นมาประกอบ โดยระบุว่าก่อนจะมีข่าวเรื่องการควบรวมกิจการสามารถคำนวณ HHI ออกมาได้ประมาณ 3,600 หน่วย จาก 10,000 หน่วย ซึ่งสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าไม่ใช่ตลาดที่แข่งขันกันเต็มที่ แต่หลังจากเกิดการควบรวมจะทำให้ดัชนี HHI ขึ้นไปถึง 5,000 หน่วย ซึ่งอยู่ในระดับที่ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่าน่าตกใจเป็นอย่างมาก โดยเปรียบเทียบกับดัชนี HHI ของธุรกิจอื่นอย่างธุรกิจขายโทรศัพท์มือถือก็มีดัชนี HHI อยู่ที่ 2,000 หน่วยเท่านั้น
การควบรวมกิจการครั้งนี้ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ไม่เพียงกระทบแค่ผู้บริโภครายย่อยเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสกระทบไปถึงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยยกตัวอย่างการประมูลคลื่นโครงข่าย 5G ที่เพิ่งจบไปไม่นาน ว่าหากอนาคตเหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 2 รายในการประมูลอื่นๆ ที่จะมาถึง แม้แต่ภาครัฐเองก็จะได้รับผลกระทบจากรายได้ส่วนนี้ที่จะลดลงด้วยเช่นเดียวกัน
ดร.สมเกียรติ ยังคาดคะเนอนาคตของวงการโครงข่ายโทรคมนาคมไทยว่า ผู้บริโภคจะได้รับโปรโมชั่นที่น้อยลง ราคาค่าบริการแพงขึ้น คุณภาพการบริการแย่ลง และส่งผลให้โครงสร้างของวงการโทรคมนาคมไทยถอยหลังกลับไปเหมือน 20 ปีก่อน ที่มีเพียง AIS กับ DTAC แค่สองรายเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่ กสทช. จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดด้วยการกำกับดูแลพฤติกรรม เพราะหากโครงสร้างตลาดเหลือผู้เล่นเพียงรายเดียวก็หมายความว่าต้องมีการควบคุมราคาทุกฝีก้าวซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากไม่ว่า กสทช. จะขยันเพียงใดก็จะไม่มีข้อมูลเท่ากับที่ผู้ประกอบการมีอยู่ และเสนอว่าวิธีที่ควรจะทำคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโครงสร้างที่กระจุกตัวด้านการผูกขาดแต่แรก รวมถึง กสทช. ควรใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังในการป้องกันการควบรวม ไม่ใช่ยอมแพ้เสียแต่แรกว่าห้ามการควบรวมไม่ได้
1
  • “เป็นเรื่องทางธุรกิจ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล”
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ข่าวสด ถึงกรณีการควบรวมของ TRUE และ DTAC ว่าไม่ใช่การผูกขาด และมีหน่วยงานอย่าง กสทช. กำกับดูแลอยู่แล้ว
ชัยวุฒิกล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของกระทรวงหรือรัฐบาลยังไม่ได้ลงไปตรวจดูกรณีดังกล่าวมากนัก โดยชัยวุฒิยังให้ความคิดเห็นด้วยว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวเป็นเรื่องทางธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล รัฐบาลไม่มีอำนาจในการไปสั่งบริษัทให้รวมหรือไม่รวมได้ แต่หากบริษัทโทรคมนาคมมีความเข้มแข็ง สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนลดลงได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ
1
ที่มา:
เขียน: ภูภุช กนิษฐชาต
โฆษณา