2 ธ.ค. 2021 เวลา 12:09 • การศึกษา
วิธีปลดล็อค เครดิตบูโรที่ติด Blacklist
ปฎิเสธไม่ได้ว่า การทำธุรกรรมทางการเงินจะมีความเกี่ยวข้องกับ เครดิตบูโร แทบทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อวัดระดับความน่าเชื่อถือของผู้ที่ทางธนาคารจะทำธุรกรรมทางการเงินด้วยนั่นเอง
1
ซึ่งหากเราจะทำธุรกรรมกับธนาคารแล้ว ทางธนาคารจะเช็กข้อมูลทางการเงินของเรา ว่าอยู่ในสถานะใด ถ้าสถานะดีทางธนาคารจะทำสัญญาและตกลงทำธุรกรรมด้วย แต่ถ้ามีสถานะไม่ดี ทางธนาคารจะไม่อนุมัติให้เรา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คงจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่มีประวัติเครดิตบูโรที่ไม่ค่อยดีนัก หรือที่เรียกว่า ติดแบล็คลิส นั่นเอง แล้วจะมีวิธีการแก้ไข ให้หลุดพ้นจากสถานะนี้ได้อย่างไร ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ เครดิตบูโร กันสักหน่อยก่อนนะคะ
เครดิตบูโร หรือ บริษัทข้อมูลเครดิต (Credit Bureau) คือ บริษัทที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเครดิตจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่งที่เป็นสมาชิก นำมาประมวลผลเป็นข้อมูลเครดิตในภาพรวมสำหรับลูกค้าเจ้าของข้อมูลแต่ละราย
และเมื่อสถาบันการเงินหรือลูกค้าเจ้าของข้อมูลต้องการเรียกดูรายงานข้อมูลเครดิตภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด บริษัทข้อมูลเครดิตจึงจะเปิดเผยข้อมูลเครดิตนั้นในรูปของรายงานข้อมูลเครดิตค่ะ
โดยเครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลตามความจริง หากจ่ายแล้วก็บอกว่า “ปกติ” หรือ “ไม่ค้างชำระ” แต่ถ้ายังไม่จ่าย ก็บอกว่า “ค้างชำระ” ไม่ว่าจะชำระตรงกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถ้าเคลียร์หรือปิดบัญชีแล้วก็จะบอกตามสถานะจริงนั้น เพียงแต่ข้อมูลจะยังไม่ถูกลบออกไปจนกว่าจะถึงกำหนดที่กฎหมายให้เก็บ
จุดเสี่ยงที่ทางธนาคารจะไม่อนุมัติธุรกรรมทางการเงินให้ เนื่องจากประวัติทางการเงินของผู้ขอไม่ดีเอาเสียเลย หรือที่เราคุ้นหูกันว่า แบล็คลิสต์ นั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการไม่ยอมชำระหนี้นั่นเอง
และอย่าได้คิดว่าจะหนีพ้น เพราะข้อมูลจะถูกบันทึกในเครดิตบูโรหมดแล้ว โดยปกติแล้วถ้าชำระหนี้ในระบบของสถาบันการเงิน ล่าช้าเกิน 90 วัน จะมีจดหมายแจ้งเตือนให้ชำระหนี้บัตรเครดิต แต่ถ้ายังเพิกเฉยอยู่ ก็อาจติดแบล็คลิสต์ได้ ซึ่งการติดแบล็คลิสต์จะทำให้เราไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ อย่างเช่น ทำบัตรเครดิตใบใหม่ หรือขอสินเชื่อไม่ผ่าน เป็นต้น
สำหรับการปลดล็อก Blacklist เครดิตบูโรนั้น มีวิธีการที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมทางเงินต่อไปได้ ดังนี้ค่ะ
1. พบสถาบันทางการเงิน
เจรจากับสถาบันทางการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ให้ขอผ่อนผันชำระหนี้ออกไป เพื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และหาทางทำสัญญาเพิ่มเติม นั่นก็เพื่อให้มีกำลังที่จะจ่ายชำระหนี้ก้อนนั้นได้
2. ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด
เมื่อเจรจากับทางสถาบันทางการเงินสำเร็จแล้ว ก็อย่าทำโอกาสครั้งนี้พลาดเป็นครั้งที่ 2 นะคะ ควรชำระหนี้ให้ตรงเวลา และที่สำคัญควรเก็บเอกสารการชำระหนี้ทุกชิ้นไว้ทั้งหมดเป็นหลักฐาน
การชำระหนี้ให้ตรงเวลาจัดเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพื่อรักษาเครดิตที่ดีเอาไว้ และควรเก็บหลักฐานที่เราจ่ายค่างวดไว้ด้วย เพราะหลักฐานสามารถนำไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ดู เมื่อตอนที่คุณต้องการขอสินเชื่อตัวใหม่หลังจากที่พ้นแบล็คลิสต์ไปแล้วได้ค่ะ
3. ตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวคุณเอง
เมื่อชำระหนี้เรียบร้อย สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวคุณเอง ที่บริษัทข้อมูลแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร เพื่อเช็คว่าสถาบันการเงินได้แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือยัง
ถึงแม้จะเคลียร์หนี้เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทันที เพราะข้อมูลเหล่านี้จะยังอยู่กับเครดิตบูโร โดยทางเครดิตบูโรจะลบข้อมูลนั้นออก จะใช้เวลาประมาณ 36 เดือน หรือ 3 ปี เป็นต้นไปค่ะ
4. รักษาเครดิตเอาไว้
เมื่อปัญหาติดแบล็คลิสต์ถูกเคลียร์เรียบร้อย สิ่งที่สำคัญที่ต้องจำให้จงดี คือ เมื่อสามารถทำธุรกรรมทางการเงินใหม่ได้แล้ว ก็อย่าลืมชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาติดแบล็คลิสต์ ติดเครดิตบูโรกันอีกนะคะ
ถึงแม้ว่าเราอาจจะแก้ปัญหาแบล็คลิสต์ไปได้แล้ว แต่จะดีกว่าถ้าเรารู้จักใช้ รู้จักออม ใช้แต่จำเป็น วางแผนการใช้เงินให้เหมาะสม หากมีหนี้ก็ควรชำระให้ตรงเวลา รับรองสภาพการเงินคงไม่ติดขัดแน่นอนค่ะ
Cr. ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB)
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา