Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
3 ธ.ค. 2021 เวลา 14:51 • ปรัชญา
“องค์ฌานทั้ง 5”
“… พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
สงัดจากกามและอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน
เมื่อใดก็ตามที่สงัดจากกามและอกุศลธรรม
จิตจะเป็นสมาธิเข้าถึงปฐมฌานโดยธรรมชาติเลย
แต่ใหม่ ๆ มันเข้าถึงได้แป๊บเดียว
เดี๋ยวมันก็หลุดออก
จนเราไม่รู้สึกตัวเลยว่าจิตเราเป็นสมาธิ
มันนิ่งได้แป๊บเดียว
ต้องอาศัยการฝึกไปเรื่อย ๆ
กาม ก็คือ จิตที่เกิดความกำหนัดยินดี
ในกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
รูป เสียง กลิ่น รส ที่น่าใคร่น่าปรารถนาต่าง ๆ
จิตมันเคล้าอยู่กับอารมณ์ทางโลก
เรียกว่า เกิดความกำหนัดยินดี เกิดกามคุณ
1
เมื่อใดที่เราเพิกความกำหนัดในกามออกได้
สงัดจากกามและอกุศลธรรม
จิตจะเข้าถึงสมาธิโดยธรรมชาติ
สภาวะของสมาธิในปฐมฌาน
ก็จะประกอบด้วย ถ้าแจกแจงองค์ธรรม
ก็คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
วิตก คือ การตรึกนึก
ถ้าจิตปุถุชนก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า กามวิตก
ก็คือตรึกอยู่ในกาม
วัน ๆ ก็ครุ่นคิดอยู่ในเรื่องอารมณ์ทางโลก
อารมณ์ต่าง ๆ ที่น่าใคร่น่าปรารถนา
เรื่องของกินบ้าง เรื่องการละเล่นบ้าง
เรื่องเพื่อนฝูงบ้าง เรื่องคนรักบ้าง ต่าง ๆ
เกิดกามวิตก ก็คือ ตรึกในกามคุณ
เกิดพยาบาทวิตกบ้าง จิตเบียดเบียน
เกิดความมุ่งร้าย ความอาฆาตพยาบาท
เวลาเราเจอใครไม่ชอบ
บางทีจิตเราคิดไม่ดีนะ มุ่งร้าย
อยากเอาคืนบ้าง อยากแก้แค้นบ้าง
เขาเรียกว่า พยาบาทวิตก
ความอาฆาตพยาบาท หรือว่า เกิดการเบียดเบียน
วิหิงสาวิตก คิดที่จะเบียดเบียน
หรือเกิดอภิชชา เกิดความโลภ เพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่นเขา
เห็นเขามั่งมี ก็อยากได้บ้าง หรืออยากเอาคืนบ้าง
หาช่องบ้าง ก็เกิดอกุศลธรรมนั่นเอง
พวกวิตกในจิตปุถุชนก็จะพวกนี้
กามวิตก และอกุศลธรรมวิตกต่าง ๆ
แต่เมื่อใดที่เราอบรมตนเอง
แล้วเราสงัดจากกามและอกุศลธรรมได้
ก็จะเหลือแต่การวิตก ที่เรียกว่า
การตรึกอยู่ในกรรมฐานที่เรากำหนดนั่นเอง
เช่น มีสติสัมปชัญญะ มีความระลึกรู้สึกตัวอยู่
การที่คอยระลึกรู้สึกตัวอยู่ ก็คือ วิตก นั่นเอง
มันตรึกอยู่
หรือบางคนอยู่กับลมหายใจ
ที่เรียกว่า อานาปานสติ ก็ตรึกอยู่กับลมหายใจนั่นเอง
ตรึกอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน
บางคนเจริญอนิจจสัญญา
ก็ตรึกอยู่ในการพิจารณาของตน
ก็คืออยู่กับกรรมฐานของตัวเองนั่นเอง
เนี่ยคือวิตก
วิจาร คือ คอยตรวจสอบ คอยเคล้า
ในขณะที่เราทำความรู้สึกตัวอยู่เนี่ย
ก็เป็นธรรมดา ช่วงปฏิบัติเราก็จะคอยระวังไม่ให้เผลอ
ประคับประคอง ยังอยู่ดีไหม ?
ยังรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ไหม ?
นี่ วิจาร คอยเคล้าอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
หรือกรรมฐานที่เราทรงอยู่
ยังประคับประคองได้ดีไหม ?
คือเรายังคอยระแวดระวังอยู่นั่นเอง
วิตก การตรึกอยู่กับกรรมฐาน
อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน
และวิจาร คือ การคอยตรวจสอบเคล้าอยู่
ในสภาวะที่เราอยู่นั่นเอง
คอยประคับประคอง
เมื่อมีวิตก วิจาร เกิดปีติ
สภาวธรรมระดับปีติ ปิติมี 5 อย่าง
ตัวแรกก็พวกขนลุก ขนพอง
ตัวที่ 2 ก็พวกมดไต่ มดกัด น้ำหู น้ำตาไหล
ตัวที่ 3 ก็พวกอาการตัวโยกโคลง
3 ตัวแรกจะเกิดขึ้นในระดับอุปจารสมาธิ
แต่เมื่อใดที่ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ
จนเข้าถึงปีติตัวที่ 4
ตัวที่ 4 ก็จะเป็นพวกร้อนทั่วกาย
บางทีก็ตัวแข็งเป็นหินทั้งตัวเลย
หรือตัวลอยไปมั่ง หรือตัวเบา ตัวใหญ่ ตัวหนัก
ก็คือสภาวะของความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั่นเอง
จะเป็นความรู้สึกตัวที่เป็น
มีกำลัง จะเป็นมวลพลังงานแน่นทั้งตัวก็ดี
เหมือนฟิล์มบาง ๆ หุ้มเป็นเปลือกนอกทั้งตัวก็ดี
แต่ใจจะนิ่งมาก
เพราะฉะนั้น ปีติตัวที่ 4 นั่นแหละ
คือสภาวธรรมในระดับของปฐมฌาน
บางทีความรู้สึกตัวก็จะตึงรัดทั้งตัวเลย แต่ใจนิ่ง
รู้พร้อมทั้งกายและใจนั่นเอง
สุข นี่เริ่มเกิด แต่ว่าจริง ๆ แล้วยังไม่เด่นหรอก
ในฌานที่ 1 ตัวเด่นจริง ๆ ก็คือ วิตก วิจาร
แล้วก็ปีติ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั่นเอง
ก็คือทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้
อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้
แล้วก็ยังคอยกำหนดวิตก วิจาร
คือ คอยระวังว่าเรายังทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
ดีหรือไม่ดีนั่นเอง
อุเบกขายังไม่เกิด
เอกัคคตา คือ จิตตั้งมั่น ใจเริ่มนิ่ง อารมณ์เป็นหนึ่งแล้ว
นี่แหละ องค์ฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
วิตก วิจาร ปีติ ระดับปฐมฌานก็คือตัวที่ 4 นะ
บางทีก็เป็นสนามพลังงานไฟฟ้า แผ่ซ่านทั้งตัวก็มี
แล้วก็สุข ยังไม่เด่น
ปฐมฌานสุขยังไม่เด่นหรอกนะ
เอกัคคตา ใจนิ่ง ตั้งมั่น อารมณ์เดียว อารมณ์เป็นหนึ่ง
และเมื่ออยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไปเรื่อย ๆ
จนวิตก วิจารจางคลายไป หลุดออกไป
ก็จะเข้าถึงสภาวะที่ละเอียดขึ้น ที่เรียกว่า ทุติยฌาน
มีความผ่องใสภายใน ธรรมอันเอกปรากฏขึ้น
ชุ่มไปด้วยปีติและสุข เอิบอาบซาบซ่านทั่วทั้งกาย
เหมือนเวลาเราเข้าฌานใหม่ ๆ
ปฐมฌาน ก็เหมือนคนที่พึ่งเข้าถึงระดับสมาธิใหม่ ๆ
ก็จะระแวดระวังมาก ระวังตัวประคับประคองมาก
คนเข้าสามาธิใหม่ ๆ บางคนนี่ตัวแข็งขยับตัวไม่ได้เลย
สภาวะระดับปฐมฌานใหม่ ๆ เป็นอย่างนั้น
แต่เมื่อเราเริ่มอยู่ได้ เริ่มคุ้นเคย
เริ่มอยู่ได้เนือง ๆ ก็เริ่มชินใช่มั้ย
จากความชินก็คือความปกตินั่นเอง
อยู่ได้เป็นปกติแล้ว ผลที่ตามมาคืออะไร ?
อะไรที่เราชินแล้วน่ะ
มันก็ไม่จำเป็นต้องไประแวดระวังมาก
วิตก วิจาร คอยตรึกนึก
แล้วก็คอยระแวดระวังมันก็หลุดออกไป จางคลายไป
1
สภาวะระดับฌานที่ 2 เหมือนเรานอนแช่อยู่ในน้ำ
บ้านใครมีอ่างอาบน้ำ นอนแช่อยู่ในน้ำ
ชุ่มไปด้วยปีติและสุขแผ่ซ่านทั่วทั้งตัว
ถามว่าตอนนอนแช่อยู่ในน้ำ
ต้องหน้าดำคร่ำเครียด คอยระวังมากไหม ?
ตรงข้ามเลย มีแต่ความผ่อนคลายสบาย ๆ
แล้วก็แช่อยู่กับสภาวธรรม อยู่กับสภาวธรรมได้
คำว่า ปฏิบัติเหมือนไม่ได้ปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติจะเริ่มเข้าถึงได้
ก็คือ ระดับทุติยฌานเป็นต้นไป
ก็คือ วิตก วิจาร หลุดไปแล้ว
วิตก วิจาร ยังเป็นของหยาบอยู่
คอยระแวดระวังไปตรึกนึกอยู่
แต่ถ้าเราไม่มีวิตก วิจาร
เราก็มาถึงชั้นนี้ไม่เป็นเหมือนกันถูกมั้ย
ก็เป็นระดับไป ส่งกันเป็นขั้น ๆ ไป
วิตก วิจาร ทำให้เกิดสภาวธรรมระดับปฐมฌาน
พออยู่ได้ดีก็หลุดออก เหมือนเราเดินขึ้นบันได
เราจะขึ้นขั้นที่ 2 ได้ เราก็ต้องก้าวแรกก่อน
ก้าวแรกมั่นคงแล้วก็ถึงก้าวที่ 2
พอก้าวที่ 2 ได้ ก็หลุดจากก้าวที่ 1 เป็นธรรมดา
แล้วก็ไปสู่ก้าวที่ 3
เป็นสภาวธรรมเป็นระดับ ๆ ไป
จะหลุดออกเป็นชั้น ๆ แบบนี้นั่นเอง
ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ฝึกหัดไป … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
เยี่ยมชม
youtube.com
องค์ฌานทั้ง 5 | ธรรมให้รู้•2564 : ตอนที่ 222
Photo by : Unsplash
2 บันทึก
17
7
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คำสอนครูบาอาจารย์
2
17
7
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย