ก่อนที่จะจบ ผมอยากแนะนำแนวคิดหนึ่งเพื่อเป็นหนทางในการถกเถียงเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ซึ่งการพลิกโฉมย่านหัวลำโพงก็เป็นรูปธรรมหนึ่ง นั่นคือ แนวคิด ‘The Right to the City’[2] ซึ่งผมถอดความว่า ‘สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง’ คำว่าสิทธิในที่นี้ไม่ใช่ความหมายในเชิงกฎหมาย ที่จะไปฟ้องร้องดำเนินคดีแต่อย่างใด หากแต่เป็นแนวคิดของนักปรัชญา นักสังคมวิทยา รวมถึงนักวิชาการด้านเมืองเชิงวิพากษ์ที่ชี้ว่า ทุกวันนี้คนที่มีอำนาจในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของเมือง คือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนหรือพูดให้เห็นภาพก็คือ การประเคนให้ของรัฐที่สนับสนุนการพัฒนาเมืองเพื่อแสวงหากำไร มากกว่าที่จะเป็นเมืองที่ตอบโจทย์ชีวิตของผู้คน
ดังนั้น แนวคิดสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง คือการชี้ชวนให้เห็นความสำคัญของผู้ใช้ชีวิตในเมืองที่ควรจะมีส่วนกำหนดความเป็นไปของเมือง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา แต่ผมอยากจะชี้ให้ชัดว่า ต้นทางของแนวคิด The Right to the City มาจากนักวิชาการสายมาร์กซิสม์ เช่น อองรี เลอแฟรบ (Henri Lefebvre), เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) คำว่าสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง ในมุมมองของนักคิดเหล่านี้ ไม่ใช่แค่การเปิดกระบวนการรับฟังความเห็น จัดประชาพิจารณ์เท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงประเด็นเชิงเทคนิค
หัวใจของแนวคิด The Right to the City คือการเรียกร้องสิทธิของชาวเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองให้สอดคล้องกับความปรารถนาของมนุษย์และสังคม ไม่ใช่เมืองที่มีไว้เพื่อสร้างกำไรให้กับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
[1] Brenner, N., Marcuse, P., & Mayer, M. (2009). Cities for people, not for profit. City, 13(2-3), 176-184.
[2] ผู้สนใจคำอธิบายเชิงวิชาการเกี่ยวกับแนวคิด The Right to the City สามารถอ่านได้จากบทความของผู้เขียน สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง ตีพิมพ์ใน วารสารนิติสังคมศาสตร์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 หน้า 85-122