Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
6 ธ.ค. 2021 เวลา 01:08 • สุขภาพ
คุณคิดอย่างไร? หากบังคับให้ทุกคนต้องฉีดวัคซีน
การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “Omicron” ทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาทบทวนกันว่า “มันถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะกำหนดให้การฉีดวัคซีน เป็นข้อบังคับที่ทุกคนต้องปฏิบัติ”
คุณคิดอย่างไร? หากบังคับให้ทุกคนต้องฉีดวัคซีน
โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มทวีปยุโรป นำมาด้วยประเทศออสเตรีย ที่ได้ประกาศออกมาแล้วว่า พวกเขาจะนำกฎหมายบังคับให้ทุกคนฉีดวัคซีนออกมาใช้ภายในกุมภาพันธ์ปีหน้า
และประเทศเยอรมัน ที่ล่าสุด ว่าที่นายกรัฐมนตรีอย่างนาย Olaf Scholz ได้ออกมาพูดว่า “เขาจะเป็นหนึ่งในคนที่โหวตให้กฎหมายการบังคับการฉีดวัคซีนในเยอรมันผ่าน” เมื่อเรื่องนี้เข้าไปในสภา
จึงทำให้ตอนนี้ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และแบ่งคนออกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายแบบนี้ โดยต่างฝ่ายต่างก็ยกเหตุผลที่น่าสนใจขึ้นมาสนับสนุนความคิดเห็นของตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ ในบทความนี้ เราจึงจะพาผู้อ่านทุกท่าน ไปติดตามเรื่องนี้กันว่า มันสมควรจริงไหม? ที่จะมีกฎหมายที่บังคับให้ทุกคนต้องฉีดวัคซีนออกมา
📌 สถานการณ์โควิดที่ยังไม่ยอมจบ
ตอนนี้ หลายประเทศกำลังประสบปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อีกครั้ง โดยมีหลายคนออกมาโทษว่า ต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง มาจากผู้คนที่ยังมีความลังเลใจที่จะออกไปฉีดวัคซีน (Vaccine Hesitancy)
โดยจากรายงานของ IMF ที่ได้ใช้ข้อมูลแบบสอบถามของ YouGov ในคำถามที่ว่า “หากมีวัคซีนพร้อมให้ฉีด คุณจะเข้ารับวัคซีนไหม” ทำให้เห็นว่า ประเทศในกลุ่มตัวอย่าง แต่ละประเทศมีสัดส่วนของคนที่เลือกจะฉีดวัคซีนไม่เท่ากัน
ไล่ตั้งแต่ระดับน้อยกว่า 40% ในประเทศฝรั่งเศส ไปจนถึง 77% ในประเทศสหราชอาณาจักร ที่เลือกจะฉีดวัคซีน
ในขณะที่ฝั่งคนที่ตอบว่า จะไม่รับวัคซีน ก็มีการให้เหตุผลที่น่าสนใจ โดยในงานศึกษาของ IMF ก็สรุปเหตุผลหลักว่า ที่คนไม่ฉีดวัคซีนมาจากความไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งกลุ่มคนที่มีความสงสัยในวัคซีนมากกว่า ก็มีแนวโน้มจะเลือกที่จะไม่รับวัคซีนมากกว่าเช่นกัน
ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลในหลายประเทศก็ดูจะเข้าใจเหตุผลของกลุ่มคนที่ลังเลพอสมควร จึงเลือกออกมาตรการในลักษณะกึ่งประนีประนอม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนออกมารับวัคซีนมากขึ้น ทั้งการแจกเงิน การส่งข้อความเตือนทางโทรศัพท์ หรือ มาตรการห้ามเข้าสถานที่บางอย่าง (เราเคยเขียนเรื่องนี้ไว้เช่นกัน อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.bnomics.co/economics-etc-vaccine-yes-or-no/
)
1
แต่ทว่า เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง มาตรการจูงใจข้างต้นก็เหมือนจะไม่สามารถทำให้คนในที่ยังลังเลในวัคซีน เลือกที่จะมาฉีดวัคซีนได้มากอย่างที่หวัง สังเกตจากตัวเลขสัดส่วนผู้ฉีดวัคซีนในหลายประเทศที่ค่อนข้างจะนิ่ง ในช่วงที่จำนวนผู้ป่วยลดลง
แต่แล้ว ในช่วงหน้าหนาวที่กำลังคืบคลานเข้ามา ก็เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง อย่างที่ ออสเตรียมีช่วงที่จำนวนเคสผู้ป่วยพุ่งสูงไปกว่า 1,400 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน ถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในประเทศมา
ประกอบกับความกังวลในการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron
หลายๆ ประเทศจึงต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า ถ้าอยากให้เรื่องโควิดมันจบอย่างแท้จริงเสียที อาจจะถึงเวลาแล้ว ที่จะนำมาตรการการบังคับที่เข้มงวดกว่าเดิมออกมาใช้
แต่ก็เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า มันเหมาะสมหรือเปล่าที่ภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงการใช้ชีวิตของคนและทางเลือกขนาดนี้
📌 ในทางเศรษฐศาสตร์ รัฐควรเข้าแทรกแซงแค่ไหน?
ในปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องของตลาดหรือระบบเศรษฐกิจ คำถามที่ว่า “รัฐควรเข้าแทรกแซงแค่ไหน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม?” ก็เป็นคำถามที่ถูกถกเถียงกันมาอย่างเนิ่นนาน
ถ้าย้อนกลับในช่วงคลาสสิค ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง อดัม สมิธ วงการเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า การแทรกแซงจากภาครัฐควรจะเกิดขึ้นน้อยที่สุดจนถึงไม่มีเลย จึงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
เพราะเขาเชื่อว่า ในภาวะแบบนั้นระบบตลาดจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เอง และก็จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม
อย่างไรก็ดี ถ้าเล่ากันแบบย่อๆ เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ออกมาจำนวนมาก ที่ชี้ว่า บางครั้งการปล่อยให้ผู้คนตัดสินใจด้วยตัวเองทุกอย่าง และปล่อยให้ตลาดดำเนินไป โดยไม่มีภาครัฐเข้าไปแทรกแซงเลย ก็อาจจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม
หนึ่งในความล้มเหลวที่ตลาดไม่สามารถควบคุมและจัดการได้ ก็คือ “เรื่องผลกระทบภายนอก (Externalities)” ที่ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ
1) Positive Externalities หรือผลกระทบภายนอกทางบวก คือ การที่เราตัดสินใจเพื่อตัวเอง แต่กลับมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย เช่น การติดกล้องวงจรปิดหน้าบ้าน แต่ทำให้จับโจรที่ขโมยของข้างบ้านได้ เป็นต้น
2) Negative Externalities หรือผลกระทบภายนอกทางลบ คือ การที่เราตัดสินใจเพื่อตัวเอง แต่ดันไปส่งผลเสียกับคนอื่นด้วย เช่น การเปิดร้านอาหารริมแม่น้ำ เพื่อกำไรสูงสุด เราก็จะไม่ติดเครื่องบำบัดน้ำเสีย และปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำไปเลย ซึ่งอาจจะทำให้รีสอร์ทที่เปิดอยู่ถัดไป ไม่มีคนเข้ามาพักเพราะน้ำเน่าเสีย เป็นต้น
ซึ่งถ้ามองตามผลประโยชน์สูงสุดของสังคมเป็นที่ตั้ง เราก็อาจจะอยากให้เกิดผลกระทบภายนอกเชิงบวกเยอะๆ และผลกระทบภายนอกเชิงลบน้อยๆ ซึ่งบางครั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ภาครัฐก็อาจจะต้องเข้ามาแทรกแซงก็ได้
คราวนี้ เรามองย้อนกลับมาที่เรื่องของวัคซีนกันครับ เราอาจจะมองได้ว่า การเลือกไปฉีดวัคซีนเป็นการสร้างผลกระทบภายนอกทางบวกให้กับสังคม เพราะว่า มันลดอัตราการแพร่เชื้อ และลดอัตราการป่วยหนัก ซึ่งจะสร้างประโยชน์กับทั้งคนรอบตัวและระบบสาธารณสุข
หรือถ้าคิดในแง่มุมตรงข้าม ที่อาจจะดูรุนแรงสักเล็กน้อย บางคนอาจจะบอกว่า การไม่ฉีดวัคซีนเป็นการสร้างผลกระทบภายนอกทางลบให้สังคมก็ได้เช่นกัน เพราะว่า ถ้าสถานการณ์โควิดไม่จบสักที การใช้ชีวิตสุขเหมือนเดิมก็อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้
แต่พอเป็นเรื่องของกฎหมาย หลายคนก็อาจจะบอกว่า มันควรจะต้องไม่สร้างต้นทุนให้กับใครหรือเปล่า? ควรจะเปิดสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนอย่างเสรี ถ้าไม่ได้ขัดกับสิทธิของคนอื่น...
📌 กฎหมายไม่ควรสร้างต้นทุนให้ใครเลย จริงไหม?
เมื่อลองมองดู มันก็จะมีกฎหมายบางข้อเหมือนกัน ที่มันสร้างต้นทุนให้กับบางคนในสังคมได้ แต่ก็มีการบัญญัติออกมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น
กฎหมายการศึกษาภาคบังคับ ที่กำหนดให้เด็กทุกคนต้องทำการเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างน้อยตามระยะเวลาที่กำหนด อย่างในกรณีของไทย คือ 9 ปี
ซึ่งอันที่จริง การส่งลูกเข้าเรียนหนังสือ สำหรับบางครอบครัวก็อาจจะเป็นต้นทุนที่สูงก็ได้ แต่คนเกือบทั้งหมด ก็น่าจะเห็นตรงกันว่า ประโยชน์ของการศึกษานั้นมีมากกว่าทั้งกับตัวเด็กเอง รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดเป็นผลกระทบภายนอกทางบวกต่อสังคม
ตัวอย่างกฎหมายอีกหนึ่งข้อ ที่สร้างต้นทุนให้กับคนได้เช่นกันที่หลายคนอาจจะสงสัยถึงเป้าหมายของมัน นั่นก็คือ กฎหมายการครอบครองปรปักษ์ หรือ ที่ต่างประเทศจะเรียกว่า Adverse Possession
2
อธิบายง่ายๆ กฎหมายนี้ เป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ คนที่ไปครอบครองสินทรัพย์ของคนอื่นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยเปิดเผยและสงบ เป็นระยะเวลานานพอ โดยที่เจ้าของไม่มาสนใจ ก็จะได้กรรมสิทธิ์ไปครอง
1
อย่างเช่น ในกรณีของที่ดินในไทย ถ้ามีคนครอบครองโดยเปิดเผย แสดงความเป็นเจ้าของติดต่อกันนาน 10 ปี โดยที่เจ้าของที่ดินเดิมไม่มาสนใจเลย คนๆ นั้นก็จะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเลย
ถ้าดูกันเผินๆ กฎหมายนี้ สร้างต้นทุนให้กับเจ้าของที่ดินอย่างแน่นอน เพราะต้องคอยตรวจสอบและใช้ประโยชน์จากที่ดินตัวเอง
แต่เป้าหมายของกฎหมายก็มีอยู่ นั่นก็คือ รัฐต้องการให้ประชาชน นำทรัพยากรต่างๆ ไปใช้อย่างเกิดประโยชน์ อย่างที่ดินที่กล่าวไป ที่เป็นทรัพยากรจำกัดด้วย ก็มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงได้มีการออกกฎหมายนี้มา
จากเนื้อหาส่วนนี้ เราก็จะเห็นว่า บางครั้งกฎหมายก็ออกมาสร้างต้นทุนให้กับบางคนได้เช่นกัน แต่ก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคม
1
อย่างไรก็ดี คำว่าประโยชน์สูงสุดของสังคม ก็ยังขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศค่อนข้างมาก อย่างในเรื่องวัคซีนเอง ก็เป็นโจทย์ใหญ่กับประเทศที่กำลังพิจารณาการบังคับให้ฉีดวัคซีนว่า
สิ่งนี้คือ ประโยชน์สูงสุดของสังคมที่ได้รับการพิสูจน์จากข้อมูลต่างๆ ชัดแจ้งแล้วหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วกฎหมายข้อนี้อาจจะควรผ่านการทำประชามติจากคนทั้งประเทศ ไม่ควรทำผ่านรัฐสภา ซึ่งก็ต้องจับตามองกันว่า สุดท้ายเรื่องนี้จะสรุปออกมาหน้าไหน
แล้วท่านผู้อ่านคิดเห็นว่า ควรมีการบังคับฉีดวัคซีนไหม? แบ่งปันความคิดเห็นกันได้นะครับ
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
https://www.investopedia.com/terms/a/adverse-possession.asp
https://www.imf.org/en/Publications/WP/Issues/2021/05/06/Who-Doesnt-Want-to-be-Vaccinated-Determinants-of-Vaccine-Hesitancy-During-COVID-19-50244
https://www.bbc.com/future/article/20210720-the-complexities-of-vaccine-hesitancy
https://www.theguardian.com/commentisfree/2021/nov/22/austria-vaccine-mandates-europe-unvaccinated
https://www.theguardian.com/world/2021/nov/30/austria-pushes-on-with-plan-for-mandatory-covid-vaccines
https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/germanys-scholz-supports-mandatory-vaccines-by-end-feb-sources-2021-11-30/
https://www.investopedia.com/terms/e/externality.asp
covid19
ฉีดวัคซีน
omicron
15 บันทึก
14
4
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economics Outside The Box
15
14
4
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย