Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
13 ธ.ค. 2021 เวลา 00:17 • ความคิดเห็น
Cancel Culture: เมื่อตัวต้นของศิลปินถูกนำมาใช้ตัดสินผลงาน
เป็นเรื่องที่สร้างการถกเถียงกันอย่างมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ ว่า “เราควรตัดสินผลงานของศิลปินจากตัวตน หรือ สิ่งที่เขาเคยทำหรือเปล่า?”
ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป มีศิลปินและคนดังหลายคนที่ได้เจอเข้ากับประสบการณ์ ที่พวกเขาถูกแบนจากแฟนคลับจำนวนมาก จากสิ่งที่พวกเขาเคยทำ ซึ่งการแบนศิลปินแบบนี้ ถูกเรียกว่า “การคว่ำบาตรศิลปิน (Cancel Culture)”
แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็ คือ ผลลัพธ์ที่ตามมาจากการถูกคว่ำบาตรของศิลปินแต่ละคน ก็ไม่ได้เหมือนกันสะทีเดียว
ในบทความนี้ เราจึงจะพาผู้อ่านทุกท่านไปดูกันว่า เรื่องราวการคว่ำบาตรศิลปิน มันมีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือเปล่า? และมันมีขอบเขตของการกระทำหรือไม่?
📌 การคว่ำบาตร คือ การลงโทษจากสังคมต่อคนดังที่ทำผิด
ในมุมมองของผู้ที่สนับสนุนการคว่ำบาตรศิลปินหลายคนบอกว่า “การคว่ำบาตรศิลปินเป็นการสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจให้กับคนที่ทำผิด” ซึ่งหลายกรณีในอดีต ก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริง
กรณีศึกษาที่โด่งดังกรณีหนึ่งคือ เรื่องราวฉาวโฉ่ของอดีตโปรดิวเซอร์และผู้ร่วมก่อตั้งค่ายหนังชื่อดังอย่าง “ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (Harvey Weinstein)” ที่ถูกลงโทษในคดีการล่วงละเมิดทางเพศ
โดยในตอนนั้น เรื่องราวของเขาถูกเปิดโปงขึ้นมา ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ในประเด็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิง ในแฮชแท็ก “#MeToo” ที่ได้กระตุ้นให้คนจำนวนมากกล้าออกมาพูดถึงประสบการณ์ในอดีตของตน
ซึ่งเรื่องของฮาร์วีย์ก็ถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะว่า มันมีกระแสข่าวที่บอกว่าฮาร์วีย์ได้มีพฤติกรรมแบบนี้มายาวนานเกือบ 30 ปีแล้ว
แต่ก่อนหน้านี้ ก็ไม่มีใครกล้าออกมาพูดอย่างเปิดเผย จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวข้างต้น ซึ่งสร้างกดดัน จนทำให้ทางบอร์ดในบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งเอง ได้ตัดสินใจปลดเขาออกจากบริษัท ก่อนที่ต่อมา เขาจะถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงและต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลาถึง 21 ปี
อีกหนึ่งนักแสดงที่ถูกคว่ำบาตรจากการเคลื่อนไหว MeToo เช่นกัน ก็คือ “เควิน สเปซีย์ (Kevin Spacey)” นักแสดงนำในซีรี่ย์ชื่อดัง “House of Cards” และเป็นเจ้าของรางวัลทางการแสดงอีกหลายรางวัล
ที่หลังจากมีกระแสข่าวว่า เขาได้เคยทำการล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายอายุ 18 ที่บาร์แห่งหนึ่ง ก็ทำให้เขาถูกถอดออกจากการแสดงและงานทุกอย่างแทบจะทันที และเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวว่า ทางสตูดิโอผู้ผลิตซีรี่ย์ House of Cards ได้ทำการฟ้องเรียกค่าเสียหายกับสเปซีย์เป็นมูลค่าเกือบ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย
ซึ่งทางเรามองแค่กรณีของสองคนดังข้างต้น เราก็อาจจะเข้าใจว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรศิลปิน จะสร้างต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ให้กับคนดังได้เสมอ
แต่แท้จริงแล้วมันก็มีกรณีของคนดังบางคน ที่เราอาจจะไม่ได้เห็นผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากกระแสเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรมากนัก
📌 คะแนนของผลงาน + คะแนนทางด้านจริยธรรม = มาตรฐานการตัดสิน?
หนึ่งในกรณีตัวอย่างของคนดังที่มีการเรียกร้องให้ถูกคว่ำบาตรผลงาน แต่กลับมียอดขายผลงานสูงขึ้นแทน คือ ราชาเพลงป๊อปผู้ล่วงลับอย่าง “ไมเคิล แจ๊คสัน (Michael Jackson)”
โดยในปี 2019 หลังจากที่ไมเคิลเสียชีวิตไปแล้ว ได้มีหนังสารคดีชื่อว่า “Leaving Neverland” ที่เน้นถ่ายทอดเรื่องราวของชายสองคน ที่ได้กล่าวว่า พวกเขาเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไมเคิล แจ็คสัน
ซึ่งมันก็ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า ความจริงเป็นอย่างไร เนื่องจากตัวจำเลยอย่างไมเคิลเสียชีวิตไปแล้ว แต่หนังสารคดีเรื่องนี้ก็ยังก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรผลของราชาเพลงป๊อปผู้นี้
แต่กลายเป็นว่า หลังจากสารคดีออกมา ยอดเพลงของไมเคิลกลับถูกเปิดในสตรีมมิ่งต่างๆ สูงขึ้น และหลายเพลงก็กลับเข้ามาติดชาร์ทเพลงทั้งในอเมริกาและอังกฤษอีกครั้ง
นำมาซึ่งคำถามในใจของหลายคนว่า กรณีแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร? คนมีวิธีการให้คะแนนผลงาน กับ คะแนนทางด้านจริยธรรม รวมกันหรือแยกกัน และมาตรฐานตรงไหนที่ตัดสินว่า ใครควรได้รับการสนับสนุนต่อไป
อีกหนึ่งคนดัง ที่เคยมีกระแสแบนผลงานของตัวเธอ ก็คือ นักเขียนนวนิยายเยาวชนชื่อดังชาวอังกฤษ อย่าง “เจ. เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling)” ในประเด็นเรื่องผู้หญิงข้ามเพศ
ซึ่งต้นเหตุของเรื่องนี้ มันเกิดจากการที่ในหนังสือเอกสารแสดงตัวตนของหลายประเทศ ในช่องที่ระบุเพศ จะสามารถเลือกที่จะระบุเป็น “X” แทนการลงเป็นชายหรือหญิงได้ และเรื่องนี้ก็ถูกนำมาพิจารณาว่าจะนำมาใช้กับประเทศอังกฤษไหม
ซึ่งทาง โรว์ลิง มองว่า ไม่ควรที่จะเปิดโอกาสให้ทำแบบนั้น เพราะ เธอมองว่าเรื่องของเพศสภาพตามชีววิทยา (Sex) เป็นคนละเรื่องกับเพศสภาพที่ปัจเจกคิดว่าตนอยากเป็น (Gender)
โดยนักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เธอมองว่า การทำแบบนี้เป็นการปกป้อง “บุคคลที่มีเพศสภาพเป็นหญิงตามชีววิทยา” โดยยกตัวอย่าง เช่น การเข้าห้องน้ำสาธารณะ ที่ถ้าเปิดโอกาสให้คนที่เพศสภาพทางชีววิทยาเป็นชาย แต่มีความต้องการที่จะเป็นหญิงใช้ได้ ก็อาจจะมีคนฉวยโอกาสตรงนี้ได้
การออกมาแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ ก็สร้างความไม่พอใจกับกลุ่มแฟนคลับของเธอ โดยเฉพาะกลุ่มทรานส์ ที่มองว่า เจ. เค. ไม่ยอมรับการมีอยู่ของพวกเขาหรือเปล่า? จนเกิดเป็นกระแสการคว่ำบาตรศิลปินตามมา
(เกร็ดเล็กน้อย: ในหนังสือของเจ. เค. มีการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของชายรักชายด้วย ระหว่างกรินเดลวัลกับดัมเบิลดอร์ แต่ไม่เคยมีการเล่าถึงตัวละคร “ทรานส์” หรือผู้ชายและผู้หญิงข้ามเพศเลย)
อย่างไรก็ดี แม้จะมีกระแสการคว่ำบาตร หนังสือเล่มใหม่ของ เจ. เค. ที่เปิดตัวเมื่อปีก่อน ก็ยังสามารถขึ้นเป็นหนังสือขายดีที่สุดในอังกฤษได้ในสัปดาห์ที่เปิดตัวอยู่ดี ด้วยสถิติ 65,000 เล่ม
📌 ขอบเขตของการแบนอยู่ตรงไหน?
เมื่อประมาณเดือนก่อน มีกระแสข่าวอื้อฉาวของดาราเกาหลีที่มีซีรี่ย์ที่โด่งดังตอนนั้นออกมา คนนั้นก็คือ “คิมซอนโฮ”
ในตอนแรก ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปกันอย่างมากมาย มีการปลดตัวนักแสดงหนุ่มออกจากรายการ และสปอนเซอร์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน กระแสก็ถูกตีกลับ นักแสดงหนุ่มก็กลับมาอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นไปแล้วก็ย้อนกลับมาไม่ได้
มีอีกหนึ่งเรื่องราว เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนธรรมดาที่เป็นคนขับรถขนส่งชื่อว่า “เอมมาเนล คาฟเฟอร์ตี (Emmanuel Cafferty)” ที่เขาถูกไล่ออกจากการโดนแกล้ง
โดย เอมมาเนล ถูกหลอกโดยชายอีกคนที่ขับรถคู่กันมา ให้ทำสัญลักษณ์มือที่เหมือนลักษณะของ “OK (นิ้วชี้ติดกับนิ้วโป้ง)” และก็โดนถ่ายรูปเก็บไป แต่ที่แย่คือ สัญลักษณ์ดันมีความหมายหนึ่ง คือ การแสดงตนสนับสนุนความเชื่อในอำนาจของคนขาว (White Supremacy)
หลังจากนั้นไม่นาน ภาพที่เขาทำสัญลักษณ์มือก็ถูกโพสต์ มีคนเข้ามาต่อว่าพอสมควร ทำให้เขาถูกไล่ออกจากงานทันที
จากเรื่องราวทั้งสอง เราจะเห็นว่า มันมีต้นทุนเกิดขึ้นกับคนทั้งสองคน ซึ่งมันไม่ใช่แค่ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่เราพูดถึงกันในบทความนี้เท่านั้น แต่มันยังมีต้นทุนทางสังคมที่เข้ามากดดัน และอาจจะทำร้ายคนที่ถูกแบนด้วย
แน่นอนว่า การเลือกซื้อสินค้าหรือไม่ซื้อสินค้าของศิลปิน โดยพิจารณาจากตัวตนของเจ้าของผลงาน ย่อมเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้
แต่ก็ตระหนักอยู่เสมอว่า การกระทำการแบนคนอื่นก็อาจจะต้องมีขอบเขต และก็ต้องคิดด้วยว่าการกระทำเหล่านี้ อาจจะนำมาไปสู่วัฒนธรรมการตัดสินบุคคล โดยไม่ผ่านการไตร่ตรองให้ดีก่อนก็ได้
ซึ่งบางครั้งมันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่คนที่มีชื่อเสียงอย่างเดียว แต่มันอาจจะสร้างการบูลลี่ในสังคมกับคนทั่วไปด้วยก็ได้
และถึงแม้บางครั้ง การตัดสินใจแบนจะผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว เราก็ดันเห็นอีกว่า การตัดสินใจของมนุษย์ก็อาจจะไม่ได้มีความคงเส้นคงวา ในกรณีหนึ่งบอกว่า แบบนี้ทำได้ แต่พออีกคนทำกลับบอกว่า ไม่ได้
เพราะว่า ถ้านำการเคลื่อนไหวนี้ในลักษณะแบบนี้ ไปใช้แบบขาดความตระหนัก สุดท้ายมันอาจจะดาบสองคม ที่ทำร้ายสังคมมากกว่าที่จะช่วยทำให้มันดีขึ้นก็ได้
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/06/stop-firing-innocent/613615/?fbclid=IwAR2Ja7c-Xktv6lVawAh9T2S1WLTqEx_n3NlN_zLNrXjsCm9peilAxd5LMpg
https://freakonomics.com/podcast/nsq-art-and-artist/?fbclid=IwAR2Y-4f2kVnjQcxiVbPxuOXBeOZjjY0CdjoqdWbNYUVCtKTc3gpBHl15VRo
https://www.vox.com/culture/2019/12/30/20879720/what-is-cancel-culture-explained-history-debate?fbclid=IwAR1dqVOgPEaF45ZeKl919uGcc-DkaYF505FbMOPdkeKf2fEkfNthAoaXduI
https://theconversation.com/friday-essay-separating-the-art-from-the-badly-behaved-artist-a-philosophers-view-116279?fbclid=IwAR04t0tMOKiDMCgpVGte8u5HfOYLL4JiEFCQ9Zi1jLMpUTmZ5JBvjPbZPQI
https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/07/cancel-culture-and-problem-woke-capitalism/614086/?fbclid=IwAR2BVPdA_oUbTb77Ek58xNbVby5JtOwVoQ8Bj6M1kQ9Cn5QeySqeCpyt8IU
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-59378553
https://en.wikipedia.org/wiki/Leaving_Neverland#Aftermath
https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/music/news/michael-jackson-album-charts-leaving-neverland-child-sex-allegations-a8815081.html
https://www.nbcnews.com/feature/nbc-out/j-k-rowling-accused-transphobia-after-mocking-people-who-menstruate-n1227071
https://www.theguardian.com/business/2020/jul/21/jk-rowling-book-sales-unaffected-by-transgender-views-row
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-41594672
เศรษฐศาสตร์
พฤติกรรม
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
3 บันทึก
6
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economics Outside The Box
3
6
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย