9 ธ.ค. 2021 เวลา 09:54 • สุขภาพ
"พ่อ ไม่ใช่พ่อคนเดิม ที่เราเคยรู้จัก"
1
ประโยคหนึ่งที่ลูกสาวคนโตได้เอ่ยขึ้นมา ระหว่างพูดคุยกัน
เป็นอากงอายุมากพอควร ก่อนหน้านี้เป็นคนใจดี อารมณ์ขัน สร้างครอบครัวมาจนมีฐานะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ด้วยอายุที่มาก กับช่วงหนุ่มๆที่ทำงานหนัก ใช้ร่างกายสมบุกสมบัน จึงทำให้ความเสื่อมตามกาลเวลามาถึง อากงมีภาวะสมองเสื่อม ทำให้นอนติดเตียง ประมาณ 3-4 เดือนมานี้ อากงเข้ารพ.บ่อยมากขึ้น เนื่องจากมีการติดเชื้อ ทำให้อาการสมองเสื่อมทรุดหนักลงมาก ถึงจุดที่ไม่พูดคุย ซ้ำร้ายกว่านั้น อากงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คือทำร้ายคนอื่น ชก กัด ถุยน้ำลายบ้าง ไม่ทานอะไรเลย และร้องเสียงดังโวยวายเหมือนคนโกรธตลอดเวลา... เป็นความทุกข์ทรมานของครอบครัว ที่ต้องเห็นคนที่เขารัก กลายเป็นคนแบบนี้ ไม่ว่าตั้งใจ หรือไม่ก็ตาม
2
วันที่เข้าไปดูอากงที่บ้าน อากงใส่ปลอกมือ เพื่อป้องกันการชกทำร้ายคนดูแล อากงมีคิ้วขมวด มองตาขวาง ตอนเข้าไปตรวจร่างกาย ทุกคนต้องจับมืออากง เพื่อป้องกันไม่ให้อากงมาชกหมอ
แต่วันนั้นก็ไม่โดนอากงชกแต่อย่างใด
ผลการตรวจร่างกาย การประเมิน เชื่อว่า อากงไม่สุขสบายตัวแน่นอน จึงถามคนดูแลก็พบว่าอากงเมื่อก่อนมักบ่นปวดเข่าข้างขวา ซึ่งอากงจะหดเกร็งตลอดเวลา จากการประเมินทุกอย่างในวันนั้น จึงมั่นใจว่า อากงปวด....แต่อากงไม่สามารถบอกทุกคนได้ว่า “ฉันกำลังปวด” เพราะสมองที่เสื่อมถอยลง ทำให้ไม่สามารถพูดออกมาให้คนอื่นรับรู้ได้ อย่างไรก็ดี อากงได้แสดงอาการบางอย่างออกมาแล้ว
2
ดังนั้น จากประสบการณ์หมอดูแลประคับประคองคนไข้ระยะท้าย จึงได้สื่อสารกับญาติ และให้ยามอร์ฟีนรูปแบบน้ำเพื่อลดอาการปวด ขนาดยาที่ให้เป็นขนาดน้อยๆ ให้ตามการประเมินที่ได้สอนให้คนดูแลดูว่า ถ้าเป็นแบบนี้ แปลว่าอากงปวด ถ้าไม่ปวดก็ไม่ต้องให้ยา
3
ผลคือหลังให้ยาไปได้ 2 วัน อากงร้องน้อยลงชัดเจน อากงไม่ชกใคร ไม่ถุยน้ำลายใส่ใคร ตาไม่ขวางเหมือนเดิม ดูสงบขึ้น หลับได้ดีขึ้น .... ครอบครัวทุกคนดีใจมากๆ ที่อากงดูไม่ก้าวร้าว และดูสุขสบายขึ้น ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ อากงสามารถกินน้ำเองได้ (จากที่ไม่ยอมให้อะไรเข้าปากเลยมา 1 เดือน)
การประเมินอาการปวดในคนไข้กลุ่มโรคสมองเสื่อมเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมต่างๆ มี score ที่ใช้ในการประเมินอาการ สิ่งหนึ่งที่ต้องทราบคือ คนไข้กลุ่มนี้ปวด แต่บอกเราไม่ได้เหมือนคนปกติ ดังนั้น ให้คิดในใจเสมอว่า อาการที่เป็น negative symptom ต่างๆนั้น เกิดขึ้นเพราะ เค้าปวด หรือเปล่า
1
บางคนอาจจะคิดว่า ให้มอร์ฟีน คนไข้เลยเคลิ้ม แล้วก็อารมณ์ดี... ซึ่งจริงๆไม่ใช่เลย เพราะยาที่ให้ขนาดน้อยมาก ไม่ได้ส่งผลถึงจิตใจ หรืออารมณ์ขนาดนั้น เป็นขนาดยาที่ใช้เพียงเพื่อลดความไม่สุขสบายทางกายให้กับคนไข้เท่านั้น
2
หรือบางคนอาจจะกลัวภาวะติดยา ซึ่งจริงๆ แล้วยามอร์ฟีนนี้ ถ้าให้ตามอาการไม่สุขสบายที่เกิดขึ้น คนไข้จะไม่ติด การเสพติด จะเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาโดยที่ไม่มีอาการทางกาย
1
หลังจากดูแลอากง อากงใช้ยามอร์ฟีนน้ำ อยู่เพียงวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละน้อยๆเท่านั้น ก็ทำให้อากงไม่หงุดหงิด คิ้วไม่ขมวด ไม่ร้องโวยวาย ไม่ตบตีใคร แม้จะไม่สามารถทำให้อากงกลับมาพูดคุยได้ หรือขยับขาข้างที่ปวดได้ แต่อย่างน้อย อากงก็สบายตัวขึ้นมาก
1
ดังนั้น ใครที่มีโอกาสได้ดูแล ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการสื่อสาร ต้องคิดเสมอว่า “ไม่พูด ไม่ได้แปลว่าไม่รู้สึกปวด” นะคะ
ปล. อาการก้าวร้าวในผู้ป่วยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ใช่เกิดจากอาการปวดเท่าน้ัน
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา