Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
God Journey (การเดินทางของเหล่าพระเจ้า)
•
ติดตาม
10 ธ.ค. 2021 เวลา 03:43 • หนังสือ
✴️ บทที่ 8️⃣ เปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้น ✴️ (ตอนที่ 2)
การเปลี่ยนโลกไม่จำเป็นต้องจัดตารางเวลาหรอกครับ สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ขอให้เริ่มทำต่างหาก หากคำกล่าวที่ว่าเดินทางหมื่นลี้เริ่มที่ก้าวแรกเป็นความจริงแล้วละก็ ก้าวแรกของเราคงต้องเป็นการปลดปล่อยความกลัวจากหัวใจ ปล่อยความรู้สึกว่าฉันตัวคนเดียวในโลกทิ้งไป แล้วเริ่มต้นฝึกฝนการหยิบยื่นน้ำใจไม่ว่าจะตั้งใจทำหรือเผอิญได้ทำ ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่หรือเรื่องจ้อยก็ตาม และขอให้ทำทุกๆวันเถอะครับ
การเปลี่ยนโลกทั้งโลกจากเนื้อนิสัยแห่งความรุนแรง การแก่งแย่งชิงดี จากความแค้นเคียดเกลียดชังที่เราเจอในวันนี้จะไม่มีทางทำได้แน่หากอาศัยแรงของคนที่ตื่นรู้เพียงไม่กี่คน ต่อให้พวกเขาเป็นผู้นำโลกที่บารมีล้นฟ้าก็ตามที การกระทำเปี่ยมน้ำใจ มากด้วยเมตตาธรรมที่แบ่งปันแก่กันระหว่างคนต่อคนและกลุ่มเล็กๆวันแล้ววันเล่าแบบนี้ต่างหาก ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่เปี่ยมด้วยความรัก มากน้ำใจกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้ ผู้คนทั้งหลายจำต้องเข้าใจเสียทีว่าคนเราเกิดมาเท่ากัน เป็นคนเหมือนกัน และต่างก็พยายามสู้ชีวิตเพื่อจะพบความสงบร่มเย็น ความสุขใจและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทุกวี่วันเหมือนๆกันทั้งสิ้น เราจงหยุดรบราฆ่าฟันกันเสียทีเถิด
ลูกหลานของเราเฝ้ามองดูเราใกล้แค่นี้เอง พวกเขาหล่อหลอมตัวเองให้เป็นคนตามแบบที่เขาเห็นมา คือเห็นพฤติกรรม เห็นค่านิยม และเห็นจากทัศนคติของผู้ใหญ่อย่างเราเอง ถ้าพวกเราเป็นคนรู้จักแต่เกลียด ใจคอรุนแรงเสียแล้ว เขาก็จะเป็นแบบนั้นตามเรา ภารกิจอันใหญ่ยิ่งที่สุดของพวกเราคือจงสอนลูกหลานให้รู้จักค่านิยมที่ถูกที่ชอบและมีความประพฤติชอบธรรมเสียตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็กๆ ด้วยว่าเด็กตัวน้อยเหล่านั้นก็คอยดูเราอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน เด็กน้อยรู้ความมากกว่าที่เราคิดเยอะ
ผมยังจำเรื่องที่เคยอ่านมานานแล้วได้ เป็นเรื่องของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันชื่อเผ่าโฮปี เขามีระบบการเรียนการสอนว่าหากนักเรียนคนไหนตอบคำถามที่ครูถามเขาในชั้นไม่ได้ เพื่อนนักเรียนคนอื่นก็ไม่ควรยกมือตอบแทนโดยเด็ดขาดเพราะถือเป็นการหยาบคายไร้อายธรรมยิ่งนักที่ไปหยามเกียรตินักเรียนคนแรกให้ได้อาย ไม่สำคัญเลยที่ครูจะประทับใจในความฉลาดของเราหรือไม่ แต่การยกตัวเองขึ้นด้วยการเหยียบผู้อื่นนั้นเขาถือว่าป่าเถื่อนเลยทีเดียว
ในโรงเรียนทันสมัยในโลกตะวันตกอันแสน “ศิวิไลซ์” เช่นพวกเรา เราต้องได้เห็นมือชูสลอนเป็นดอกเห็ด ดั่งฉกฉวยโอกาสจากนักเรียนผู้โชคร้ายไม่รู้คำตอบแน่นอน เราถูกสั่งสอนมาให้ฉวยกำไรเอาจากความสูญเสียของผู้อื่น ให้เหยียบข้ามหัวคนล้มเพื่อไปให้ถึงจุดสูงสุด เราโดนสอนมาให้เป็นคนชอบชิงดีชิงเด่น ไร้น้ำใจ และไม่ต้องนำพาความรู้สึกของคนที่เราเหยียบย่ำข้ามหัวเขาไป ลืมไปได้เลยว่านักเรียนที่ไม่รู้คำตอบจะอับอายสักปานใด โอกาสที่ทำให้ครูประทับใจมาถึงตัวแล้วนี่นา
นี่เลยครับเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง แล้วเราก็โดนปลูกเพาะเมล็ดพันธุ์นี้ตั้งแต่เรายังเด็กเล็กนัก เราสามารถฟื้นตื่นมาเข้าใจธรรมชาติแห่งวัชพืชที่ขึ้นรกในตัวเราแล้วถอนรากมันทิ้งเสียได้ ทว่ากระบวนการนี้ต้องอาศัยการรับรู้ธรรมชาติในตัวเราที่ลึกซึ้งกว่า และกระบวนการนี้ขอบอกว่าไม่ง่ายเลยครับ
หลายสิบปีก่อนผมสอนคอร์สเภสัชวิทยา (𝗽𝗵𝗮𝗿𝗺𝗮𝗰𝗼𝗹𝗼𝗴𝘆) ที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์และยาเสพติดให้นักศึกษาแพทย์ปี 𝟮 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไมอามีได้เรียนกัน นักศึกษาลงเรียนวิชานี้กันหมดทั้งชั้น
ผมเองเป็นอาจารย์ที่สนใจว่าศิษย์จะได้รับความรู้อะไรมากกว่าจะได้เกรดเท่าไหร่ ก็เลยตัดสินใจยกความกดดันในการสอบปลายภาคออกจากคอร์สนี้ให้หมดเลย ความเชื่อส่วนตัวของผมคือลูกศิษย์น่าจะตั้งใจเรียนเนื้อหาวิชาได้ดีกว่าถ้าพวกเขากลุ้มเรื่องสอบให้น้อยลง
ผมถูกมหาวิทยาลัยเรียกตัวให้ไปช่วยออกข้อสอบปลายภาคซึ่งต้องมีคำถาม 𝟭𝟮𝟬 ข้อ กับเขียน 𝗲𝘀𝘀𝗮𝘆𝘀 อีก 𝟮-𝟯 เรื่อง ผมประกาศให้ ลูกศิษย์รู้ว่าในตารางเรียนครั้งสุดท้ายก่อนสอบปลายภาคผมจะเฉลยคำถามกับหัวข้อ 𝗲𝘀𝘀𝗮𝘆𝘀 ที่จะปรากฏในข้อสอบอีก 𝟭 อาทิตย์ถัดไปให้พวกเขารู้ก่อน แล้วเราจะอุทิศตารางสอนสุดท้ายครั้งนั้นช่วยอภิปรายหาคำตอบกัน ผมคิดว่าลงทุนใช้วิธีนี้นอกจากลูกศิษย์จะได้เข้าใจเนื้อหาวิชา ได้ทบทวนก่อนสอบด้วยแล้วยังมีลุ้นเกรด 𝗔 กันยกชั้นอีกต่างหาก
ผมทำตามแผนเปี๊ยบ
พอผมเริ่มตรวจข้อสอบปลายภาคเพื่อให้เกรดก็เล่นเอาผมอึ้งสนิท ผมคาดหวังเต็มร้อยว่าลูกศิษย์ทุกคนต้องได้คะแนนเกือบเต็มแน่ๆ ที่ไหนได้ผมกลับเจอกราฟคะแนนรูประฆังซึ่งเป็นแผนภูมิคะแนนฉบับมาตรฐานสากลโลกคือเปอร์เซ็นต์นักเรียนที่ได้ 𝗔 น้อยมากพอๆกับเปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่ได้ 𝗗 หรือ 𝗙 ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นจำนวนสูงสุดคือตกมาอยู่ตรงกลางได้แก่เกรด 𝗕 กับ 𝗖 เป็นไปได้อย่างไรครับเนี่ย❓ ผมเป็นคน ‘ให้คำตอบ’ ตั้ง 𝟭 อาทิตย์ก่อนสอบเสียด้วยซ้ำไป
ลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งเป็นลูกสาวเพื่อนที่ทำข้อสอบได้ยอดเยี่ยมสมบูรณ์มาก ผมถามเธอด้วยอาการยังมึนงงว่าทำไมมันกลายเป็นแบบนี้ไปได้
“ก็พวกเค้าไม่เชื่ออาจารย์หมอน่ะสิคะ” ลูกศิษย์สาวตอบผม “เค้าคิดว่าอาจารย์หลอกแหงๆ อาจารย์ต้องเอาคำถามกับคำตอบผิดๆมาบอกแน่เลย แล้วพอสอบจริงอาจารย์หมอก็จะเปลี่ยนข้อสอบซะ” โชคดีแท้ๆที่เธอเชื่อผม
ลูกศิษย์ผมทั้งชั้นถูกวัฒนธรรมจัดตั้งมาเสร็จแล้วว่าให้เป็นคนที่ถ้าใครมาทำดีด้วยต้องระแวงไว้ก่อน ไม่ยอมไว้ใจมนุษย์ และแข่งเรียนกันมากอย่างไม่น่าเชื่อ แล้วนักเรียนทั้งหมดนี่แหละครับที่กำลังจะมาเป็นแพทย์ของเรา...หมอซึ่งจะมา ‘รักษาเยียวยาเรา’ ในทศวรรษหน้านี้แล้ว เป็นหมอเยียวยา (𝗵𝗲𝗮𝗹𝗲𝗿𝘀) ที่มีนิสัยระแวงคน ไม่ไว้ใจโลกไม่ไว้ใจคน และแข่งกันขึ้นมาใหญ่อย่างเดียว
วัฒนธรรม “ศิวิไลซ์” ของเรานี้กำลังทำให้เราซ้ำใจจริงๆ หากอยากจะเปลี่ยนโลกให้ได้ดั่งใจ พวกเราคงต้องเริ่มต้นใหม่ที่รุ่นลูกหลานแล้วละครับ แสดงให้เขารู้ถึงความสำคัญของความรักความปรานี ของศรัทธาและความหวัง ของความเมตตาและอหิงสา ของการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยการให้เกียรติและนับถือกัน ไม่ใช่ปฏิบัติเหมือนกับว่าอีกฝ่ายเป็นแค่ศพใช้เหยียบข้ามไปหาถนนสายที่มุ่งสู่ความสำเร็จทางวัตถุสถานเดียว
🛑 ไม่ว่าจะไปหาเกจิอาจารย์คนไหน หรือพึ่งประธานาธิบดี/นายกสมัยใด ก็กระทำเรื่องนี้แทนเราไม่ได้หรอกครับ ความรับผิดชอบมันอยู่ในกำมือเราแต่ละคนนี่เอง ในการพบหน้าผู้คนตัวต่อตัววันต่อวันนี้แหละ ในการยื่นมือไปหาแล้วช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้มาก ด้วยพฤติกรรมจากความใจดีเมตตา โดยไม่ต้องมัวนึกว่าจะมีอะไรตอบแทนมาหาเราแม้แต่สิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เพื่อจะได้ลงมือทำโดยไม่ยอมเห็นแก่ตัวเลย ด้วยวิธีนี้เท่านั้นครับ เราจึงจะสามารถเปลี่ยนโลกได้
✨ หากคุณยังไม่มีโอกาสได้ทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่แล้วละก็ จงหันมา “กระทำเรื่องเล็กน้อยด้วยวิธีที่ยิ่งใหญ่”★ แทนเถอะนะครับ ✨
★ เป็น 𝗾𝘂𝗼𝘁𝗮𝘁𝗶𝗼𝗻 – คำคมยอดนิยมของแม่ชีเทเรซ่า : ผู้แปล
(มีต่อ)
หนังสือ
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
𝗠𝗲𝘀𝘀𝗮𝗴𝗲𝘀 𝗙𝗿𝗼𝗺 𝗧𝗵𝗲 𝗠𝗮𝘀𝘁𝗲𝗿𝘀
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย