14 ธ.ค. 2021 เวลา 03:38 • หนังสือ
✴️ บทที่ 8️⃣ เปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้น ✴️ (ตอนที่ 3)
◾ จงปฏิเสธความรุนแรงและความเกลียดชัง ◾
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
เราไม่มีสิทธิ์ตัดชีวิตคนให้จบก่อนที่พวกเขาจะใช้กรรมจนหมดสิ้น...พวกเราไม่มีสิทธิ์เลย พวกเขาจะรับทุกข์จากผลเวรกรรมที่ทำไว้หนักกว่าเสียอีกถ้าพวกเราปล่อยให้เขาอยู่ต่อไป ถึงเวลาที่พวกเขาตายไปสู่อีกมิติหนึ่ง พวกเขาจะไปรับทุกข์ที่นั่นเอง พวกเขาจะถูกปล่อยให้อยู่ในสภาวะร้อนรุ่มไม่มีความสุข จะไม่พบความสงบเลย แล้วก็จะถูกส่งกลับมาเกิด แต่ชีวิตในชาติใหม่นี้จะตกระกำลำบากมาก พวกเขาจะต้องมาทำความดีใช้คืนคนที่เขาเคยทำร้ายด้วยความอยุติธรรมมาก่อน มีแต่พระเจ้าจึงจะลงโทษพวกเขาได้ ไม่ใช่เรา และพวกเขาก็จะได้รับโทษแน่นอน
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
ความรุนแรงเป็นอะไรที่มากกว่าการใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้บาดเจ็บ ความรุนแรงรูปอื่นๆอาจยังความพินาศย่อยยับเสียยิ่งกว่าทำร้ายร่างกายต่างๆนานาเสียอีก มันอาจจะดูเป็นเรื่องเบาบางมากอย่างการแยก “เขา” แยก “เรา” ก็เป็นการแสดงออกของความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน การที่เรามุ่งแต่จะไปที่ข้อแตกต่างระหว่างคนด้วยกัน แทนที่จะเลือกมองว่าอะไรบ้างที่เราเหมือนกันนั้นมีแต่จะนำพาเราไปสู่การใช้ความรุนแรงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ช้าก็เร็ว
เรากลัว “คนอื่น” เราพุ่งการเกลียดตัวเอง (𝘀𝗲𝗹𝗳-𝗵𝗮𝘁𝗿𝗲𝗱) การทำอะไรล้มเหลวและผิดพลาดไปลงที่คนอื่น เราโทษพวกเขาว่าทำให้เรามีปัญหาแทนที่จะมองย้อนกลับเข้าไปดูตัวเอง แล้วเราก็ทุ่มเทความพยายามแก้ปัญหาของเราด้วยการไป “แก้” พวกเขา ซึ่งมักจะแก้ด้วยวิธีรุนแรงเสมอ
บรรดาสโมสรคันทรีคลับที่จำกัดสมาชิกอย่างเคร่งครัดนั่นละครับตัวรุนแรงเลย แม้ว่าท่านสมาชิกจะไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรไปมากกว่าพัตต์กอล์ฟบนสนามสวยเขียวขจียามหน้าร้อนก็ตามนั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือเจตนารุนแรง เพราะมันมีการแยก "เรา" ออกจาก "เขา" คนอื่นพวกอื่นไม่ใช่คนของเราพวกของเรา คุณไว้ใจพวกเขาไม่ได้หรอก พวกนั้นนะคบแล้วอันตรายนะต้องกลัวไว้ก่อน
ยามใดที่เรายื่นมือออกไปหาคนที่เขาดูเหมือนแตกต่างจากเราด้วยความอาทรและความเมตตา เท่ากับว่าเมื่อนั้นเราได้เอาชนะความกลัวของเราและแทนที่ด้วยความรักแล้วละครับ เราปราบความรุนแรงลงราบคาบ เราได้โอบกอดพรหมลิขิตของเราไว้แล้ว
ผมเคยได้ยินคนเล่าว่า เวลาที่นักกวีหญิง มายา แองเจลลู★ ได้ยินคนเอ่ยอ้างถึงคนกลุ่มอื่นในทางอคติเมื่อไหร่เธอจะพูดเสียงเข้มขึ้นทันที “หยุดได้แล้ว❗” ที่ไหนมีคนเล่าเรื่องตลก ออกความเห็น หรือเล่าอะไรก็ตามที่ส่อไปทางอคติ คุณจะได้ยินกระแสเสียงสง่าเปี่ยมอำนาจของเธอลอยข้ามห้องคนแน่นๆในงานเลี้ยงดินเนอร์ปาร์ตี้ทันที
ถือว่าเป็นวิธีหยุดได้เยี่ยมมากเลยนะครับ ถ้าพวกเราพร้อมใจกันทำแบบเธอ ความเห็นลำเอียง อคติ ดันทุรังอย่างนี้คงจะลดหายลงไปเยอะ แต่การพูดว่า “หยุดได้แล้ว❗” ต้องใช้ความกล้าหาญมหาศาล การจะหยุดครอบครัวเรา เพื่อนเรา เจ้านายเรา และคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก ให้เลิกพฤติกรรมความโกรธได้นั้น จำเป็นต้องออกคำสั่งกันเลยครับ
แม้ว่าการทำอย่างนี้จะดูว่ายากเหลือเกิน แต่ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งว่าขณะที่เราแบ่งแยกคนอื่นว่าเขาแตกต่างจากเรา พวกเราต่างก็กำลังว่ายทวนน้ำไปตามกระแสแห่งรักด้วยกันหมดทุกรูปนาม ความรักเป็นฝ่ายบอกว่าเราทุกคนล้วนโยงใยผูกพันกันทั้งสิ้น เราต่างเสมอภาคเท่าเทียม และเราต่างก็เป็นสัตว์โลกเหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างจากกันและกันเลย
★ 𝗠𝗮𝘆𝗮 𝗔𝗻𝗴𝗲𝗹𝗼𝘂 (𝟭𝟵𝟮𝟴-𝟮𝟬𝟭𝟰) นักประพันธ์เจ้าของผลงานวรรณกรรมผิวดำอมตะ 𝗜 𝗞𝗻𝗼𝘄 𝗪𝗵𝘆 𝗧𝗵𝗲 𝗖𝗮𝗴𝗲𝗱 𝗕𝗶𝗿𝗱 𝗦𝗶𝗻𝗴𝘀 ซึ่งมาจากชีวิตจริงอันแสนขมขึ้นของเธอเอง เธอเป็นประหนึ่งอาจารย์และเพื่อนรักของโอปราห์ วินฟรีย์ เนื่องด้วยเธอเกิดมาเป็นเด็กผิวดำในรัฐทางใต้ที่เหยียดผิวคือเซนต์หลุยส์ ในปี 𝟭𝟵𝟮𝟴
หลังจากพ่อแม่แยกทางกันเธอย้ายไปอยู่อะคันซอส์กับยาย ช่วงกลางทศวรรษที่ 𝟯𝟬 เธอย้ายกลับไปหาแม่ที่เซนต์หลุยส์ ที่นั่น ปีนั้น มายาโดนแฟนของแม่ข่มขืนพรากพรหมจรรย์ของเธอไป เธอได้เล่าเรื่องการถูกข่มขืนนี้ให้คนในครอบครัวได้รับรู้ ผู้ข่มขืนเธอถูกจับติดคุกอยู่เพียง 𝟭 วันก็ได้รับการปล่อยตัว ทว่าหลังออกจากคุกได้ 𝟰 วันเขาก็โดนลุงของมายาฆ่าตาย มายาในวัย 𝟴 ขวบกลายเป็นใบ้อยู่เกือบ 𝟱 ปีหลังเหตุการณ์นี้ ในวัย 𝟭𝟳 เธอคลอดลูกชายชื่อ กาย อีกไม่นานต่อมายายเธอตาย ความทุกข์จากการสูญเสียยายส่งผลให้เธอทลายกำแพงตัวเอง เธอสาบานว่าจากนี้ไป เธอขอเลือกอยู่อย่างเต็มคนเต็มชีวิต
มายาเสียชีวิตเมื่อปี 𝟮𝟬𝟭𝟰 ด้วยอายุ 𝟴𝟲 ปี เธอประพันธ์นิยาย 𝟮𝟬 เรื่อง เป็นนักเขียนความเรียง (𝗲𝘀𝘀𝗮𝘆𝗶𝘀𝘁) กวีอาจารย์ เอ็นเทอร์เทนเนอร์ (บันเทิง) และเป็นผู้กำกับหนัง เมื่อโอปราห์ศิษย์รักสัมภาษณ์มายาล่าสุดในนิตยสารของโอปราห์เองชื่อ 𝗢 เธอถามมายาว่า ความมั่นใจของมายามาจากไหน มั่นใจที่ไม่ใช่แค่แสดงท่า หรือเป็นผู้หญิงมั่นอย่างที่นิยามกัน มายาตอบว่า :
“มีของขวัญมากมาย มีพรอยู่มากหลายจากหลายแหล่งที่มาจนฉันยกตัวอย่างเดียวคงไม่พอ เว้นแต่ว่าหนึ่งเดียวนั้นคือรัก ฉันไม่ได้หมายถึงรักที่ตามใจตัวเอง ฉันไม่ได้พูดถึงรักด้วยอารมณ์ และฉันไม่ได้พูดถึงรักที่เป็นรักแบบชู้สาวด้วย แต่ฉันกำลังพูดถึงสภาพจิตใจที่ส่งให้มนุษย์ฝันถึงพระเจ้าได้ ทำให้มันเกิดจริงได้ ฝันถึงภาพถนนสายทองคำอร่ามตาได้ สถานะทางจิตใจที่ส่งให้คน "ซึมทื่อ" สามารถจรดปากการายอักษรจากจิตวิญญาณได้ นั่นแหละคือรัก มันยิ่งใหญ่ไพศาลเสียยิ่งกว่าตัวฉันจะนึกฝันได้ อาจจะเป็นธาตุแท้ที่สร้างดวงดาวนับอนันต์ให้รักษาวิถีโคจรบนฟากฟ้าไว้จนบัดนี้ก็ได้ และรักเยี่ยงนี้แหละ ที่เข้าสู่ชีวิตฉันในหลากหลายหนทาง และมอบความมั่นใจเปี่ยมล้นในเรื่องชีวิต” : ผู้แปล
. . .
คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเพียงเพื่อจะได้บำบัดแล้วหาย หากอยากจะเชื่อก็ให้เชื่อว่าหลักการทั้งหมดของเวียนว่ายตายเกิดเป็นการเปรียบเทียบอุปมาก็ได้ (𝗺𝗲𝘁𝗮𝗽𝗵𝗼𝗿) ภาพที่เห็นจะชัดเจนเข้มข้นทุกรายละเอียดและมีผลทางการบำบัดจิตใจไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม
ฤดูใบไม้ผลิปี 𝟭𝟵𝟵𝟲 ผมไปออกรายการ 𝗠𝗮𝘂𝗿𝘆 𝗣𝗼𝘃𝗶𝗰𝗵 𝘀𝗵𝗼𝘄 ก่อนรายการจะทำการออกอากาศสด ผมสะกดจิตย้อนอดีตอาสาสมัครหลายชีวิตโดยมีกล้องถ่ายทำบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ หนึ่งในอาสาสมัครคือ จิม นักดนตรีวัยสี่สิบกว่าที่เคยเป็นอดีตทหารรบในสงครามเวียดนาม เขาโดนเกณฑ์อย่างไม่เต็มใจแล้วก็เกลียดการที่ต้องไปฆ่าใคร แต่เขาหมดหนทางเลือกและต้องฝืนใจไปเป็นทหารในสมรภูมิ
ผมไม่เคยเจอจิมมาก่อนหน้านี้เลย ผมสอบถามประวัติที่มาคร่าวๆ อธิบายว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และขอโทษอาสาสมัครที่ต้องให้กล้องมาถ่ายทำและแสงไฟเพียบ จิมบอกกับผมว่าเขาไม่เคยรับการสะกดจิตมาก่อน และไม่เคยเจอประสบการณ์ระลึกชาติกับตัวเองเลยแต่ก็เต็มใจจะลอง
แค่สองสามนาที่จิมก็จมลึกสู่ภวังค์สะกดจิตและเริ่มพบประสบการณ์ชาติที่แล้วที่แรงมาก กล้องและทีมโทรทัศน์ไม่อาจรบกวนสมาธิเขาได้เลย
“ผมโดนจับมัดติดกับทหารม้า...” เขาเริ่มเรื่องช้าๆ “เราเหมือนอยู่ในดาโกต้า★ ...สักที่...พวกเรา...อินเดียนมีกันหลายร้อยคน...เราโดนตามฆ่า...แล้วผมพยายามปลุกใจคนของผมว่าเราตายเพื่อเกียรติยศ...แต่...มันไม่ใช่เลย...” หยาดน้ำไหลท้นจากสองตาของเขา ความโศกเศร้าแสนทุกข์ของเขาพวกเราสัมผัสได้อย่างชัดเจน
★ 𝗗𝗮𝗸𝗼𝘁𝗮 คือรัฐกันดารหนาวเย็นมากสุดขอบตะวันตก เป็นที่ดินจับจองสมัยผู้อพยพพิชิตตะวันตกที่อินเดียนแดงเป็นเจ้าของมาก่อน ก่อนจะถูกรัฐบาลอเมริกันไล่ที่ แบ่งเป็น 𝗡𝗼𝗿𝘁𝗵 𝗗𝗮𝗸𝗼𝘁𝗮 กับ 𝗦𝗼𝘂𝘁𝗵 𝗗𝗮𝗸𝗼𝘁𝗮 ที่ครอบครัวของลอร่า อิงกัลส์อพยพไปตั้งรกรากครั้งสุดท้ายในหนังสือคลาสสิกตลอดกาลชุด “บ้านเล็ก” จนถึงเล่ม 𝟳 “ปีทองอันแสนสุข” ที่สุคนธรสเป็นผู้แปล : ผู้แปล
“แกรี่น่ะเอง” จิมเอ่ยขึ้นมา รอยยิ้มกระจ่างผุดกลางความเศร้า แกรี่เป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทที่สุดของจิมในชาติภพปัจจุบัน
“คุณจำเขาได้ไหมครับ” ผมค่อยๆถาม
“จำได้” จิมปล่อยคำตอบพร้อมกับโล่งใจ “เพื่อนผมเองชื่อแกรี่”
“เขาเป็นหนึ่งในพวกพ้องของคุณหรือครับ”
“ใช่” เขาเผยยิ้มอีกครั้ง กระนั้นน้ำตายังคงหลั่งไหล
“ไม่เป็นไรครับ” ผมพยายามลดทอนความโศกเศร้าของเขาลง “เราจะได้กลับมาพบเจอกับกลุ่มคนเดิมอีกครั้งแน่นอน...คุณรอดมาได้ไหมครับ❓”
“ไม่รอด❗”
“เกิดอะไรขึ้นกับคุณครับ❓”
“พวกมันเฉือนผมของผมไป” เขาตอบด้วยอาการถมึงทึงน่าสะพรึงกลัวยิ่ง
“คุณเห็นอะไรบ้าง❓”
เสียงของจิมยิ่งแสนเศร้า “การฆ่าล้างแผ่นดิน โอ...เราทำอะไรลงไป...”
ผมพาเขาผละจากความตายในชาติภพนี้มาเสีย “ตอนนี้ให้คุณทบทวนจากมุมมองเบื้องบนที่สูงกว่านะครับว่าคุณเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นี้บ้าง จากชาติภพนี้❓”
เขานิ่งงันไปพักหนึ่ง ผมสังเกตเห็นว่านัยน์ตาทั้งสองของเขากวาดไปมา ราวกับกำลังกวาดตามองภาพอยู่ใต้หนังตาที่ปิดสนิทกระนั้น ต่อมาภายหลัง จิมเล่าให้ผมฟังว่าเขากำลังกวาดตามองภาพพาโนรามา ดูเหตุการณ์อดีตชาติที่สงครามอันสยดสยองกับความรุนแรงอำมหิตปลดปล่อยออกมาดังม้าหลุดจากบังเหียนซึ่งกำลังเกิดขึ้นจะจะให้เห็นตรงหน้า ส่วนตัวเขาคือผู้เข้าร่วมในทุกฉากทุกตอนของสงคราม บ้างในสภาพเหยื่อ บ้างในคราบผู้สังหารผลาญชีวิต และในฐานะผู้รอดตายที่หัวใจแหลกลาญ
เขานั่งนิ่งไม่ไหวติง ผมย้าคำถามเดิม “ทบทวนชาติภพนี้จากมุมมองเบื้องบนสิครับ คุณเรียนรู้อะไรบ้าง บทเรียนชาติภพนี้คืออะไร❓”
ด้วยสองตาชุ่ม ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลสุดบรรยาย จิมตอบคำถามที่ทำให้ผมรู้สึกเย็นวาบยามได้ฟังคำตอบนั้น
“บทเรียนว่า ชีวิตเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้นเราจึงไม่มีสิทธิ์จะฆ่าใคร”
จิมสะท้อนสารที่แคธรีนเคยส่งต่อจากพระเบื้องบนเมื่อ 𝟭𝟱 ปีก่อนให้ก้องกังวาน จิตผมกระหวัดกลับไปหาเขาเมื่อครั้งยังเป็นเด็กหนุ่มอายุ 𝟭𝟵 ที่โดนเกณฑ์ไปรบในสงครามเวียดนาม ไปหาความคับข้องใจที่จะต้องมีส่วนร่วมในการรบราฆ่าคน
ความไม่อยากไปร่วมรบของเขาไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์อันสูงส่ง หรือเพราะความคิดทางการเมืองเลย หากแต่เกิดจากการที่ในระดับอารมณ์ที่ลึกล้ำนั้นเขายังจำประสบการณ์แสนเศร้าสุดทารุณในสงครามล้างเผ่าพันธุ์อินเดียนแดงปลายศตวรรษที่ 𝟭𝟵 ได้ฝังใจ
✨ ชีวิตเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ✨
✨ เราไม่มีสิทธิ์ฆ่าใคร ✨
(จบ — บทที่ 8)
โฆษณา