10 ธ.ค. 2021 เวลา 07:15 • การเมือง
สายสัมพันธ์ TPIPP ประชัย-ประวิตร-นิพนธ์ เกี่ยวอะไรกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
วันที่ 6 ธันวาคม 2564 เวลาประมาณ 21.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านกลุ่ม ‘จะนะรักษ์ถิ่น’ ที่รวมตัวกันอย่างสันติกว่า 50 คน ซึ่งเดินทางจากจังหวัดสงขลามายังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะตรวจสอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
คำสัญญาที่ทางรัฐบาลให้ไว้กับชาวบ้าน คือยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ระงับการแก้ไขผังเมืองไว้ และจัดทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) แต่แล้วก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น และรัฐยังปล่อยให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และบริษัทเอกชนผู้เป็นเจ้าของโครงการเร่งดำเนินโครงการต่อ
  • TPIPP เกี่ยวอะไรกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
ที่มาของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เริ่มต้นจากปี 2559 รัฐบาล คสช. มีแผนที่จะทำ ‘โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ให้กลายเป็นเขตพัฒนาพิเศษเพื่อขยายรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น
ต่อมาในปี 2562 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ ได้แก่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ซึ่งมี ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นประธานกรรมการ และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 10,800 ไร่ บริเวณตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชัน ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ด้วยแนวคิดที่จะผลักดันพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็น ‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดน’ โดยประเมินงบประมาณในการลงทุนไว้ที่ 600,000 ล้านบาท
รัฐบาลมอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นแม่งาน โดยใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 โอนอำนาจการบริหารงานที่อยู่ภายใต้กฎหมายของหน่วยงานราชการอื่นทั้งหมดมาอยู่ในมือ ศอ.บต. โดยหลังจาก ศอ.บต. เปิดรับฟังความเห็นประชาชนแล้วจะต้องนำเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดประชุมในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ให้ความเห็นสนับสนุนผลักดันไปที่คณะกรรมการผังเมือง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาต่อไป
TPIPP ต้องการขยายผลของโครงการเมืองต้นแบบฯ ดังกล่าวเป็น ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ มูลค่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย สวนอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะ ท่าเรือน้ำลึกและศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า และศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด แต่โครงการดังกล่าวถูกสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตีกลับเมื่อช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างจำนวน 7,000 ไร่ เป็นพื้นที่สีเขียวที่ไม่สามารถทำโครงการอุตสาหกรรมได้ ทางบริษัทฯ จึงให้ ศอ.บต. แก้ปัญหาดังกล่าว
ศอ.บต. แก้ปัญหาโดยการทำหนังสือถึง อบจ.สงขลา เพื่อปรับผังเมืองมารองรับการลงทุนของภาคเอกชน ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2563 คณะกรรมการผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาก็ได้มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงผังเมือง โดยเปลี่ยนที่ดินบางส่วนของอำเภอจะนะจากพื้นที่สีเขียวกลายเป็นพื้นที่สีม่วง ซึ่งกำหนดไว้ว่าเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
ต่อมาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเรื่องการบังคับกว้านซื้อที่ดินราคาถูกจากชาวบ้าน โดย ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เบื้องหลังโครงการ
  • เครือญาติ ส.ส. กว้านซื้อที่ดิน นายทุนไล่ฟ้องชาวบ้าน
สำนักข่าวอิศรา รายงานประเด็นในการอภิปรายของ ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ โดยระบุว่า ในปี 2559 เดิมมีพื้นที่อยู่ในโครงการ 3 พื้นที่ นิพนธ์ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ได้มีส่วนผลักดันให้อำเภอจะนะเป็นพื้นที่ที่ 4 ของโครงการด้วย อีกทั้งเครือข่ายญาติใกล้ชิดของนิพนธ์มีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูกเพื่อนำไปขายต่อ เฉพาะเดือนมกราคม 2563 มีการซื้อขายที่ดิน 23 ธุรกรรม พื้นที่ 464 ไร่ มูลค่า 110 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 236,166 บาทต่อไร่
และในช่วงเดือนเดียวกัน TPIPP ได้กว้านซื้อที่ดิน 25 ธุรกรรม พื้นที่ 450 ไร่ มูลค่า 271 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 602,608 บาทต่อไร่ ซึ่งมีส่วนต่างของราคาซื้อ-ขายถึง 170 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อที่ดินจากกลุ่มคนใกล้ชิดนายนิพนธ์
ข้อกล่าวหาต่อมา ประเสริฐพงษ์ระบุว่า เมื่อนายนิพนธ์ขึ้นดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ได้ให้ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน จังหวัดสงขลา-นครศรีธรรมราช เร่งดำเนินการออกโฉนดที่ดิน เน้นเฉพาะพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นการรวบรวมที่ดิน น.ส.3 ก. ให้ TPIPP ไปออกโฉนดหรือไม่ ซึ่งมีหลายแปลงเป็นการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน หลายคดีมีการฟ้องร้องกันในศาลช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนั้นที่ดินบางแปลง กลุ่มคนใกล้ชิดนายนิพนธ์ยังมีพฤติการณ์หลอกให้ชาวบ้านขายในราคาไร่ละ 60,000 บาท ได้กำไรถึง 10 เท่า
ทางด้านนิพนธ์ได้ชี้แจงในประเด็นเรื่องการซื้อขายที่ดินว่า การกล่าวหาว่าตนใช้อำนาจหน้าที่เอื้อนายทุนนั้นเป็นกล่าวหาที่เป็นเท็จทั้งสิ้น เพราะข้อพิพาทเรื่องสิทธิในที่ดินต้องไปพิสูจน์ในศาลว่าใครมีสิทธิดีกว่ากัน และการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินก็ไม่ได้ออกทับที่สาธารณะ ส่วนการสำรวจออกโฉนดที่ดิน มีเอกสารยืนยันชัดเจนว่า สำรวจรังวัดทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา ไม่ใช่เฉพาะ 4 ตำบลในอำเภอจะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเท่านั้น การอนุมัติสำรวจเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เพื่อทำโครงการสำรวจในปี 2562 ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนที่ตนจะดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย จึงไม่มีอำนาจสั่งการกรมที่ดินได้
อีกทั้งการซื้อขายที่ดินตามที่กล่าวหาเป็นเรื่องระหว่างเอกชนด้วยกัน ที่ดินแปลงที่มีการออกโฉนดเมื่อออกแล้วก็ยังไม่ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ ชาวบ้านที่ได้โฉนดยังถือครองอยู่ การออกโฉนดเป็นหลักประกันให้กับชาวบ้านในการถือครองที่ดินและมีที่ดินทำกิน นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ขยายโครงการเมืองต้นแบบการพัฒนาไปที่อำเภอจะนะ ตนยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้วจะใช้อำนาจหน้าที่ผลักดันโครงการได้อย่างไร
ทว่าหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจสิ้นสุดลง มีรายงานจากสำนักข่าวอิศราอีกว่า วันที่ 26 มีนาคม 2564 สิรภพ เริงฤทธิ์ ทนายความคนสนิทของนายนิพนธ์ เป็นผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทย์ของบริษัท TPIPP ยื่นฟ้อง เจะเส็น ยีระมัน และชาวบ้านอีก 2 ราย โดยขอให้ศาลจังหวัดนาทวีสั่งขับไล่จำเลยทั้ง 3 ออกจากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 เลขที่ดิน 81 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 28 ไร่ 3 งาน 85.2 ตารางวา
TPIPP ฟ้องว่า ชาวบ้านทั้ง 3 ราย เข้าไปไถ พรวน ปรับสภาพดินเพื่อปลูกแตงโมและปลูกไม้อื่นๆ บนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 ซึ่งบริษัทฯ ได้ซื้อต่อจาก ธรขวัญ ยอไทย และจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ทำให้ต้นกระถินเทพาที่บริษัทฯ ปลูกไว้ 22,400 ต้น ล้มตายหมด จึงขอให้ศาลพิพากษาให้ TPIPP เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 เลขที่ดิน 81 และให้จำเลยทั้ง 3 ออกจากพื้นที่ รวมทั้งจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 2,523,097 บาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์ คือเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 เจะเส็น ยีระมัน และชาวบ้าน 2 ราย เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา โดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 เลขที่ดิน 81 ของ TPIPP เนื่องจากเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินทำกินที่ได้อาศัยอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่และรุ่นพ่อ
นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านอีก 2 กลุ่ม รวม 8 ราย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาใน 2 คดี โดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3 ก. ของ TPIPP อีก 2 แปลง ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน
  • เบื้องหลังโยงใย สายสัมพันธ์รัฐ-นายทุน
ทว่าก่อนที่เรื่องราวทั้งหมดข้างต้นจะเกิดขึ้น สามารถสืบย้อนไปได้ถึงกรณีการจัดโต๊ะจีนระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ โดยเว็บไซต์ PPTVHD36 รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ณ บริเวณห้องโถงชั้นล่างที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ เจ้าหน้าที่ของพรรคได้นำเอกสารบัญชีรายชื่อผู้สนับสนุนพรรคในการจัดกิจกรรมโต๊ะจีนระดมทุนมาติดประกาศ ปรากฏรายชื่อผู้สนับสนุนจำนวน 24 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 90 ล้านบาท โดยมีบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPI สนับสนุน 3 ล้านบาท และบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP สนับสนุน 3 ล้านบาท ทั้งสองบริษัทนี้มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์
นายประชัยได้เข้าร่วมงานในฐานะอดีตนักการเมืองและผู้สนับสนุนพรรค และได้กล่าวภายในงานว่าตนไม่เล่นการเมืองแล้ว แต่ที่มาเพราะเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐทำให้บ้านเมืองเรียบร้อยดี ประเทศเดินไปได้ ทั้งนี้ตนซื้อไว้ 2 โต๊ะ
อดีตทางการเมืองของ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการ TPIPP นั้น เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อปี 2550 และถูกตัดสินจาก กกต. ให้พ้นจากตำแหน่งในปีต่อมา อีกทั้งยังถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เมื่อ 2 ธันวาคม 2551 นอกจากนี้ ประชัยยังเคยเป็นประธานในงานพิธีสวดพระอภิธรรมศพ สายสนี วงษ์สุวรรณ มารดาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อีกด้วย
ทั้งนี้ รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TPIPP 10 อันดับแรก (ข้อมูลวันที่ 10 กันยายน 2564) ได้แก่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริหารโดยเครือญาติของประชัย ถือหุ้นจำนวน 70.24 เปอร์เซ็นต์, บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด, ไพวรรณ ชาติพิทักษ์, บริษัท เลียวไพรัตนวิสาหกิจ จำกัด, NORTRUST NOMINEES LIMITED-THE NORTHERN TRUST COMPANY RE IEDU UCITS CLIENTS 10 PCT ACCOUNT, SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED, บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), ประทีป ตั้งมติธรรม, Mr.Yuk Lung Lee และ นเรศ งามอภิชน ตามลำดับ
ที่มา
เขียน: ชัญญา อินทร์ไชยา
โฆษณา