11 ธ.ค. 2021 เวลา 09:50 • ประวัติศาสตร์
สเปน: อดีตอาณาจักรเก่าแก่ แต่สถาบันกษัตริย์ปรับตัวทันสมัย
  • สถาบันกษัตริย์ที่เคยต่อต้านการรัฐประหารอย่างน่าเหลือเชื่อ
  • ถึงแม้จะมีข้อครหาด้านการใช้จ่ายอย่างไม่เหมาะสมของกษัตริย์ ฆวน การ์โลส ที่ 1 (Juan Carlos I) แต่การสืบราชบัลลังก์ของกษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 (Felipe VI) ดูมีความหวังด้านการปฏิรูป
  • จุดมุ่งหมายของกษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 คือการไปสู่ระบอบ Constitutional Monarchy (กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ) ที่เหมาะสำหรับสเปนในศตวรรษที่ 21
1
มีการปกครองไม่กี่รูปแบบที่ระบุเอาไว้ตั้งแต่แรกว่า ‘คนเราไม่เท่าเทียมกัน’ ในอดีตครั้งโบราณการยกผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดหรือหลักแหลมที่สุดให้เป็นผู้นำอย่างเบ็ดเสร็จอาจจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาท่ามกลางความป่าเถื่อนของความขัดแย้งและการรบพุ่ง แต่ในยุคปัจจุบันที่ประชาคมมนุษย์วางเสื้อเกราะแล้วหันมาใส่สูท วางดาบแล้วหันมาจับปากกาหรือแท็บเล็ต ‘สถาบันกษัตริย์’ ในหลายอาณาจักรที่เคยเข้ากันได้ดีกับสังคมยุคก่อนจึงต้องปรับตัวอย่างหนัก หากไม่ทำด้วยตนเองก็ถูกบีบบังคับจากผู้อื่น
‘บอร์บอน-อ็องฌู’ (Borbón-Anjou) หรือราชวงศ์ของราชอาณาจักรสเปนในปัจจุบัน ก็เป็นหนึ่งในสถาบันกษัตริย์ที่เลือกจะหาทางปฏิรูปตนเองให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ของสังคมมนุษย์เช่นเดียวกับอีกหลายสถาบันในอารยประเทศทั่วโลก แต่ในทุกการปรับตัวขนานใหญ่ของอะไรที่ใหญ่โตอย่างสถาบันกษัตริย์ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายสิ่งหลายอย่างยึดโยงกันอยู่ประหนึ่งใยแมงมุมของบรรดาสิ่งสมมุติที่มนุษย์ให้ความหมาย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ เกียรติยศ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงทรัพย์สินและเงินตรา
การร่วมสำรวจความพยายามที่จะก้าวไปข้างหน้าของสถาบันกษัตริย์สเปนตั้งแต่รัชสมัยของกษัตริย์ ฆวน การ์โลส ที่ 1 (Juan Carlos I) ไปจนถึงปัจจุบันอย่างรัชสมัยของ เฟลิเป ที่ 6 (Felipe VI) การพยายามรัฐประหารของกองทัพกับการไม่เซ็นลงนามให้กับความพยายามดังกล่าว ข้อครหาด้านการใช้จ่าย ไปจนถึงบทบาทและท่าทีเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนอันร้อนแรง ทั้งหมดนี้ยิ่งจะช่วยให้การทำความเข้าใจสถาบันกษัตริย์ที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและอาจจะรวมไปถึงอนาคต มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ในฐานะตัวแทนความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอีกหลายแห่งทั่วโลก
ฆวน การ์โลส เมื่อครั้งแถลงขึ้นเป็นกษัตริย์ที่ Palacio de las Cortes ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1975
  • ฆวน การ์โลส: อดีตเสาค้ำยันประชาธิปไตยสู่ภาพจำของการหนีภาษี
การใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะเงินที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษีประชาชนแล้ว ยุคสมัยใหม่เช่นนี้ก็คงมีเพียงการกระทำผ่านรัฐสภา รัฐบาล หรือตัวแทนที่มีที่มายึดโยงกับเจตจำนงของประชาชนเท่านั้น ข้อครหาด้านการใช้เงินอย่างไม่เหมาะสมหรือใช้เงินผิดประเภทโดยสถาบันกษัตริย์จึงเป็นประเด็นที่เปราะบาง แม้แต่สถาบันกษัตริย์สเปนในรัชสมัยของกษัตริย์ ฆวน การ์โลส ที่ 1 เองก็เช่นกัน
เรื่องอื้อฉาวดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2020 เมื่อเจ้าพนักงานภาษีระบุว่า อดีตกษัตริย์ ฆวน การ์โลส ไม่กระทำการจ่ายภาษีธุรกรรมช่วงปี 2016-2018 เป็นเงินมากกว่า 500,000 ยูโร โดยเงินจำนวนหนึ่งถูกใช้ผ่านบัญชีธนาคารส่วนตัวของเพื่อนนักธุรกิจชาวเม็กซิกัน อัลเลน ซาฮิเนซ-เกราเซ (Allen Sanginés-Krause) ผ่านวิธีการที่คนในกองทัพอย่างผู้พัน นิโกลาส์ มูร์กา เมนโดซา (Nicolas Murga Mendoza) จัดหาให้ เพื่อนำไปใช้จ่ายกับการจองโรงแรมหรู ร้านอาหารชื่อดัง และการพักผ่อนหย่อนใจอื่นๆ[1]
ย้อนกลับไปช่วงปี 2014 ข้อครหาด้านการเงินต่อกษัตริย์ฆวนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในขณะยังคงครองราชย์อยู่ เช่น กรณีข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับความไม่ชอบมาพากลในโครงการสร้างทางรถไฟหัวกระสุนในประเทศซาอุดีอาระเบีย จนกลายเป็นข้อพิพาทเรื่องความล่าช้าและมาตรฐานตามสัญญาว่าจ้าง[2] อย่างไรก็ตาม ข้อครหานั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่กษัตริย์ ฆวน การ์โลส จะสละราชสมบัติ คณะสืบสวนของทางการสเปนจึงเพ่งความสนใจไปที่คดีทางภาษีที่สามารถนำไปสู่การตัดสินโทษในฐานะคดีอาชญากรรมเสียมากกว่า
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในช่วงปี 1981 สถาบันกษัตริย์สเปนยังไม่เผชิญสภาวะหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมและการทำผิดหลักการของแนวทางประชาธิปไตยเสรี เช่นช่วงเวลาของการสละราชสมบัติของกษัตริย์ ฆวน การ์โลส แต่กลับกลายเป็นว่าสถานะของสถาบันกษัตริย์ในช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลกับการตั้งมั่นของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังกำเนิดใหม่หลังยุคการปกครองเผด็จการของจอมพลฟรังโก โดยเฉพาะการต่อต้านการรัฐประหารเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1981 ที่ท่าทีของสถาบันกษัตริย์สเปนแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยต่อการพยายามรัฐประหารของกลุ่มผู้ก่อการจำนวน 200 คน ซึ่งท่าทีดังกล่าวแสดงออกอย่างชัดเจนมากเมื่อกษัตริย์ ฆวน การ์โลส ในขณะนั้นให้ราโชวาทผ่านสื่อโทรทัศน์เพื่อย้ำเตือนการรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเน้นย้ำว่า
“สถาบันกษัตริย์จะไม่ยอมรับการกระทำทุกรูปแบบที่พยายามแทรกแซงรัฐธรรมนูญอันได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวสเปน”[3]
ฆวน การ์โลส (ซ้าย) และ นายพลฟรังโก (ขวา) ปี 1969
ถึงแม้สถาบันกษัตริย์สเปนจะเคยเป็นหนึ่งในเสาค้ำยันประชาธิปไตยจากยุคเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบการเมืองยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญจากประชาชนเช่นปัจจุบัน แต่ก็ไม่สามารถช่วยค้ำยันคะแนนนิยมในตัวของกษัตริย์ที่ตกต่ำลงจากกรณีเรื่องอื้อฉาวทางการเงินหลายครั้ง และเป็นเหตุให้นำไปสู่การสละราชสมบัติก่อนที่เหตุการณ์ทั้งหมดจะเป็นข่าวเพียงระยะเวลา 3 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การสละราชสมบัติครั้งนี้ให้แก่ลูกชายของเขา ทำให้แรงกดดันจากสังคมที่พุ่งเป้าไปยังความโปร่งใสของสถาบันกษัตริย์สเปนลดลงได้ระดับหนึ่ง
  • เฟลิเป ที่ 6: สถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ กับสเปนในศตวรรษที่ 21
“สิ่งที่เธอจะค้นพบในตัวเรา คือการเป็นประมุขแห่งรัฐที่พร้อมจะรับฟังและทำความเข้าใจ ตักเตือนและเสนอแนะ เช่นเดียวกับการปกป้องสาธารณประโยชน์อยู่ตลอดเวลา”
กษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 แห่งสเปนได้กล่าวไว้เนื่องในโอกาสงานบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2014 ณ อาคารรัฐสภา อันละทิ้งซึ่งธรรมเนียมโบราณที่มักจัดงานลักษณะดังกล่าวเฉพาะในโบสถ์หรือมหาวิหารศักดิ์สิทธิ์แต่เพียงเท่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นสมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งให้คำปฏิญาณว่าจะธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นเหมือนแสงแห่งความหวังในการกอบกู้ชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์อันตกต่ำไปมากจากยุคก่อนหน้า ให้กลับขึ้นมาเป็นที่เคารพศรัทธาอีกครั้ง[4]
ไม่เพียงเท่านั้น กษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 ยังประกาศว่าจะสละพระราชมรดกในอนาคตทุกอย่างที่มาจากพระชนกของพระองค์ เนื่องจากมีความกังวลในข้อครหาว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเกี่ยวพันกับการสืบสวนคดีทางการเงินที่เชื่อมโยงกับธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ และบางส่วนอาจจะเกี่ยวพันกับคดีทางการเงินเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี กรณีรับเงินจากพระสหายอย่างพระมหากษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย รวมไปถึงยังหักเงินเบี้ยเลี้ยงประจำปีในฐานะราชวงศ์ของพระชนกเป็นจำนวน 194,232 ยูโรอีกด้วย[5]
ถึงแม้การพยายามแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อข้อครหาเกี่ยวกับความโปร่งใสและการใช้จ่ายของสถาบันกษัตริย์ในอดีตจะมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถลบความคลางแคลงใจจากหมู่คนรุ่นใหม่ชาวสเปนได้มากนัก สถาบันกษัตริย์สเปนจึงต้องแสดงความเคลื่อนไหวในประเด็นด้านสังคมแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจนกระทั่งสมัยของกษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 ด้วยการเชิญกลุ่ม LGBTQ เข้ามาพบปะ ณ พระราชวังเอล ปาร์โด (El Pardo) ในกรุงมาดริด ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชุมชนชาว LGBTQ เนื่องจากย้อนกลับไปในปี 1939-1975 ที่แห่งนี้คือที่แรกที่เผด็จการจอมพลฟรังโกลงนามในกฎหมายที่ระบุว่าผู้รักเพศเดียวกันเป็นบุคคลอันตราย[6] และยังอนุญาตให้ประชาชนในชาติสามารถกล่าวคำปฏิญาณโดยไม่ต้องมีคัมภีร์ไบเบิลหรือไม้กางเขนประกอบอีกด้วย
ทางด้านการเมืองนั้น สถาบันกษัตริย์สเปนเริ่มมีบทบาทเด่นชัดมากขึ้นในฐานะของที่ปรึกษาอันน่าเคารพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 ที่ส่งผลให้สเปนเข้าสู่สภาวะชะงักงันทางการเมือง เนื่องจากไม่มีพรรคใดเลยที่สามารถมีจำนวนเสียงเพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ รูปแบบการแก้ไขปัญหาของสเปนจึงใช้วิธีให้ตัวแทนของแต่ละพรรคเข้าร่วมปรึกษาหารือกับกษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 จนได้ข้อสรุปว่า องค์กษัตริย์จะประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง สถาบันกษัตริย์จึงมีบทบาทเด่นในฐานะที่ปรึกษายามฝ่ายบริหารเข้าตาจนทางการเมืองบ่อยครั้งขึ้นนับแต่นั้นมา[7]
1
อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์สเปนในยุคกษัตริย์องค์ปัจจุบัน แม้จะไม่ได้มีบาดแผลด้านการเงินและความไม่โปร่งใสเหมือนกษัตริย์องค์ก่อน แต่กลับมีข้อครหาใหม่เกิดขึ้นมาเมื่อสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางให้เกิดเวทีเจรจาระหว่างรัฐบาลสเปนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนคาตาลันได้ ความล้มเหลวดังกล่าวถูกชาวสเปนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนวิจารณ์ว่า สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถทำหน้าที่ ‘กษัตริย์ของปวงชน’ (King of All) ให้สำเร็จได้เหมือนในอดีตอีกต่อไป ซึ่งท่าทีของสถาบันกษัตริย์ต่อกรณีการแบ่งแยกดินแดนนั้นสามารถสะท้อนได้ผ่านพระบรมราโชวาทของกษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 ที่กล่าวว่า
1
“หากปราศจากการเคารพกฎหมาย ย่อมไร้ซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบหรือแม้แต่ประชาธิปไตย เหลือเพียงแต่ความไม่เที่ยง ความไม่มีแบบแผน และจะเกิดการพังทลายของจริยธรรมและหลักการทางสังคมในท้ายที่สุด”
ท่าทีของสถาบันกษัตริย์เฟลิเปต่อการแบ่งแยกดินแดนคาตาลันนั้น พูดได้ยากว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปนฉบับปัจจุบัน มาตราที่ 56 ระบุว่า องค์กษัตริย์ต้องเป็นผู้ตัดสิน ผู้ยุติ และเป็นกลางระหว่างความขัดแย้งขององค์กรสถาบันต่างๆ แต่ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเองก็ระบุเอาไว้ว่า สถาบันกษัตริย์ต้องเป็นตัวแทนของ ‘ความเป็นหนึ่งเดียว’ ในสเปน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นบทบาทสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญของสเปนอาจจะยังมีจุดขัดแย้งในตัวเองอยู่บ้าง เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายของการเมืองในยุคใหม่[8]
สถาบันกษัตริย์ในยุคนี้ยังได้พยายามปรับลดเบี้ยเลี้ยงต่อปีของสมาชิกราชวงศ์ที่ได้มาจากเงินภาษีที่ถูกตั้งเอาไว้ตั้งแต่สมัยกษัตริย์ ฆวน การ์โลส ที่ 1 อีกด้วย โดยปกติแล้วพระมหากษัตริย์จะได้รับเงิน 293,000 ยูโรต่อปี มกุฎราชกุมารจะได้รับเงิน 146,000 ยูโรต่อปี ซึ่งในปี 2014 รายจ่ายสำหรับราชวงศ์ทั้งหมดมีมูลค่ามากกว่า 7.8 ล้านยูโร แต่ในปี 2015 กษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 เลือกที่จะตัดรายได้ประจำปีของตนเองลงถึงร้อยละ 20 จากที่เคยได้ประจำ อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์สเปนก็ยังคงถูกนับว่าเป็น 1 ใน 10 สถาบันกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในทวีปยุโรปเช่นเดิม
  • จากตกต่ำสู่ฟื้นฟู กุญแจสำคัญคือกฎหมายที่เป็นของประชาชน
ในปี 2013 สถาบันกษัตริย์สเปนมีคะแนนความนิยมต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยร้อยละ 42 ของพลเมือง และ 7 คน จากทุกๆ 10 คนที่มีอายุไม่ถึง 40 ปี จะมีท่าทีปฏิเสธสถาบันกษัตริย์[9] ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ภายหลังการสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์ ฆวน การ์โลส ที่ 1 ในปี 2014 แล้ว สถาบันกษัตริย์สเปนจึงเริ่มเปิดใจในการปรับตัวเข้าหาโลกสมัยใหม่ และโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องของสังคมมากขึ้นกว่าในอดีต
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของระบอบการปกครองที่อนุญาตให้มีกษัตริย์อยู่คู่กับสังคมที่ทั่วโลกต่างเผชิญก็ยังคงมีอยู่ โดยในประมวลกฎหมายอาญาแห่งราชอาณาจักรสเปน มาตรา 490 และ 491 ระบุเอาไว้ว่า “ผู้ใดกระทำการหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตำแหน่ง จะต้องระวางโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับเป็นเวลา 6 ถึง 12 เดือน (หากเป็นกรณีที่ศาลตัดสินว่าร้ายแรง)” ซึ่งเป็นการพยายามตีกรอบมิให้มีการก้าวล่วงเกียรติภูมิของสถาบันกษัตริย์สเปน
ถึงแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้างในการนำพาสถาบันเก่าแก่เช่นนี้เข้าสู่โลกยุคใหม่ดังที่กล่าวมา แต่การเปิดโอกาสให้กระบวนการยุติธรรมของสเปนสามารถสืบสวนกรณีอื้อฉาวทางการเงินของสถาบันกษัตริย์ได้ รวมไปถึงท่าทีของสถาบันกษัตริย์ภายใต้การนำของกษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมมากขึ้นกว่าในอดีตนั้น นับว่าเป็นทิศทางที่ดีสำหรับการพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
ดูเหมือนว่าสถาบันกษัตริย์สเปนจะวางบทบาทตนเองในโลกยุคใหม่ด้วยการดำรงฐานะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยวิกฤตการณ์ทางการเมือง และสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของรัฐสเปนสมัยใหม่ที่หลุดพ้นออกจากระบอบเผด็จการทหาร ดังคำกล่าวของ รามอน กิล-กาซาเรซ (Ramon Gil-Casares) อดีตเอกอัครราชทูตสเปนประจำสหรัฐอเมริกา ที่ว่า
“สถาบันกษัตริย์นำพาเราออกจากอำนาจเผด็จการ และให้ความมั่นคงแก่เรา ประชาชนต่างรู้และยอมรับกับตัวเองในเรื่องนี้ของพระราชาและพระราชินี”[10]
หากความตั้งใจที่จะยกสถานะบทบาทของสถาบันด้วยคำพูดข้าราชการนั้นยังไม่เพียงพอที่จะชนะใจชาวสเปน ยังมีพระบรมราโชวาทขององค์พระมหากษัตริย์ เฟลิเป ที่ 6 เนื่องในโอกาสวันคริสต์มาสแรกของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ ที่ได้กล่าวไว้ว่า “สำนักราชการบ้านเมืองต้องไม่ใช่ที่สำหรับการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อความร่ำรวย… เราต้องไม่ลังเลที่จะขจัดรากฐานของการคอร์รัปชัน”[11]
ในปี 2020 ที่ผ่านมา สำนักข่าว El Español เปิดเผยว่า คะแนนความนิยมในตัวกษัตริย์เฟลิเป ที่ 6 อยู่ที่ร้อยละ 64 และมีพลเมืองจำนวนไม่ถึงร้อยละ 30 เท่านั้นที่คิดว่าองค์พระมหากษัตริย์ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ ซึ่งในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุไม่ถึง 30 ปี กว่าร้อยละ 45 ระบุว่า พึงพอใจในตัวพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน[12] ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากทิศทางของสถาบันกษัตริย์ที่ยังคงแสดงความยึดมั่นในรัฐธรรมนูญของชาวสเปน และแสดงความจริงใจที่จะปฏิรูปสถาบันให้มีความแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์สเปนยังคงเกิดขึ้นเป็นการทั่วไป (หากไม่ได้เข้าข่ายหมิ่นประมาทรุนแรงตามมาตรา 490 และ 491) เช่น การรณรงค์ปิดโทรทัศน์หรือก่อเสียงดังรบกวนการให้พระบรมราโชวาทผ่านโทรทัศน์ในวันคริสต์มาสขององค์กษัตริย์ต่อชาวสเปน[13] ในแง่หนึ่ง สิ่งนี้จึงหมายความว่าสถาบันกษัตริย์สเปนก็ยังมีความอดทนอดกลั้นต่อการเห็นต่างอยู่บ้าง และการ ‘พิสูจน์ตนเอง’ ของสถาบันกษัตริย์สเปนก็ยังคงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า ยังคู่ควรที่จะยืนอยู่ในสังคมสมัยใหม่ของชาวสเปนและชาวโลกต่อไปได้หรือไม่
เชิงอรรถ:
[1] José Manuel Romero. (2020). Spain’s former king seeks to sort out tax affairs in third probe against him. el pais english, From https://english.elpais.com/spanish_news/2020-12-07/spains-former-king-seeks-to-sort-out-tax-affairs-in-third-probe-against-him.html
[2] Ramón Muñoz. (2017). Spanish bullet train to Mecca hits speed of 330km/h in trial run. el pais english, From https://english.elpais.com/elpais/2017/06/20/inenglish/1497947325_444505.html
[3] Bill Cemlyn-Jones. (1981). King orders army to crush coup: civil guards seize Spain’s parliament. The Guardian archive, From https://www.theguardian.com/world/from-the-archive-blog/2021/feb/24/civil-guards-seize-spains-parliament-in-attempted-coup-archive-1981
[4] King Felipe VI calls for ‘new Spain’ as he is sworn in. (2014). BBC, From https://www.bbc.com/news/world-europe-27918094
[5] Miguel González and José María Irujo. (2020). Spain’s King Felipe VI renounces father’s inheritance over alleged Swiss bank accounts. el pais english, From https://english.elpais.com/spanish_news/2020-03-16/spains-king-felipe-vi-renounces-fathers-inheritance-over-foundation-link.html
[6] Blaise Hope. (2020). LGBT-friendly royal families – Norway’s King Harald, Sweden’s King Karl, Spain’s King Felipe and India’s outspoken gay Prince Manvendra. Style. South China Morning Post, From https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3074894/lgbt-friendly-royal-families-norways-king-harald-swedens?module=perpetual_scroll&pgtype=article&campaign=3074894
[7] Silvia Mária Petrovitsová. (2020). Felipe VI, Modern King of New Era. Personality. The Business Soirée, From https://www.thebusinesssoiree.com/article/felipe-vi-modern-king-of-new-era
[8] ข้อที่ 1. มาตราที่ 56. ส่วนที่ 2. บทที่ 5 การระงับไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ฉบับผ่านประชามติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1978, จาก https://www.boe.es/legislacion/documentos/ConstitucionINGLES.pdf
[9] Fernández, Fernando. (2013). The monarchy, a journalistic taboo in Spain. The royal crisis and the circumstantial crisis. Revista Latina de Comunicación Social 1138-5820. 68. 209 – 240. 10.4185/RLCS-2013-975en.
[10] , [11] Roxanne Roberts. (2015). Can Spain’s monarchy be saved? It’s up to King Felipe VI and his commoner queen. The Washington’s Post, From https://www.washingtonpost.com/lifestyle/style/can-spains-monarchy-be-saved-its-up-to-king-felipe-vi-and-his-commoner-queen/2015/09/14/97c97808-5a96-11e5-9757-e49273f05f65_story.html
[12] Lydia Starbuck. (2020). New poll shows increase in support for King Felipe VI after exile of Juan Carlos. Royal Central, From https://royalcentral.co.uk/europe/spain/new-poll-shows-increase-in-support-for-king-felipe-vi-after-exile-of-juan-carlos-147094/
[13] Danilo Albin. (2020). Televisions turned off, music or casseroles: the republican options against the Christmas speech of Felipe VI. Public, From https://www.publico.es/politica/televisores-apagados-musica-caceroladas-opciones-republicanas-discurso-navideno-felipe-vi.html
เขียน: ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น
โฆษณา