12 ธ.ค. 2021 เวลา 16:34 • ปรัชญา
สู่ขิต “แง่งามของการลาจาก” Go to Fish Heaven
ช่วงหนาวนี้ดูเหมือนจะเป็นเทศกาล #สู่ขิต* ของปลาที่ผมเลี้ยงไว้หลายตัว ในภาพคือ ‘Red swordtail fish’ ที่คนไทยมักเรียกทับศัพท์จากคำว่า sword (ที่แปลว่า “ดาบ” ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของปลาสายพันธุ์นี้) เป็น “สอด” จนติดปากว่า “ปลาสอดแดง”
ในที่สุด ในภาพเป็นปลาสอดแดงชนิดหางบ่วง (Fancy Red Hi-fin Lyretail Swordtail fish) เพศผู้ ที่มีแถบสีดำเข้มพาดบริเวณโคนหาง และมีครีบหางกับครีบกระโดงที่ยาวกรีดกรายสวยงามมากทีเดียว
ผมซื้อปลาสอดแดงแบบยกถุงมาเมื่อ 7 พ.ย. 2562 ที่ตลาดนัดปลาจตุจักร ประมาณว่าอยู่กับผมมานาน 2 ปีเศษ ซึ่งน่าจะเป็นค่าอายุขัยเฉลี่ยของปลาสายพันธุ์นี้ ที่ประมาณ 2-3 ปีได้ ปลาสอดเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย อึด ถึก ทนสุดๆ และไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจน ขอให้น้ำสะอาดเพียงพอ
แต่มีนิสัยที่โดดเก่งโคตรๆ ถ้าเลี้ยงในตู้ควรหาอะไรมาปิดฝา แต่ถ้าเลี้ยงในอ่าง (เหมือนผม) ก็ต้องใส่น้ำไม่ให้สูงจนชิดขอบอ่าง ระดับน้ำควรต่ำกว่าขอบอ่างราวๆ 2 นิ้ว ถือว่ากำลังดี
โดยส่วนตัวผมให้ความสำคัญและ respect กับความตายหรือพิธีศพมากกว่า งานมงคล งานฉลองสมรสหรืองานรื่นเริงอื่นๆ ซึ่งอาจจะจัดได้หลายครั้ง (บางคนแต่งไปไม่นานก็เลิก แต่งใหม่ได้อีก) แต่พิธีศพสำหรับคนคนหนึ่งนั้น มีได้เพียงครั้งเดียว และยังสะท้อนสัจจะในชีวิตได้หลายอย่าง ที่คนส่วนใหญ่มักหลงระเริงหรือกำลังประมาทว่า ยังน่า ยังอยู่อีกยาว ยังหนุ่มยังสาว หรือไม่ก็ยังไม่ตายเร็วร๊อก....แล้วมันจริงฤๅ?
เรามักยินดีกับการเกิด จน (อาจ) หลงลืมไปชั่วขณะว่า นั่น....คือจุดเริ่มต้นของที่สุดปลายทางคือความตายนะ คำว่า “ตาย” สำหรับหลายคนอาจดูหดหู่ น่ากลัว วังเวง ไม่อยากจะคิดถึง แต่บางทีความตายอาจเป็นสิ่งล้ำค่าที่ควรแก่การรอคอยสำหรับใครบางคนก็ได้
ที่พูดอย่างนี้ผมหมายถึง #การตายโดยธรรมชาติ ไม่ใช่การเลือกที่จะประหารชีวิตตัวเองให้ตายลงก่อนเวลาอันควร หรืออัตนิวิบาตกรรมนะครับ อย่างนั้นผมไม่ถือว่าเป็นการตายแบบธรรมชาติ และส่วนใหญ่ (จะเริ่มต้นด้วยจิตที่เศร้าหมอง) ปลายทาง...ที่ผู้กระทำมักเชื่อว่า... สามารถเปลื้องทุกข์สาหัสให้หมดไปจากชีวิตนี้ได้สนิท เพราะเชื่อว่าชีวิตมีแค่หนเดียว แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม เพราะจะยิ่งทุกข์ซ้ำหนักกว่าเดิม
ตามหลักคำสอนในพุทธศาสนา กล่าวว่า...รูปชีวิตจะยังไม่สิ้นสุดจากทุกข์ (หรือพ้นทุกข์) ไปได้หลังการตาย จากการ (หลง) เกิดในแต่ละครั้งๆ เหตุเพราะจิตต้นกำเนิดยังไม่ตาย มันยังจูงเราเดินทางต่อได้อีกไกล ตราบใดที่ยังมี ‘เชื้อ’ ซึ่งเป็นเสมือนกองฟืนที่คอยหล่อเลี้ยงจิตต้นกำเนิดให้ดำรงอยู่ได้ เชื้อที่ว่าก็คือ “ความทะยานอยาก” ที่เร้นอยู่ภายในใจเราทุกๆ คนนั่นเอง
เรื่อง #จิตต้นกำเนิด นี่ ถ้ามีใครสนใจอาจต้องคุยยาว เอาเป็นว่าง่ายๆ คือ การมีเพศหญิง เพศชาย มีรังไข่ มีสเปิร์มอะไรนี่ ยังไม่ใช่ปฐมเหตุของการเกิด (นั่นเป็นแค่ผลทางกายภาพวัตถุ ที่มีสาเหตุมาจากความทะยานอยาก ที่ทำหน้าที่สร้างรูปวัตถุให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก)
แต่สาระสำคัญจริงๆ ที่ทำให้การเกิดยังคงหมุนเวียนต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น หัวใจสำคัญคือสิ่งที่เป็น “นามธรรม” ก็คือ “ความอยาก” (หรือความทะยานอยาก) ในภาษาธรรมเรียกว่า #ตัณหา นั่นเอง ที่เป็นต้นตอตัวบงการสำคัญ
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก มีแต่เหตุกับผล... ซึ่งผลทั้งหลายก็ล้วนไหลมาแต่เหตุ ที่เกิดจากการกระทำหรือ “กรรม” นั่นเอง พุทธศาสนาเน้นสอนให้เห็นตามจริงว่า การเกิดเป็นทุกข์ ทุกข์จะปรากฏทุกครั้งเมื่อเกิด (ภาษาธรรมเรียก #ปฏิสนธิจิต)
หากปรารถนาจะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะการเกิดอีก ก็ต้องทำลายต้นตอของการเกิดให้สิ้นซากลงไปเสียก่อน นั่นคือ “การทำลายความอยาก (ตัณหา)” ซึ่งฝังลึกลงในระดับจิตไร้สำนึก ด้วยความเข้าใจผิดเนิ่นนานจนนับเวลาไม่ถ้วน
หากใครยังไม่สนใจพุทธเชิงลึก...อาจหาว่าผมกำลังพาเข้าสายมู ชวนงมงายหรือเปล่า? ก็ไม่ใช่นะ แต่การที่พุทธศาสนาสามารถลึกซึ้งได้ทะลุทะลวงถึงแก่นแบบนี้ ก็เพราะใช้การศึกษาวิเคราะห์ชนิดเจาะลึกลงไปถึงแก่นกลาง (ภาษาธรรมเรียก #ธัมมวิจยะ หรือ ‘การวิจัยธรรมะ’) ทะลุทะลวงผ่านความละเอียดซับซ้อน พิสดารพันลึกในห้วงท้องทะเลแห่งจิต ที่เป็นนามธรรมสุดๆ ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ทำให้แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ
แต่โดยสาระแล้ว ‘ตัณหา’ (ซึ่งเป็นสภาวะหนึ่งของจิต) ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง แต่มันเกิดๆ ดับๆ อย่างรวดเร็วเป็นขณะๆ อ้าว...งงล่ะสิ! แล้วอย่างงี้จะไปทำลายอะไรล่ะ? พอพูดถึงการทำลายเรามักนึกถึงอะไรก็ตามที่เป็นรูปธรรมเสมอ แต่เราจะทำลายสิ่งที่ไม่เคยมีตัวตนได้จริงๆ หรือ? คำตอบคือ ‘ได้ครับ’ แต่..อาจจะดูเซ็น (ZEN) นิดนึง
เพราะเราจะใช้ #วิธีทำลายโดยไม่ทำลาย (เซ็นมีหลักธรรมสำคัญประการหนึ่งก็คือ #ทำโดยไม่กระทำ) นัยหนึ่งเพราะตัณหาเอง ถูกสร้างขึ้นมาจาก ‘ความหลง’ (ภาษาธรรมคือ #โมหะ) เราหลงเพราะอะไร ก็เพราะขาด ‘รู้’ ในสายปฏิบัติจะเรียกวิธีนี้ว่า..ต้อง #สร้างจิตผู้รู้ขึ้นมาก่อน
หลักการคือค่อยๆ พัฒนาตัวรู้ (ให้รู้เท่าทัน) ก่อนที่จิตจะหลง แล้วไปสร้างตัณหาขึ้นมาได้อีก พูดง่ายแต่ทำยากชะมัด (ฮา) เหตุเพราะเราเคยชินที่จะหลงมาเนิ่นนาน ในชีวิตจริงคนส่วนใหญ่ (99.99%) พร้อมจะหลง มากกว่ารู้เสมอ........ หากเปรียบวิธีการนี้จะคล้ายๆ เราค่อยๆ สร้างแสงสว่างขึ้นมา (ภายในจิต) แล้วขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เพื่อทำลายความมืด (คือความหลง) ที่ปกคลุมจิตจนมิดมาช้านานนั่นเอง
หลายคนกลัวการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อ...ยิ่งแก่ตัวลงยิ่งเห็นชัด ความกลัวชนิดนี้เป็นหลักคิดในสาย #อนุรักษ์นิยม (conservative) โดยส่วนตัวผมยอมรับว่ามีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ลึกๆ เหมือนกัน สาเหตุหลักๆ คือเหนื่อย กังวลและเบื่อ ที่จะต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อความเปลี่ยนแปลงย่างกรายมาถึง
แต่....ข้อเท็จจริงบนโลกใบนี้ก็คือ #ความเปลี่ยนแปลงเป็นสัจจะ ไม่ว่าคุณจะพยายามฉุดไม่ให้มันเปลี่ยนไปยังไงก็ตาม ก็ไม่สามารถฝืนพลังแรงมหาศาลนี้ได้
ดูอย่างกายสังขาร ไม่ว่า...จะไม่อยากเจ็บ ไม่อยากป่วย ไม่อยากชรา จนกระทั่งท้ายสุดคือไม่อยากตาย แต่...ห้ามยังไงก็ห้ามไม่อยู่ เมื่อฝืน เมื่อไม่ยอมรับ อยากจะคงอยู่แบบนี้ตลอดไป (เพราะเชื่อว่ามันจะนำความสุขมาให้) นี่แหละ...คือเชื้อฟืนต้นเหตุและพลังงานสำคัญของ “ตัณหา” ที่ทำให้มันยังคงแฝงเร้นอยู่ในภายในจิตไร้สำนึกของเราได้ตลอดกาล
และแล้ว......เจ้าปลาสอดสีแดงสดครีบยาวตัวน้อยนี้ ก็ได้ทอดตัวลงอย่างสงบในกองปุ๋ย (กองปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองในเข่ง ที่ผมทำขึ้นใช้เองในบ้าน) จากร่างที่เคยยึดถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวเรา เคยรักเคยหวงแหน บัดนี้คือซาก ที่กำลังย่อยสลายกลับ #คืนสู่ธรรมชาติดั้งเดิม ผุพังกลายเป็นเถ้า............ ขึ้นชื่อว่า...สิ่งมีชีวิต สักวันหนึ่งจักต้องคืนกลับสู่สภาพเดิมทั้งหมด
All living beings must Return to Nature
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
*สู่ขิต เป็นคำสแลง (slang) กร่อนเพี้ยนมาจากคำเต็มว่า #สู่สุคติ คำใหม่นี้ ฟังดูชิลๆ ไม่ค่อยเป็นทางการ วัยรุ่นยุคนี้มักนิยมใช้กัน อีกคำที่เคยได้ยินคือ #ตุย หรือ #ตุยเย่ แปลว่า ตายเฉยๆ (สแลงนี้อาจเกิดจากการกร่อนเสียงคำว่า “ตาย” ให้สั้นลง แต่น่าจะต่างจาก “สู่ขิต” ที่หมายถึงตายแบบไปดีด้วย ตามรากศัพท์เดิม)
ปกติคำสแลงมักฮิตใช้กันแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง (บางคำอาจฮิตนานเป็น 10 ปี) แล้วก็ค่อยๆ จางหายไป แล้วก็เกิดคำใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่ เพราะภาษาใดที่ยังมีชีวิต (ยังมีคนใช้กันอยู่แพร่หลาย) อย่างไรก็ต้องวิวัฒน์ไปตามปากคน มันจึงสามารถแปรไปได้เรื่อยๆ ตามปากคนใช้
ถ้าใครเคยอ่านเอกสารโบราณ เอาใกล้ๆ ประมาณ 100 กว่าปี อย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีหลายคำที่คนสมัยนี้อ่านแล้วไม่รู้ความหมาย ผมเคยอ่านเจอคำในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นสำนวนแปลเก่าว่า “ล่วงส่วน” ซึ่งไม่รู้จะแปลว่าอะไร ให้ตรงความหมายตามบริบทดั้งเดิมของคำในยุคนั้น (เช่น ล่วงมาแล้วเป็นส่วนๆ หรือ?) และทำให้คนในยุคนี้เข้าใจได้ด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา