14 ธ.ค. 2021 เวลา 12:22 • สุขภาพ
#ภาวะซึมเศร้า
ยิ่งสังคมเจริญพัฒนารุดหน้ามากขึ้นเท่าไหร่ แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ....กลับพบผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ โรคทางใจนี้สำคัญตรงไหนและน่าสนใจยังไง เหตุเพราะผมเพิ่งถูกน้องคนนึงทักว่า พี่อาจจะป่วยเป็นซึมเศร้าก็ได้....รึเปล่า?
หลายๆ คนในยุคนี้เปิดตัวและยอมรับกันมากขึ้นว่า ตัวเองนั้นป่วยมีอาการซึมเศร้า ส่วนตัวผมที่ถูกทักมาอย่างนี้ เพราะมีปมหนึ่งที่ฝังค้างลึกคาอยู่ภายในใจมาเนิ่นนานเกินกว่า 20 ปี ที่ตัดยังไงก็ตัดทิ้งไม่ขาดสักที (หนักเสียยิ่งกว่าตอนอกหัก ที่คลายได้เร็วกว่าอีก (ฮา) ปมที่ว่านี้คืออะไร? ฟังแล้วอาจจะดูพิกลๆ หน่อย ว่า....มันเกิดกับคนที่เป็นนักวาดรูปอย่างผมได้ไง เพราะปมที่ว่านี้ก็คือ “การดูถูกผลงานตัวเองว่าไร้คุณค่าและพาลไม่อยากทำต่อซะงั้น” ฟังแล้ว รู้สึกงงๆ มั้ยครับ เออ...มันคงบ้าละมั้ง นั่นดิ!
image credit : https://www.sanook.com/health/721/
ถ้าสังเกตให้ดีๆ ช่วงหลังๆ ผมผลิตผลงานออกมาน้อยมาก คือน้อยมากจริงๆ รูปส่วนใหญ่ที่โพสต์ลงในเพจ ก็มักเป็นรูปเก่าเก็บค้างปี บางรูปก็มีอายุนานเกินหลาย 10 ปี ผมมีภาพวาดอยู่เซ็ทนึง วาดตอนที่ผมเกิดอาการนี้หนักๆ จนระบายออกมาเป็นรูปวาดทั้งกลุ่ม ภาพนี้ผมวาดช่วง พ.ศ. 2544 เพื่อนำไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ “สานเกลียวศิลป์” ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4 -13 ตุลาคม 2544
เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้าง “หอสมุดสมเด็จย่า 100 ปี” ที่ มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย (วิทยาลัยแม่ชี) ที่อำเภอปักธงชัย โคราช ไว้มีโอกาสจะมาโพสต์ให้ชมพร้อมๆ กัน รูปที่เคยถ่ายไว้ก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ (เพราะเก่ามาก) ส่วนใหญ่รูปวาดต้นฉบับยังอยู่กับผม โดยเฉพาะรูปที่ดูแล้วเศร้าและหดหู่มากๆ ตรงนี้ไม่รู้ว่า... พอใครได้ดูแล้วจะรู้สึกเหมือนกับคนวาดมั้ย หรือว่าจะดูฮา หรือตลกไปเลยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะมันเป็นเรื่องที่กลัดหนองอยู่ภายในใจตอนนั้นจริงๆ
มาว่ากันด้วย #โรคซึมเศร้า กันต่อดีกว่า เดี๋ยวนี้อยากรู้อะไรก็ง่ายๆ เสิร์ชหาแพล็บเดียวข้อมูลก็ออกมาเต็มไปหมด คร่าวๆ คือ โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) คือภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า (น่าจะคูณ 2 คูณ 3 ขึ้นไป จากความเศร้าปกติของคนทั่วไป) ซึ่งเป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่ง (โรคสองบุคลิค หรือไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) ก็เป็นโรคเฉพาะทางอารมณ์ที่เป็นอาการทางจิตเวชเช่นกัน) สาเหตุเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งมาจากพันธุกรรมในครอบครัว และสภาพทางจิตใจที่เผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยดังนี้
1. #โรคซึมเศร้าที่เกิดจากภาวะเครียด : พบได้ในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีญาติที่มีอาการแบบนี้มาก่อน มักพบความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมอง ที่เซลล์สมองสร้างขึ้นมา เพื่อรักษาความสมดุลทางอารมณ์
2. #โรคซึมเศร้าที่เกิดจากเลี้ยงดู : อาการที่เกิดขึ้นคือ มักขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง มักมองตัวเองในแง่ลบอยู่ตลอดเวลา จะเครียดได้ง่ายเมื่อต้องเผชิญกับมรสุมของชีวิต
3. #โรคซึมเศร้าที่เกิดจากการเผชิญสถานการณ์เลวร้าย : เช่น ชีวิตต้องพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ปรารถนา ก็จะกระตุ้นอาการซึมเศร้าให้กำเริบขึ้นได้
ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ ฟังดูเหมือนเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับคนปกติทุกๆ คนทั่วไปเลยนะครับ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนคนนั้นคือผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า เอาหลักๆ ที่เป็นจุดสังเกตคือ มักจะคิดถึงแต่ความตาย และต้องการฆ่าตัวตาย (ผมก็ชอบระลึกถึงความตายนะ แต่ไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย เพราะรู้ชัดว่าปลายทางไม่สวยแน่ และไม่ใช่หนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ตรงหน้าได้จริง) หงุดหงิด หม่นหมอง กระวนกระวาย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่อยากอาหาร ขาดความสนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง (ที่เคยรู้สึกสนุกมาก่อน) รู้สึกผิดซ้ำซาก สิ้นหวัง และมองตนเองว่าไร้ค่าอยู่ตลอดเวลา ในทางการแพทย์หากท่านใดมีญาติที่มีอาการแบบนี้เกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์นะครับ ซึ่งวิธีการรักษาก็มีทั้งการบำบัดทางจิต และการใช้ยา
ที่น่าสนใจคือเรื่องสถิติ เพราะโรคซึมเศร้าตรวจพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า และที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะฆ่าตัวตายได้สำเร็จมากกว่าผู้หญิง
image credit : https://www.posttoday.com/life/healthy/547366
แน่นอนว่าจุดสังเกตอาการต่างๆ ที่พอจะคาดการณ์ได้ว่าบุคคลนั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า มักเป็นอาการทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน เช่น โกรธง่าย หงุดหงิด ท้อแท้ สิ้นหวัง ฯลฯ ทำให้ปัจจุบันจึงเป็นเรื่องยากที่แพทย์จะวินิจฉัยได้ชัดว่า ใครป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะผู้ป่วยก็มักจะปฏิเสธการรักษาอยู่เสมอ
จะว่าไปความเครียดที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าเหล่านี้ มีสาเหตุหลักมาจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่สลับซับซ้อน และยุ่งยากมากขึ้นทุกวันๆ จนใครๆ ก็คงปฏิเสธได้ยากว่าไม่ใช่เรื่องจริง บางคนชอบเอาความสุขไปผูกไว้กับวัตถุใดๆ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เมื่อสูญเสียหรือผิดหวังขึ้นมาอย่างรุนแรง ในคนที่ไม่สามารถปรับสภาวะทางอารมณ์ได้ ก็จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและอาจพัฒนาไปจนเกิดอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อมันเป็นอาการทางจิตเวช ส่วนตัวผมคิดว่าตัวยาที่จะรักษาได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็น #ยารักษาทางใจ มากกว่า ส่วนยาเม็ดที่ผู้ป่วยต้องกินนั้น น่าจะช่วยผ่อนคลายได้แค่ระยะหนึ่ง เคยได้ยินว่าหากผู้ป่วยไม่กินยาอย่างต่อเนื่อง อาการก็จะกำเริบได้อีก แบบนี้มันเลยไม่ถาวรไงครับ
แน่นอนว่า...ขึ้นชื่อว่าโรค คงไม่มีใครอยากเป็น แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ ผมว่าสภาพสังคมในปัจจุบันเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญมากๆ เลย แต่...ในเมื่อเราเกิดมาแล้ว จะหนีไปไหนก็ไม่ได้ เปรียบไปก็เหมือนกับปลากำลังว่ายอยู่ในน้ำ หากน้ำมันจะเน่าเสีย ยังไงก็ต้องทนอยู่ต่อไปให้ได้นั่นแหละ ส่วนใครจะเลือกหาทางออกยังไง ก็คงมีหนทางให้เลือกหลากหลาย เพราะตราบใดที่ยังมีชีวิต วงเวียนทุกข์ก็ยังคงดำเนินอยู่ หากก้าวออกจากวงเวียนนี้ได้เมื่อไหร่ ก็เป็นอิสระเมื่อนั้น
อ้าวววววว......ไปๆ มา ตรูเป็นซึมเศร้ามั้ยวะเนี่ย? หะ...หะ บ้าๆ บอๆ อย่างงี้คงไม่เป็นละมั้ง? หรือจะเป็นฮิ?......อิอิ
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
ป.ล. ช่วงนี้...โพสต์ถี่นิดนึง (หลังจากเดือนก่อนหายหัวไปทั้งเดือน) เพราะมันมีเรื่องชวนคุย ชวนเต๊าะ อยากจะเล่าให้ฟังนั่นเองครับ ใครที่ติดตามเพจนี้ เพราะเป็นเพจนักวาดรูป ก็น่าจะอยากเห็น...รูปวาดเยอะๆ แต่อาจผิดหวัง เพราะจริงๆ ผมก็มีไลฟ์สไตล์อย่างอื่นด้วย ก็คงไม่ต่างจากชาวบ้านทั่วไป ที่ต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตนะครับ จริงบ่?

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา