13 ธ.ค. 2021 เวลา 06:26 • ประวัติศาสตร์
อังกฤษ: การดำรงอยู่ของราชวงศ์โบราณบนโลกใหม่ที่ท้าทาย
ในความเคลื่อนไหวของ 'สถาบันกษัตริย์'
1
  • น้อยครั้งนักที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษจะแสดงออกทางการเมือง แต่ความถี่ในการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่
  • อิสระในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน นำมาซึ่งการปรับตัวของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะลบรอยด่างพร้อยด้านการใช้จ่ายจากเงินภาษีได้ และนั่นทำให้กลุ่มต่อต้านยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
  • ประเด็นใหญ่ของโลกสมัยใหม่อย่างสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ราชวงศ์เก่าแก่ต้องหันมาใส่ใจ พร้อมๆ กับการพยายามลบข้อครหาร้ายแรงของยุคนี้อย่างการกีดกันทางเชื้อชาติที่สถาบันกำลังถูกโจมตีอย่างหนัก
การปกครองที่ให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ที่ไร้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ตามหลักศาสนาอย่างการเป็น ‘เลเวียอาธาน’ (Leviathan) ของสังคมการเมืองยุคใหม่ คงไม่มีที่ใดเหมาะสมที่จะถูกพูดถึงได้เท่ากับจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้อย่างสหราชอาณาจักร ที่อยู่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ในฐานะเจ้าเหนือชีวิตทุกผู้ในแผ่นดิน ไปจนถึงยุคที่ถูกบั่นพระเศียรโดยกลุ่มอำนาจใหม่อย่างชนชั้นขุนนางและกลุ่มชนชั้นกลางผู้เรืองอำนาจ
ราชวงศ์วินด์เซอร์ คือราชวงศ์ที่กำลังครองอำนาจในสถาบันกษัตริย์อังกฤษในยุคปัจจุบันที่ไม่ได้เพิ่งปรับตัวให้เข้ากับปัญหาของโลกสมัยใหม่ ทว่าถูกบีบให้ต้องปรับปรุงตนเองมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ปัญหาเรื่องชื่อราชวงศ์ที่มีความเป็นเยอรมันมากกว่าอังกฤษจนเป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนชื่อ ปัญหาภายในครอบครัวเรื่องการแต่งงานหรือการออกจากราชวงศ์อันน่าครหา ไปจนถึงเรื่องสามัญที่สถาบันกษัตริย์ใดๆ ในโลกต่างก็ต้องเผชิญอย่างการใช้จ่ายงบประมาณของเหล่าราชนิกุล
บทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาดสำหรับการทำความเข้าใจสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่ต้องเข้าสู่โลกยุคใหม่ อันให้คุณค่าในหลายสิ่งมากไปกว่าสีของเลือดหรือชื่อนามสกุล ปัจจัยใดบ้างที่เหล่าราชวงศ์อังกฤษเคยกระทำผิดพลาดหรือสร้างความก้าวหน้า เพราะเหตุใดระบอบประชาธิปไตยอันตั้งมั่นแห่งแรกของโลกถึงสามารถดำรงอยู่คู่กับสถาบันกษัตริย์อันเก่าแก่ได้ และท่าทีของพวกเขาทั้งหมดกำลังให้บทเรียนใดแก่ส่วนอื่นๆ ของโลกเรา เรื่องราวเหล่านี้อาจสะท้อนได้นับตั้งแต่วันที่เด็กหญิง ‘Lilibet’ ได้ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ที่ทรงพลังที่สุดในโลก ในนามของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร
พิธีราชาภิเษกของเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1953
  • ต้องเป็นกลางทางการเมือง จริงแท้เพียงใดนอกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
“หากคุณถูกลิขิตว่าต้องเคารพบูชาเขา แน่นอนว่าคุณจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้”[1]
ข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือชื่อ The English Constitution โดย วอลเตอร์ แบจต์ (Walter Bagehot) ในหมวดที่กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้น ดูจะเป็นประโยคที่จำกัดความสถาบันกษัตริย์อังกฤษได้ดีที่สุด เนื่องจากสถาบันกษัตริย์อังกฤษเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ถูก ‘บีบให้ปฏิรูป’ เป็นแห่งแรกๆ ของโลก โดยเฉพาะเมื่อสิ่งใหม่อย่างอำนาจของรัฐสภาและรัฐมนตรีถูกก่อตั้งขึ้นมาถึงขนาดเทียบเคียงราชบัลลังก์ แบจต์ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า “กษัตริย์จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเขาหรือเธอสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์หรือเห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์แก่บรรดารัฐมนตรีได้ ทว่าคณะรัฐมนตรีเหล่านี้ต่างก็เป็นสุดยอดที่สุดแห่งยุคของพวกเขาเช่นกัน”
1
ถึงแม้จะมีกฎและธรรมเนียมปฏิบัติโบราณอยู่ว่า สมาชิกราชวงศ์ทุกคนต้องไม่แสดงออกทางการเมือง จนแม้แต่ราโชวาทของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็มักจะไม่ได้ถูกเขียนขึ้นด้วยตัวเอง แต่ผ่านการร่างและตรวจตราอย่างเข้มข้นโดยรัฐบาล สมเด็จพระราชินีนาถก็เคยได้ออกมาตรัสถึงการเมืองระดับชาติอยู่บ้าง จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในสังคม กรณีสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษยุคใหม่อาจจะต้องย้อนกลับไปในปี 2014 เมื่อครั้งที่มีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์
การลงประชามติครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2014 แต่ย้อนกลับไป 4 วัน ก่อนการลงประชามติครั้งสำคัญที่อาจจะมีผลให้สกอตแลนด์แยกตัวออกมาจากผืนแผ่นดินสหราชอาณาจักรอย่างไม่มีวันหวนกลับ สมเด็จพระราชินีนาถที่กำลังกลับจากโบสถ์เครธีเคิร์ก (Crathie Kirk) บริเวณใกล้ปราสาทแบลมอรัลของพระองค์ในเขตอาเบอร์ดีนเชอร์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้ตรัสแก่พสกนิกรผู้มาร่วมแสดงความเคารพต่อเธอว่า “Well, I hope people will think very carefully about the future.” (“เราหวังว่าประชาชนทุกคนจะไตร่ตรองให้ดีถึงอนาคตของตนเอง”)[2]
จากนั้นไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โฆษกประจำสำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้ระบุว่า ทางสำนักพระราชวังไม่เคยวิพากษ์การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือบทสนาทนาแบบส่วนตัวใดๆ ของสมเด็จพระราชินีนาถ และสำนักพระราชวังเพียงแค่เน้นย้ำอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระราชินีนาถตรัสเป็นประจำเท่านั้น ว่าพระองค์ทรงเป็น กลางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
เพียงแค่การออกมา ‘ตรัส’ ถึงเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งนั้น ก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อความเหมาะสมของสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากพระองค์มีเชื้อสายสกอตแลนด์จากฝั่งต้นตระกูลมารดา และการออกมาตรัสถึงประเด็นการแยกประเทศก่อนวันลงประชามติเพียงไม่กี่วัน ก็อาจถูกนับว่าเป็นการสนับสนุนฝ่ายนิยมอังกฤษมากกว่าฝ่ายนิยมสกอตแลนด์ ซึ่งอาจจะเป็นการแสดงออกถึงความหวั่นวิตกว่าสหราชอาณาจักรของพระองค์กำลังจะถูกแบ่งแยกออกจากกัน
เมื่อมีครั้งแรกแล้วย่อมต้องมีครั้งที่ 2 หลังจากผ่านมาเป็นเวลากว่า 5 ปี สมเด็จพระราชินีนาถก็ออกมาตรัสถึงสถานการณ์ทางการเมืองอีกครั้งในปี 2019 เมื่อสหราชอาณาจักรกำลังถกเถียงกันอย่างมากในประเด็นการทำประชามติเพื่อแยกตนเองออกจากสหภาพยุโรป หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันในนาม ‘Brexit’
“แน่นอนว่า คนแต่ละรุ่นย่อมต้องเผชิญความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ เช่นเดียวกับที่พวกเรากำลังมองหาคำตอบใหม่ๆ ในยุคปัจจุบัน เราคือหนึ่งในคนที่นิยมการพยายามและทดลองที่จะทำตามตำรา เช่น การพูดจาดีๆ ต่อกันและเคารพในมุมมองที่แตกต่าง การร่วมมือเพื่อหาจุดยืนที่เราทุกคนต่างมีร่วมกันและไม่สูญเสียวิสัยทัศน์ในภาพรวม สำหรับเราแล้ว สิ่งนี้เป็นวิธีการที่ยั่งยืน และเราอยากจะแนะนำมันให้แก่ทุกคน”
สมเด็จพระราชินีนาถตรัสไว้ในวันที่ 24 มกราคม 2019 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของสถาบันสตรีแห่งแซนดริงแฮม (Women’s Institute: WI) ที่พระองค์ทรงเป็นสมาชิกตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นเจ้าหญิงในปี 1943[3] และเป็นอีกครั้งที่พระองค์ทรงเผยให้สาธารณชนรับรู้ถึงความคิดส่วนพระองค์ต่อสถานการณ์การเมืองอย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่มีผู้ใดร่างหรือตรวจสอบการแลกเปลี่ยนบทสนทนาสั้นๆ เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การแสดงออกในลักษณะดังกล่าวยังนับว่าเกิดขึ้นน้อยครั้งตลอดการครองราชย์อันยาวนานของพระองค์ และการแสดงออกเล็กๆ เหล่านี้ยังอาจถือว่าไม่หมิ่นเหม่ร้ายแรงเกินไปนักในความคิดของพสกนิกรชาวอังกฤษ
  • คำวิจารณ์รสขม กับความพยายามปรับตัวเพื่อความนิยมชมชอบ
วันที่ 21 เมษายน 2016 บริษัท Ipsos MORI ได้จัดทำแบบสำรวจสำหรับมหาวิทยาลัย King’s College London เพื่อสำรวจความนิยมในสถาบันกษัตริย์ของประชาชนอังกฤษ ผ่านการโทรศัพท์สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 1,001 ราย พบว่าร้อยละ 76 จากจำนวนทั้งหมดยังให้ความนิยมและเห็นถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ เมื่อเทียบกับฝ่ายที่เรียกร้องให้สหราชอาณาจักรเปลี่ยนระบอบการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐที่มีเพียงร้อยละ 17 โดยผลการสำรวจความนิยมดังกล่าวยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจก่อนหน้าที่จัดขึ้นในช่วงก่อนสิ้นศตวรรษที่ 20 อย่างมีนัยสำคัญ[4]
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากระแสความนิยมในตัวสถาบันกษัตริย์อังกฤษจะราบรื่นด้วยดีมาตลอด ย้อนกลับไปในปี 1957 เคยมีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อังกฤษอย่างเปิดเผย โดย ลอร์ด อัลตรินแชม (Lord Altrincham) หรือในอีกนาม จอห์น กริกก์ (John Grigg) ออกอากาศผ่านรายการ National and English Review ของตนเอง ซึ่งระบุถึงความเหินห่างต่อประชาชนของสมเด็จพระราชินีนาถ และยังเรียกพระองค์ว่า ‘Priggish Schoolgirl’ ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้เขาถูกฝ่ายจงรักภักดีเข้าทำร้ายร่างกายขณะกำลังเดินออกจากสถานีโทรทัศน์ในเวลาต่อมา[5]
ภายหลังจากกรณีอื้อฉาวดังกล่าว สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็ได้เริ่มเปิดเผยตัวตนออกสู่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น โดยเป็นปีแรกเช่นกันที่สมเด็จพระราชินีนาถได้ตรัสกับพสกนิกรของพระองค์ผ่านโทรทัศน์เนื่องในโอกาสวันคริสต์มาส รวมไปถึงการตรัสย้ำว่าต้องการให้พสกนิกรรู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์มากยิ่งขึ้น และยังริเริ่มการจัดงานเลี้ยงที่ไม่เป็นทางการต่างๆ อีกด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการปรับตัวครั้งแรกของสถาบันกษัตริย์อังกฤษหลังมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย
กลับมาที่ยุคปัจจุบัน ในปี 2018 เป็นอีกครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถได้ตรัสผ่านโทรทัศน์เนื่องในโอกาสวันคริสต์มาสอันเป็นประเพณีปฏิบัติอันเก่าแก่อีกครั้ง ทว่าในครั้งนี้พระราชดำรัสดังกล่าวได้กลายเป็นหายนะทางภาพลักษณ์ เมื่อมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการครอบครอง ‘เปียโนทองคำ’ ที่ตั้งอยู่เป็นฉากหลังของพระองค์ และทำให้สารที่พระองค์ต้องการจะสื่อไปยังประชาชนในเรื่องความสมัครสมานกลมเกลียว ถูกหักล้างด้วยภาพของความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นไปในทันที[6]
The Queen’s Christmas message for 1957
The Queen’s Christmas message for 2018
ความไม่พอใจดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 มีการใช้งบปรับปรุงพระราชวังบักกิงแฮมถึง 369 ล้านปอนด์ และพระองค์ได้รับเงินค่าใช้จ่ายไปถึง 45.7 ล้านปอนด์ ในปีงบประมาณเดียวกัน ส่งผลให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดียสมัยใหม่อย่าง Twitter ว่าพระองค์ทรงเป็น ‘ผู้ร่ำรวยที่สุดบนเกาะอังกฤษ’ ที่ใช้จ่ายด้วยเงินภาษีของประชาชน ส่วนข้อครหากรณีเปียโนทองคำก็ได้มีฝ่ายผู้จงรักภักดีออกมาแสดงความเห็นว่า อาจเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์[7]
2
ตามเอกสารรายงานด้านการเงินอย่างเป็นทางการของ The Royal Household ระบุว่า ในปี 2020-2021 รายรับจากเงินอุดหนุนดังกล่าวจะสูงถึง 85.9 ล้านปอนด์[8] ในขณะที่สำนักข่าว BBC คำนวณออกมาแล้วว่าจำนวนเงินดังกล่าวจะเทียบเท่ากับการจ่ายภาษีที่ 1.29 ปอนด์ต่อหัวสำหรับประชากร[9] ซึ่งองค์กรอิสระที่มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูประบบภาษีของอังกฤษให้เพื่อความประหยัด คุ้มค่า และโปร่งใสอย่าง TaxPayers’ Alliance ระบุว่า รายรับจากเงินอุดหนุนไม่ได้ลดลง ถึงแม้ประเทศกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤติอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากหน่วยงานพระคลังจะให้งบช่วยเหลือ เพื่อให้แน่ใจว่างบประมาณอุดหนุนของราชวงศ์จะไม่ได้รับผลกระทบในปีงบประมาณถัดไป[10]
ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ กลุ่มอิสระ ‘Republic’ ที่มีเป้าหมายต้องการจะโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ได้ทำโครงการระดมทุนเพื่อติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั่วเกาะอังกฤษ โดยมีข้อความในเชิงตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ว่า “Secretive. Divisive. Undemocratic. Abolish the monarchy,”(“ปกปิด แตกแยก ไม่เป็นประชาธิปไตย ร่วมทำลายระบอบกษัตริย์”)
ซึ่งปัจจุบันมีการเผยแพร่พระฉายาลักษณ์ของบรรดาเชื้อพระวงศ์พร้อมข้อกล่าวหาเป็นจำนวนมาก เช่น พระฉายาลักษณ์ของเจ้าชายแอนดรูว์ พร้อมข้อความ ‘ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย’ โดยอ้างอิงจากกรณีฟ้องร้องทางกฎหมายในข้อกล่าวหาว่า พระองค์ทรงคุกคามทางเพศ เวอร์จิเนีย จิฟฟรี (Virginia Giuffre)[11] หรือพระฉายาลักษณ์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พร้อมข้อความ ‘เวลส์ไม่ต้องการเจ้าชาย’ และป้ายโฆษณาอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้โครงการติดป้ายดังกล่าวสามารถระดมทุนไปได้แล้วถึง 30,000 ปอนด์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2021[12]
นอกเหนือจากนั้นแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2021 ผลสำรวจของ YouGov พบว่า ร้อยละ 41 ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ต้องการให้มีการเลือกตั้งประมุขของรัฐ ขณะที่ร้อยละ 31 ของกลุ่มวัยดังกล่าวยังคงต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่ ซึ่งแตกต่างไปจากผลการสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อนหน้าอย่างมาก จากเดิมที่มีสัดส่วนของผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์อยู่ถึงร้อยละ 46 ขณะที่ผู้ที่ไม่ต้องการมีเพียงร้อยละ 26 เท่านั้น[13]
  • เชื้อชาติ สิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศ ประเด็นใหม่ที่สถาบันกษัตริย์ต้องใส่ใจ
ถึงแม้ว่าการพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษจะไม่ได้ถึงกับยากเกินจะเปลี่ยนแปลง เนื่องจากถูกบีบบังคับให้ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ง่ายดายนักเมื่อมีประเด็นใหม่ๆ ถูกโยนเข้ามาในวงสนทนาของนานาชาติตลอดระยะเวลาที่โลกเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
“น่าหงุดหงิดเสียจริง พวกเขาพูด แต่พวกเขาไม่เคยทำ”
สมเด็จพระราชินีนาถเผลอตรัสออกมาขณะพูดคุยกับดัชเชสคามิลลาและประธานรัฐสภา เอลิน โจนส์ (Elin Jones) เป็นการส่วนตัว ขณะเดินทางไปเปิดสมัยประชุมสภาแห่งเวลส์ ณ กรุงคาร์ดิฟฟ์ ซึ่งบังเอิญถูกบันทึกเป็นวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือและรั่วไหลออกไป ทำให้ทั่วโลกต่างตกใจถึงการออกความคิดเห็นส่วนตัวทางการเมืองของสมเด็จพระราชินีนาถอีกครั้ง โดยเฉพาะครั้งนี้ที่เป็นการพูดถึงการประชุมที่มีผู้นำระดับโลกมากมายมารวมตัวกัน ณ กรุงกลาสโกว์ ในงานประชุม COP26 ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2021[14]
https://twitter.com/rjmyers/status/1448760244788764672?s=20
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษพยายามแสดงออกว่ามีท่าทีใส่ใจกับสภาพแวดล้อมและความเป็นไปของธรรมชาติ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมในปีเดียวกัน เจ้าชายวิลเลียมได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การส่งอดีตนักแสดงซีรีส์ชื่อดัง Star Trek ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดราคาแพงจากมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) พร้อมตรัสว่า “เราต้องการผู้ที่มีมันสมองและจิตใจระดับโลกที่พยายามจะซ่อมแซมดาวดวงนี้ ไม่ใช่การพยายามเพื่อจะออกไปหาที่อยู่ใหม่แล้วใช้ชีวิต”[15]
นอกจากประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ยังมีประเด็นร่วมสมัยที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะภายหลังจากการให้สัมภาษณ์สุดอื้อฉาวของเจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกน กับพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง โอปราห์ วินฟรีย์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2021 ที่ระบุว่า ในราชสำนักอังกฤษยังมีการกีดกันทางเชื้อชาติอย่างรุนแรงอยู่[16] ประกอบกับเอกสารทางสำนักข่าว The Guardian สืบค้นมาได้นั้น ระบุว่าในอดีตเคยมีการกีดกันไม่ให้ผู้อพยพผิวสีหรือชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในบางตำแหน่ง[17] ประเด็นนี้ทำให้ทางราชสำนักต้องรีบออกมาแก้ต่างในประเด็นเรื่องการกีดกันทางเชื้อชาติ
“ทุกประเด็นจะได้รับความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นที่กล่าวถึงการกีดกันทางเชื้อชาติ ถึงแม้จะมีตัวแปรอยู่มากในคำบอกเล่าดังกล่าว แต่ทุกเรื่องจะถูกพิจารณาอย่างจริงจัง และจะถูกชี้แจงโดยสมาชิกในครอบครัวเป็นการส่วนตัว แฮร์รี, เมแกน และอาร์ชี จะยังเป็นที่รักของสมาชิกในครอบครัวเสมอ”
สำนักพระราชวังออกหนังสือชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าวหลังรายการสัมภาษณ์สุดอื้อฉาวของคู่บ่าวสาวออกอากาศไปแล้วเป็นระยะเวลา 2 วัน ถึงแม้สื่อมวลชนและกระแสสังคมยังไม่พอใจนักกับคำชี้แจง แต่ก็มองในมุมกลับได้ว่า หากไม่มีการชี้แจงใดๆ ออกมาเลยจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาติในเครือจักรภพทั้ง 54 ชาติ อันอุดมไปด้วยประชากรผิวสีจะต้องสั่นคลอนเป็นอย่างมาก[18]
ความท้าทายใหม่ภายใต้สถาบันเก่า ปรับตัว เปลี่ยนผ่าน และทวีความซับซ้อน
ตลอดการครองราชย์อันยาวนานของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สถาบันกษัตริย์อังกฤษได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายรูปแบบ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของบรรดาราษฎรที่ต้องการให้สถาบันมีความโปร่งใส อีกหลายกรณีไปไกลถึงขั้นล้มล้าง และถึงแม้จะมีพระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานเป็นกบฏ ค.ศ. 1848 อยู่ในระบบกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจังมาอย่างยาวนานแล้ว กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นจึงค่อยๆ บีบให้สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวมากขึ้น
ความท้าทายที่สถาบันกษัตริย์ทั่วโลกต้องประสบไม่ต่างกันคือ การจัดการกับภาพลักษณ์ในเรื่องการใช้จ่ายและการถือครองทรัพย์สิน สถาบันกษัตริย์อังกฤษซึ่งถือครองทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปราสาท ที่ดิน หรือข้าราชบริพารจำนวนมหาศาล กำลังเผชิญกับแรงเสียดทานที่สังคมเริ่มกดดันมากขึ้น ทั้งในประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ ความฟุ้งเฟ้อ และความจำเป็นในการดำรงอยู่ของสถาบัน โดยเฉพาะในช่วงหลายปีของการแพร่ระบาดจากไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกัน ประเด็นของสังคมสมัยใหม่ก็บีบให้สถาบันกษัตริย์อันเก่าแก่ต้องตั้งรับในหลายเรื่อง ทั้งความพยายามในการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวโลกด้วยการแสดงความตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและภูมิอากาศ รวมไปถึงการใส่ใจต่อประเด็นการเหยียดเชื้อชาติภายในราชสำนักที่หากข้อครหานี้เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน สถาบันอาจจะยังไม่ถูกจับจ้องมากนัก
ในทางการเมือง สถาบันกษัตริย์อังกฤษนับว่ายังเผชิญกับสภาพปัญหาความท้าทายน้อยกว่าสถาบันกษัตริย์อีกหลายแห่งทั่วโลก เนื่องจากอำนาจทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์อังกฤษถูกลดทอนลงไปอย่างมากนับตั้งแต่ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาตั้งมั่นแล้ว และส่งผลทำให้การวิพากษ์วิจารณ์หรือการก่อตัวของกลุ่มต่อต้านเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ประหนึ่งเป็นกลไกตรวจสอบที่สถาบันกษัตริย์ต้องเผชิญอย่างไม่อาจปฏิเสธ รวมไปถึงกลไกทางกฎหมายอีกหลายประการก็พร้อมที่จะจับจ้องสถาบันกษัตริย์หากมีการกระทำใดที่ล้ำเส้นของกฎหมาย
กล่าวได้ว่า ความท้าทายทั้งจากระเบียบโลกใหม่และโลกเก่า เรียกร้องให้ราชนิกุลทุกพระองค์ต้องปรับตัวมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา และต้องพึ่งพาความสามารถในการอยู่ร่วมกับสังคมด้วยความใจกว้างและการรับฟัง มากกว่ารอให้ ‘God Save the Queen’ เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
เชิงอรรถ
เขียน: ภูภุช กนิษฐชาต
โฆษณา