16 ธ.ค. 2021 เวลา 07:58 • ไลฟ์สไตล์
"ไม้ตีระนาดกับลูกระนาด"
นักปฏิบัติจะได้ยินคำว่า "ผู้รู้ กับ ผู้ถูกรู้" มาเสมอ ตอนยังไม่เข้าสู่การปฏิบัติ คนทั้งหลายจะไม่มีผู้รู้กับผู้ถูกรู้กันหรอก เพราะในการใช้ชีวิตนั้นมันมีแต่ความรู้สึกเป็น ของกู เป็นกู ตลอดเวลา
เช่นใครทำเสียงดัง เราก็โกรธ ไม่ชอบใจ อย่างนี้เป็น "เราโกรธ เพราะมีคนอื่นกระทำ" ขึ้นมา ไม่มี "ผู้รู้ ผู้ถูกรู้" ใดๆ
จากนั้นเริ่มมาปฏิบัติ มีสติ สัมปชัญญะ รู้จักนั่งสมาธิ เริ่มมี "ผู้รู้" ไปสังเกต "ลมหายใจ" ลมหายใจเลยกลายเป็น "ผู้ถูกรู้" เมื่อทำจนบ่อย จนชำนาญ จากนั้นก็เริ่มพัฒนาขึ้นสู่การใช้ชีวิตประจำวัน
พอมีใครทำเสียงดัง เกิดความไม่พอใจ ตอนนั้นสติระลึกขึ้นมา จึงเกิด "ผู้รู้" ไปสังเกตเห็น "อารมณ์โกรธ " อารมณ์โกรธ กลายเป็นผู้ถูกรู้ เมื่อเป็นอย่างนี้บ่อยๆ เริ่มเกิดเห็นลักษณะรายละเอียดของ "ผู้ถูกรู้" มากขึ้น
เช่น "ผู้ถูกรู้" นี่เกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวก็ดับไป บางทีก็ไปเห็นว่า เมื่อมีสิ่งมากระทบ ผู้ถูกรู้นี้ก็เกิดขึ้นตาม หรือ บางทีสิ่งกระทบเดียวกัน แต่ทำไม "ผู้ถูกรู้" ครั้งนี้มันไม่เหมือนครั้งก่อน ฯลฯ
อย่างนี้ "ผู้รู้" เริ่มเรียนรู้ "ผู้ถูกรู้"
จนวันหนึ่งเข้าใจได้ ฟันธง จากการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง (ตอนนี้ศีลต้องบริบูรณ์นะ ไม่งั้นจะเห็นด้วยปัญญาเองว่า หากยังทำผิดศีล ความทุกข์ใจจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ยากมากที่จะนำไปสู่ความสงบตั้งมั่น)
"ผู้ถูกรู้" นั้น ไม่มีตัวตน เพียงแค่ของเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ดับไปเมื่อหมดเหตุปัจจัย ใครเห็นแจ่มแจ้งตลอดเวลาอย่างนี้ ผู้นั่นจะละความเห็นผิดในความเป็นตัวตนลงในที่สุด
ถึงแม้ในช่วงระหว่างการปฏิบัติ การเห็นอย่างนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกันแม้จะยังไม่ถึงธรรมจนละความเห็นผิด ถึงแม้บางขณะจะกลับไปมีตัวตนบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะจิตยังไม่เห็นจนขาวรอบ
1
ดังนั้นอย่าห่วง จากการปฏิบัติภาวนาไม่หยุดหย่อนมันจะต้องเห็นความจริงมากขึ้น มากขึ้น จนเบียดความเห็นผิดในความเป็นตัวตนหมด (สักกายทิฏฐิ) ไปในที่สุด นั่นจึงไม่มีมิจฉาทิฏฐิอีก ซึ่งก็แปลว่าเกิด สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง
ทีนี้ เมื่อ "ผู้รู้" เฝ้าดู "ผู้ถูกรู้" ต่อไป ความตั่งมั่นใน สัมมาสมาธิ ก็จะสูงขึ้น ทำให้เริ่มไปสังเกตเห็นว่า "ผู้รู้" เองก็เกิดดับนี่ ในช่วงที่ผ่านมา ความที่มัวแต่สังเกต พุ่งไปที่ "ผู้ถูกรู้" จึงทำให้ "ผู้รู้" เองเกิดเป็นตัวตนขึ้นโดยลำดับ
เริ่มรู้สึกขึ้นเรื่อยๆว่า "กู" เข้าใจ เกิด "ปัญญา" แล้วสิ่งที่จะตามมาเป็นอัตโนมัติโดยผู้นั้นอาจจะไม่รู้เลยคือ การยึดถือ "ปัญญา" นั่น เป็น "ของกู" ขึ้นทันทีและเหนียวแน่นขึ้นเรื่อยๆ ในชั้นที่ละเอียดมากขึ้นแม้ละความเห็นผิดในความเป็นตัวตนแล้วก็ตาม แต่อุปาทานในขันธ์ยังมีอยู่
ตราบใดที่จิตยังคงมีอวิชชา จิตโง่จะยึดทุกอย่างนั่นล่ะ เพราะต้นเหตุของทุกอย่างก็เพราะจิตมันยึดถือตัวมันเอง
การเจริญมรรค จะเกิดรู้แจ้งอริยสัจ๔ ขึ้นมา เมื่อเกิดรู้แจ้งอริยสัจก็จะนำไปสู่การเห็นและรู้แจ้งปฏิจจสมุปบาทขึ้นตามมา เนื่องด้วยเป็นสิ่งเดียวกัน จึงนำไปสู่ความเห็นถูกในระดับที่ลึกขึ้น จนเห็นว่า วิญญาณเองก็เกิดดับ ตอนนี้จิตจะเริ่มเห็นความจริงมากขึ้น
จึงเป็นที่มาสู่ความเห็นถูกมาขึ้นว่า แม้ "ผู้รู้" ก็เกิดดับ
หากอุปมา "ผู้รู้" กับ "ผู้ถูกรู้" เหมือนระนาดกับไม้ตีระนาด ระนาดกับไม้ตีก็อยู่กันเป็นเซ็ท แต่ไม่เหมือนกัน ทำหน้าที่ต่างกัน
แต่งานนี้ไม้ตีระนาดเกิดไปเข้าใจผิดยึดว่าระนาดเป็นของมัน เสียงที่เกิดขึ้นมาจากมันเป็นคนทำ แต่เมื่อสังเกตด้วยความตั่งมั่นและเป็นกลาง ไม้ตีระนาดจึงเริ่มพบความจริงว่า
เสียงระนาดที่ดังขึ้นมานั้นมาจากมีการกระทบกันเท่านั้น ไม่ได้เป็นของไม้ตีระนาด มันเป็นเพียงการกระทบกันเพราะยังมีเหตุ เพราะความที่ไม้ตีระนาดเข้าใจผิดไปเองว่าทั้งระนาด ทั้งเสียงระนาดเป็นของมัน นี่จึงนำมาซึ่งความทุกข์มาตลอด
สุดท้ายความเข้าใจผิดทั้งหมดในชั้นลึกที่สุด เกิดมีขึ้นมาได้ ก็จากความเป็นตัวตนของไม้ตีระนาดเอง ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนอยู่แล้ว
เพราะความเข้าใจผิดที่ยึดว่าสติก็ของเรา ปัญญาก็ของเรา เรารู้แจ้งแล้ว แม้นสัมมาทิฏฐิมีอยู่ แต่มันยังไม่สามารถวางสัมมาทิฏฐิได้ จนในที่สุดจากการรู้แจ้งอริยสัจจนถึงที่สุด สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นเหตุเกิดผลเป็น สัมมาญาณและสัมมาวิมุตติ
ที่นี้จึงเป็นญาณ (ความรู้ ปัญญา) แท้จริงที่ปราศจากผู้ยึดถือ นี้จึงเป็นวิมุตติแท้ ว่างจากผู้วิมุตติ (หลุดพ้น) เป็นการคืนสู่ธรรมชาติโดยปราศจากตัวตนใดๆ อันก่อให้เกิดความยึดถือใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อเกิดความเห็นถูก ไม้ตีระนาด ระนาด เสียงระนาด ล้วนเป็นอิสระว่างจากตัวตนกันหมด โดยความจริงก็ว่างกันอยู่แล้ว มันเพียงมีความรู้สึกที่ถูกสร้างขึ้นมาเองด้วยความไม่รู้ นี่จึงไปสร้างเหตุเกิดของขันธ์อันสืบเนื่อง ภพ ชาติอันสืบเนื่อง ไม่หยุดหย่อน
1
วันนั้น ทั้ง "ผู้รู้" "ผู้ถูกรู้" ที่แท้ก็เป็นสิ่งเดียว ล้วนเป็นธรรมชาติที่ว่างจากตัวตนทั้งสิ้น เมื่อนั้นจะหมดเหตุปัจจัยใดๆในการก่อทุกข์
เพราะหมดเหตุแล้ว หยุดการก่อร่างสร้างการเกิดใดๆ
นี้คือที่สุดแห่งทุกข์ คือ พระนิพพาน
.
โดย ท่านอาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
2013-09-04
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา