17 ธ.ค. 2021 เวลา 03:31 • ไลฟ์สไตล์
"การทำงานของอริยมรรคมีองค์ ๘"
" …​ มรรคมีองค์ ๘ จะทำให้บุคคลทั้งหลายพ้นทุกข์ได้อย่างไร ?
แล้วคำว่าพ้นทุกข์นี้ คือพ้นไปจนถึงที่สุดเลย
ที่สุดอย่างที่เราเข้าใจ
ก็คืออย่างที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้คือคำว่า พระอรหันต์
เพราะฉะนั้นในพระอรหันต์นี้ เป็นผู้ที่หมดแล้ว
อยู่เหนือโลกจริง ๆ
มรรคมีองค์ ๘ คืออะไร ?
คำว่า มัคคานุคา
แปลจริง ๆ เป็นคำที่เราเข้าใจได้ก็คือ ผู้เดินตามมรรค
ทีนี้ในยุคปัจจุบัน ผู้คนจะรู้จักมรรคกันน้อยมาก
มรรคมีองค์ ๘ คืออะไร ?
๑ สัมมาทิฏฐิ
๒ สัมมาสังกัปโป
๓ สัมมาวาจา
๔ สัมมากัมมันโต
๕ สัมมาอาชีโว
๖ สัมมาวายาโม
๗ สัมมาสติ
๘ สัมมาสมาธิ
มรรคมีองค์ ๘ แน่นอนที่สุด
ข้อที่ ๑ ก็คือสัมมาทิฏฐิ คือเห็นชอบ
เห็นอะไรชอบ
พูดกันง่าย ๆ เลยก็คือว่า
ถ้าเมื่อไรเรารู้ว่า อะไรคือทุกข์
อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์
เราจะรู้ว่าเราควรจะละมัน
แต่วันนี้ดูเหมือนกับว่าเราจะรู้นะ ว่าทุกข์คืออะไร
แต่ความจริงสิ่งที่เรารู้เนี่ยมันกลายเป็นว่า
เรารู้จักความทุกข์ ที่เกิดขึ้นในใจ
แต่สภาพทุกข์จริง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัส
ในสัมมาทิฏฐิ มันไม่ใช่แค่ความรู้สึกทุกข์
มันคือสิ่งที่เราทำให้เราเนี่ยทุกข์ ก็คือ
เราไม่รู้ว่าการที่เข้าไปยึดอะไรสักอย่างหนึ่ง
ที่มันเป็นของเกิด ๆ ดับ ๆ เนี่ย มันนำมาซึ่งทุกข์
ถ้าเมื่อไหร่เห็นถูก เข้าใจถูกตามนี้
มันจะนำมาซึ่งข้อที่ ๒ เมื่อเห็นถูกจะรู้ถูก
รู้ถูกคืออะไร ก็คือการดำริชอบ
เมื่อรู้ถูก จะคิดถูก ดำริอะไร
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ดำริในการออกจากกาม
ไม่มุ่งร้าย ไม่เบียดเบียน ย่อ ๆ แค่นี้ก็แล้วกัน
ทำไมต้องดำริออกจากกาม ?
เพราะว่าสิ่งที่เราเข้าไปยึดติด คือสิ่งที่เราชอบ
ไม่ว่าจะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
เมื่อเสพเข้าไปมาก ๆ มันเกิดความอยากที่จะเสพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
หรือไม่ก็เข้าไปยึดติดในสิ่งนั้น
ถ้าท่านนั่งสมาธิ ท่านจะรู้สึกเลยว่ามันไม่สงบ
เพราะใจของท่านวอกแวก ๆ ถึงสิ่งที่อยากจะไปเสพอีก
ต่อให้ไม่ได้นั่งสมาธิ อยู่ในชีวิตประจำวัน
ก็อยากจะไปหาเสื้อตัวสวย ๆ
ที่เคยมองไว้ตั้งแต่เมื่อวาน
อยากจะไปกินอะไรอร่อย ๆ
มันจะบีบคั้นทำให้จิตใจของเราเร่าร้อนตลอดเวลา
เมื่อเข้าใจตรงนี้ ใน ๒ ส่วนนี้
สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นอันถูกต้อง
ความเข้าใจหรือว่าดำริอันถูกต้องขึ้นมา
ก็จะลงไปในแผนปฏิบัติการ
คือ มรรคองค์ที่ ๓ คือสัมมาวาจา
เมื่อเกิดความเข้าใจถูกต้อง เขาเรียกว่าปัญญา
ก็จะทำให้วาจาถูกต้อง
เพราะวาจาของเราถ้าไม่ถูกต้องเนี่ย
มันจะมุ่งร้าย เบียดเบียนผู้อื่นอยู่เรื่อย ๆ
ไม่ว่าจะกล่าวคำเท็จก็ดี พูดส่อเสียด
พูดเสียดสี พูดทำใ้ห้คนแตกกัน อย่างนี้
เพราะฉะนั้นวาจาก็จะเริ่มถูกต้อง
เพราะไม่มุ่งร้ายเบียดเบียนใครอีก
การกระทำในมรรคองค์ที่ ๔
ถ้าพูดกันให้เข้าใจง่ายเลยคือ ศีลข้อที่ ๑ ๒ ๓
ปานาติบาต การลักขโมย
รวมไปถึงการผิดในเรื่องของลูกเมียชาวบ้าน
มันก็จะบริสุทธิ์ไปด้วย
เพราะว่ามันเกิดปัญญาแล้วว่า
ถ้าเราไม่มุ่งร้าย ไม่เบียดเบียนใคร
การมุ่งร้าย เบียดเบียน นำมาซึ่งทุกข์
ก็เริ่มจัดการชีวิต เริ่มจากวาจาเมื่อสักครู่
อันนี้เริ่มจัดการที่กาย
เห็นไหมครับว่ามรรคมีองค์ ๘​ เนี่ย
ทำงานอย่างเป็นระบบ แล้วก็มีรูปแบบ
พอจัดการกับวาจา จัดการกับกายได้
ก็เริ่มมาดูในองค์รวมคือ สัมมาอาชีโว
อาชีพของพวกเรา
ถ้าใครบอกว่าตัวเองมีสัมมาอาชีพ ก็ดี ดีอยู่แล้ว
เพราะว่ายุคปัจจุบันอาชีพทั้งหลาย
ก็ส่วนใหญ่ก็เป็นสัมมา ไม่ได้ไปมุ่งร้าย เบียดเบียนใคร
ส่วนเรื่องของอบาย ก็ขอให้ทิ้ง ๆ ไปเลย
อันนั้นมุ่งร้าย เบียดเบียนแน่ ๆ
และต่อให้ไม่เบียดเบียนใคร ก็เบียดเบียนตัวเอง
กลับมาสรุปอีกครั้งหนึ่ง
มรรคองค์ที่ ๑ ๒ ความเห็นอันถูกต้อง
แล้วก็มาถึงการดำริอันถูกต้อง
เป็นปัญญาที่รู้แล้วว่าจะใช้ชีวิตยังไง
จากนั้นลงมาเป็นแผนปฏิบัติการ
วาจาถูกต้อง เพราะว่าถ้าวาจาไม่ถูกต้อง
จะเริ่มมุ่งร้าย เบียดเบียน
การกระทำถูกต้องเป็นมรรคองค์ที่ ๔
การกระทำอะไรถูกต้อง
ก็ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทรมานสัตว์
ไม่ทรมานคน ไม่ฆ่าคนแน่ ๆ
ไม่ขโมย เพราะมุ่งร้ายเบียดเบียน
ไม่ประพฤติผิดในกาม เพราะมุ่งร้ายเบียดเบียน
อันนี้ชัดเจน ดังนั้นในมรรคมาถึงองค์ที่ ๔
มาถึงข้อที่ ๕​ สัมมาอาชีโว การดูแลใช้ชีวิต
มีประเด็นที่น่าสนใจ
ซึ่งคนอาจจะไม่ทันสังเกตเห็นว่า
มรรคองค์ที่ ๒ ที่บอกว่า เนกขัมมะออกจากกาม
ไม่มุ่งร้าย ไม่เบียดเบียน
นำมาซึ่งมรรคองค์ที่ ๓ ๔ ๕ ก็จริง
แต่มรรคองค์ที่ ๕ ที่เราบอกว่า
พวกเราเป็นฆราวาสชั้นเลิศ ทำงานกันอย่างดี
อาชีพของพวกเรา ไม่มีอาชีพไหนเลย
ที่เนกขัมมะออกจากกาม
ลองนึกดูว่าที่ทำงานของท่านจ่ายเงินเดือน
เจ้านายไม่ได้บอกนะห้ามเอาไปซื้อของที่เป็นกาม ไม่มี
เพราะฉะนั้นไม่มีอาชีพไหนในฆราวาสเลย
ลองมานึกดูดี ๆ ว่ามีอาชีพไหนบ้าง
ถ้าเรียกว่าอาชีพ ต้องบอกว่า พระ
ใช่ มีอาชีพเดียวจริง ๆ
หรือไม่ก็อุบาสิกา อุบาสก ผู้พรากออกจากกาม
นอกนั้นทุกอาชีพล้วนนำมาซึ่งกาม
พอได้เงินได้ทองมา ก็ซื้อมาเสพสุขทั้งนั้นเลย
จึงเห็นแล้วว่า ถ้าทางลัดสั้นจริง ๆ
คงจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี หรือว่าอุบาสก อุบาสิกา
ที่อยู่ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
นอกนั้นแล้วน่าจะลำบาก
เพราะว่ามันยังนำมาซึ่งทุกข์ในใจอยู่
แต่ไม่ได้บอกว่าฆราวาสทำไม่ได้
แต่ฆราวาสต้องรู้จักในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น
ที่จะไม่หลงไหลได้ปลื้มกับกามให้มันมากนัก
คำว่า กาม เราอาจจะนึกถึงแต่เรื่องผู้หญิงผู้ชาย แต่ไม่ใช่
กามเนี่ยในความหมายคือวัตถุใด ๆ ที่เข้ามา
ทำให้เสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
แล้วเข้าไปเสพติด แล้วเกิดเป็นตัณหาอยากได้
ไม่มีที่สิ้นสุด
เห็นไหมครับว่าตั้งแต่มรรคองค์ที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕
ที่เราพูดมาทั้งหมด ดูแลกายกับวาจาลงมาเรื่อย ๆ
แต่ยังไม่ได้จัดการที่นี่ (ใจ) เลย
ดังนั้นมีเฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น
ที่เข้าไปจัดการในระดับมรรคองค์ที่ ๖ ๗ แล้วก็ ๘
ที่เรียกว่าสมาธิสิกขา หรือจิตตสิกขา
ในส่วนนี้จะเริ่มปรับเปลี่ยนสัญชาตญาน
เถื่อน โหดร้าย ไม่มีเมตตา ในบุคคล
ให้ลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งแทบจะหมด
มรรคองค์ที่ ๖ จัดการได้ยังไงในระดับของจิตใจ
เรามาดูความหมายแบบสรุปรวบยอด
พระพุทธเจ้าตรัสในมรรคองค์ที่ ๖ ไว้ ๔ ข้อหลัก ๆ
เราจะเรียก ๖.๑ ก็แล้วกัน
เพื่อให้เราทำความเข้าใจได้ง่าย
๖.๑ ท่านบอกว่าให้ดูแลไม่ให้อกุศลเกิด
เราจะดูแลไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นในใจได้อย่างไร
นั่นก็แปลว่าคงต้องมีอินทรียสังวร
หรือมีสติ สัมปชัญญะเอาไว้คอยระวัง
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่มากระทบ
ไม่ให้มันเกิดอกุศลขึ้น
แต่เราก็ยอมรับความจริงว่า
จะรักษายังไงเนี่ย ปุ๊บ ๆๆ ทะลุเข้าไป เดี๋ยวก็ขึ้นมาอีก
เอาล่ะ เราดูแลในระดับหนึ่ง
แต่ก็ยังจัดการไม่ได้ทั้งหมด
พอมาถึง ๖.๒ ท่านบอกว่าอกุศลที่เกิดขึ้นให้ละเสีย
สมมติว่าเราไปนั่งทานข้าว มีคนมองหน้าเรามาก ๆ
เราชักเกิดอารมณ์ ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้สึกแล้ว
ตากระทบ มีสติระลึก
แต่เดี๋ยวพรวดเดียว มันทะลุขึ้นมาเลย
กลายเป็นไม่พอใจ ถึงตอนนี้อกุศลเกิดแล้ว
พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ละอกุศลซะ
จะบรรเทาเบาคลายด้วยวิธีใดก็เอาเถอะ
อาจจะบางคนก็ใช้การรู้ลมหายใจ อานาปานสติ
หรือบางคนก็ อื้ม คิดแต่เรื่องกุศลไว้ก่อน
แผ่เมตตาไป อะไรก็แล้วแต่
เพราะเป็นเรื่องกุศลที่พระพุทธเจ้าบอกว่า
ใน ๖.๓ ท่านก็บอกต่อไปว่าให้เจริญกุศล
เราจะเห็นว่าสัญชาตญานของผู้คน
ทุก ๆ คนจะมีการสั่งสม อกุศล
หรือตอบสนองทางด้านอกุศลเนี่ย
ค่อนข้างรวดเร็วและเป็นอัตโนมัติ
นั่นแสดงว่าทุก ๆ คนสั่งสมมา
ในเรื่องของการตอบโต้ด้วยอกุศลเป็นหลัก
เนื่องจากการปกป้องตัวเอง
ดังนั้นการเปลี่ยนสัญชาตญานนี้จึงต้องฝึน
แล้วก็ต้องใช้ความเพียร
นี่จึงมาถึงมรรคองค์ที่ ๖ ที่บอกว่าสัมมาวายาโม
คือความเพียรอันถูกต้อง
จะต้องเพียรที่จะพรากตัวเอง
ให้พ้นไปจากสัญชาตญานนี้ให้ได้
ข้อสุดท้ายคือ ๖.๔ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า
กุศลที่ทำมาไว้แล้ว ให้ทำให้งอกงามไพบูลย์ยิ่ง ๆ ขึ้น
อย่างเช่น มีใครมาทำให้ท่านไม่พอใจในที่ทำงาน
กระทบปั๊ง เกิดความไม่พอใจ
ท่านละอกุศล อ่ะ เปลี่ยนมารู้ลมหายใจ ค่อยยังชั่วขึ้น
กุศลที่ทำใว้แล้ว พระพุทธเจ้าบอกให้ทำให้งอกงามไพบูลย์
นั่นแปลว่า ถ้าเรากลับบ้านเราควรจะเจริญภาวนา นั่งสมาธิ
เออใช่ เพื่อทำให้งอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น
แสดงว่ามันจะได้แข็งแรงขึ้น
แล้วเปลี่ยนสัญชาตญานใหม่
จึงมาถึงมรรคองค์ที่ ๗ คือสัมมาสติ
หลังจากนี้ต้องใช้สติที่ฝึกมาในการนั่งสมาธิก็ดี
ในการสร้างความตั้งมั่น ในการละอกุศลก็ดี
ค่อย ๆ แข็งแรงขึ้น
ย้อนกลับเข้ามาดูที่กาย ใจของเรา
จึงเป็นที่มาของฐานทั้ง ๔ ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔
คือกาย เวทนา จิต แล้วก็ธรรม
กาย เป็นฐานกายที่เราก็คงเข้าใจกันดี ไม่ยากอะไร
ส่วนเวทนา คือความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ เฉย ๆ
หรือสุข ทุกข์ เฉย ๆ เหมือนกัน
จิต เมื่อไหร่จิตมีราคะ ก็คือมีความอยาก
เมื่อไหร่จิตมีโทสะ คือความโกรธ
เมื่อไหร่จิตมีความหลง เมื่อไหร่จิตไม่มีความหลง
ตรงนี้ผมอยากจะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายขึ้นอีกนิดนึง
แต่อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่สามารถใช้ได้ตลอด
แต่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้
นกตัวนึงเกิดมาบนต้นไม้ เมื่อนกเกิดมาบนต้นไม้
นกมีความผูกพันกับต้นไม้นั้นมาตลอด
จนกระทั่งนกรู้สึกว่าต้นไม้นี้เป็นของมัน
วันไหนก็ตามที่ต้นไม้ได้รับฝน ออกลูก ออกดอก
นกจะดีใจมาก นกมีความสุขที่มองดอกไม้
มองผลไม้ที่ออกมาจากต้น
แต่วันไหนก็ตามที่เพลี้ยมาลง
หรือว่าอากาศเปลี่ยนแปลง ใบไม้ร่วงแทบจะตาย
นกจะเสียใจกับการเกิดขึ้น สภาพที่เกิดขึ้นกับต้นไม้
เมื่อเกิดขึ้นอย่างนี้ตลอดเวลา แทบจะชั่วชีวิตของนก
หากเจ้าของบ้านเห็นนกมีสภาพอย่างนี้กับต้นไม้
เจ้าของบ้านเริ่มรู้แล้วว่า นกเข้าใจอะไรผิดแล้ว
เจ้าของบ้านก็พยายามจะบอกนกว่า
นกเอ๊ย แกเข้าใจผิดนะ ต้นไม้กับแกเนี่ย มันคนละส่วนกัน
แต่พูดเท่าไหร่ นกก็ไม่เข้าใจ
มันจะคนละส่วนยังไง ก็ฉันโตมากับมัน
นี่ไงฉันเอาปุ๋ยมาใส่ ฉันไปเอาตรงนู้นคาบมาใส่
ต้นไม้ก็โตเห็นไหมล่ะ
แล้วฉันจะมีความสุข แล้วฉันจะดีใจ แล้วมันผิดตรงไหน
เนี่ย ต้นไม้ใบมันร่วงเต็มไปหมดเลย
นกเสียใจ แล้วฉันจะผิดตรงไหนเหรอ
นกไม่เข้าใจ สิ่งที่เราเอาไปพูดบอกให้นกฟัง
เรารู้แล้วว่า มีอย่างเดียว นกต้องเห็นเอง
เชื่อไหมว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เห็นเหมือนกัน
ต่อให้พระองค์จะบอกเราเท่าไหร่ก็ตาม
ว่ากายนี้ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เราก็ไม่ยอมเข้าใจ
แล้วเราก็รู้สึกว่ายังไงมันก็เป็นของเรานั่นแหละ
พระพุทธเจ้าก็รู้เหมือนกัน ก็บอกว่าถ้างั้นเธอเข้าไปสังเกต
สังเกตจากกายของเธอ แล้วเธอจะค่อย ๆ พบความจริง
สังเกตจากเวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย ๆ
ที่เธอบอกว่ามันเป็น ฉันมีความสุข
ดูดี ๆ สิว่าฉันมีความสุขจริงเหรอ
จะเห็นว่าความจริงเนี่ย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ได้โทรศัพท์มือถือมาสักเครื่องหนึ่ง
เสียเงินเสียทองซื้อมา มีความสุขแป๊บนึง
พอโทรศัพท์ดังขึ้นมา มีข่าวร้าย ความสุขนั้นหายไป
ความทุกข์เกิดขึ้นมาแทน
เอ๊ะ ถ้าเราเริ่มสังเกตจะเห็นว่า
มันมีแต่ของเกิดขึ้นดับไป ความสุขก็ไม่ใช่ของเราหนิ
แล้วใครจะเป็นคนประเมิน กาย เวทนา จิต ธรรมนี้ล่ะ
มันยากตรงนี้แหละ
เพราะคนที่ประเมินมันกลายเป็นคนที่อยู่ในนี้
ดังนั้นมรรคองค์ที่ ๘ จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วย
คือสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบนี่แหละ
คือจิตจะต้องตั้งมั่น เป็นกลางจริง ๆ
ถึงจะประเมินเข้าไปได้ว่ากายนี้ไม่ใช่ของเรา
ไม่งั้นดูเท่าไหร่ กายนี้ก็เป็นของเรา
เดินยังไงขาก็เป็นของเรา
กินเข้าไปอร่อยก็เป็นของเรา
ทุกอย่างมันเป็นของเราหมดเลยหนิ
เพราะความเห็นผิดตั้งแต่ต้น
ทีนี้พอเราเข้าใจมรรคมีองค์ ๘ แบบเข้าใจได้จริง ๆ
เราจะเริ่มรู้สึกว่า เออ ถ้างั้นการจะเข้าใจความจริงได้
ต้องอาศัย ๘ ข้อนี้
มรรคมีองค์ ๘ ถูกแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม
ถ้าทางภาษาธรรมะเขาเรียกว่าสังเคราะห์ลงในไตรสิกขา
สิกขาที่ ๑ คือ ปัญญาสิกขา
จะเป็นมรรคองค์ที่ ๑ ๒ อยู่ในส่วนของปัญญา
มรรคองค์ที่ ๓ ๔ ๕ จะเป็นศีลสิกขา
เป็นสิกขาที่ดูแลกายกับวาจา
จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าปิดหมดทุกช่องที่จะทำให้เกิดทุกข์
สิกขาที่ ๓ คือจิตตสิกขา
คือการศึกษาเรื่องของจิต
เพื่อจะดูแลว่าจากนี้ไปจะพ้นทุกข์ได้ยังไง
เพราะทุกข์มันเกิดที่นี่
แล้วทั้ง ๓ ส่วนเนี่ย เมื่อเข้าใจแล้วว่า
เมื่อจัดการแล้วเห็นว่านี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
มันจะย้อนกลับไปเกิดสัมมาทิฏฐิอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้นมรรคมีองค์ ๘ จะหมุนวนเหมือนกับเป็นวง
ที่ชำระรอบไปเรื่อย ๆ
จนกระทั่งสัมมาทิฏฐิจะค่อย ๆ ขาวรอบ ๆ
จนถึงขาวที่สุด จนเข้าใจ เข้าใจความจริง
แล้วหลังจากนั้นจะเริ่มวาง
เมื่อวางลง จะเกิดการปล่อยวาง
เมื่อปล่อยวาง ก็จะเข้าสู่ความเป็นอริยะ
แล้วก็เห็นความจริงอยู่เหนือโลกขึ้นมา
ไม่ตกไปในกระแสโลกอีก
อันนี้ก็คือบทสรุปง่าย ๆ ของอริยมรรคมีองค์ ๘​
ที่ว่ามรรคมีองค์ ๘ จะทำให้บุคคลทั้งหลายพ้นทุกข์ได้ยังไง
แล้วคำว่า พ้นทุกข์นี้ คือพ้นไปจนถึงที่สุดเลย
ที่สุดอย่างที่เราเข้าใจ
ก็คืออย่างที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้คือคำว่า พระอรหันต์
เพราะฉะนั้นในพระอรหันต์นี่ เป็นผู้ที่หมดแล้ว
อยู่เหนือโลกจริง ๆ … "
.
จากการบรรยายในรายการ สุขทุกวัน 7 วัน 7 กูรู
ตอน อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
วันที่ 18 กันยายน 2558
ออกอากาศทางช่องอัมรินทร์ทีวี
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา