15 ธ.ค. 2021 เวลา 12:50 • สุขภาพ
"ยาล้างไต" ... ล้างไตได้ จริงหรือ⁉️
ถ้าคุณอยู่ร้านยา คุณมักจะคุ้นชินกับคำถามนี้
-------------------------------
คำถาม: " มียาล้างไตไหม ? "
-------------------------------
บ่อยครั้งที่มีผู้ป่วยมาขอซื้อยาล้างไตที่ร้านยาด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น
▶ บางรายมีอาการปวดบริเวณเอวด้านหลังและกลัวว่าจะเป็นโรคไต จึงอยากได้ยาล้างไตเพื่อล้างทำความสะอาดและขับสารพิษออกจากไต
▶ บางรายมีอาการปัสสาวะแสบขัดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน จึงอยากได้ยาล้างไตโดยเข้าใจว่าจะสามารถล้างภายในอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะให้สะอาดได้
แล้วยานี้ใช้รักษาภาวะเหล่านั้นได้จริงหรือ? วันนี้มาทำความรู้จัก #ยาล้างไต กันค่ะ
.
“ยาล้างไต” ที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากนั้น จริงๆแล้วเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับ “ขับปัสสาวะและบรรเทาอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ” 🚽 เนื่องจากในตำรับยาประกอบด้วยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และขับปัสสาวะ ดังนี้ 👇
3
ตำรับยาล้างไต ประกอบด้วย
---------------------
▪️ สารสกัดอูวาเออร์ซี : มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบทางเดินปัสสาวะ
▪️ สารสกัดบูชู : มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ขับปัสสาวะ
▪️ พริก : มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด
▪️ สควิลล์ : มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
▪️ น้ำมันจูนิเปอร์ : มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
▪️ โพแทสเซียม ไนเตรด (หรือดินประสิว) : เป็นสารกันบูด และยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
💊 หมายเหตุ : บางตำรับอาจใช้สมุนไพรอื่นที่มีฤทธิ์ใกล้เคียงกัน
.
นอกจากนี้ ยังมีการเติมสีเข้าไป เช่น #เมทิลีนบลู (𝐦𝐞𝐭𝐡𝐲𝐥𝐞𝐧𝐞 𝐛𝐥𝐮𝐞 หรือ 𝐦𝐞𝐭𝐡𝐲𝐥𝐭𝐡𝐢𝐨𝐧𝐢𝐧𝐢𝐮𝐦 𝐜𝐡𝐥𝐨𝐫𝐢𝐝𝐞) ซึ่งเป็นสารสีน้ำเงิน 🌊 เมื่อรับประทานยา #ปัสสาวะจะมีสีน้ำเงินหรือเขียว ขึ้นกับสีพื้นเดิมของปัสสาวะว่าใสหรือเหลือง จึงอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเข้าใจว่ายาไปขับสารพิษหรือสิ่งสกปรกภายในไตและทางเดินปัสสาวะออกมา‼️
.
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ายาสูตรผสมนี้
🚫 ไม่มีสรรพคุณช่วยล้างไตแต่อย่างใด จึงไม่ควรเรียกว่า “ยาล้างไต” นอกจากนี้ หากใช้ยานี้อย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้ ...
⚠️ ไม่ได้ผลในการรักษาโรค เช่น หากอาการปวดเอว หรืออาการปัสสาวะขัดนั้นมีสาเหตุจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ยานี้คงไม่สามารถรักษาให้หายได้
⚠️ ได้รับผลเสียจากยา เช่น สารเมทิลีนบลู ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ไตบกพร่องรุนแรง และไม่ควรใช้ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency) เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย อีกทั้ง สารดังกล่าวอาจตีกับยาบางชนิด เช่น หากใช้ร่วมกับยาต้านอาการซึมเศร้า อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยาต้านอาการซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสแพ้ส่วนประกอบอื่นๆในตำรับยาอีกด้วย
.
สถานะยาล้างไต
ปัจจุบันยาที่มีส่วนผสมดังกล่าว ได้ถูก #เพิกถอนทะเบียนตำรับยาแล้ว (❌ไม่มีขายในประเทศไทย) โดยมีรายละเอียดตามลิ้งค์ด้านล่าง 👇
.
ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วยและมีความประสงค์ที่จะใช้บริการร้านยา ผู้ป่วยควรแจ้งอาการเจ็บป่วยที่เป็น ให้เภสัชกรทราบ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการรักษาและการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรือควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการหรือโรคนั้นๆ ในกรณีหาซื้อยาล้างไตพึงระวัง!! คุณอาจได้รับยาผิดกฏหมาย และก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายค่ะ
.
.
เรียบเรียงโดย : สุขภาพดีไม่มีในขวด
ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. ฐานข้อมูลทะเบียนตำรับยา สำนักยา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. Available from: https://bit.ly/37icRXy
2. เภสัชกร สุรศักดิ์ วิชัยโย. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ยาล้างไต กับความเข้าใจผิดๆ. https://bit.ly/3ynTMim
3. ประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา. 9 มีนาคม 2561. Available from:
โฆษณา