16 ธ.ค. 2021 เวลา 00:33 • หนังสือ
==========================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันพฤหัสบดี
==========================
🕊• MAKOTO MARKETING
✍🏻• ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เขียน
🔖• 05 || ระหว่าง Passion กับ Purpose
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ MAKOTO MARKETING ]
=======================
05
ระหว่าง Passion กับ Purpose
- - - - -
ร้านเต้าหู้ 150 ปี กับการตัดสินใจ
ของทายาทรุ่นที่ 5
=======================
หนึ่งคำถามที่น่าสนใจจากงานเสวนาเรื่อง ‘อิคิไก: ความหมายของการมีชีวิตอยู่’ คือ “เราควรทำงานด้วย Passion หรือ Purpose”
Passion เป็นแรงผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ทำให้เราดื่มด่ำอยู่กับสิ่งนั้นได้นาน
Purpose คือ การมีเป้าหมายเพื่อผู้อื่น
เมื่อได้รับคำถามนี้ อาจารย์เกตุมักจะนึกถึงเรื่องทายาทรุ่นที่ 5 ของร้านเต้าหู้เล็ก ๆ แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น
[ MAKOTO MARKETING ]
====================
ร้านเต้าหู้ยามาชิตะ-โทฟุเต็น
====================
ปัจจุบันร้านเต้าหู้ยามาชิตะ-โทฟุเต็น มีอายุมากกว่า 150 ปี และ ตั้งอยู่ในเมืองไซตามะ ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว ยามาชิตะค่ะ
และทายาทรุ่นที่ 5 ของร้านเต้าหู้แห่งนี้คือ คุณทาเคชิ ในวัยเด็กคุณทาเคชิถูกบังคับให้ช่วยงานที่บ้าน จนเขาเกลียดการทำเต้าหู้ เพราะโรงงานทำเต้าหู้นั้นทั้งเปียกแฉะและหนาวเหน็บ ที่ทำสำคัญคืออาชีพนี้มันดูไม่เท่ห์เอาเสียเลย
ดังนั้นเขาจึงพยายามหนีจากร้านเต้าหู้โบราณ ด้วยการขยันเรียนเพื่อที่จะได้สอบติดมหาวิทยาลับวาเซดะ (มหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงโตเกียว)
เมื่อคุณทาเคชิเรียนจบ เขาได้รับข้อเสนอให้ทำงานจากบริษัทเดินเรือยักษ์ใหญ่ แต่ในจังหวะนั้นเขาก็ทบทวนว่า เขาควรจะทิ้งธุรกิจของที่บ้านที่สืบทอดกันมากกว่าร้อยปีหรือไม่ ในที่สุดคุณทาเคชิก็เลือกที่จะสืบทอดธุรกิจครอบครัวค่ะ
ในช่วงแรก คุณทาเคชิ รู้สึกว่างานทำเต้าหู้ไม่สนุกเอาเสียเลย วัน ๆ เอาแต่ทำเต้าหู้จนตัวเองใกล้จะเป็นเครื่องจักรเข้าไปทุกที
จนมาวันหนึ่งมีคุณยายท่านหนึ่งมาซื้อเต้าหู้ที่ร้าน และกล่าวกับคุณทาเคชิว่า
“สมัยก่อนเต้าหู้มีรสชาติเนอะ ก่อนสงครามโลกเต้าหู้มีรสชาติหวาน และสัมผัสรสถั่วได้มากกว่านี้”
สิ่งนี้ทำให้คุณทาเคชิพยายามค้นหาข้อมูล เพื่อศึกษาว่าเต้าหู้สมัยก่อนเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่พบข้อมูลใด ๆ
นอกจากหาข้อมูลแล้วเขายังเดินทางไปชิมเต้าหู้ร้านต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่พบเต้าหู้ที่มีรสชาติอย่างที่คุณยายคนนั้นกล่าวไว้
ดังนั้นคุณทาเคชิจึงลองผิดลองถูกทำเต้าหู้ด้วยตนเองอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดเขาก็ค้นสารนิการิที่ทำให้เต้าหู้สามารถคงรสชาติเดิมไว้ได้
สมัยก่อนร้านเต้าหู้ส่วนใหญ่ใช้สารนี้ แต่เลิกใช้ไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะสารจากนิการิถูกนำไปใช้ผสมอลูมิเนียมเพื่อผลิตอาวุธ ดังนั้นร้านเต้าหู้จึงเปลี่ยนไปใช้แคลเซียมซัลเฟตแทน
แม้จะค้นพบว่าสารนิการิสามารถคงรสชาติเดิมของเต้าหู้ได้ แต่เต้าหู้กลับเหลวเละ เขาจึงพยายามทดสอบหลายครั้งหลายคราว ไม่ว่าจะเป็นการค่อย ๆ ทดสอบส่วนผสมจนได้สัดส่วนที่พอดี รวมไปถึงการค้นหาเทคการผลิตที่ลงตัว กว่าจะได้สูตรและวิธีที่พอใจคุณทาเคชิต้องใช้ความพยายามอย่างมาก
กระบวนการพัฒนาเต้าหู้นี้ได้เปลี่ยนคุณทาเคชิ จากคนที่เกลียดการทำเต้าหู้จับใจ ให้ค่อย ๆ ตกหลุมรักการทำเต้าหู้ไปวันละเล็กวันละน้อย
คุณทาเคชิค่อย ๆ ใส่หัวใจลงไปในการทำเต้าหู้ เขากล่าวว่า “เพราะเรียบง่าย จึงยิ่งยาก”
[ อิคิ ∙ 生き : ประโยคนี้คมจัง ]
- - - - -
ขั้นตอนในการทำเต้าหู้นั้นไม่ซับซ้อน เพียงแค่บทถั่ว คั้นน้ำเต้าหู้ และใส่สารนิการิ แต่ความใส่ใจและการพิถีพิถันทุกขั้นตอนจะส่งผลให้เต้าหู้มีรสชาติและรสสัมผัสที่น่าทาน
การให้ความสำคัญกับถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเต้าหู้ก็สำคัญมากค่ะ แม้ว่าคุณทาเคชิจะเลือกถั่วเหลืองจากแหล่งคุณภาพแล้ว แต่สภาพของถั่วเหลืองในแต่ละวันจะแตกต่างกัน ดังนั้นทุกวันเขาจึงต้องปรับวิธีการทำเต้าหู้เล็กน้อยตามสภาพถั่วเหลือง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด
คุณเทเคชิ ตั้งใจปลูกถั่วเหลืองด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี เพื่อให้ได้ถั่วที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ เขาทดลองปลูกถั่วเหลืองมากถึง 260 พันธุ์ เพื่อศึกษาดูว่าพันธุ์ไหนเหมาะที่สุดกับการนำไปทำเต้าหู้
ผู้ใดที่ได้ชิมเต้าหู้ของร้านยามาชิตะ จะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หวาน อร่อย กลมกล่อม
ราคาเต้าหู้ที่นี่สูงกว่าร้านทั่วไป 2-3 เท่า แต่ก็ยังมีคนซื้ออย่างต่อเนี่องไม่ขาดสาย
ปณิธานของคุณทาเคชิคือ เขาจะทำหน้าที่สืบทอดรสชาติโบราณ สู่คนยุคปัจจุบันค่ะ
[ MAKOTO MARKETING ]
===============
แลกเปลี่ยนความเห็น
===============
เรื่องขอคุณทาเคชิแสดงให้เห็นว่า บางทีเราอาจไม่ได้มี Passion หรือ พบปัญหาของลูกค้าที่เราอยากแก้ตั้งแต่วันแรกก็ได้
แต่จุดเปลี่ยนของคุณทาเคชิ คือ การได้พบคุณยายที่ปรารถนาจะทานเต้าหู้แบบโบราณ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเริ่มเห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่
Purpose [ ความหมายของงานที่ทำ ] นี้ทำให้คุณทาเคชิ มุ่งมั่นศึกษาเมล็ดถั่วแต่ละชนิดและพัฒนาการผลิตเต้าหู้ เพื่อให้ได้รสชาติดั้งเดิมที่อร่อย
Purpose หรือ ความหมายของงานที่ทำ ได้นำทางคุณทาเคชิไปสู่ Passion หรือความรักในเต้าหู้ค่ะ
อาจารย์เกตุกล่าวว่าหากเรามี Passion ในการทำบางสิ่งบางอย่าง มันเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่า Passion ของเราคืออะไร ก็ขอให้เราแค่ตั้งใจทำวันแต่ละวันให้ดีที่สุดเพื่อผู้อื่นก็พอค่ะ
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
ปัญหาคลาสสิกของคนทั่วไป คือ เราไม่รู้ว่าเรารักเราชอบอะไร
อิคิ ∙ 生き มักพบปัญหาเหล่านี้กับคนที่อายุยังน้อย หรือ น้อง ๆ ที่เพิ่งเรียนจบใหม่ แม้กระทั่งตัว อิคิ ∙ 生き เองกว่าจะค้นพบสิ่งที่รักที่ชอบ ก็ลองผิดลองถูกและหลงทางอยู่นาน
เมื่อก่อนสิ่งที่ อิคิ ∙ 生き “คิดว่าใช่” พอทุ่มเททำสุดตัว ใช้แรงต่อสู้กับอุปสรรคมาก ๆ กลับค้นพบว่านี่ไม่ใช่ตัวเรา พอเจออุปสรรคมาก ๆ เข้าหน่อย หรือ ทำเท่าไรผลลัพธ์ก็ไม่ได้ดั่งใจเสียที เราก็ท้อแท้และหาเหตุผลเลิกทำไปในที่สุด
หลาย ๆ ครั้ง อิคิ ∙ 生き ต้องกลับมาถามตัวเองว่า นี่เราทำอะไรอยู่ ทำไมสิ่งที่เราคิดว่าเรารักเราชอบ กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้แต่ละเช้าของเราช่างหม่นหมอง ไม่อยากตื่นไปเผชิญหน้ากับงานที่กำลังทำเลย
สำหรับใคร ๆ หลาย ๆ คนที่ค้นพบ Passion ของตัวเองเร็วก็ถือเป็นเรื่องดีค่ะ แต่ส่วนตัว อิคิ ∙ 生き คิดว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกใส่โปรแกรมให้รักหรือชอบอะไรมาตั้งแต่แรก แต่การค้นพบสิ่งที่รักและควาหมายของชีวิต มันจะค่อย ๆ เกิดขึ้นจากการให้เวลา ศึกษา เรียนรู้ ลงมือทำ และเราจะตกหลุมรักสิ่งนั้นขึ้นทุกวัน ๆ หากเรารับรู้ถึงความหมายของสิ่งที่ทำค่ะ
ในวันนี้ อิคิ ∙ 生き จึงได้เรียนรู้ว่า เราจะไม่สามารถบอกได้เลยว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไรจนกว่าเราจะทำสิ่งนั้นได้ดี เพราะกว่าที่เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดี มันจะผ่านกระบวนการศึกษา เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ เอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ กระบวนการเหล่านี้คือการเปิดโอกาสให้เราได้ภูมิใจในพัฒนาการของตนเอง ได้อิ่มเอมใจเมื่อได้รู้ว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่า สิ่งนี้จะทำให้เราตอบตัวเองได้ค่ะว่าเรารัก เราชอบ และ พร้อมที่จะทำสิ่งที่ทำอยู่ไปตลอดชีวิตหรือไม่
แต่ถ้าเรายังไปไม่ถึงจุดที่เราทำได้ดีแล้วเราหยุดเสียก่อน แบบนี้เรียกว่าเรา “ถอดใจ” ค่ะ
- - - - -
อิคิ ∙ 生き คิดว่า Passion ที่ยั่งยืนต้องไม่ประเดี๋ยวประด๋าว Passion ที่ดีต้องไม่เดี๋ยวรักเดี๋ยวเลิกค่ะ ใครหลายคนอาจเคยพบเจอรักแรกพบ แต่กว่าจะรู้ว่ารักแรกพบจะเป็นรักที่ใช่สำหรับเราจริง ๆ หรือไม่ มันต้องผ่านกระบวนการในการศึกษา เรียนรู้ ดูใจกัน เราถึงจะบอกได้ค่ะ ว่ารักแรกพบนั้น คือ รักแท้ของเรา
หากเพื่อน ๆ ท่านไหนที่ยังไม่รู้ว่าเรารักหรือชอบที่จะทำอะไร ลองทำแบบที่อาจารย์เกตุกล่าวไว้ก็ได้นะคะ นั่นคือ จงทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด หรือจะกลับไปทบทวนเรื่อง “3 ห่วงเปลี่ยนชีวิต” ของ ดร.วีรณัฐ ที่ อิคิ ∙ 生き ได้เล่าไปในบทที่สองก็ได้ค่ะ [ https://www.blockdit.com/posts/61a8d77ab7a5a6032afcd2a9 ]
ดร.วีรณัฐ กล่าวว่าถ้าวันนี้เรายังไม่รู้ว่าเราชอบอะไร ให้ลองมองปัญหาจากสิ่งรอบกายก่อนว่ามีปัญหาไหนที่เราพอจะเริ่มลงมือแก้ไขได้บ้าง ระหว่างทางเราอาจพบความหมายในสิ่งที่ทำแบบคุณทาเคชิก็ได้ค่ะ
- - - - -
สิ่งที่คุณทาเคชิมีต่อการผลิตเต้าหู้ ในทางธรรมมันคือคำว่า “ศรัทธา” ค่ะ เพราะฉะนั้นวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอทบทวนธรรมะจากอาจารย์ประมวลที่ เพ็งจันทร์ อิคิ ∙ 生き เคยเล่าไปให้ Podcast ตอน THE COMPOUND EFFECT [ https://youtu.be/jXFdLeeVXOY ] ให้เพื่อน ๆ ฟังดังนี้นะคะ
อาจารย์ประมวลกล่าวว่า เป้าหมายที่ดีต้องเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในใจเรา ถ้าในทางพุทธศาสนา เป้าหมายที่ดีคือคำว่า “ศรัทธา”
“ศรัทธา” คือ บางสิ่งบางอย่างที่สามารถสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นในตัวเรา 

“ศรัทธา” คือ เป้าหมายที่ทำให้เรารู้สึกเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า และ มีความที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ จนผลักดันให้เราเกิด “วิริยะ”
“วิริยะ” คือ ความอุตสาหะที่จะทำให้เราลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ที่ยากโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยได้ เราจะรู้สึกเลยว่าความยากลำบากนั้นมันไม่ได้เป็นปัญหาในการลงมือทำเลย 

“วิริยะ” ไม่ใช่การข่มใจอดทน แต่ “วิริยะ” คือความหมายที่ทำให้เราทำสิ่งที่ยากได้ด้วยใจที่เบิกบาน เพราะแม้จะรู้สึกว่ามันเหนื่อย รู้สึกว่ามันยากลำบาก แต่มันก็สุขใจที่ได้ทำ
ดังนั้น “ศรัทธา” ใดที่ไม่ได้ส่งผลให้เราเกิด “วิริยะ” “ศรัทธา” นั้นจะยังไม่ใช่ของจริงสำหรับเรานะคะ
ยกตัวอย่างเช่น การที่เด็กหลาย ๆ คนถูกบังคับให้อ่านหนังสือ เค้าอาจอ่านไปแบบไม่มีวิริยะ อ่านไปแบบไม่มีความสุข ทุกข์ทรมานอยากไปเล่นมากกว่า แต่ถ้าเด็กคนนั้นมีเป้าหมายอยากจะเป็นหมอเพื่อช่วยคน เค้าจะอ่านหนังสือแบบมุมานะ อ่านจนลืมทานข้าว ลืมหลับลืมนอน อ่านด้วยความเบิกบาน เพราะมีเป้าหมายของการเป็นหมอรออยู่ข้างหน้า

เป้าหมายที่ดีต้องทำให้เราเบิกบานในการทำหน้าที่ในแต่ละวันแม้จะเหนื่อยจะยากแค่ไหน เราก็ยังรู้สึกเบิกบานที่ได้ทำมัน
อาจารย์ประมวลยังกล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่คนที่ทำงานแล้วไม่มีความสุขเป็นเพราะเขามักไปคิดถึงผลที่ได้ หรือ ทำไปก็คิดถึงแต่อนาคตไปว่า เช่น ทำงานชิ้นนี้แล้วจะได้รับความชื่นชมยินดีจากคนอื่นหรือไม่ หรือ ทำงานชิ้นนี้แล้วจะได้ผลตอบแทนอะไรหรือไม่ ถ้าเราทำอย่างนั้นเราจะไม่สุขกับงาน เพราะเราเอาแต่รู้สึกผูกพันอยู่กับผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่ได้ประกอบเหตุปัจจัยทีเหมาะสม
ดังนั้นก่อนจากกันวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอให้ทุกท่านได้ค้นพบศรัทธาที่จะสร้างพลังชีวิตนะคะ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่กับ Makoto Marketing ในวันพฤหัสบดีหน้า สวัสดีค่ะ 🙏🏻😊
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านในสนใจเรื่องราวจาก Makoto Marketing จนอดใจรอให้ อิคิ ∙ 生き สรุปทีละสัปดาห์ไม่ไหวก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ 
https://www.readthecloud.store/product/makoto-marketing/
Reference :
• พลังชีวิต (ยุวพุทธิ ประสบการณ์พลังชีวิต อ.ประมวล เพ็งจันทร์)_017 https://youtu.be/BVTxNr2wWUI
#สัปดาห์ละบทสองบท #makotomarketing

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา