17 ธ.ค. 2021 เวลา 05:00 • การเมือง
ออกจากวังวนนิติศาสตร์แบบไทยๆ ประเทศอื่นทำอย่างไรกับความคลุมเครือของแพลตฟอร์มและคนงาน
ไม่ใช่แค่ไรเดอร์ส่งอาหารในบ้านเราเท่านั้นที่คับข้องหมองใจจนต้องออกมาประท้วง แต่แรงงานแพลตฟอร์มทั่วโลกกำลังรวมตัวและกดดันต่อบริษัทแพลตฟอร์ม อันเนื่องมาจากปัญหาในการทำงาน
10 พฤษภาคม 2019 คนขับรถ Uber และ Lyft ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคู่แข่งกันด้านการให้บริการขนส่งผู้โดยสาร (Ridesharing) ในสหรัฐอเมริกา ออกมาสไตรค์เพื่อประท้วงเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม การขาดความมั่นคงในการทำงาน และขาดความโปร่งใส การเรียกร้องดังกล่าวยังส่งสัญญาณไปยังสมาชิกสภานิติบัญญัติ เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย
16 ธันวาคม 2020 ไรเดอร์ของ Grab และ Gojek นับแสนคนในอินโดนีเซียขู่ประท้วงการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัท เพราะเกรงว่าจะทำให้ไรเดอร์จำนวนมากต้องตกงาน โดยหากบริษัททั้งคู่ยังเดินหน้าเจรจาโดยที่สหภาพไรเดอร์ในอินโดนีเซียไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ก็จะมีการสไตรค์ทั่วประเทศ ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาออกมารวมตัวประท้วง
15 มิถุนายน 2021 กลุ่มไรเดอร์ของ Meituan ในเมืองเหวยหนาน มณฑลส่านซี นำเครื่องแบบหย่อนลงในกล่องอาหารซึ่งมีโลโก้ของแพลตฟอร์มแล้วจุดไฟเผาเพื่อเป็นการประท้วง ไรเดอร์เหล่านี้บอกว่า แม้ตนจะไม่ใช่พนักงานของ Meituan แต่ก็สวมเครื่องแบบของบริษัทตลอดเวลาที่ทำงาน รวมทั้งจัดการยานพาหนะเอง ซื้อประกันและเครื่องแบบเอง ทว่าเขากลับได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นี่เป็นเพียงหนึ่งในนับร้อยครั้งเท่านั้นที่คนส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มในประเทศจีนออกมาประท้วงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
จะเห็นได้ว่าการประท้วงของไรเดอร์ไม่ว่าจะในประเทศไหน แพลตฟอร์มใด ก็มักจะมีข้อเรียกร้องที่คล้ายกัน ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้เข้าใจได้ว่า รูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นจากแนวคิดใกล้เคียงกัน แม้จะต่างชื่อ ต่างอัตลักษณ์ ต่างสี หรือมีเงื่อนไขในบางรายละเอียดไม่ตรงกันบ้าง แต่ปัญหาการจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มนั้นกลายเป็นโจทย์ร่วมของไรเดอร์ทั้งโลกไปแล้ว
หากมองลึกลงไปว่าอะไรคือรากของปัญหา บทสนทนามักเริ่มต้นจากการกำหนดสถานะของแรงงานว่าพวกเขาเป็นอะไรกับแพลตฟอร์มกันแน่
  • ไรเดอร์ไม่ใช่พาร์ทเนอร์
ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (New Forms of Platform Mediated Work for On-demand Food Delivery) เน้นย้ำว่าการจะหาทางออกจากความคาราคาซังของสารพัดปัญหา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนด ‘สถานะของคนทำงาน’ ให้ชัด รวมทั้งต้องขยายการตีความของกฎหมายให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะปัจจุบันรูปแบบและวิธีการทำงานเปลี่ยนไป กระทั่งกฎหมายที่มีอยู่ไม่อาจไล่ทันการจ้างงานตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้
บริษัทแพลตฟอร์มต้องยอมรับและปรับเปลี่ยนสถานะของคนขับจากที่เรียกว่า ‘หุ้นส่วน’ ที่ความจริงเป็นเพียงพนักงานทำงานรายชิ้น ให้เป็นพนักงานของแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนงานกลุ่มนี้ได้รับการคุ้มครองขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ประกันค่าจ้างขั้นต่ำ การลาโดยได้รับค่าจ้าง ค่าชดเชยในการเลิกจ้าง ฯลฯ เนื่องจากในปัจจุบัน กลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารจำนวนมากทำงานเป็นระยะเวลาหลายปี แต่สถานะที่คลุมเครือทำให้คนงานเหล่านี้ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน
หากยึดตามข้อแนะนำจากงานวิจัย การกำหนดสถานะของไรเดอร์ให้เป็น ‘พนักงานของแพลตฟอร์ม’ จะทำให้ปัญหาอีกนานัปการถูกจัดการอย่างเป็นระบบ ดังนั้นการติดกระดุมเม็ดแรกจึงสำคัญมาก
อภันตรี เจริญศักดิ์ อดีตแกนนำก่อตั้งสหพันธ์อาหารและบริการประเทศไทย และสหภาพผู้ปรุงอาหารและให้บริการ ก็มองเช่นกันว่า การแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับโลกนั้นสำคัญมาก ขณะเดียวกันรากของแนวคิดการรวมกลุ่มต่อสู้แบบ ‘สหภาพแรงงาน’ ก็ต้องถูกนำมาใช้ไปพร้อมกัน
“รัฐบาลอาจต้องออกกฎหมายหรือนโยบายใหม่ เพราะแพลตฟอร์มดิจิทัลเดินทางมาถึงแล้วตั้งแต่ปี 2015-2016 ผ่านมา 3-4 ปี รัฐยังเดินตามเขาอยู่ ยังไม่รู้เลยว่านายจ้างควรรับผิดชอบลูกจ้างอย่างไร แม้แต่ลูกจ้างก็ยังสับสนว่าเขาอยู่ในระบบไหนของแรงงาน จะมีสิทธิสวัสดิการเท่าไหร่
“สมัยก่อน เราใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าจะยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้ เพราะต้องต่อสู้กับนายจ้างของสมาชิกทั่วประเทศที่ขัดขวางการตั้งสหภาพคนงานฟาสต์ฟู้ด แต่เราจะต้องทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของงาน ให้มีการประกันรายได้หรือสวัสดิการของคนทำงาน การรวมกลุ่มเป็นสิ่งจำเป็น
“เราอยากจะแนะนำว่าการรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพไม่ได้ยาก ต้องถามใจเราก่อนว่าเรามีความมุ่งมั่นต่องานของเราในระยะยาวหรือเปล่า เราอยากได้ความมั่นคงในชีวิตการทำงานหรือเปล่า เราอยากได้ชีวิตที่ทำงานแล้วกลับมาหาครอบครัวอย่างปลอดภัย หรือเราอยากจะไปเสี่ยงบนถนนโดยที่เราไม่รู้ว่าเราจะได้กลับบ้านหรือเปล่าในวันนั้น”
ส่วนในมุมมองของไรเดอร์ อนุกูล ราชกุณา ซึ่งอีกบทบาทคือเลขาสหภาพไรเดอร์ เขาบอกว่า การสู้เพื่อให้ได้สถานะลูกจ้างจะนำมาซึ่งสวัสดิการจากการทำงาน แม้หลายคนอาจมองว่าสถานะดังกล่าวจะทำให้ไรเดอร์ขาดความอิสระ ต้องเข้าออกตามเวลางาน หรือมีการตอกบัตร แต่ในมุมของตนนั้น รูปแบบการทำงานจะยังคงความอิสระหรือไม่ขึ้นอยู่กับการออกแบบกฎกติกาของบริษัทนั้นๆ อันเป็นคนละเรื่องกับการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความคุ้มครองจากบริษัทแพลตฟอร์ม
  • ช่องว่างทางกฎหมายที่คลุมเครือ
การผลักดันให้ไรเดอร์ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ต้องกลับมาทบทวนแนวคิดด้านกฎหมายแรงงานไทย ซึ่งนิยามแรงงานเอาไว้ 2 รูปแบบ คือ แรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ
สำหรับแรงงานในระบบนั้น ยกตัวอย่างโดยทั่วไปคือ พนักงานออฟฟิศ พนักงานโรงงาน คนที่มีรายได้ประจำ มีเงินเดือนที่แน่นอน มีสัญญาจ้างระยะยาว แรงงานกลุ่มนี้เรียกอีกแบบหนึ่งคือ ‘แรงงานลูกจ้าง’ อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการ (formal sector) และได้รับการคุ้มครองสวัสดิการต่างๆ ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจข้อมูลแรงงานเมื่อปี 2016 พบว่าประเทศไทยมีแรงงานในระบบประมาณ 16 ล้านคน คิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ของคนมีงานทำ
ขณะที่แรงงานนอกระบบ เป็นกลุ่มที่ทำอาชีพอิสระ ทำงานในองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่มีสถานะทางกฎหมาย ไม่มีรายได้ที่แน่นอน อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal sector) แรงงานกลุ่มนี้มักทำงานหนัก แต่กลับมีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการเพราะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน รวมทั้งขาดความต่อเนื่องในการทำงานอันเนื่องจากการจ้างงานรายชิ้น หรือจ้างชั่วคราว จำนวนแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีมากกว่า 21 ล้านคน คิดเป็น 56 เปอร์เซ็นต์ของคนมีงานทำ
คำถามก็คือ ไรเดอร์อยู่ตรงไหนระหว่างแรงงาน 2 ประเภทนี้
ศุภวิช สิริกาญจน นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน มองว่า การพิจารณาว่าไรเดอร์เป็นแรงงานกลุ่มใดต้องดูที่สัญญาจ้าง หากเป็นเมื่อก่อนสามารถกล่าวได้อย่างเต็มคำว่า ‘ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน’ จึงไม่สามารถเอา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.เงินทดแทน ตลอดจนกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้ได้ ทว่าสัญญาจ้างในระยะหลังกลับเปลี่ยนไป
ศุภวิชบอกว่า สัญญาของแพลตฟอร์มในระยะหลังนั้น ‘มีอำนาจในการบังคับบัญชาไรเดอร์’ อย่างชัดเจน มีบทลงโทษ มีลักษณะบังคับ มีระบบประเมิน ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อค่าตอบแทนโดยตรง
“แม้ว่ามันจะไม่ใช่การใช้อำนาจโดยตรง แต่นี่คืออำนาจบังคับบัญชา หรือสร้างแรงจูงใจว่า ถ้าคุณไม่ยอมทำตามนี้ รายได้คุณก็ลดนะ เพราะฉะนั้น คุณจะต้องทำอะไรบางอย่าง
“ตอนนี้ถ้าความสัมพันธ์เป็นในรูปแบบที่ผมกล่าวมาจริงๆ เริ่มมีอำนาจบังคับบัญชามากขึ้น เห็นนัยสำคัญแล้ว ผมมองว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ไรเดอร์ หรือพาร์ทเนอร์ ก็ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน”
พรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล นิติกรปฏิบัติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เห็นว่า ไรเดอร์มี 2 กลุ่มเป็นอย่างน้อย คือกลุ่มที่มีเวลาทำงานแน่นอนในลักษณะงานประจำ กับกลุ่มที่ทำงานเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือพาร์ทไทม์ ซึ่งในมุมทางนิติสัมพันธ์นั้นทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่เหมือนกัน
"เมื่อพิจารณาข้อสัญญาที่อาจมีแนวโน้มลงโทษลูกจ้างได้ มีการระงับการให้บริการ ถ้าสมมุติไรเดอร์ทำผิด บริษัทแพลตฟอร์มอาจบล็อกสัญญาณไรเดอร์ชั่วคราวได้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะการทำงาน และอำนาจบังคับบัญชา ก็อาจจะมองได้ว่ากรณีนี้อาจจะเป็นการจ้างแรงงาน
"แต่ถ้าทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ คือหลังเลิกงาน 17.00-20.00 น. ถึงแม้จะมีลักษณะงานที่คล้ายกัน แต่การบอกว่าคนกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นลูกจ้าง คงจะไม่ใช่ เพราะยังมีความเป็นอิสระประมาณหนึ่ง อาจเป็นการ 'จ้างทำของ' (Gig Economy) มากกว่า"
ปัญหาลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย พรสุดาบอกว่า กระทั่งประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ก็มีวิธีการตีความที่ไม่ชัดเจน กระทั่งนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน แต่จากข้อสังเกตของตนก็ยอมรับว่า หากพิจารณาจากการตัดสินคดีแรงงานในต่างประเทศผ่านหลายๆ กรณี มีแนวโน้มว่าอนาคตของไรเดอร์จะมีสถานะเป็น ‘ลูกจ้าง’ มากกว่า ‘จ้างทำของ’
  • ทำได้ ถ้าจะทำ เมื่อสเปนออกกฎหมายไรเดอร์
ท่าทีของสำนักงานตรวจสอบแรงงานและประกันสังคม ประเทศสเปนนั้น ทั้งชัดเจนและแข็งกร้าวอย่างยิ่งต่อบริษัทแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการบอกว่าแพลตฟอร์มจัดส่งสินค้าที่ใส่ข้อมูลใน database ว่า ไรเดอร์เป็น ‘อาชีพอิสระ’ ถือเป็นการ ‘ฉ้อโกง’ เรื่องนี้นำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมายกระทั่งเดือนกันยายน 2020 ศาลฎีกาประเทศสเปนตัดสินให้ ‘ไรเดอร์เป็นลูกจ้างที่ต้องได้รับเงินเดือนจากบริษัท’
ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลสเปนยังเดินหน้าเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงานและนายจ้างอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้ฉันทามติในเดือนมีนาคม 2021 จากนั้นนำไปสู่กระบวนการร่างกฎหมาย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีสเปนจะลงมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2021
ที่สุดเมื่อ 21 กรกฎาคม รัฐสภาของสเปนก็ลงมติผ่านกฎหมายฉบับนี้ จากนั้น 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็มีการประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ กลายเป็น ‘กฎหมายไรเดอร์’ ฉบับสำคัญที่ออกมาบังคับใช้เกี่ยวกับแรงงานแพลตฟอร์มจัดส่งสินค้า ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับแพลตฟอร์ม Glovo, Deliveroo และ Uber Eats โดยบริษัทเหล่านี้มีเวลา 3 เดือนนับจากการประกาศบังคับใช้เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมาย
โยลันดา ดิอาซ (Yolanda Diaz) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและเศรษฐกิจเพื่อสังคม กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า รัฐบาลสเปนยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีโดยปราศจากความกลัว เพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความเปราะบางมากที่สุดในสังคม และถือเป็นรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี โดยประเทศสเปนนับเป็นแนวหน้าของโลกที่กล้าออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับไรเดอร์เช่นนี้
โยลันดา ดิอาซ ย้ำด้วยว่า กฎหมายไรเดอร์ฉบับนี้กำหนดให้ไรเดอร์ที่ทำงานจัดส่งสินค้า หรือผู้ที่จัดส่งสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องถือเป็นลูกจ้างของบริษัท ซึ่งได้รับการคุ้มครองสิทธิตามองค์กรและสหภาพแรงงานของตน โดยได้รับค่าตอบแทนและเงินเดือนจากบริษัท
นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดด้วยว่า เจ้าของแพลตฟอร์มต้องส่งมอบสมการและชุดคำสั่งอัลกอริธึมรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่ใช้คำนวณให้คณะกรรมการได้ทราบ เพราะชุดคำสั่งเหล่านั้นล้วนมีผลต่อโครงสร้างการทำงาน การตัดสินใจจ้าง เลิกจ้าง และเกี่ยวข้องกับสภาพการทำงาน และข้อมูลดังกล่าวจะต้องแจ้งให้กับตัวแทนลูกจ้างของบริษัทได้รับรู้ด้วย โดยรัฐบาลจะจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่จะศึกษาการใช้ AI และอัลกอริธึม เพื่อให้ลูกจ้างรู้เหตุผลเบื้องหลังของการตัดสินใจในเชิงธุรกิจของนายจ้าง
สำหรับการผ่านกฎหมายฉบับนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ ออกมายกย่องหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือ โดยเฉพาะสำนักงานตรวจสอบแรงงานและประกันสังคม ที่ทำให้ไรเดอร์ในประเทศสเปนจำนวน 16,794 คน กลายเป็นลูกจ้างที่มีเงินเดือน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 29 ล้านยูโร
หากสังเกตกรณีการออกกฎหมายฉบับนี้ นับจากคำตัดสินของศาลฎีกาที่ให้ไรเดอร์เป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม กระทั่งออกกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเป็นทางการ รัฐบาลสเปนใช้เวลาเพียง 11 เดือน 11 วันเท่านั้น
  • ศาลฏีกาอังกฤษ ตัดสินให้คนขับ Uber เป็นคนงานของ Uber
สเปนไม่ใช่ประเทศแรกและประเทศเดียวที่ออกมาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมามีอีกหลายประเทศที่ใช้มาตรการทางกฎหมายออกมาแก้ไขหรือหาทางออกให้กับสถานะอันคลุมเครือระหว่างไรเดอร์กับแพลตฟอร์ม
หลังต่อสู้กันมานานกว่า 5 ปี กับ 4 ศาล โดยเริ่มจากปี 2016 ยาซีน อัสลาม (Yaseen Aslam) และเจมส์ ฟาร์ราร์ (James Farrar) ตัดสินใจฟ้องศาลแรงงานประเทศอังกฤษ เพื่อกำหนดสถานะของคนขับรถ Uber อันจะนำมาซึ่งสิทธิและการคุ้มครองแรงงาน โดยระบุว่าตนเป็น ‘คนงาน’ ของ Uber แต่ Uber โต้กลับว่าทั้งคู่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Self employed) ไม่ใช่คนงานของ ฉะนั้น Uber จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างสำหรับวันหยุด
ผลของการต่อสู้ในชั้นนี้ ยกแรกศาลแรงงานพิพากษาให้ ยาซีน อัสลาม และเจมส์ ฟาร์ราร์ เป็นฝ่ายชนะ แต่ Uber ตัดสินใจสู้ต่อยกสองด้วยการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แรงงาน Uber เป็นฝ่ายแพ้เช่นเคย แต่กระบวนการต่อสู้ยังไม่จบ ยกสาม Uber ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และยกสุดท้ายคือสู้กันถึงศาลฎีกา ก่อนที่ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยตัดสินเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021 ว่า ยาซีน อัสลาม และเจมส์ ฟาร์ราร์ คือ ‘คนงาน’ ของ Uber ไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพอิสระอย่างที่ Uber ได้กล่าวอ้าง
ศาลฎีกา ประเทศอังกฤษให้เหตุผลว่า Uber เป็นผู้กำหนดค่าโดยสาร โดยคนขับไม่มีอิสระในสัญญา เพราะสัญญานั้นเกิดจากการกำหนดของ Uber แต่เพียงฝ่ายเดียว ทันทีที่คนขับได้รับการเรียกใช้บริการ ไม่ว่าจะตัดสินใจรับผู้โดยสารหรือไม่ คนขับก็จะต้องทำตามกติกาที่กำหนดไว้ทันที ไม่เช่นนั้นจะมีบทลงโทษจากแพลตฟอร์ม และ Uber ยังห้ามคนขับติดต่อกับผู้โดยสารโดยตรงเพื่อใช้บริการในครั้งถัดไป ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาจึงเห็นว่าคนขับรถอยู่ภายใต้บังคับบัญชา การที่ Uber อ้างว่าตนทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมความต้องการของผู้โดยสารกับคนขับรถคล้ายกับแอพลิเคชั่นจองที่พักหรือแท็กซี่นั้น จึงฟังไม่ขึ้น
ผลของชัยชนะดังกล่าว ทำให้คนขับรถ Uber กว่า 70,000 คนในอังกฤษ ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 8.72 ปอนด์ (ประมาณ 400 บาท) ทันทีที่ตอบรับการเรียกใช้บริการของผู้โดยสาร และจะได้รับค่าจ้างชดเชยร้อยละ 12 หากทำงานในวันหยุด รวมทั้งสามารถเข้าโครงการบำนาญโดยอัตโนมัติ ซึ่ง Uber จะต้องจ่ายเงินสมทบกับคนขับ นอกจากนี้ยังจะได้รับประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุรวมทั้งกรณีสงเคราะห์บุตร ที่สำคัญคือ คนขับรถ Uber จะได้รับอิสระในการเลือกงาน ทั้งเวลาและสถานที่
สำหรับในอังกฤษนั้น กฎหมายกำหนดสถานะของแรงงานไว้ 3 ระดับคือ 1) ลูกจ้าง (employee) จะได้รับสิทธิ และการคุ้มครองตามกฎหมายมากที่สุด 2) คนงาน (worker) ได้รับความคุ้มรองรองลงมา และมีสิทธิได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ มีวันหยุด วันลาโดยรับเงินเดือน มีประกันสุขภาพ ประกันอุบัตุเหตุ และบำนาญ ส่วน 3) แรงงานอิสระหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ (self-employed) จะได้รับความคุ้มครองน้อยที่สุด
ซึ่ง ณ ที่นี้ คนขับรถ Uber มีสถานะเป็น ‘คนงาน’ ตามคำตัดสินของศาลฎีกาดังที่กล่าวไปแล้ว
กรณีการตัดสินของศาลอังกฤษยังสอดคล้องกับประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยวันที่ 13 กันยายน 2021 ที่ผ่านมา ศาลแขวงอัมสเตอร์ดัมตัดสินว่า คนขับรถของ Uber เป็นลูกจ้าง (employee) ของ Uber และต้องได้รับสิทธิ สวัสดิการ ตลอดจนความคุ้มครองตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด
  • เชิงอรรถ
เขียน: โกวิท โพธิสาร
โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY
สนับสนุนโดย
มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)
โฆษณา