19 ธ.ค. 2021 เวลา 10:07 • ปรัชญา
นิทานเซนสอนใจ ตอนที่ 5
เรื่อง “พระกับมาร”
เครดิตภาพ: Pinterest – Irezumi Tattoos
มีนักวาดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง ต้องการจะวาดภาพของพระและของมาร
1
แต่คิดยังไงก็คิดไม่ออกว่า ลักษณะของพระและมารควรจะเป็นอย่างไร
และก็ไม่สามารถหาของจริงที่มาเป็นแบบอย่างได้ จึงยังลงมือวาดไม่ได้สักที
ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังไหว้พระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง บังเอิญเห็นภิกษุรูปหนึ่ง
มีรูปหน้าและจริยาวัตรที่งดงามยิ่งนัก ลักษณะและท่าทางอย่างนั้นช่างดึงดูดใจนักวาดเช่นเขาเป็นอย่างยิ่ง
เขาจึงไปหาพระรูปนั้น และจ้างให้มาเป็นแบบ ด้วยราคาที่สูงเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากเมื่อวาดภาพนั้นเสร็จ ภาพนั้นก็ได้กลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว
นักวาดนั้นกล่าวว่า “ตั้งแต่ที่ได้วาดภาพเป็นต้นมา ภาพนี้เป็นภาพที่ตนเองพอใจมากเป็นที่สุด เพราะใครๆที่มาเห็นภาพนี้จะต้องนึกทันทีว่า นี่คือภาพพระพุทธที่แท้จริง รูปร่างหน้าตา และลักษณะที่เปี่ยมล้นด้วยความสงบและมีเมตตา ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นเกิดความพึงพอใจ และศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม”
และก็เป็นเพราะภาพภาพนี้ ผู้คนไม่ได้เรียกเขาว่านักวาดเหมือนเมื่อก่อน แต่ได้ฉายาใหม่ว่า “ปรมาจารย์แห่งนักวาด”
ผ่านไปอีกหลายปี นักวาดผู้นี้จึงคิดจะวาดรูปมารขึ้นมาอีกรูป แต่ก็เกิดปัญหาเช่นเคยคือไม่รู้จะหาลักษณะที่เป็นมารมาเป็นแบบได้จากที่ไหน?
เขาเดินไปหาอยู่หลายที่ เพื่อจะหาคนที่มีลักษณะดุร้ายโหดเหี้ยม แต่หาอย่างไรก็ไม่ถูกใจสักคน
สุดท้ายก็ไปหาเจอในคุกแห่งหนึ่ง นักวาดนั้นดีใจยิ่งนัก เพราะการจะไปหาคนๆหนึ่งที่หน้าเหมือนมารจริงๆนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย
1
เมื่อเขาเข้าไปเจรจากับนักโทษนั้น นักโทษนั้นร้องไห้คร่ำครวญออกมาว่า
“ทำไมเมื่อตอนที่จะวาดรูปพระ คนที่ท่านหาก็คือข้า ตอนที่จะวาดภาพมาร คนที่ท่านหาก็ยังคงเป็นข้า เป็นเพราะเจ้าที่ทำให้ข้าจากพระกลายเป็นมาร”
5
“เป็นไปได้อย่างไร? คนที่เป็นแบบให้ข้าวาดภาพพระ ลักษณะดีเลิศผิดผู้อื่น แต่เจ้าดูทีเดียวก็รู้แล้วว่า เหมือนลักษณะของมารอย่างแท้จริง แล้วจะเป็นคนๆเดียวกันได้อย่างไร?”
นักโทษคนนั้นพูดอย่างปวดร้าวใจ
“ตั้งแต่ได้เงินก้อนใหญ่จากเจ้า ข้าได้แต่ไปหาความรื่นเริงบันเทิงใจทุกวัน ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายจนเงินหมด แต่ความหลงอยู่ในความมัวเมาเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมจะหยุดลงได้ยาก ดังนั้นข้าจึงไปปล้นและฆ่าเจ้าทรัพย์ ขอเพียงให้ได้เงิน ไม่ว่าเรื่องที่ทำจะเลวร้ายอย่างไรข้าก็ทำ ที่สุดก็กลายมาเป็นสภาพอย่างที่ท่านเห็น”
6
นักวาดเมื่อได้ฟังจนจบ รู้สึกสังเวชใจยิ่งนัก รู้สึกพรั่นพรึงถึงจริตนิสัยของคนเรา ที่สามารถถูกกิเลสลากจูงไปได้อย่างรวดเร็ว สภาพจิตของคนช่างอ่อนแอ พลังดึงดูดของกิเลสก็ช่างแข็งแกร่ง
ความเปลี่ยนแปลงของคนๆนี้ทั้งหมด ก็เป็นเพราะตัวเองที่ทำให้เกิดขึ้น
เขาจึงละทิ้งพู่กัน แล้วไม่วาดรูปตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป
สรุปข้อคิดจากนิทานและถอดเป็นความคิดออกมาได้ว่า
1. “พระ” ความหมายทางธรรม เปรียบเหมือน สิ่งที่ประเสริฐ ความดีงาม หรือคุณธรรมที่คอยยกจิตใจคนเราให้สูงขึ้น
17
“มาร” ความหมายทางธรรม เปรียบเหมือน สิ่งที่ทำลายล้าง ความชั่วร้าย หรือกิเลสที่จะคอยดึงจิตใจคนเราให้ต่ำลง เป็นอุปสรรคจากการกระทำความดี หรือพูดอีกอย่างก็คือ “มารเป็นศัตรูกับพระ ในจิตใจคนเรา”
18
ดั่งในเรื่องราวของพุทธประวัติ ก็มีมารผจญพระพุทธเจ้าอยู่หลายครั้ง เช่น ครั้งที่จะตัดสินใจออกผนวช มีพญามารมาสกัดหน้าบอกว่าพระองค์จะได้เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ต่อไปหากกลับเข้าวังไป แต่แล้วพระองค์ก็ไม่เชื่อคำพูดและตัดสินใจหนีออกมา หรือครั้งที่จะตรัสรู้เข้าสู่นิพพาน ก็มีมารเข้ามาผจญเช่นเดียวกัน
2
2. ทรัพย์สินเงินทอง หรือลาภยศ เป็นสิ่งกระตุ้นหรือชักจูงเราให้เกิดกิเลสหลงไปในทางที่ผิดได้ง่าย แต่คุณธรรมความดีต่างหากที่เราทุกคนควรระลึกอยู่ในจิตใจ ท่องให้ดีว่านี่สิคือสิ่งที่เราควรทำ
1
3. จิตใจของคนเราหากไม่ได้รับการขัดเกลา อบรม สั่งสอน ให้คำแนะนำที่เหมาะที่ควร ก็จะถูกความชั่วหรือกิเลส เปรียบเหมือนมารที่อยู่ในนิทานเรื่องนี้ ดึงเราให้ไขว่เขวจากครรลองคลองธรรม
5
ดังนั้นผู้เขียนขอเปรียบเทียบเหมือนการเลี้ยงดูลูกหลานในยุคปัจจุบันที่เป็น Gen Alpha ว่าควรสอนพวกเขาให้มีความฉลาดด้านศีลธรรมหรือที่เรียกว่า MQ (Moral Quotient) ซึ่งก็มีความสำคัญอย่างมากในการดำรงชีวิตต่อไป นอกเหนือจากความฉลาดทางด้านอื่นๆ
8
ผู้เขียนขอยกธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง “พระ กับ มาร คือใคร?” มาให้อ่านตามด้านล่างนี้
ขอจบด้วยคำกลอนนี้ (ที่มา: เจริญธรรม-สำนักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน)
เมื่อวานนี้ มีใจ เป็นบัณฑิต
มาวันนี้ มีจิต คิดเป็นพาล
ควบคุมจิต ควบคุมใจ อย่าฟุ้งซ่าน
พระกับมาร เกิดที่ใจ ดวงเดียวกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา