21 ธ.ค. 2021 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้เฟดจะใช้นโยบาย Hawkish
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีมติให้ปรับลดวงเงินโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากแผนเดิมที่วางไว้
1
เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป โดยจะปรับลดวงเงินลงเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งออกเป็นลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และลดการซื้อคืนตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำ QE ในเดือนมีนาคม 2565
นอกจากนี้ เฟดได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0.00 – 0.25% ตามเดิม แต่มีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึง 3 ครั้งในปีหน้า และอีก 2 ครั้งในปี 2566 (อ้างอิงจาก Median Estimates แผนภาพ Dot Plot)
รูปที่ 1: The Fed’s Dot Plot
ก่อนหน้านี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ยืนกรานว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ซึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดด้านอุปทานซึ่งจะค่อยๆ คลี่คลายลงในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเฟดก็ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอาจอยู่นานกว่าที่คาด และได้ยกเลิกการใช้คำว่า “Transitory” ในการอธิบายถึงเงินเฟ้อแล้ว โดยกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% ไปอีกซักระยะหนึ่ง
📌 อัตราเงินเฟ้อ
ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.8% YoY ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2525 โดยเกิดจากการที่ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นตามความต้องการน้ำมันและก๊าซที่ฟื้นตัวจากที่ลดลงในช่วงของการระบาดของโควิด-19 นอกจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจะกระทบโดยตรงต่อผู้ที่ใช้รถยนต์ในสหรัฐฯ แล้ว ราคาที่พุ่งสูงของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาค่าขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นเกือบทุกรายการตั้งแต่อาหารไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ทางด้านดัชนีการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหลักของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 5% YoY ในเดือนตุลาคม โดยถือว่าน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ที่ 5.1% แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2533 ส่วน Core PCE ที่ไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานที่มีผันผวนมาก ปรับเพิ่มขึ้น 0.4% MoM ในเดือนตุลาคม สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้
FOMC ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (PCE) ในปีนี้มาอยู่ที่ 5.3% จาก 4.2% ในเดือนกันยายน ในขณะเดียวกัน ประมาณการสำหรับปี 2565 และ 2566 ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% และ 2.3% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) คาดว่าจะแตะระดับ 4.4% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในเดือนกันยายน
รูปที่ 2: ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประเทศสหรัฐอเมริกา
📌 ตลาดแรงงาน
ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลงในเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าจะเป็นช่วงก่อนที่โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่ระบาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 210,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 575,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงจาก 4.6% มาอยู่ที่ 4.2% (ถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดที่ 3.5% แต่ดีขึ้นมากเทียบกับ 18.5% ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนักในเดือนเมษายน 2563)
นายเจอโรม พาวเวลล์ กล่าวว่าขณะนี้การจ้างงานในสหรัฐฯ ใกล้ที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มศักยภาพ (Maximum Employment) แล้ว และในระยะถัดไปเฟดมองว่าอัตราการว่างงานในปีนี้จะอยู่ที่ราว 4.3% ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ประเมินไว้ที่ 4.8%
รูปที่ 3: อัตราการว่างงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา
📌 Market Reaction
หลังจากที่ผลการประชุมเฟดออกมาสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.6% ใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 1% และ 2.4% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขยับขึ้น 2 bps มาอยู่ที่ 1.46%
แม้ว่าเฟดจะมีนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น แต่แนวโน้มในการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3 ครั้งในปีหน้า ยังน้อยกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์กันไว้ ส่งผลทำให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% อยู่ที่ 1,772.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ในทางกลับกัน ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ลดลง 0.2% อยู่ที่ 96.2 ซึ่งลดลงจากระดับสูงสุดที่ 96.9 ในเดือนที่ผ่านมา
รูปที่ 4: ราคาหุ้นสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นหลังจากลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564
#FOMC #FED #QE #QETapering #ตลาดหุ้น #ราคาทองคำ #ค่าเงินดอลลาร์ #BKKPost
#Bnomics #Global_Economic_Update #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน :
ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ศศิชา เป่าแตรสังข์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ :
ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา