Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
23 ธ.ค. 2021 เวลา 01:08 • ธุรกิจ
สรุปธุรกิจถุงมือยาง ธุรกิจที่เติบโตได้เร็วในช่วงโควิด
ในช่วงที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์จากยางเป็นจำนวนมาก
ยางพาราถือเป็นหนึ่งในพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรไทยไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคนและสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงกว่า 2.2 แสนล้านบาทในแต่ละปี (อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย) และเฉพาะผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง ประเทศไทยมีกำลังการผลิตราว 6.5 หมื่นล้านชิ้นต่อปี ส่งออกต่างประเทศได้เป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้นธุรกิจถุงมือยางพาราจึงควรค่าแก่การศึกษาและพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
📌 ตลาดถุงมือยางทั่วโลก
จากข้อมูลของ Grand View Research ตลาดถุงมือยางทั่วโลกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 2.5 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะขยายตัวได้ 14.7% ต่อปี ในช่วงปี 2563 – 2570 เนื่องจากความต้องการใช้ถุงมือยางยังมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านการแพทย์ทั่วไปและด้านการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
นอกจากทางด้านการแพทย์แล้ว อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็เริ่มมีการนำเอาถุงมือยางมาใช้เพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาความสะอาดหรือเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มาซื้อสินค้าหรือบริการ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งนี้คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจถุงมือยางเติบโตได้อีกในระยะต่อไป
ในด้านสัดส่วนจำนวนการผลิตถุงมือยางทั่วโลก ไทยเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก โดยมีสัดส่วนการผลิตกว่า 18% ในปี 2562 อย่างไรก็ดี ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดห่างจากอันดับที่ 1 อย่างมาเลเซียอีกราว 45% และจีนยังคงมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนแบ่งจำนวนการผลิตถุงมือยางทั่วโลก ในปี 2562
ผู้ซื้อถุงมือยางไปใช้งานในตลาดโลก ส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าในฝั่งทวีปยุโรป (37%) และสหรัฐอเมริกา (30%) แต่มีกลุ่มตลาดใหม่เกิดขึ้นมากในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศแอฟริกาและเอเชียกลาง ซึ่งอาจมีสัดส่วนความต้องการใช้งานถุงมือยางเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
ทั้งนี้ หากดูสัดส่วนการใช้งานถุงมือยางในแต่ละอุตสาหกรรม จะพบว่าอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการดูแลสุขภาพมีสัดส่วนการใช้ถุงมือยางมากที่สุดอยู่ที่ราว 70% เนื่องจากมีการใช้ในการป้องกันการปนเปื้อนและการแพร่เชื้อระหว่างการรักษา ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมยานยนต์มีสัดส่วนการใช้งานรองลงมาตามลำดับ
สัดส่วนการใช้ถุงมือยางในแต่ละอุตสาหกรรม
📌 ประเทศไทยอยู่จุดไหนในตลาด
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก ซึ่งไทยสามารถผลิตและส่งออกถุงมือยางได้เป็นจำนวนกว่า 1.8 หมื่นล้านคู่ (มูลค่ารวม 3.7 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2562 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านคู่ (มูลค่ารวม 5.4 หมื่นล้านบาท) ในปี 2563 ที่ผ่านมา โตขึ้น 11% ในแง่ของจำนวนการส่งออก และ 46% ในแง่ของมูลค่า (อ้างอิงจากสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย) โดยประเทศที่ไทยส่งออกถุงมือยางไปมากที่สุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ตามลำดับ
ตลาดที่ประเทศไทยส่งออกถุงมือยางไปมูลค่ามากที่สุด 10 ประเทศ
📌 ผู้นำธุรกิจถุงมือยางในประเทศไทย
ในปัจจุบันโรงงานผลิตถุงมือยางในไทยมีจำนวนมากถึง 49 แห่ง โดยมีบริษัทศรีตรังโกลฟส์เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในไทย ศรีตรังโกลฟส์มีโรงงานทั้งสิ้น 4 แห่ง และธุรกิจต้นน้ำของทางบริษัทมีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 45,000 ไร่ อยู่ในทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนธุรกิจปลายน้ำอย่างการผลิตถุงมือยาง ตอนนี้มีกำลังการผลิตกว่า 33,000 ล้านชิ้น (16,500 ล้านคู่) โดยแบ่งออกเป็นถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางสังเคราะห์ที่ใช้ในการแพทย์ โดยจะมีทั้งแบบมีแป้งและไม่มีแป้ง
ด้วยจุดเด่นของศรีตรังโกลฟส์ที่มีการจัดระบบ Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพรองรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงทำให้ทางบริษัทค่อนข้างได้เปรียบคู่แข่งในตลาดและสร้างกำไรให้กับบริษัทเป็นจำนวนมหาศาล โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาศรีตรังโกลฟส์สามารถทำกำไรสุทธิไปได้มากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 2,246% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันปี 2562 ที่มีกำไรเพียง 614 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลประกอบการในรอบปี 2564 ยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง โดยทำกำไรในช่วง 9 เดือนแรกไปทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาท มากกว่าช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ที่มีกำไรเพียง 5.9 พันล้านบาท อยู่ 271.4%
ในระยะต่อไป ศรีตรังโกลฟส์กำลังมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิต โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องผิดให้ได้ 80,000 ล้านชิ้นต่อปี ภายในปี 2567 และประมาณ 100,000 ล้านชิ้นต่อปี ภายในปี 2569
เนื่องด้วยอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยสามารถทำกำไรได้จำนวนมาก นอกจากบริษัทศรีตรังโกลฟส์แล้ว ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่ผลิตถุงมือยางในลักษณะเดียวกันอีกหลายราย อาทิ เช่น บริษัทไทยฮั้วยางพารา บริษัทท้อปโกลฟ เมดิคอล เป็นต้น ส่วนบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจในด้านอื่น ๆ ก็หันมาสนใจอุตสาหกรรมถุงมือยางกันมากขึ้น อย่างบริษัท ปตท. และ ไออาร์พีซี ก็ได้ตกลงร่วมมือกันเพื่อพัฒนาธุรกิจถุงมือยางสังเคราะห์ (Nitrile) หรือถุงมือทางการแพทย์ เพื่อลงเล่นในตลาดนี้อีกด้วย
📌 อนาคตของอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย
อ้างอิงจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (TISTR) การแปลรูปผลิตภัณฑ์ยางเป็นสินค้าชนิดอื่น ๆ เช่น แผ่นยางกันลื่น ถุงมือผ้าเคลือบยาง หรือถุงมือยาง ล้วนเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา ดังนั้นประเทศไทยควรจะมีการวิจัยและพัฒนา R&D ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมถุงมือยางที่ไทยเป็นผู้นำในตลาดโลกอยู่แล้ว และรัฐบาลควรลดข้อจำกัดหรือลดขั้นตอนที่ยุ่งยากเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานหรือการพัฒนาโรงงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม
อย่างที่เรารู้กันดีว่าธุรกิจถุงมือยางได้รับประโยชน์อย่างมากและเติบโตได้เร็วจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะถัดไปหากการแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ ก็คาดว่ายอดขายในอุตสาหกรรมนี้อาจเติบโตได้ในอัตราที่ช้าลงเล็กน้อย แต่ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-curve ของประเทศไทยที่รัฐบาลควรให้การสนับสนุน โดยสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 20% ให้ได้ภายใน 5 ปีต่อจากนี้
มูลค่าเพิ่ม จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา
#ถุงมือยาง #ถุงมือแพทย์ #ยางพารา #ตลาดยางพารา #เศรษฐกิจไทย
#Bnomics #Industry #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
https://www.sritranggroup.com/en/home
https://marketeeronline.co/archives/218194
https://www.amarintv.com/news/detail/113284
https://www.bangkokbiznews.com/news/956695
https://trgma.org/wp/news_and_event/statistics/
https://www.prachachat.net/economy/news-619365
https://www.arda.or.th/kasetinfo/south/para/history/01-10.php
https://www.brandbuffet.in.th/2021/08/sritranggroup-sta-stgt-brand-stories/
https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/rubber-gloves-market
https://stgt.listedcompany.com/misc/mdna/20211109-stgt-mdna-3q2021-th.pdf
https://www.bangkokpost.com/business/1924800/rubber-glove-exports-get-pandemic-boost
https://www.sritranggloves.com/en/investor-relations/publications-and-download/investor-kits
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/RegionalEconomy/DocLib14/RL_unlock_rubber_gloves.pdf
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/RegionalEconomy/EducationPaper/Natural_Rubber_Policy.pdf
https://www.thaienquirer.com/15100/stgt-listing-is-full-of-potential-amid-rubber-glove-boom-during-coronavirus-pandemic/
ตลาดยางพารา
ธุรกิจยางพารา
ธุรกิจ
5 บันทึก
4
11
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
B-Industry
5
4
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย