23 ธ.ค. 2021 เวลา 00:36 • หนังสือ
==========================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันพฤหัสบดี
==========================
🕊• MAKOTO MARKETING
✍🏻• ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เขียน
🔖• 06 || ไม่อ้างว่าอุตสาหกรรมนี้ตายแล้ว
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ MAKOTO MARKETING ]
========================
06
ไม่อ้างว่าอุตสาหกรรมนี้ตายแล้ว
- - - - -
ร้านหนังสือที่ปรับตัวอย่างแตกต่าง
========================
อาจารย์โคจิ ซากาโมโต้ ผู้แต่งหนังสือ
“เริ่มด้วยหัวใจ บริษัทก็ไปได้ไกลกว่า”
กล่าวว่า บริษัทมีอยู่ 3 แบบ
||แบบที่ 1||
บริษัทที่เติบโตตามสภาพเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจดี ก็เติบโต
เศรษฐกิจถดถอย ยอดขายก็ตกต่ำ
ในญี่ปุ่นมีบริษัทประเภทนี้ประมาณ 20-30%
||แบบที่ 2||
บริษัทที่ไม่ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ
ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
บริษัทประเภทนี้จะยังคงเติบโต
ในญี่ปุ่นมีบริษัทประเภทนี้ประมาณ 10-20%
||แบบที่ 3||
บริษัทที่โครงสร้างไม่แข็งแรง แม้เศรษฐกิจดี
แต่บริษัทเหล่านี้ก็จะเติบโตได้ไม่ดีนัก
ในญี่ปุ่นมีบริษัทประเภทนี้ประมาณ 60-70%
อาจารย์โคจิ กล่าวอีกว่า บริษัทในแบบที่ 3
มักจะมีข้ออ้างอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทำเลไม่ดี
ถูกห้อมล้อมด้วยบริษัทขนาดใหญ่ ฯลฯ
คำถามคือ เราจะทำบริษัทของเราให้เป็น
บริษัทแบบที่ 2 ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่
บริษัทเรายังคงเติบโต ได้อย่างไร
เวลาอาจารย์เกตุพบผู้ประกอบการที่พูดว่า . . .
ธุรกิจของเขากำลังหดตัว เขาจะเปลี่ยนไปทำ
ธุรกิจอะไร
อาจารย์เกตุมักตอบว่า ใจเย็น ๆ
อย่างไรก็มีทางออก และอาจารย์ก็ได้เล่าเรื่อง
ร้านหนังสือสองร้านให้ฟังค่ะ . . .
[ MAKOTO MARKETING ]
=============
ร้านหนังสืออิวาตะ
=============
ตั้งแต่ปี 1999 - 2017 ร้านหนังสือในประเทศญี่ปุ่น
มีจำนวนลดลงกว่า 40% เหตุเป็นเพราะ . . .
• พฤติกรรมลูกค้าที่ปัจจุบันมักซื้อหนังสือจาก
ช่องทางออนไลน์
• ปัจจุบันผู้คนทำงานหนักขึ้นทำให้มีเวลา
อ่านหนังสือน้อยลง
ร้านโทโอรุ อิวาตะ เป็นร้านหนังสือเล็ก ๆ
ในจังหวัดฮอกไกโด ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
คุณอิวาตะ [ เจ้าของร้าน ] พยายามอย่างเต็มที่เพื่อ
ที่จะยื้อชีวิตร้านหนังสือแห่งนี้ไว้ให้ได้
เขาทำหลายสิ่งหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น
• เพิ่มบริการจัดส่งหนังสือถึงบ้าน
• ขายเวลาเปิด-ปิดร้าน
• จัดกิจกรรมเชิญนักเขียนดัง ๆ มาพูด
แต่สุดท้ายยอดขายก็ไม่ได้ดีขึ้น
คุณอิวาตะทำงานหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล
และในวันที่เขาออกจากโรงพยาบาล
เขาได้ถามตัวเองว่า . . .
==============================
อะไรคือคุณค่าของงานที่เขาทำอยู่
แค่ซื้อหนังสือมา แล้วขายต่อเท่านั้นเองหรือ
==============================
จนวันหนึ่งเขามีโอกาสได้ไปทานข้าวกับรุ่นพี่
รุ่นพี่ท่านนั้นได้ยื่นเงินให้เขา 10,000 เยน
และบอกว่า “ช่วยเลือกหนังสือที่น่าจะเหมาะกับพี่
ให้หน่อย”
ก่อนที่คุณอิวาตะจะเลือกหนังสือให้รุ่นพี่ 10 เล่ม
เขานั่งคิดพิจารณาถึงชีวิต นิสัย ความสนใจ
ของรุ่นพี่ท่านนั้น
ปรากฎว่า รุ่นพี่อ่านหนังสือที่คุณอิวาตะเลือกให้
แล้วชอบมาก จึงบอกคนอื่น ๆ ต่อ
หลังจากนั้นคุณอิวาตะจะมีลูกค้ามาขอให้เลือก
หนังสือให้ เดือนละ 2-3 คน
จนวันหนึ่ง รายการโทรทัศน์ได้เผยแพร่เรื่องราว
ที่เขาเลือกหนังสือให้ผู้คนด้วยงบประมาณ
10,000 เยน
เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้สนใจบริการเลือกหนังสือของ
คุณอิวาตะจากทั่วประเทศ เขาได้รับอีเมล์
ขอรับบริการนี้มากถึง 300 ฉบับต่อวัน
แต่คุณอิวาตะไม่รู้จักคนเหล่านี้เลย ดังนั้น
คุณอิวาตะจึงทำแบบสอบถามง่าย ๆ ขึ้นมาหนึ่งชุด
โดยจะสอบถามตั้งแต่ . . .
• เรื่องทั่วไป เช่น อายุ จำนวนสมาชิกในครอบครัว
อาชีพ หนังสือที่ประทับใจ
• คำถามสะท้อนทัศนคติและไลฟ์สไตล์ของผู้อ่าน
เช่น
—> ชอบตัวเองที่สุดตอนอายุเท่าไหร่
—> สำหรับคุณแล้ว ความสุขหมายถึงอะไร
—> ในชีวิตมีเรื่องที่สุขหรือทุกข์มาก ๆ อะไรบ้าง
หลังจากอ่านแบบสอบถามแล้ว คุณอิวาตะก็จะ
ค่อย ๆ เลือกหนังสือให้ลูกค้า
หนังสือที่คุณอิวาตะเลือกให้ผู้คน ได้สร้าง
กำลังใจให้กับผู้อ่านมากมาย เช่น คนที่เพิ่ง
สูญเสียคนที่รักไปไม่นาน
หนังสือหลายเล่มเป็นหนังสือที่ลูกค้าไม่เคยคิด
จะหยิบมาอ่านหากคุณอิวาตะไม่ได้เลือกให้
หนังสือที่คุณอิวาตะส่งให้ลูกค้าจะถูกบรรจุใส่กล่อง
และเมื่อเปิดกล่องออกมา ลูกค้าจะพบหนังสือ และ
จดหมายจากคุณอิวาตะ ที่เขียนให้กำลังใจและ
ข้อคิดดี ๆ แก่ผู้รับ
[ อิคิ ∙ 生き : เพื่อน ๆ สามารถอ่านข้อความที่
คุณอิวาตะเขียนถึงลูกค้าได้ตามภาพด้านล่าง
นะคะ ]
และนี่คือเสน่ห์ของบริการเลือกหนังสือ
ในงบหมื่นเยนของคุณอิวาตะค่ะ
ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเลือกหนังสือ
มากถึงรอบละ 6,000 คน คุณอิวาตะต้องจับฉลาก
และเลือกลูกค้าเพียง 300 คนเท่านั้น เนื่องจาก
เขาต้องศึกษาข้อมูลลูกค้า ค่อย ๆ คิดและ
คัดสรรหนังสือ พร้อมห่ออย่างปราณีตก่อนส่งมอบ
ดังนั้นคุณอิวาตะจึงเลือกหนังสือให้ผู้คนได้เพียง
5 รายต่อวันเท่านั้น และเขายินดีอย่างมากที่
ได้ทำสิ่งนี้ เพราะเขาอยากส่งมอบหนังสือดี ๆ
ที่เหมาะกับผู้อ่านแต่ละคน
[ MAKOTO MARKETING ]
=================
ร้านหนังสือ BUNKITSU
=================
BUNKITSU เป็นร้านหนังสือที่ถูกเปิดขึ้นแทนที่
ร้านหนังสือ ‘อาโอยาม่าบุ๊คเซ็นเตอร์’ สาขา Roppongi
ที่ปิดตัวลง หลังจากให้บริการมากว่า 38 ปี
คอนเซปต์ของร้าน BUNKITSU คือ
“ร้านหนังสือที่จะได้พบรักกับหนังสือ”
ไม่ว่าจะเป็นการ ตกหลุมรักโดยบังเอิญ หรือ
ความรักที่เราค่อย ๆ ค้นหา พลิกหนังสือทีละเล่ม ๆ
จนกว่าจะเจอหนังสือที่ใช่
- - - - - -
[ อิคิ ∙ 生き’s Memo ]

อิคิ ∙ 生き เป็นแบบประเภทที่สองค่ะ
เวลาเข้าร้านหนังสือก็จะค่อยละเลียดดูไปทีละชั้น
รู้ตัวอีกที ได้หิ้วกลับบ้านเป็นสิบเล่มทุกทีเลย 😆
- - - - - -
[ MAKOTO MARKETING ]
ร้าน BUNKITSU มีหนังสือกว่า 30,000 เล่ม
ที่ไม่ซ้ำกันเลย หนังสือหนึ่งปก หนึ่งชื่อ หนึ่งเล่ม
จะมีเจ้าของเพียงคนเดียวที่ได้ครอบครอง
และเพื่อสร้างบรรยากาศให้ลูกค้าได้ตามหา
รักแท้ BUNKITSU จะไม่แยกประเภทหนังสือค่ะ
แต่จะวางสุมกันเป็นกอง ๆ ดูสะเปะสะปะ
การทำแบบนี้จะทำให้ลูกค้าต้องคุ้ยพลิกหา
หนังสือที่ใช่ไปเรื่อย ๆ
ที่น่าตกใจ คือ ร้าน BUNKITSU มีการเก็บ
‘ค่าเข้าร้าน’ 1,500 เยน ด้วยความเชื่อที่ว่า
‘ช่วงเวลาในการบรรจงเลือกหนังสือ
เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า’
การเก็บค่าเข้าร้าน มีข้อดี คือ ลูกค้าจะอยู่ในร้าน
นานแค่ไหนก็ได้ ในร้านมีทั้งโซนทำงานและ
ห้องประชุมขนาดเล็ก ที่ลูกค้าสามารถมาใช้
บริการได้ พร้อมชากาแฟฟรี
ในวันเสาร์ อาทิตย์จะมีผู้คนมาใช้บริการ
ร้าน BUNKITSU จำนวนมาก จนทางร้านต้องจำกัด
จำนวนผู้ใช้เลยทีเดียวค่ะ
[ MAKOTO MARKETING ]
==============
ร้านหนังสือตายแล้ว
==============
ก่อนเล่าเรื่องร้านหนังสือสองร้านข้างต้น
อาจารย์เกตุสอบถามผู้อบรมว่า หากเราเป็นเจ้าของ
ร้านหนังสือที่อุตสากรรมกำลังจะล่มสลาย
เราจะหาทางรอดอย่างไร??

บางท่านเสนอไอเดียว่า ให้ลดราคาบ้าง
จัดกิจกรรมบ้าง หันไปขายออนไลน์บ้าง
ในเมื่ออุตสาหกรรมร้านหนังสือเริ่มหดตัวลง
อาจารย์เกตุจึงถามต่อว่า “คิดว่าการทำสิ่งเหล่านั้น
จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นไหม” และ “เหตุใดร้าน
BUNKITSU จึงประสบความสำเร็จทั้ง ๆ ที่
อุตสาหกรรมกำลังหดตัว”
สิ่งที่ร้านอิวาตะ และ BUNKITSU ทำเหมือนกันคือ
=================
การนำเสนอคุณค่าใหม่
=================
คุณค่าเดิมของร้านหนังสือ คือ การเป็นตัวกลาง
ระหว่างสำนักพิมพ์และลูกค้า ในการส่งมอบหนังสือ
แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คน
มากขึ้น คนเริ่มเสพเนื้อหาดี ๆ จากสื่ออื่น
ที่นอกเหนือจากหนังสือมากขึ้น
ประกอบกับการมีผู้จัดจำหน่ายหนังสือออนไลน์
เจ้าใหญ่อย่าง AMAZON เข้ามา คุณค่าเดิมของ
ร้านหนังสือจึงหายไป
อาจารย์เกตุแนะนำว่า ในช่วงนี้สิ่งที่บริษัทต้องทำ
คือ กลับไปวิเคราะห์ว่า ลูกค้า ‘เคย’ ซื้อสินค้าเรา
เพราะเหตุใด อะไรคือ คุณค่าเดิม และอะไรคือ
คุณค่าใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้า
อาจารย์เกตุชวนทุกท่านให้ลองวิเคราะห์
คุณค่าใหม่ของร้านอิวาตะ และ BUNKITSU
ด้วยนะคะ [ เพื่อน ๆ ลองดูตามภาพด้านล่างได้ค่ะ ]
[ MAKOTO MARKETING ]
======
เคล็ดลับ
======
การสร้างคุณค่าใหม่เป็นสิ่งสำคัญก็จริง
แต่คุณค่านั้นต้องตอบโจทย์ลูกค้าด้วย มิเช่นนั้น
จะกลายเป็นการตอบสนองความต้องการ
ของตัวเองเพียงอย่างเดียว
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
การอ่านเรื่องราวของร้านอิวาตะ ทำให้ อิคิ ∙ 生き
หวนใคร่ครวญงานวางแผนการเงินของตัวเองค่ะ
อย่างที่ อิคิ ∙ 生き ได้กล่าวไปในตอนก่อน ๆ ว่า
งานวางแผนการเงินให้กับผู้คน เป็นงานที่เรา
ต้องลงมือละเมียดทำคนเดียว ค่อย ๆ หลับตา
ซึมซับความเป็นลูกค้าให้มาอยู่ในตัวเรามากที่สุด
ก่อนที่จะลงมือวางแผน
เพราะแผนการเงินที่เราทำให้เขา มันจะได้เป็น
แผนของเขาจริง ๆ จะว่าไปก็เหมือนกับการที่
คุณอิวาตะค่อย ๆ ศึกษาข้อมูลก่อนเลือกหนังสือ
ให้กับผู้คนอย่างไรอย่างนั้นเลยค่ะ
แนวทางของคุณอิวาตะเป็นแนวทางที่ค่อนข้าง
เข้ากับจริตของ อิคิ ∙ 生き
อิคิ ∙ 生き ไม่ชอบทำอะไรที่ต้องเร่งรีบ
อยากจะมีเวลาละเมียดลงมือทำกับทุก ๆ สิ่ง
เมื่ออ่านเรื่องคุณอิวาตะ จึงเป็นการตอกย้ำว่า
อิคิ ∙ 生き ได้เลือกทางเดินที่ถูกให้กับตัวเองแล้ว
คุณอิวาตะจับฉลากเลือกลูกค้า 300 คน
จากผู้แจ้งความประสงค์ทั้งหมด 6,000 คน
ส่วน อิคิ ∙ 生き เองก็เช่นกัน อิคิ ∙ 生き ไม่เคย
ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องรับลูกค้าให้ได้เยอะ ๆ เลยค่ะ
คิดเพียงแต่ว่าเราควรดูแลลูกค้าจำนวนเท่าใด
เราจึงจะยังดูแลได้ดี ตั้งใจทำแค่เท่าที่จะดูแลทุกคน
ให้ดีไหวค่ะ [ แต่ถ้าหากจะทำเช่นนี้ เราต้องวางแผน
การเงินของเราควบคู่ไปด้วยนะคะ ]
ส่วนเรื่องคุณค่าที่ อิคิ ∙ 生き ส่งมอบให้กับลูกค้า คือ
อิคิ ∙ 生き ตั้งใจวางแผนลูกค้าในเชิงลึก ลงรายละเอียด
ทุกแง่มุมในชีวิตลูกค้าจริง ๆ ค่ะ ในขณะที่บางที่เพียงแค่
วางแผนให้เบื้องต้นและแนะนำการลงทุนเพียงเท่านั้น
จนมีลูกค้าบางท่านเคยกล่าวเล่น ๆ กับ อิคิ ∙ 生き ว่า
“บางที อิคิ ∙ 生き รู้เรื่องตัวเขาดีกว่าที่เขารู้เรื่องตัวเอง
เสียอีก”
แต่คนเราก็มีจริตไม่เหมือนกันนะคะ การที่ อิคิ ∙ 生き
เป็นคนทำงานช้า ค่อย ๆ ทำ ก็ทำให้บริการผู้คนได้น้อย
เพื่อน ๆ นักวางแผนสังกัดทีมเดียวกับ อิคิ ∙ 生き
หลาย ๆ คน ดูแลลูกค้าจำนวนเยอะกว่า อิคิ ∙ 生き มาก
และก็ทำได้ดีเช่นเดียวกันค่ะ
เพียงแต่ว่าจริตของ อิคิ ∙ 生き เป็นแบบคุณอิวาตะ
มากกว่าเท่านั้นเอง หากท่านใดมีศักยภาพมาก ๆ
อาจลองจินตการว่า ตัวท่านเองจะให้บริการแบบ
BUNKITSU ที่สามารถรองรับลูกค้าจำนวนมาก ๆ
และยังส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าได้อย่างเต็มที่
ได้ด้วยวิธีไหนบ้าง
- - - - -
เมื่อกล่าวถึงเรื่องคุณค่า อิคิ ∙ 生き อยากเล่าเรื่อง
เมื่อวานที่ อิคิ ∙ 生き เพิ่งคุยกับทีมงานที่อีกไม่กี่เดือน
เราจะแยกย้ายกันแล้วให้กับทุกท่านฟังค่ะ
น้อง ๆ บอกว่าหลังจากไม่ได้ทำงานที่นี่แล้ว
พวกเขาอยากหางานให้ได้เร็วที่สุด
ยิ่งหาได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ยิ่งดี
อิคิ ∙ 生き จึงแนะนำไปว่า ถ้าพวกเราพอจะมีเงินสำรอง
อยู่บ้าง พี่ไม่อยากให้นำเรื่องเวลามาเป็นปัจจัยสำคัญ
ในการหางานมากขนาดนั้น
ถ้าเป็นไปได้ พี่แนะนำให้พวกเราให้เวลาตัวเอง
ในการหาข้อมูลบริษัทที่เราตั้งใจจะสมัครงานซักหน่อย
ตอนไปสัมภาษณ์ลองถามเขาว่า . . .
=====================================
ที่จะรับหนูมาทำงาน พี่อยากให้หนูช่วยสร้างประโยชน์
อะไรให้กับบริษัทบ้างค่ะ??
=====================================
ถ้าส่ิงที่บริษัทตอบมา ทำให้เรารู้สึกว่างานที่เรากำลังจะทำ
มีคุณค่า ก็อยากให้บวกคะแนนส่วนนี้เข้าไปมากหน่อย
พี่รู้ว่าพวกเราไม่ได้ตั้งใจจะทำงานแค่วันสองวัน ดังนั้น
ตั้งใจเลือกซักหน่อย ทำงานที่เราจะสร้างคุณค่าได้
จะทำให้ไม่เสียเวลา
ถ้ารีบเลือกจะทำให้เราลืมสิ่งสำคัญบางอย่างไป
และอาจทำให้ไปทำงานแล้วปรากฎว่า งานที่ทำมันไม่ใช่
ก็ต้องเสียเวลามาเริ่มใหม่อยู่ดี
ดังนั้นก่อนจากกันวันนี้ อิคิ ∙ 生き อยากชวนทุกท่าน
สอบถามตัวเองดูนะคะ ว่าเราจะส่งมอบคุณค่า
ของสิ่งที่เรากำลังทำให้กับผู้คนได้อย่างไร
ไม่ว่าจะทำสิ่งไหนย่อมมีแง่มุมของคุณค่าที่เราสามารถ
ส่งมอบให้ผู้อื่นได้เสมอ เพียงแค่เราลองมองสิ่งที่กำลังทำอยู่
ให้ลึกลงไปอีกสักนิดดูนะคะ
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่กับ
Makoto Marketing ในวันพฤหัสบดีหน้า สวัสดีค่ะ 🙏🏻😊
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านในสนใจเรื่องราวจาก Makoto Marketing จนอดใจรอให้ อิคิ ∙ 生き สรุปทีละสัปดาห์ไม่ไหวก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ 
https://www.readthecloud.store/product/makoto-marketing/
#สัปดาห์ละบทสองบท #makotomarketing

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา