23 ธ.ค. 2021 เวลา 03:18 • ไลฟ์สไตล์
“โลกของกู”
เมื่อถูกยุงกัด ก็เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจเรียกว่ายินร้าย เมื่อเกิดความรู้สึกยินร้ายก็อยากจะผลักไสออกไปเป็นธรรมดาของปุถุชน ตอนนั้นมันเกิดความรู้สึกว่ายุงกัด"กู" แล้วปฏิบัติการจองเวรก็เกิดขึ้นเป็นภพเป็นชาติกับยุงต่อไป เกิดเป็นวัฏฏสงสารให้เกิดอยู่ร่ำไปเพราะสร้างเหตุไปแล้ว
มาขยายภาพดูกันหน่อย หยิบแว่นขยายมาแล้วรีวายภาพกลับ
ภาพความจริงคืออย่างนี้: ยุงกัดลงไปที่ร่างกาย เอาให้ลึกลงไปอีกไหม? มีสิ่งๆ หนึ่งเจาะทะลุผิวหนังแทรกเข้าไปที่เนื้อ เนื้อหนังแถวนั้นมีระบบประสาทที่รับรู้ตามธรรมชาติและมีปฏิกิริยาเพื่อจะปกป้องตัวเองด้วยการทำตามวิธีการของเขา
จากนั้นเกิดเป็นความรู้สึกคัน ความรู้สึกคันนั้นเป็นผลจากการทำงานของเนื้อหนังบริเวณนั้นซึ่งทำงานกันเองได้โดยธรรมชาติ เรื่องควรจะจบแค่นี้ ถ้ามันจบแค่นี้ เวทนาไม่เกิด นั่นคือความยินดียินร้ายไม่เกิด
1
เมื่อไม่มีความยินดียินร้าย ตัณหาให้การอยากจะผลักไสก็ไม่เกิด เมื่อตัณหาไม่เกิด อัตวาทุปาทาน คือความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน เป็นเราถูกยุงกัดก็ไม่เกิด ภพก็ไม่เกิด ไม่มีการปฏิบัติจองเวรกับยุงหรือคับแค้นใจกับอาการคัน อะไรๆก็ไม่มี
เหลือแต่ความรู้สึกล้วนๆ ไร้เราเข้าไปก่ออารมณ์โกรธขึ้นมาลมๆแล้งๆ จากมันกัดกู
งานนี้แปลกไหมล่ะ คราวนี้วางแว่นขยาย เปลี่ยนเป็นกล้องจุลทรรศน์ รีวายภาพกลับอีกที
ยุงกัด > คัน > ไม่พอใจ > ต้องผลักไส > มันกัดกู > ต้องไปเอายาฆ่ายุง > ลงมือฉีด > .....
จะตั้งคำถามให้กลับไปดูใหม่ว่า ใครเกิดก่อนใคร
ระหว่าง ความรู้สึกล้วนๆ จนมาเป็น มันกัด"กู"
หรือว่า มี"กู"ตั้งโด่เด่อยู่ก่อนแล้วยุงมากัดจึงโกรธ
โดยตรรกะแล้ว ถ้า"กู"มีจริง
ตอนยุงกัดนั่นมันต้องกัดกูเลยนะ
แต่นี่ความจริงเกิดขึ้นจนถึงความรู้สึกคัน
แต่จากนั้นถูกปรุงตามกันมาเป็นพรวนเลย
ที่น่าแปลกคือ ตัวตนดันมาหลังความรู้สึก
ทั้งๆ ที่หากตัวตนมีจริง
ตัวตนต้องมาก่อนความรู้สึกถึงจะถูก
สรุปก็คือถ้าไม่มีความยินดียินร้าย ตัวตนก็ไม่มี
ตกลงยุงกัดต้องปัดไหม? ไม่ปัดก็ได้ ปัดก็ได้
ปัดแบบวัวเอาหางปัดแมลงวัน
เพราะไม่มี"กู"ไปเพิ่มพลังหลังตัณหา ภพ ชาติ นรกขึ้น
ไปภาวนาให้รู้เรื่อง รู้เรื่อง ก็จะหมดเรื่อง
ไม่ใช่ไม่มีความรู้สึก แต่มันจบที่ความรู้สึก ใจจึงสงบ
ไม่ใช่เวทนาต้องดี ใจถึงจะสงบ
แต่เมื่อจบที่ผัสสะ เวทนาก็ไม่มี จบกันหมดทั้งพวง (ปฏิจจสมุปบาท)
จะเป็นอย่างนี้ได้ก็มาจาก สัมมาสติ มรรคองค์ที่ ๗
"มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจ(ยินดี)
และความไม่พอใจ(ยินร้าย)ในโลก (ขันธโลกคือขันธ์๕) ออกเสียได้
ถอนความยินดียินร้ายได้ก็เพราะ สติไปเห็นว่า
กายไม่ใช่เรา-ของเรา
เวทนาไม่ใช่เรา-ของเรา
จิตไม่ใช่เรา-ของเรา
ธรรมารมณ์ไม่ใช่เรา-ของเรา
จะย้อนไปเกิดปัญญาในสัมมาทิฏฐิ
.
โดย ท่านอาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
2013-05-19

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา