18 ธ.ค. 2021 เวลา 14:12 • ไลฟ์สไตล์
"สักกายทิฏฐิ VS อุปาทานขันธ์"
สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา
อุปาทานขันธ์ การยึดถือขันธ์๕ ว่าเป็นเรา เป็นอัตตาของเรา
คนทั่วไปเคยได้ยินกันมาทั้งสองคำ โดยเฉพาะนักปฏิบัติ แต่ส่วนมากไม่รู้จัก และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต่างกันอย่างไร?
ถ้าเราอุปมาให้พอจะเข้าใจการทำงาน การเป็นเหตุเป็นผลกันของ 2 ตัวนี้ ก็สามารถอุปมาได้ว่า
ในรถยนต์คันหนึ่ง การขับเคลื่อนเพื่อให้รถวิ่งไป
ประกอบด้วย เครื่องยนต์ เฟืองเกียร์และล้อรถ
เมื่อเครื่องยนต์ทำงาน เข้าเกียร์ รถก็จะวิ่ง
ถ้าเครื่องทำงาน แต่ไม่เข้าเกียร์ รถก็ไม่วิ่ง
เครื่องยนต์ที่ติดเครื่องเปรียบเหมือนอุปาทานขันธ์
เฟืองเกียร์เป็นมิจฉาทิฏฐิ
การขับเคลื่อนของรถคือ สักกายทิฏฐิ
1
เรากลับมาทำความเข้าใจ
สักกายทิฏฐิ หรือ ความเห็นผิดในความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา
ในส่วนนี้เป็นความเห็นผิดอย่างหยาบๆ
เป็นการยึดเอากายนี้ ใจนี้
มาสร้างความรู้สึกหนึ่งขึ้นมาว่า นี่ของเรา นี่เป็นเรา
อย่างแข็งแรงเหนียวแน่น
นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในคนทั่วๆ ไปที่พระองค์เรียกว่า
ปุถุชนผู้มิได้สดับ (ในธรรมของพระอริยเจ้า)
เช่นเรานั่งอยู่ในห้องประชุม มีคนลืมปิดโทรศัพท์ ทันทีที่เสียงโทรศัพท์ดัง "กริ๊ง" ขึ้นมา เราจะรู้สึกโกรธทันที พร้อมเสียงข้างในต่อว่าด่าทอคนๆ นั้นในความไม่มีมารยาท (งงไหม? ก็มันถูกแล้วนี่ เขาทำสิ่งที่ไม่สมควรไม่ใช่หรือ?)
2
แต่ในสถานการณ์เดียวกัน หากเปลี่ยนมาเป็นเราลืมปิดโทรศัพท์บ้าง เกิดโทรศัพท์มันดังขึ้นมาในขณะที่ประธานกำลังกล่าวเรื่องสำคัญ คนทั้งห้องประชุมเงียบสนิทและกำลังตั้งใจฟัง แน่นอนว่าคนทั้งห้องจะต้องหันมามองท่านด้วยสายตาตำหนิอย่างรุนแรง
2
ท่านคิดว่าเสียงภายในใจท่านจะพูดว่าอย่างไร แน่นอนท่านจะได้ยินเสียงในการปกป้องตัวเองสารพัดเหตุผล พร้อมด่ากลับพวกที่หันมามองท่านอย่างสาดเสียเทเสีย ถูกไหม? เห็นอะไรบางอย่างรึเปล่า?
2
นี่ล่ะความเป็นตัวตนที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ มันมีในทุกคนใช่ไหมล่ะ นี่คือสัญชาตญาณที่มันปกป้องตัวเอง ตัวเราเองทำอะไรถูกไปหมด ใครล่ะบอกว่าถูก ก็ความรู้สึกเป็นเรานั่นล่ะที่บอกว่ามันถูก เน้นที่ความรู้สึกเท่านั้นนะ มันไม่ได้เป็นจริงอย่างนั้น ความรู้สึกที่ถูกสร้างขึ้นมาเองจนกระทั่งยึดมั่นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
2
สงสัยไหมว่า ถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ แล้วเสียงเหล่านี้มันจะเงียบหายไปหรือ? ...ใช่ มันจะเงียบหายไปเพราะเมื่อเห็นความจริงว่าความรู้สึกในความเป็นตัวตนนั้น มันเป็นของเกิดๆ ดับๆ ไม่ได้มีอยู่จริง มันจะค่อยๆ ละความเห็นผิดนั้นๆ ลง
จึงทำให้การคร่ำครวญ การเข้าข้างตัวซึ่งเป็นผลนั้น หายไปด้วย ด้วยเหตุที่สัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตทั่วๆ ไป ที่มีกายใจหรือสังขารมีการปรุงแต่งผูกพันกันมา จึงก่อร่างสร้างความรู้สึกในตัวตนขึ้นมา
1
ส่วนอุปทานในขันธ์นั้น เปรียบเหมือนเครื่องยนต์ที่ติดเครื่องอยู่ แต่เกียร์ถูกทำลายไปแล้วด้วยความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ละความเห็นผิดแล้ว นั่นจึงทำให้แม้เครื่องยนต์ยังติดอยู่แต่ก็หาได้ทำให้รถนั้นวิ่งออกไปได้อีก
2
แต่เพราะเครื่องยนต์ยังติดอยู่ซึ่งเปรียบได้กับอุปาทานในขันธ์ ก็จะเห็นว่าแม้รถไม่วิ่งแล้ว แต่เพราะการที่เครื่องยังติดก็ยังก่อให้เกิดความสุข ความทุกข์กับเครื่องยนต์อยู่ เสียงปรุงแต่งหรือสภาพปรุงแต่งภายในจึงยังไม่ดับไป แต่ก็เบาลงมากแล้ว ไม่เป็นเรื่องของความเป็นตัวตน บุคคลเราเขาอีกแล้ว
2
ลองจินตนาการดูว่าถ้าละ สักกายทิฏฐิ แล้ว เหตุการณ์เดิมเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร
นั่งอยู่ในที่ประชุมเงียบๆ เสียงโทรศัพท์ดัง (ทุกครั้งจะโกรธและต่อว่าคนนั้นภายในใจ และเกิดความขุ่นใจทันที) แต่ครั้งนี้เสียงภายในใจเงียบสนิท อาจหันไปมองที่เสียงโทรศัพท์ดัง อาจจะเห็นว่าไม่น่าลืมปิดเลย แล้วจบแค่นั้น
1
หรือถ้ามีอาการไม่พอใจเกิดขึ้นบ้างก็กลับถูกชำระไปอย่างรวดเร็วหรืออาจสลายไปเฉยๆ โดยไม่ต้องไปทำอะไร ทั้งที่ความไม่พอใจยังมีอยู่เพราะความยึดถือในขันธ์ยังมี นั่นความเป็นอัตตายังมี หรือความเคยคุ้นในสิ่งที่เคยมีเคยเป็นยังคงมีจึงยังคงมีเวทนากระเพื่อมอยู่บ้าง
1
เหมือนเราเคยต้องตื่นไปทำงานทุกวัน แต่ถ้าเราลาออกจากงานแล้วและไม่ต้องไปทำงานอีกแล้ว แต่ความรู้สึกว่ากังวลต้องตื่นเดี๋ยวไปไม่ทันยังคงอยู่ นั่นเหมือนกัน ต้องอาศัยเวลาอีกระยะเพื่อการปรับตัวเข้ากับสภาพใหม่นั่นเอง
1
แต่ถึงแม้ยังมีความรู้สึกไม่พอใจอยู่บ้าง ก็เพียงใช้สมถะและวิปัสสนาเข้าไปจัดการและเห็นความจริงเพื่อรู้แจ้งอริยสัจเพิ่มขึ้น
ถึงแม้จะมีความไม่พอใจในการกระทำของคนๆ นั้น แต่หากเรามีหน้าที่ที่ต้องตักเตือนก็สามารถตักเตือนได้ ดุได้ในการกระทำที่ไม่ควร แต่ไม่มีโกรธแค้นอะไรทั้งสิ้น หากความโกรธมี ก็มีเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งจากความเคยคุ้นเดิมเท่านั้นและจะค่อยๆ หายไปจากเวลาที่ค่อยๆ ผ่านไป
1
แต่ไม่ก่อขึ้นเป็นตัวตนที่จะทวีความรุนแรงขึ้น อุปมาเหมือนเครื่องยนต์ติดอยู่ ต่อให้เร่งเครื่องบ้างแต่ก็ไม่ผลักดันให้รถเคลื่อนที่ออกไป เพราะไม่มีเกียร์ที่จะเชื่อมต่อไปขับเคลื่อนรถอีกแล้ว
1
ก็หวังว่าคงพอจะเทียบเคียงให้เกิดความเข้าใจได้ เพราะหลายคนแยกไม่ออกระหว่าง สักกายทิฏฐิ ที่มีในปุถุชน และเมื่อละได้แล้วในพระโสดาบัน ทำไมจึงดูเหมือนว่าพระโสดาบันก็ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง
1
นั่นเพราะในพระโสดาบัน สกทาคามี พระอนาคามีนั้น ยังวางอุปาทานในขันธ์ไม่ได้ เพราะปัญญายังไม่รู้แจ้งอริยสัจอย่างเต็มที่นั่นเอง
3
นั่นก็เป็นความจริงว่าคนทั่วไปอาจจะแยกไม่ออกว่าความรู้สึกแบบไหนมีเหตุมาจาก สักกายทิฏฐิ ความรู้สึกแบบไหนมีเหตุมาจากอุปาทานในขันธ์
1
อาจอุปมาให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า หากเราเปิดก๊อกน้ำใส่กะละมังจนน้ำล้น จะมีเสียงของน้ำอยู่ทั้ง 2 เสียง คือเสียงน้ำจากก๊อกไหลลงกะละมังและเสียงจากน้ำล้นกะละมังไหลลงไปกระทบพื้น
1
หากไม่มีน้ำไหลล้นกะละมังลงกระทบพื้นเราจะได้ยินเฉพาะจากก๊อกสู่กะละมัง แต่ถ้ามีทั้ง 2 เสียง ก็ได้ยินทั้งสองเสียง
1
เราจะรู้จักเสียงน้ำจากก๊อก ต้องหยุดเสียงจากกะละมังก่อน หากเสียงน้ำไหลออกมาจากกะละมังอุปมาเป็นสักกายทิฏฐิเป็นผลจากอุปาทานขันธ์ ส่วนตัวอุปาทานขันธ์เป็นเสียงน้ำจากก๊อก
1
เมื่อหยุดเสียงน้ำจากกะละมังได้ จะเข้าใจเสียงน้ำจากก๊อกได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นในตอนนี้จึงเป็นการยากที่จะแยกว่าเสียงใดหรือความรู้สึกใดมาจากเหตุไหน เพราะเราเกิดมาพร้อมกับทั้งสองสิ่งนี้
1
แต่ก็ไม่เห็นว่าจะต้องแยกให้ได้เพื่อประโยชน์อันใด เพราะเพียงเจริญมรรค ในเบื้องต้นละสักกายทิฏฐิได้ก่อน ในวันนั้นจะรู้จักอุปาทานในขันธ์เอง หลังจากนั้นการเจริญภาวนาต่อไปจะละอุปาทานขันธ์ได้ในที่สุด
1
ดังนั้นวันนี้ เจริญมรรค เจริญภาวนาให้มากแล้วทั้งสักกายทิฏฐิและอุปาทานขันธ์อันเป็นเหตุทำให้ทุกข์จะดับไปเองเพราะหมดเหตุ
1
เสียงเงียบไปก่อน การปรุงแต่งที่ปราศจากเสียงก็จะโดนถอนรากตาม จากนั้นความสงบเย็นจากการหมดความปรุงแต่งก็จะเกิดมีขึ้นอย่างแน่นอน
1
.
โดย ท่านอาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
2013-09-23
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา